สถานการณ์พระพุทธศาสนา: พลิกหายนะเป็นพัฒนา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

คนสร้างสังคม สังคมสร้างคน ถ้าไม่ตัดวงจร ไม่แปรปัจจัย
คนสร้างสังคมไว้อย่างไร ก็ได้คนอย่างนั้นมาสร้างสังคมต่อไป

เมื่อกี้นี้ ได้พูดไว้ว่า “มองพระสงฆ์ให้เป็น ก็แลเห็นสังคมไทย

คำที่พูดนี้ มิใช่มีความหมายแค่ที่ได้พูดไปเท่านั้น แต่โยงไปหาหลักความจริงที่ใหญ่กว้างด้วยว่า คนสร้างสังคม สังคมสร้างคน สังคมเกิดจากคน แล้วคนก็เป็นผลผลิตของสังคม คนกระแสใหญ่สร้างสังคมไว้อย่างไร สังคมก็สร้างคนส่วนใหญ่ขึ้นมาได้อย่างนั้น

ที่ว่านี้เป็นวงจรตามปกติ ถ้าไม่มีปัจจัยข้างนอกข้างในมาแปร วงจรก็หมุนต่อไป ยากที่จะแผกผันหรือพลิกให้เป็นไปได้อย่างอื่น

เมื่อสังคมนิยมนับถือคนอย่างไร เช่นอย่างง่ายๆ ที่พูดกันบ่อยว่า นับถือคนมีศีลมีธรรม หรือเทิดทูนคนมีสินมีทอง เชิดชูคนมียศมีอำนาจ สังคมก็ส่งเสริมสนับสนุน โดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง ให้คนอย่างนั้นเด่นขึ้นมา มีกำลังมาก จนกระทั่งได้เป็นใหญ่

อนุชนคือคนรุ่นที่ตามมา ก็เพียรพยายามหรือตะเกียกตะกายที่จะเป็นคนแบบนั้น อย่างน้อยก็มีโอกาสมากขึ้นสำหรับคนที่จะไปทางนั้น พร้อมกับปิดกั้นลิดรอนโอกาสของคนพวกที่ตรงข้าม

แม้แต่ในคนเดียวกัน แต่ละคนนั้นๆ บางคนมีธาตุดีกับธาตุร้ายแรงพอกัน เมื่อสังคมนิยมส่งเสริมธาตุดี ธาตุดีของเขาก็ได้กำลังหนุน เขาก็ได้โอกาสที่จะพัฒนาธาตุดี บางคนมีธาตุร้ายเข้มแรงกว่าธาตุดี แต่สังคมนิยมส่งเสริมเชิดชูธาตุดี ธาตุร้ายของเขาก็ไม่ได้โอกาส เขาก็กำราบมันลงไปได้ง่ายขึ้น

แต่ถึงอย่างนี้ ในบางราย (แม้จะน้อย) คนมีธาตุร้ายเข้มข้นแรงกล้า ถึงสังคมจะนิยมธาตุดี เขาก็ยังไปในทางของธาตุร้ายจนได้

ดังนั้น แม้แต่เมื่อสังคมดี ก็ยังมีรายยกเว้น ที่คนร้ายก็เกิดขึ้นมา และในทำนองเดียวกัน ถึงแม้เมื่อสังคมนิยมธาตุร้าย ก็ยังมีคนที่ยืนหยัดในทางของธาตุดีเติบโตขึ้นมาได้เช่นกัน

นี่คือปัจจัยตัวแปร ที่อาจจะมาตัดหรือมาหักหันเหวงจรการสร้างคนสร้างสังคม แต่ตัวแปรนี้น้อยนัก และยากที่จะมีกำลังพอ

โดยทั่วไป สังคมก็ไปตามทางของมัน สังคมชื่นชมนิยมคนอย่างไร สังคมก็สร้างคนอย่างนั้นขึ้นมา เป็นไปตามคุณภาพของคนที่ร่วมกันสร้างสังคมนั้นเอง

บางทีต้องรอนานหลายๆ ศตวรรษ จนกระทั่งเจอกับปัจจัยกระทบกระแทกเข้ามาจากข้างนอกของสังคมอื่น ที่มีกำลังเหนือกว่า วงจรที่ว่านั้นจึงขาดหรือสะดุดลงไป

แต่ถึงอย่างนั้น พอปัจจัยนอกปัจจัยในกลบหรือกลืนกันไม่ลงตัว ผลก็แปรไปอีก ปัญหาก็เกิดขึ้นใหม่ ในที่สุดก็อยู่ที่ว่าจะพัฒนาคนให้มีปัญญาขึ้นมาแก้ปัญหาได้หรือไม่ ถ้าเป็นสังคมที่ขาดหรือหย่อนสติปัญญา ก็หวังอะไรดีได้ยาก

พระทั้งหลาย ก็เช่นกับคนทั่วไป พื้นเพก็คือเป็นคนของสังคมนั้น เกิดในสังคมนั้น และเป็นผลิตผลของสังคมนั้นนั่นเอง เราให้คนไปบวชเป็นพระ ก็เพื่อให้พุทธศาสนาช่วยเอาปัจจัยดีที่เลือกคัดจัดสรรไว้ มาหลอมมาแปรให้เขาเป็นผลิตผลที่ดีอย่างที่น่าจะมั่นใจ

ถึงตอนนี้ เรื่องก็อยู่ที่ว่า ในสังคมนั้น คนทั่วไป หรือคนส่วนใหญ่รู้จักพุทธศาสนาแค่ไหน มองเห็นพุทธศาสนาว่าคืออย่างไร

แล้วก็ไปถึงตัวคนที่มาเป็นพระว่า พระเณรที่แท้น่านับถือคือผู้ที่มีคุณภาพ มีคุณสมบัติอย่างไร เป็นอยู่ ประพฤติตนอย่างไร พูดอะไร ไม่พูดอะไร พูดอย่างไร ไม่พูดอย่างไร ทำอะไร และไม่ทำอะไร

ถึงตรงนี้ก็อยู่ที่ว่า สังคมที่คนสร้างกันมานั้น มีศีล มีจิตใจ เฉพาะอย่างยิ่ง มีปัญญาหรือมีโมหะแค่ไหน เขามองเห็นพระพุทธศาสนาอยู่ตรงไหน เขานิยมชมชอบส่งเสริมสนับสนุนพระที่มีอะไร เป็นอย่างไร อยู่อย่างไร พูด-ไม่พูด ทำ-ไม่ทำอะไร

จากนั้น ตามหลักของการส่งเสริมสนับสนุน ให้โอกาส ปิดกั้นโอกาส ดังที่ว่า สังคมของเขานี่แหละ ก็สร้างพระอย่างนั้นๆ ขึ้นมา และกำจัดหรือบั่นรอนพระอีกแบบหนึ่งให้เงียบหรือหายไป

ในสังคมนี้ หลายปีแล้ว ข่าวฉาวใหญ่อื้ออึงมาเป็นระลอก พระองค์นั้นโด่ง ก่อสร้างสิ่งสถานใหญ่โตมโหฬาร แต่แล้ว เรื่องอกุศลเบื้องหลังโผล่ขึ้นมา ก็เฉาอับไป พระองค์นี้ดัง เก่งอิทธิฤทธิ์ มีลูกศิษย์บริวารห้อมล้อมเต็มไปทุกที่ แต่แล้วเรื่องเสียหายไม่บริสุทธิ์เผยออกมา เกิดคดีมีเรื่องเปรอะชื่อเสียงเลอะ ก็เหี่ยวโทรมไป เวลาผันผ่าน กรณีใหม่ๆ ก็เรียงแถวทยอยมาให้ดูต่อๆ ไป

พอมีเรื่องดังขึ้นมาทีหนึ่ง คนพวกหนึ่งก็ด่าว่าพระไม่ดี ศาสนาไม่ดี คนอีกพวกหนึ่งไม่ว่าอะไร ก็อยู่ก็ทำต่อไปอย่างที่เคยอยู่เคยทำกันมา ความรู้เข้าใจปัญหา การแก้ไข การพัฒนา ไม่มี กระแสข้างล่างไหลอยู่อย่างนั้น ระลอกก็ผุดโผล่ข้างบนอย่างนี้ วงจรคนสร้างสังคมอย่างไร สังคมสร้างคนอย่างนั้น ก็หมุนต่อไป

ถ้าจะไม่ให้เจอปัญหาซ้ำซาก ถ้าจะให้สังคมของตนดีขึ้น มีการเปลี่ยนแปลง มีการพัฒนา ก็ต้องรู้จักทำกรรมดีกันบ้าง ไม่ใช่นิ่งเฉยจมกันอยู่ในความประมาท

แทนที่จะเอาแต่ด่าว่าผลงานที่พวกตัวทำขึ้นมา ก็ใช้ปัญญา หาความรู้ความเข้าใจ สำรวจตรวจสอบตัวเองและสังคม แก้ไขพัฒนาตนและเพื่อนร่วมสังคมของตัว แล้วผลักดันสังคมให้สร้างคนสร้างพระที่มีคุณสมบัติถูกต้อง มีคุณภาพที่พึงต้องการ

ในยามสังคมแตกสลาย หรือบ้านเมืองเกิดวิกฤต เช่นมีสงครามใหญ่ อาจถึงขั้นเสียบ้านเสียเมือง เกิดภาวะไร้ขื่อแป อย่างเมื่อครั้งกรุงแตก อยุธยาล่ม สถาบันและกิจการที่เป็นระบบระเบียบแบบแผนแหลกลาญ

ในยามที่ผู้คนไม่มีหลัก ไร้ที่พึ่ง เคว้งคว้าง อ้างว้างอย่างนี้ ก็จะหันไปแอบอิงพิงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หวังพึ่งอิทธิฤทธิ์ ไสยศาสตร์

ดังที่ปรากฏว่า เมื่ออยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว ก่อนพระเจ้าตากสินมหาราชจะกู้ชาติกู้เมืองได้ เรื่องไสยศาสตร์ อิทธิฤทธิ์ การพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เกลื่อนกลาดไปทั่ว พระปลอมบ้าง พระจริงบวชเข้ามาไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยบ้าง พากันช่วยปลอบชาวบ้านบ้าง หลอกลวงหากินบ้าง ด้วยเวทมนตร์คาถาไสยศาสตร์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์เหล่านี้

พอกู้ชาติได้แล้ว จะฟื้นฟูบ้านเมือง พระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงตั้งพระศาสนาให้เป็นหลัก ค้นหานิมนต์พระหลักๆ ที่ทรงธรรมวินัยมาสถาปนาเป็นพระสังฆราช และครองวัดสำคัญๆ พร้อมกับให้หัวเมืองต่างๆ รวบรวมส่งพระไตรปิฎกมาที่กรุงธนบุรี (ที่อยุธยา คัมภีร์ ตำราถูกเผาทั้งเมือง)

ต่อด้วยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แม้ยังมีศึกสงครามมากมาย ก็ทรงจัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อยมั่นคง ทรงอาราธนาพระสงฆ์ทำสังคายนา แล้วทรงสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงขึ้น ประดิษฐานไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม เพื่อ “เป็นหลักของแผ่นดิน”

สภาพสังคมเวลานั้น ยังไม่พ้นภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด ผู้คนระส่ำระสาย ยากแค้นลำเค็ญ ข้างนอกยังมีภัยสงครามจากทัพพม่า ข้างในเต็มไปด้วยการปล้นฆ่าแย่งชิง พระสงฆ์เป็นอยู่ยาก ต้องลาสิกขาไปมากมาย การบวชเรียนแทบจะไม่สืบต่อ

แต่คนพวกหนึ่งกลับบวชเข้ามาอาศัยผ้าเหลืองหาเลี้ยงชีพ มีเพศเป็นพระ แต่ไม่รู้ธรรม ไม่รู้วินัย แถมไม่มีธรรม ไม่มีวินัยอีกด้วย พระพวกนี้ใช้ความเชื่อเหลวไหลไสยศาสตร์ล่อหลอกหาลาภจากประชาชนด้วยเวทมนตร์อิทธิฤทธิ์ เท่ากับซ้ำเติมสังคมให้ยิ่งโทรมยิ่งทราม ดังนั้น กู้บ้านกู้เมืองไม่พอ ต้องกู้พระศาสนาอีกด้วย

ในรัชกาลที่ ๑ ทรงแสดงพระบรมราโชบายว่า “ฝ่ายพระพุทธจักร พระราชอาณาจักรย่อมพร้อมกันทังสองฝ่ายชวนกันชำระพระสาศนา” ทรงตรา กฎพระสงฆ์ รวม ๑๐ ฉบับ ทรงเน้นการชำระสะสางทั้งฝ่ายพระสงฆ์ และชาวบ้าน ให้หมดจดพ้นไปจากลัทธิเหลวไหลไสยศาสตร์ ทั้งทางความเชื่อถือและการประพฤติปฏิบัติ

โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่เป็นองค์ยืนด้านนี้ นอกจากให้พ้นจากเวทจากไสยอันเป็นลัทธิข้างนอกแล้ว ก็ให้เข้ามาตั้งอยู่ในหลักของตัวข้างใน คือ ให้รู้ธรรมรู้วินัย ให้มีธรรมมีวินัย จึงทรงเน้นหนักให้พระมีการศึกษาที่เป็นธุระในพระศาสนา ขอให้ดูตัวอย่างความที่แสดงถึงพระบรมราโชบาย เช่นว่า

กฎพระสงฆ์ ฉบับที่ ๒: ถ้าสามเณรรูปใดมีอายุศมควรจะอุประสมบทแล้ว ก็ให้บวดเข้าร่ำเรียนคันฐธุระ วิปัศนาธุระ อย่าให้เที่ยวไปมาเรียนความรู้อิทธิฤทธิให้ผิดทุระทังสองไป...ถ้าแลสามเณรรูปใดอายุศมถึงอุประสมบทแล้ว มิได้บวด เที่ยวเล่นโว้เว้อยู่ จับได้ จะเอาตัวสามเณรแลชีต้นอาจารยญาติโยมเปนโทษจงหนัก

กฎพระสงฆ์ ฉบับที่ ๔: แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ห้ามอย่าให้มีภิกษุโลเลละวัฏะประนิบัต...มิได้ร่ำเรียนธุระทังสองฝ่าย อย่าให้มีได้เป็นอันขาดทีเดียว

พร้อมกันนั้น ก็ทรงจัดให้มีการบอกพระปริยัติธรรม แก่พระภิกษุสามเณร ในพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนวังเจ้านาย และบ้านข้าราชการผู้ใหญ่

การที่ในรัชกาลที่ ๑ โปรดให้มีการบอกพระปริยัติธรรม แก่พระเณร ในพระบรมมหาราชวัง เท่ากับถือเป็นกิจการสำคัญถึงขั้นเป็นการแผ่นดินนี้ นอกจากเป็นการเอาจริงเอาจังในการส่งเสริมพระเณรให้อยู่ในหลัก ให้ทำกิจหน้าที่ที่แท้เข้าในทางของตน ให้ได้พระเณรที่มีคุณภาพตามหลักพระศาสนาแล้ว ก็เป็นแบบอย่างที่จะนำประชาชนให้สนใจที่จะทำบุญแบบที่เข้าในทางอย่างนี้ด้วย เฉพาะอย่างยิ่ง เป็นภาพเด่นชัดที่จะคอยเตือนสำนึกของประชาชนให้ตระหนักรู้อยู่ทุกเวลาว่า พระคือผู้ทำอะไร พุทธศาสนาอยู่ตรงไหน

ในประวัติศาสตร์ ได้เห็นกันว่า ยามใดบ้านเมืองวิกฤต สังคมวิปริต หลักหาย ไม่มีระบบแบบแผนที่จะมั่นใจ ประชาชนมีจิตใจเคว้งคว้าง อ้างว้าง ก็จะเป็นช่องว่างและช่องทาง ให้เรื่องอิทธิฤทธิ์ เวทมนตร์ ไสยศาสตร์ อันเป็นที่พึ่งแบบผลุบโผล่เลื่อนลอย ขึ้นมาแพร่ระบาดเกลื่อนกลาดทั่วไป

เวลานี้ สังคมไทยมีสภาพวิกฤตทำนองนั้นไหม ผู้คนมีความอ้างว้างทางจิตใจ หรือเคว้งคว้างทางปัญญาหรือไม่ ลองพิจารณา

แล้วถ้าใครคิดจะฟื้นพระพุทธศาสนา จะกู้สังคม อาจจะหันไปดูการกู้ชาติ ฟื้นสังคม ในยุคกรุงธนบุรี จนถึงตั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้บ้าง เผื่อจะพบคติหรือข้อชี้บ่งบางอย่างให้เห็นแนวทาง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.