สถานการณ์พระพุทธศาสนา: พลิกหายนะเป็นพัฒนา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สภาพสังคมไทย ภาพสะท้อน-เห็นอะไรจากข่าวสาร

จะอย่างไรก็ตาม ข่าวสารที่ออกมาอย่างนี้ ก็เป็นเครื่องแสดงถึงสภาพ ๓ ด้าน ที่เราจะต้องพิจารณา คือ

  1. สภาพการคณะสงฆ์ และการพระศาสนา
  2. สภาพของสื่อมวลชน
  3. สภาพของประชาชน ผู้รับฟังข่าวสาร

ทั้งสามด้านนี่สัมพันธ์กันทั้งหมด สำหรับในแง่ของสภาพคณะสงฆ์ ข่าวนั้นจะจริงหรือไม่จริง หรือจะมีส่วนจริงแค่ไหนอย่างไรก็ตาม ก็ต้องมีเค้าอยู่ เมื่อมีเค้าอยู่ ก็แสดงถึงสภาพความเสื่อมโทรมโดยทั่วไป

ทีนี้ ในแง่ของการเสนอข่าว ในยุคข่าวสารข้อมูลนี้ ลักษณะของข่าวสารก็ขึ้นกับสภาพสังคมด้วย

ในสังคมไทยปัจจุบันนี้ เราจะเห็นว่า ข่าวร้ายได้รับการเผยแพร่กันมาก แต่ข่าวดีไม่ค่อยได้รับการเผยแพร่ อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ส่อแสดงถึงความเป็นไปของสังคมว่า การเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลของเรานั้นดำเนินไปด้วยดีหรือไม่เพียงใด และสถาบันที่รับผิดชอบในการเสนอข่าวสาร ที่เรียกว่าสื่อมวลชนนั้น มีความรับผิดชอบต่อสังคมแค่ไหน

ข่าวความสำเร็จในการประดิษฐ์คิดค้น หรือความสำเร็จทางปัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นความก้าวหน้าใหม่ ซึ่งจะเป็นเครื่องกระตุ้นและส่งเสริมแนวโน้มและพลังที่ดีงาม พร้อมทั้งเป็นเกียรติแก่ประเทศชาติ และเป็นการร่วมสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติ และข่าวการเสียสละพากเพียรบำเพ็ญคุณความดีอันยิ่งใหญ่ หรือก่อประโยชน์สุขแก่มหาชน แทนที่จะขึ้นพาดหัวข่าวหน้าหนึ่ง กลับไปซุกซ่อนอยู่ในคอลัมน์เล็กๆ ข้างใน ที่แทบไม่มีใครมองเห็น

แต่หน้าแรกที่สำคัญนั้น กลับเป็นที่ชุมนุมของข่าวการฆ่าฟันสังหาร และอาชญากรรมเฉพาะราย ที่ทำจิตใจและปัญญาให้อับเฉามืดมัว

ต่อจากนั้น ประการที่สามก็คือ ตัวประชาชนผู้รับฟังข่าวสาร ซึ่งมีปัญหาว่า มีการใช้ปัญญาหรือวิจารณญาณไตร่ตรองหรือไม่ หรือเพียงแต่ตื่นเต้นตามกันไป แล้วก็เป็นเหยื่อของข่าวที่หละหลวมคลุมเครือ หรือการโฆษณา ไม่สามารถจะทันต่อความเป็นไปที่สำคัญและเป็นสาระ หรือรู้เท่าทันต่อข่าวสารที่ถูกนำเสนอ แล้วก็ไม่สามารถจะถือเอาประโยชน์ที่แท้จริงจากข่าวสารเหล่านั้นได้

คนที่อ่านข่าวตื่นเต้นร้ายแรงหน้าหนึ่ง น้อยคนจะรู้จักอ่านให้ได้คติ หรือได้แรงกระตุ้นเร้าในการที่จะคิดแก้ไขปัญหา หรือแม้แต่ที่จะให้เกิดความไม่ประมาท

หนังสือพิมพ์ลงข่าวพระภิกษุอายุ ๗๐ ปี หรือแม้กระทั่ง ๘๐ ปี ประกอบกรรมชั่ว ผู้อ่านซึ่งขาดความตระหนักรู้ต่อสภาพสังคมของตน มองภาพเป็นพระภิกษุที่บวชมานาน คิดว่า ทำไมพระที่อยู่ในพระศาสนามาถึงเพียงนี้ ยังมีกิเลสชั่วร้ายนักหนา

ผู้อ่านหารู้ไม่ว่า บุคคลผู้นั้น ก็คือชาวบ้านแก่เฒ่าผู้อาศัยช่องว่าง ขณะที่วัดในชนบทมากมายกำลังจะกลายเป็นวัดร้าง และขณะที่สังคมทั่วไปไม่ใส่ใจดูแลสมบัติของตน เขาก็แฝงตัวผ่านเข้าสู่ช่องทางการบวชที่หละหลวม บวชเข้ามาเป็นพระแก่พระหลวงตาเพื่อจะทำการที่ตนปรารถนาได้โดยสะดวก

ด้านผู้อ่าน ก็ขาดความรู้ความเข้าใจต่อสภาพวัดและพระสงฆ์ในปัจจุบันที่จะวิเคราะห์ความจริง ด้านสื่อมวลชน ก็เสนอข่าวโดยไม่ให้ข้อมูลเพียงพอที่จะให้เกิดปัญญา

นี้ก็เป็นเรื่องของข่าวความเสียหาย นอกจากข่าวความเสียหายแบบนี้แล้ว ก็มีอีกด้านหนึ่งคือ เรื่องที่ประชาชนวิจารณ์กันในแง่ว่า พระแข่งกันทำกิจกรรมในแง่หาเงินหาทอง มุ่งแต่จะหาเงินหาทองกันเหลือเกิน และทำด้วยวิธีการต่างๆ

แล้วก็อวดกันในเรื่องสิ่งก่อสร้าง เช่นการสร้างพระที่ใหญ่ที่สุดในโลกบ้าง ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยบ้าง อะไรทำนองนี้ โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ในการใช้สอย หรือประโยชน์ต่อพระศาสนาระยะยาว ไม่อ้างอิงไปถึงเหตุถึงผลว่า วัตถุนั้น การสร้างนั้นจะช่วยนำคนให้รู้เข้าใจธรรม ให้ประพฤติดีมีศีลมีธรรมอย่างไรๆ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.