การปฏิวัติครั้งที่สอง ที่เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ได้ผ่านไปแล้ว แม้ว่าหลายประเทศจะยังไม่ทันได้เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม และยังพยายามอยู่ แต่ตอนนี้เขาบอกว่า จะต้องมีการพลิกประวัติศาสตร์ใหม่ หนังสือตำราของตะวันตกที่ทันสมัยกำลังร่ำร้องกันถึงการปฏิวัติครั้งที่ ๓
การปฏิวัติครั้งที่ ๓ นี้ หนังสือบางเล่มเรียกว่า Sustainability Revolution อาจจะแปลว่าการปฏิวัติเพื่อความคงอยู่ยั่งยืน
แต่หลายคนไม่เอาคำนี้ ก็ใช้คำใหม่ให้ง่ายและตรงเข้าไปอีกเรียกว่า Environmental Revolution คือการปฏิวัติด้านสิ่งแวดล้อม นี่เป็นการปฏิวัติครั้งที่ ๓ ที่ร่ำร้องกัน
ที่เรียกว่าเป็นการปฏิวัติ เพราะจะต้องพลิกประวัติศาสตร์ จะต้องพลิกกระบวนการพัฒนา จะต้องพลิกแนวความคิด และจะต้องแสวงหาภูมิปัญญาใหม่ หนังสือบางเล่มบอกว่า นี้คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอารยธรรม
ตอนนี้ อเมริกามีประธานาธิบดีคนใหม่ซึ่งเพิ่งปฏิญาณตัวเข้ารับตำแหน่งเมื่อวานซืนนี้ คือวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๖ ได้แก่ประธานาธิบดี บิล คลินตัน ซึ่งมีรองประธานาธิบดีชื่อ นายแอล กอร์
ให้สังเกตว่า Al Gore นี้เป็น environmentalist คือเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติ เขาเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มานานแล้ว ถึงกับแต่งหนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อเรื่อง Earth in the Balance อาจเรียกได้ว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เมื่อไม่นานมานี้ ตอนที่ยังเป็นว่าที่รองประธานาธิบดี ก็ได้นำคณะผู้แทนของอเมริกันไปประชุมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แกสนใจเรื่องนี้มาก
ในหนังสือเล่มที่ว่านั้น ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอารยธรรม ซึ่งหมายถึงอารยธรรมตะวันตก ว่าอารยธรรมตะวันตกจะต้องมีการพลิกผันเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬาร และจะต้องลงลึกถึงสาระทางจิตใจ มนุษย์จะต้องปฏิวัติตัวเอง ไม่ใช่เฉพาะภายนอก แต่ต้องเปลี่ยนแปลงถึงรากฐานทางด้านจิตใจทีเดียว และมีหนังสืออื่นๆ ที่พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้มาก
ไหนๆ ก็ได้พูดถึงการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคลินตันแล้ว ขอแทรกเรื่องนี้เข้ามาหน่อย
เมื่อวานซืนที่ บิล คลินตัน ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น คนเป็นอันมากมัวชื่นชมกับพิธีการที่ยิ่งใหญ่มโหฬาร ตื่นเต้น
แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือคำปราศรัยของท่าน เราจะต้องมองดูว่า เขาคิดอย่างไร และเขาจะทำอะไร ขอให้สังเกตในคำปราศรัยของท่าน
คำปราศรัยตอนหนึ่งของท่านคลินตัน บอกด้วยความภูมิใจว่า American idea คือแนวความคิดของอเมริกัน ได้รับการยอมรับปฏิบัติตามไปทั่วโลก
นี่เป็นความภูมิใจของคนอเมริกัน ซึ่งก็เป็นความจริง แนวความคิดที่คนอเมริกันภูมิใจ ที่คนอื่นพากันทำตามนี้ คืออะไร
ที่จริง อันนี้เขาพูดกันมาก่อนแล้ว ก่อนที่ท่านคลินตันจะปราศรัย เพราะฉะนั้น เมื่อท่านคลินตันพูด ก็ไม่ต้องบอกว่าอะไร
อันนั้นก็คือ ความคิดในเรื่อง democracy และ free market economy คือ ประชาธิปไตย และเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี หรือลัทธิทุนนิยมนั่นเอง
หนึ่ง ก็แนวคิดประชาธิปไตย สอง ก็แนวคิดตลาดเสรีตามระบบทุนนิยม นี้เป็นสิ่งที่คนอเมริกันภูมิใจมากในขณะนี้ เขียนภูมิใจอวดกันไว้ในหนังสือต่างๆ
ขณะที่โลกคอมมิวนิสต์แตกกระจาย และอาณาจักรโซเวียตล่มสลาย ยุโรปตะวันออกเปลี่ยนพลิกจากระบบคอมมิวนิสต์มาหาระบบตลาดเสรี ที่ไหนๆ ก็ยอมรับหมดว่า โลกคอมมิวนิสต์ไปไม่รอด เพราะฉะนั้น ตอนนี้ก็มาสมาทานลัทธิทุนนิยม และประชาธิปไตยไปตามๆ กัน
นี้คือความภูมิใจของคนอเมริกัน ก็ควรที่จะภูมิใจ เพราะเขาเป็นผู้นำซึ่งเป็นที่ยอมรับว่า มีสิ่งที่ดีให้แก่ผู้อื่น
แต่เบื้องหลังความภูมิใจนี้ คืออะไร เบื้องหลังความภูมิใจนี้ ก็คือปมในใจ
ที่ท่านบิล คลินตันพูดอย่างนี้ ไม่ใช่มีแต่ความภูมิใจอย่างเดียว แต่มองให้ลึกลงไป ก็จะมองเห็นว่า ท่านพูดอย่างนี้ขึ้นมาในท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางจิตใจของคนอเมริกัน ที่กำลังขาดความมั่นใจ
คนอเมริกันในระยะ ๑๐ ปีมานี้ ได้สูญเสียความมั่นใจลงโดยลำดับ มีความไม่มั่นคงทางจิตใจมาก ทั้งในด้านความหวัง และความเชื่อถือ
ฉะนั้น คำของท่านคลินตันในฐานะผู้นำ จึงเป็นการพูดขึ้นในสภาพภูมิหลังอย่างนี้ เพื่อปลอบใจ และปลุกใจคนอเมริกัน เมื่อปัญหามีอยู่ และผู้คนหวั่นใจกันอยู่ แต่บ้านเมืองยังมีอะไรที่ภูมิใจได้ ในฐานะของผู้นำ เขาก็หยิบเอาจุดนั้นขึ้นมาพูด
ถ้อยคำส่วนอื่นๆ ของ บิล คลินตัน นั้น ส่อแสดงปมความรู้สึกนี้ ถ้าลองไปอ่านดู จะเห็นว่า เขามีปมอะไรในใจอยู่บ้าง แต่เอาเป็นว่า เขามีความภูมิใจอันนี้อยู่ และความภูมิใจนี้เขาพูดขึ้นมาจากภูมิหลังที่มีปมในใจ คือการขาดความมั่นใจในตนเอง