สถานการณ์พระพุทธศาสนา: พลิกหายนะเป็นพัฒนา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ภาวะขาดเณร: เกณฑ์บอกชะตาต่อไป

อีกด้านหนึ่งก็ลงมาถึง เณร คือ สามเณร ซึ่งตรงกันข้ามกับหลวงตาโดยวัย

“เณร” นี้เป็นส่วนสำคัญของพระพุทธศาสนา เป็นศาสนทายาท เป็นผู้ที่บวชเข้ามาแล้วมีโอกาสเล่าเรียนมาก และส่วนใหญ่จะได้เล่าเรียนพระธรรมวินัย เพราะวัยอยู่ในระยะเวลาที่จะเล่าเรียนศึกษา ช่วงเวลาของการที่จะเล่าเรียนได้ก็เต็มที่ หลังจากเรียนแล้ว ก็มีเวลาอีกมากที่จะทำงานให้พระศาสนาต่อไป

แต่ปัจจุบันนี้ เราหาเณรได้ยาก สำหรับในภาคกลางนี้หาเณรได้ยากอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเมือง แทบจะไม่มีเด็กบวชเลย จนกระทั่งเราต้องใช้วิธีจัด บวชสามเณรภาคฤดูร้อน

อันนี้เป็นทางออกอย่างหนึ่ง ซึ่งแม้จะแก้ไขปัญหาที่แท้จริงไม่ได้ แต่ก็ยังเป็นตัวผ่อนเบาว่า ให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสรู้จักพระศาสนาบ้าง แต่เราจะหวังให้เณรเหล่านี้มาเป็นผู้ที่รับผิดชอบดูแลการพระศาสนาต่อไป ย่อมเป็นไปได้ยาก

เราอาจจะหวังว่า เมื่อมีเณรบวชภาคฤดูร้อนมากๆ บางส่วน อาจจะเป็นหนึ่งในสิบหรือหนึ่งในร้อย ที่มีศรัทธาแรงกล้าอยากจะศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย อยู่ในพระศาสนา อยู่ในวัดต่อไป (ซึ่งก็มีอยู่จริงด้วย) แต่นี่ก็เป็นเรื่องของการหาทางผ่อนคลายปัญหา

ปัญหาที่แท้จริงก็คือ ไม่มีเด็กจะมาบวชเณร เพราะรัฐขยายการศึกษาตั้งโรงเรียนออกไปในถิ่นไกลๆ ได้มากขึ้น วัดไม่ต้องเป็นช่องทางช่วยผ่อนเบาปัญหาความไม่เสมอภาคแห่งโอกาสในการศึกษาของรัฐ(โดยไม่ตั้งใจ)มากเหมือนในช่วง ๒๐-๑๐๐ ปีก่อน และการศึกษาของวัดในสภาพปัจจุบัน ก็ไม่จูงใจเด็กให้เข้ามาเรียน หรือจูงใจพ่อแม่ให้ส่งลูกเข้ามาเรียน เด็กก็ไปเข้าเรียนต่อในโรงเรียนของรัฐ

ยิ่งกว่านั้น เวลานี้เด็กออกโรงเรียนโตขึ้นกว่าเก่า ก็ไปเข้าตลาดแรงงานเด็กเสียมาก ในส่วนเมืองและในถิ่นใดที่ยิ่งมีความเจริญมากขึ้น ก็ยิ่งหาเด็กมาบวชเณรได้ยากขึ้น

เพราะฉะนั้น ก็จะไม่มีผู้ที่จะดำรงพระศาสนา ที่เราเรียกว่าเป็นศาสนทายาทต่อไป อันนี้ก็เป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงในระยะยาว

เมื่อ ๒๐-๒๕ ปีที่แล้วมา ครั้งที่สามเณรยังมีจำนวนมาก และเริ่มเข้าสู่หัวต่อแห่งความเปลี่ยนแปลงของจำนวนสามเณรที่อยู่วัดเล่าเรียนพระธรรมวินัย

ในภาคกลาง มีสามเณรในอัตราส่วนประมาณ ๑ รูป ต่อพระภิกษุ ๖-๗ รูป

ในภาคใต้ สามเณร ๑ รูป ต่อพระภิกษุ ประมาณ ๒-๓ รูป

ในภาคอีสาน สามเณร ๑ รูป ต่อพระภิกษุจำนวนเท่าๆ กัน คือ ๑ รูป หรือเณรมากกว่าพระเล็กน้อย และ

ในภาคเหนือ สามเณรประมาณ ๒ รูป ต่อพระภิกษุ ๑ รูป

(ตัวเลขนี้ ว่าตามที่นึกๆ ได้จากความจำ อย่าเพิ่งถือเอาเป็นแน่นอนทีเดียว เมื่อมีเวลาจะตรวจสอบหลักฐานอีกที)

ต่อจากนั้น อัตราส่วนของสามเณรที่อยู่เล่าเรียนมีน้อยลงเรื่อยๆ จากภาคกลางที่ลดลงก่อน ภาคอื่นๆ ก็พลอยเป็นไปด้วย จนปัจจุบัน แม้แต่ภาคอีสาน และภาคเหนือ ก็หาเด็กบวชเณรยาก ในภาคเหนือที่เคยมีเณรในอัตราส่วนสูงสุด คือมากกว่าพระราว ๒ ต่อ ๑ เวลานี้ก็แทบไม่มีเด็กบวชเณร หาเณรเรียน หาเณรใช้ยาก

เมื่อเณรลดน้อยลงนั้น ก็หมดไปจากในกรุง ในเมือง ภาคกลาง และจากถิ่นเจริญก่อน

ดังนั้น ตั้งแต่รัฐเริ่มจัดการศึกษาแบบตะวันตกในศตวรรษที่แล้วมา ที่ใดการศึกษาของรัฐไปไม่ถึง เด็กก็มาบวชเณรเรียนหนังสือ เณรในกรุงเทพฯ เป็นผู้ที่มาจากต่างจังหวัด ต่อมา เณรในเมืองใหญ่แต่ละเมือง ก็เป็นผู้ที่มาจากถิ่นห่างไกลนอกเมือง จนมาระยะเมื่อเร็วๆ นี้ เณรในโรงเรียนปริยัติธรรมที่อยู่ในวัดภาคกลาง ก็มาจากภาคอีสาน และภาคเหนือ

ครั้นถึงขณะนี้ เมื่อเณรกำลังจะหมดไปจากภาคเหนือ เณรที่อยู่ในวัดภาคเหนือ ก็กำลังกลายเป็นเด็กที่มาจากถิ่นห่างไกลในต่างแดนที่ไกลความเจริญ โดยเฉพาะที่เด่นขณะนี้ ก็คือเณรจากสิบสองปันนา ที่เข้ามาแสวงหาช่องทางแห่งความเจริญก้าวหน้า (ลองนึกถึงจิตใจของโรบินฮูดไทยในอเมริกา)

ยิ่งมาถึงปัจจุบันนี้ ทางการได้มีนโยบายที่มุ่งมั่นจะขยายการศึกษาที่เคยเรียกว่าภาคบังคับเดิมออกไป ตามโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา โดยขยายชั้นประถมขึ้นไปอีก ๓ ชั้น ถึงมัธยม ๓ หรืออาจจะเรียกว่าประถมปีที่เก้า ก็ทำให้เด็กต้องอยู่ในโรงเรียนยาวนานมากขึ้น ถ้าไม่มีนโยบายทางการคณะสงฆ์มารับกันให้พอเหมาะพอเจาะ ก็จะทำให้ยิ่งขาดแคลนเณรที่จะมาบวช และขาดแคลนศาสนทายาทยิ่งขึ้น

อันนี้เป็นปัญหาระยะยาว ที่จะต้องมาคิดกันว่า การพระศาสนาข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.