สถานการณ์พระพุทธศาสนา: พลิกหายนะเป็นพัฒนา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สอนเอาหลักเพื่อประโยชน์แก่เขา
ไม่ใช่สอนเอาแต่ใจของตัว

ถ้าความเชื่อถือในพระรัตนตรัยมีเรื่องของความเข้าใจในแง่ศักดิ์สิทธิ์อยู่บ้าง เราจะทำอย่างไร

เมื่อกี้ได้พูดแล้วถึงเกณฑ์มาตรฐาน คือ หลักการมีอยู่แล้วว่าให้หวังผลจากการกระทำ จุดตัดสินอยู่ที่นี่

ตรงนี้ก็ทำให้เรามีความชัดเจนว่า ถ้าหากความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นแบบที่เสริมการกระทำ คือทำให้เขามีเรี่ยวแรงกำลังใจในการทำมากขึ้น อย่างนี้พอรับได้

แต่ถ้าเขาเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วทำให้เขานอนคอยโชค ได้แต่หวังผลจากการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ งอมืองอเท้าไม่ทำอะไร อันนี้ผิดหลักกรรมร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยสิ้นเชิง อย่างนี้ใช้ไม่ได้

เป็นอันว่า ถ้าความเชื่อใดทำให้ผู้เชื่อยังมีความสำนึกรับผิดชอบในการกระทำของตน และเพียรพยายามกระทำการเพื่อให้สำเร็จผลที่ต้องการอยู่ เพียงแต่เอาความเชื่อนั้นมาเสริมให้มีกำลังใจที่จะทำการนั้นให้เข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้น อย่างนี้ เราพูดได้ว่ายังไม่ผิดหลักกรรม และบุคคลนั้นยังพึ่งตน เขาจึงยังมีหลักในการที่จะก้าวหน้าในแนวทางของการฝึกฝนพัฒนาตนต่อไป

เพราะฉะนั้น ถ้าผู้สอนไม่มีความสามารถเพียงพอ และผู้ฟังยังมีระดับต่ำมาก แนวทางที่จะปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับ และไม่ผิด ก็คือ

หนึ่ง ดึงจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก เข้ามาสู่พระพุทธศาสนา โดยมองไปที่พระรัตนตรัย ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาฝึกฝนพัฒนาตนสูงขึ้นได้ต่อไป

สอง แม้เขาจะมองพระรัตนตรัยเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ ก็ให้เขาเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพระรัตนตรัยนั้น ในทำนองที่สนับสนุนหลักกรรม คือให้เกิดกำลังใจที่จะเพียรพยายามทำการให้เข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้น ไม่ใช่เชื่อแล้ว เลยยกชะตากรรมไปให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็หวังผลจากการดลบันดาล ซึ่งผิดหลักกรรมดังที่ว่าเมื่อกี้

ถึงเขาจะยังเชื่อความศักดิ์สิทธิ์ แต่ถ้าความศักดิ์สิทธิ์นั้นย้ายมาอยู่ที่พระรัตนตรัยแล้ว ก็จะโยงเขาเข้ามาหาหลักกรรม และหลักการฝึกฝนพัฒนาตน ซึ่งจะมีผลพลิกกลับให้เขาหลุดพ้นจากความหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ต่อไป แต่จะต้องเข้าใจความหมายและเชื่อพระรัตนตรัยอย่างถูกต้อง

เป็นอันว่า การก้าวเข้ามาสู่พระพุทธศาสนา ก็อาจจะต้องมีขั้นมีตอนด้วย

  • สำหรับคนที่กระโดดไม่ไหว ก็อาจจะต้องมีบันไดให้ก้าวเป็นขั้นๆ
  • สำหรับคนที่ก้าวไกลไม่ได้ ก็อาจจะต้องมีไม้พาดให้ค่อยๆ เดิน

แต่ข้อสำคัญจะต้องให้เขาเดินหน้ามา ไม่ใช่หยุดนิ่ง หรือถอยหลัง หรือไปเหยียบซ้ำให้เขาจมหายไปเลย

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติต่อเรื่องราวเหล่านี้จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอยู่ และต้องจับหลักให้ได้

ที่ว่าจับหลักให้ได้ หมายความว่า หลักกรรมที่สอนให้กระทำความเพียรเพื่อผลสำเร็จที่ต้องการ จะต้องยืนเป็นหลักอยู่

ไม่ว่าเขาจะนับถืออะไรก็ตาม ถ้าตราบใดความเชื่อนั้นยังมาเสริมให้เขากระทำการเพื่อผลสำเร็จ และยังเป็นจุดเริ่มต้น หรือเป็นจุดเชื่อมต่อให้ก้าวหน้าไปได้ ในวิถีแห่งการพัฒนาตน สู่อิสรภาพที่สมบูรณ์ข้างหน้าต่อไป ก็ยังไม่ผิดหลักการ ถือเป็นจุดเริ่มต้นได้

แต่ถ้าเมื่อใดเขายกชะตากรรมไปให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เชื่อแล้วได้แต่หวังผลจากการดลบันดาล และนั่งนอนคอยโชค อย่างนั้นถือว่าเป็นการผิดหลักกรรมโดยสิ้นเชิง

ฉะนั้น ในฐานะที่ครูต้องสัมผัสกับคนที่อยู่ในระดับการพัฒนาต่างกันมาก อย่าสอนชนิดที่ทำให้เขาเสียหลักแล้วลอยเตลิดไปเลย และเคว้งคว้างยิ่งขึ้น ควรสอนอย่างมีขั้นมีตอน โดยสัมพันธ์กับความสามารถของตน สิ่งสำคัญที่สุดคือ จะต้องจับหลักไว้ให้ได้

ขอเน้นว่า ตัวเราก็ต้องยอมรับด้วยว่า เรานั้นมีความสามารถในการสอนแค่ไหน สอนแล้วจะทำให้เขามีความมั่นใจในการกระทำของตนเองได้แค่ไหน จะต้องสอนเพื่อประโยชน์แก่เขา ให้เขาพัฒนา ไม่ใช่ว่าสอนเอาแต่ใจตนเอง ไปด่าไปว่าทำลายแล้วทำให้เขาหมดหลัก เลยยิ่งร้ายหนักเข้าไปอีก แล้วแทนที่ตัวเองจะทำสิ่งที่ดีงามและเป็นประโยชน์ กลับทำสิ่งที่เป็นโทษ นี่เป็นเรื่องหนึ่ง

ตกลงว่า ในเรื่องพระศาสนานี้ สิ่งที่สำคัญคือ จับหลักให้ได้ว่าอยู่ที่ไหน ในการสอนนั้นเราควรรู้ว่าจะผ่อนปรนอะไรได้แค่ไหนเพียงไร แต่หลักการจะต้องยืนตัวแน่นอน ไม่ว่าจะนับถืออะไรก็ตาม ที่จะถือว่าศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ ก็ต้องให้เป็นสิ่งที่มาเสริมการกระทำ และความรับผิดชอบต่อการกระทำ อย่าให้มาเป็นตัวลดหย่อนการกระทำและเสียความเชื่อกรรม

ส่วนการหวังผลจากการดลบันดาลและลาภผลที่เลื่อนลอยอะไรต่างๆ นั้น จะต้องให้หมดไปจากชาวพุทธ เพราะไม่ใช่หลักของพระศาสนา และผิดหลักการของพระศาสนาด้วย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.