สถานการณ์พระพุทธศาสนา: พลิกหายนะเป็นพัฒนา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

จากรับ-ตาม สู่ความเป็นผู้นำ-ผู้ให้
ก้าวยิ่งใหญ่ที่ท้าทายความสำเร็จ

ทีนี้ กลับมาเรื่องมานะอีกทีหนึ่ง มานะนี้ ในเมื่อเป็นปุถุชนกันอยู่ แทนที่จะเลิกพรวดพราดไป เราก็เอามาใช้ประโยชน์เสีย แต่ใช้ประโยชน์อย่างมีเป้าหมาย คุมให้ดี จัดการมัน อย่าให้มันเสีย

จัดการอย่างไร คือ เราต้องเลิกมานะอย่างต่ำ เลิกมานะเพื่อตัว ชนิดที่เต็มไปด้วยโมหะ และเอามานะชนิดที่ประณีตขึ้นมา ที่มีโมหะน้อยลง มาแทนที่ อย่างนี้เรียกว่ามีการพัฒนาขึ้นมาบ้าง แล้วค่อยก้าวไปสู่ความหมดมานะ หรือกำจัดมานะอีกทีหนึ่ง

ยกตัวอย่างมานะที่เต็มไปด้วยโมหะเป็นอย่างไร คือความถือตัว ความอยากอวดโก้กันเอง หรืออยากจะโก้ อวดพวกตัวเอง ไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นอย่างไร ไม่รู้พื้นเพภูมิหลังในสิ่งที่กระทำ เห็นว่าเป็นของฝรั่ง ก็เห็นว่าโก้ แล้วทำเพียงด้วยความรู้สึกโก้

อย่างนี้ เรียกว่ามานะที่เต็มไปด้วยโมหะ ประกอบด้วยโมหะ หรืออยู่ใต้ความครอบงำของโมหะโดยสิ้นเชิง

เพื่อละมานะอย่างหยาบนี้ เราก็ขยับขึ้นมามีมานะอีกขั้นหนึ่ง มานะที่ดีขึ้นก็คือ ความรู้สึกมีความภูมิใจในตัวเอง โดยมีความรู้เข้าใจเหตุผลในสิ่งที่กระทำ

ความภูมิใจในตัวเอง ที่รู้เข้าใจเหตุผลในการกระทำ ก็เป็นมานะเหมือนกัน แต่เป็นมานะที่ประกอบด้วยปัญญามากขึ้น โมหะน้อยลง เราเอามานะตัวนี้มาแทนที่ ให้คนมีมานะที่ถูกต้อง

แม้แต่การสร้างจิตสำนึกในการเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ สำหรับปุถุชนก็อาจเป็นการสร้างมานะชนิดหนึ่ง เพราะทำให้มีความรู้สึกภูมิใจในสถานะที่จะเป็นผู้นำ และอยากจะมีสถานะของความเป็นผู้นำนั้น ซึ่งทำให้เกิดการกระตุ้นเร้าตัวเอง ทำให้สร้างความรู้สึกนี้อยู่เสมอ ว่าเราจะต้องเป็นผู้นำ และเป็นผู้ให้

นี้เป็นมานะ แต่ประกอบด้วยปัญญา เข้าสู่วิถีของการที่จะพัฒนาต่อไปได้ เมื่อเรารู้เท่าทันอยู่ เราก็ก้าวไปสู่การพัฒนาคนให้ดีขึ้นไปอีกตามลำดับ จนกระทั่งต่อไปก็ทำด้วยเหตุผลและปัญญาล้วนๆ เพราะเราไม่ต้องการจะมามัวแข่งกับเขา เพื่อให้เราเหนือเขาหรืออะไรอย่างนั้น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่พึงประสงค์

อย่างลัทธิชาตินิยม ก็ใช้มานะมาปลุกเร้าทั้งสิ้น แต่ก้าวจากมานะเพื่อตัว ขึ้นไปสู่ขั้นของมานะเพื่อชาติ ทำให้ทำการทุกอย่างได้สำเร็จ เพื่อให้ชาติของตนยิ่งใหญ่ เช่น ชาตินิยมของญี่ปุ่น ก็ให้คนญี่ปุ่นทำได้ทุกอย่าง เพื่อให้ชาติญี่ปุ่นยิ่งใหญ่ ไม่ว่าอะไรๆ ญี่ปุ่นต้องเป็นหนึ่งในโลก

อย่างไรก็ตาม มานะแบบชาตินิยมนี้ แม้จะทำให้สร้างความสำเร็จได้ดี แต่ในที่สุดก็เป็นไปเพื่อการข่มเหงเบียดเบียนผู้อื่น เอาแต่ประโยชน์ของพวกตน ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่าง

ต่างจากจิตสำนึกในความเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้นี้ ซึ่งเมื่อพัฒนาไปถึงที่สุดแล้ว ก็จะไม่หลงตัวเอง แต่จะมีปัญญารู้ว่า ที่เราจะเป็นผู้นำนี้ ไม่ใช่เพื่อจะยกตัวข่มใคร หรือจะไปครอบงำใคร แต่มุ่งสู่ความเป็นมิตร และในที่สุดแล้ว เราทำเพื่อประโยชน์แก่มนุษยชาติทั้งหมด เพื่อความเป็นสุขร่วมกันในโลกนี้ เพื่ออารยธรรมของมนุษย์ที่ดีงาม และงอกงาม

ฉะนั้น เราจะต้องก้าวไปตามลำดับ ในเรื่องของการให้การศึกษานี้ เราไม่ใช่จะมองอยู่แค่เฉพาะตัวบุคคล แต่มองไปถึงอารยธรรมของโลกมนุษย์ทั้งหมดด้วย และเมื่อก้าวไปในวิถีที่ถูกต้องแล้ว ชีวิตบุคคล กับอารยธรรมของสังคมมนุษย์ทั้งหมด ก็จะสัมพันธ์ในทางที่ประสานเกื้อกูลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตกลงว่า ตอนนี้ก็ขอผ่านเรื่องนี้ไปก่อน

เอาเป็นว่า เรื่องการแก้ปัญหาการเลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตกด้วยมานะที่เต็มไปด้วยโมหะนี้ ควรละเลิกเสีย แล้วขยับขึ้นมาสู่สภาพที่ประณีตยิ่งขึ้น คือการมีมานะที่ประกอบด้วยปัญญา โดยสร้างจิตสำนึกแห่งความเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ขึ้นมา

พึงตั้งใจมุ่งแน่วไปว่า เราจะแก้ไขละเลิกสภาพจิตที่ฝังรากลึกในประเทศไทยมาเป็นร้อยปี คือสภาพจิตของความเป็นผู้ตามและเป็นผู้รับ ให้หมด หรือให้บรรเทาเบาบางเสียที

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.