สถานการณ์พระพุทธศาสนา: พลิกหายนะเป็นพัฒนา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

จะเอาอย่างเขา หรือไม่เอาอย่าง
ก็อย่าไปสุดทางสองข้าง

ประเทศที่รักษาแบบแผนวัฒนธรรมของตนไว้ได้ ก็เพราะถูกฝรั่งคุกคามหนัก เพราะถูกลัทธิอาณานิคมคุกคามนานพอ ทำให้ความรู้สึกที่จะต้องพยายามดิ้นรนต่อสู้นั้น ฝังแน่นลงในจิตใจ

แต่น่าเสียดายที่น้อยชาตินักจะพยายามเร่งรัดตัวเองให้เจริญแบบทำได้อย่างฝรั่ง หรือเหนือฝรั่ง ส่วนมากดูเหมือนจะได้แค่ปฏิกิริยาในทางลบ ที่เป็นสุดโต่งไปอีกข้างหนึ่ง

ที่เป็นอย่างนั้น คงเป็นเพราะแพ้ฝรั่ง กลายเป็นเมืองขึ้นหรืออาณานิคมของฝรั่งไป เลยเกิดความรู้สึกต่อต้านแบบผู้อยู่ใต้อำนาจของเขา ถูกเขากดขี่ข่มเหงแล้ว เกิดความรู้สึกแข็งขืนพยายามจะเป็นผู้ไม่ตาม และไม่รับ กลายเป็นปฏิกิริยาสุดโต่งไป

อย่างที่บางประเทศมีพฤติกรรมที่เป็นปฏิกิริยาว่า ฝรั่งทำอย่างไร ฉันต้องไม่ทำอย่างนั้น ฝรั่งแต่งตัวของเขาอย่างนี้ ฉันก็ต้องแต่งตัวของฉันอย่างนั้น ก็น้อมไปสู่การรักษาประเพณีและวัฒนธรรมได้มาก แต่ไม่ค่อยได้พัฒนาอะไร พวกที่ถูกคุกคามและครอบงำบีบคั้นระยะยาวหลายชาติเกิดปฏิกิริยาแบบนี้

อย่างไรก็ตาม ที่พูดนี้เป็นการมองแบบง่ายๆ ที่จริงมีปัจจัยอย่างอื่นซ้อนอยู่อีก แต่เรามองเพียงในแง่ที่จะเอาคติมาใช้ประโยชน์

รวมความแล้ว ปฏิกิริยาทั้งสองแบบนี้ ไม่พึงปรารถนา ถ้าเพียงแต่รักษาวัฒนธรรมของตัวไว้ได้อย่างเดียว มุ่งแต่จะต่อต้านเขา ไม่ยอมรับของเขาเลย ไม่เอาของดีของเขามาพัฒนา และไม่ยอมพัฒนาเปลี่ยนแปลงของตัวเลย ก็เป็นเพียงปฏิกิริยาสุดโต่งในทางตรงข้าม ก็ไม่เจริญ

แต่ของไทยเรา ที่ไม่มีปฏิกิริยาเพราะถูกคุกคามระยะสั้น แล้วพอสบาย ก็เลยมองฝรั่งด้วยความรู้สึกชื่นชม อยากจะมีอยากจะบริโภคอย่างฝรั่ง ก็นำไปสู่การเป็นนักตามและนักรับ จนกระทั่งมีสภาพจิตแบบเป็นผู้ตามและผู้รับฝังมานานจนกระทั่งปัจจุบัน

อย่างที่บอกเมื่อกี้แล้วว่า เมื่อมีการติดต่อสัมพันธ์กับสิ่งที่เข้ามาจากประเทศตะวันตก สภาพจิตแบบผู้ตามและผู้รับนี้จะขึ้นมาแสดงอาการทันที

ปัจจุบันนี้ ถึงเวลาที่เราจะต้องสร้างความรู้ตัว และความเท่าทันขึ้นมา แล้วแก้ไขปรับปรุงกันใหม่

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.