พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เศรษฐกิจเจริญดี สิ่งแวดล้อมอยู่ไม่ได้

ต่อไป ข้อที่หก ก็คือเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นสภาพโลกาภิวัตน์ ปัญหานี้ก็ชัดมาก เป็นเรื่องใหญ่ ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เกิดเป็นความตระหนักรู้ในโลกนี้ โดยถือนิมิตดีใน ค.ศ. ๑๙๗๒ ซึ่งเป็นปีที่มีการตระหนักรู้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับโลก โดยแสดงความพรักพร้อมออกมาระหว่างนานาชาติ ด้วยการประชุมระดับโลกเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม

ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็มาสัมพันธ์กับปัญหาระบบเศรษฐกิจเกี่ยวกับการบริโภค และการผลิต และปัญหาประชากรที่เพิ่มขึ้นมามากมาย ซึ่งทำให้มนุษย์ต้องทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น หักร้างถางพงทำลายป่าเพื่อหาที่ทำกิน ปัญหานี้สลับซับซ้อนอย่างยิ่ง มันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความเจริญของอารยธรรมด้วย ไม่ใช่เฉพาะว่ามีประชากรมากมายเท่านั้น เพราะประชากรในประเทศที่เจริญแล้วมีไม่มากนักแต่จัดการกับสิ่งแวดล้อมหรือปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมไม่ถูกต้อง จึงกลับกลายเป็นผู้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและก่อมลภาวะมาก

เวลานี้ปัญหาของมนุษย์ ก็คือเมื่อเขาไปเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมนั้น เขาเอาของดีออกไปและเอาของเสียใส่ให้ เอาของดีออกไปหมายความว่า ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ก็เอาออกไปใช้จนกระทั่งทรัพยากรธรรมชาตินั้นร่อยหรอหมดไปๆ เอาของเสียใส่ให้ก็คือเอามลภาวะ (pollution) และขยะใส่ เอาของดีออกไปแล้วไม่พอ ยังแถมเอาของเสียใส่ให้ ธรรมชาติก็ทนไม่ไหว จึงเสื่อมโทรมลงไปๆ รวมความว่าเรื่องปัญหาธรรมชาติแวดล้อมมีสองอย่าง คือ เอาของดีออกไป และเอาของเสียใส่เข้ามา ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ แล้วก็เกิดมลภาวะและปัญหาขยะ

เวลานี้มนุษย์ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ทั้งๆ ที่รู้แล้วว่าเป็นปัญหาที่กระทบกระเทือนไปทั่วโลก ซึ่งจะต้องช่วยกันแก้ไข แต่แม้กระทั่งประเทศที่พัฒนาแล้วก็หาทางออกไม่ได้ เวลานี้ทำได้แค่ว่า

หนึ่ง ปัดสวะให้พ้นหน้าบ้าน หมายความว่าถึงจะเป็นอย่างไรก็ขอให้พ้นหน้าบ้านตัวไปก่อน ทั้งๆ ที่ว่าในระยะยาวมันก็ต้องเป็นปัญหาถึงตัวอยู่ดี เซ่นปัญหามลภาวะ (pollution) วิธีปัดขยะให้พ้นหน้าบ้านก็คือ ประเทศที่พัฒนาแล้วรู้ว่าพวกอุตสาหกรรมหนักก่อให้เกิดมลภาวะสูง ก็ระบายออกไปจากประเทศเสีย ให้ประเทศที่กำลังพัฒนามารับเอาไป โดยมีนโยบายให้ขยายย้ายพวกโรงงานอุตสาหกรรมหนักไปอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา ประเทศที่กำลังพัฒนาต้องการความเจริญทางเศรษฐกิจ อยากจะเป็นประเทศอุตสาหกรรม ก็เลยน้อมรับเอาพวกโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาไว้ในประเทศของตัว แล้วก็รับเอาของเสียเข้าไปด้วย

วิธีที่สอง ก็ปัดขยะจริงๆ อันนี้ไม่ใช่แค่ปัดขยะ แต่เอาขยะของตัวเองไปให้เลย คือว่าประเทศที่เจริญแล้วเวลานี้ขยะล้นไม่มีที่ทิ้งขยะ เช่นประเทศอเมริกาก็ต้องไปเที่ยวตกลงกับประเทศกำลังพัฒนาที่ล้าหลังทั้งหลายที่ยากจน ซึ่งรัฐบาลก็อาจจะกำลังต้องการเงินมาก อเมริกาก็ไปตกลงกับผู้นำให้เงินเท่านี้แล้วขอเอาขยะไปทิ้ง ดังเป็นที่ทราบกันในหนังสือที่อเมริกันเองบอก เช่น Al Gore รองประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งเป็นนัก environmentalist (นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม) ได้เขียนเล่าไว้ถึงประเทศอเมริกาที่ว่าได้เอาขยะไปทิ้งในประเทศอื่น โดยที่ไปรู้กันกับผู้นำของประเทศนั้นๆ เช่นตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก หรือประเทศในแอฟริกา แล้วก็เอาขยะไปทิ้ง บางทีเป็นขยะที่เป็นพิษใส่เรือไป เรือเดินสมุทรไปหาที่ทิ้งสองปีบางทีก็ยังไม่มีที่ทิ้งเลย เวลานี้อเมริกาจึงประสบปัญหาอย่างหนัก ยกตัวอย่างเช่น คราวหนึ่งก็ไปตกลงกับประเทศจีนแดง ให้ผู้นำจีนแดงรับเงินแล้วอเมริกาก็เอาขยะไปทิ้ง ตกลงกันให้ไปทิ้งในประเทศธิเบต เพราะว่าถึงจะยอมให้ทิ้งเพราะได้เงินมาก็ให้มันไกลตัวที่สุด เอาไปทิ้งที่ธิเบตไกลออกไปยังดีหน่อย แต่องค์การ Green Peace รู้เข้าก็เอามาโพนทะนา อเมริกันก็เสียหน้าอับอาย อายแล้วก็เลยต้องยอมหยุด อย่างนี้เป็นต้น

นี่คือสภาพปัญหาปัจจุบัน ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นปัญหาของโลกจะต้องช่วยกันแก้ แต่เวลาจะแก้ก็มีปัญหาให้ติดขัด สาเหตุติดขัดอีกอย่างหนึ่งก็คือเพราะเรื่องของอำนาจความยิ่งใหญ่และอิทธิพลในโลก ประเทศที่พัฒนาแล้วไม่สามารถลดฐานะของตัวเอง เมื่อจะรักษาอำนาจความยิ่งใหญ่และอิทธิพล ก็จำเป็นจะต้องผลักดันระบบเศรษฐกิจ ต้องหาผลประโยชน์ ต้องเพิ่มผลกำไร เรื่องของการค้าก็ยิ่งไปหนุนให้เกิดปัญหาสภาพแวดล้อม ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นโทษก็แก้ไม่ได้ เพราะถ้ายอมแก้ปัญหาเรื่องนั้นก็เสียอิทธิพลและความยิ่งใหญ่ของตัว เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้จึงเป็นปัญหาที่วนเวียนซับซ้อน และในที่สุดก็มาอับจนอีกจุดหนึ่ง กล่าวคือมนุษย์ได้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมมาจนถึงจุดที่ว่าจะต้องมีจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อม แต่แล้วจริยธรรมนั้นก็มาจบลงด้วยการเป็นจริยธรรมแบบจำใจ

จริยธรรมแบบจำใจหมายความว่า มนุษย์จำเป็นจำยอมต้องระงับยับยั้งพฤติกรรมที่เป็นโทษของตนเอง ไม่ทำตามชอบใจ หรือยอมเสียผลประโยชน์บางอย่าง เพราะเกรงกลัวภัยอันตรายต่อตนเอง กล่าวคือ มนุษย์ยุคปัจจุบันนี้มีความเชื่อแฝงลึกอยู่ว่า มนุษย์จะมีความสุขในเมื่อได้เสพวัตถุให้มากขึ้น ฉะนั้นถ้าตนได้เสพบริโภควัตถุมากที่สุดก็จะมีความสุขมากที่สุด แต่การบริโภคมากนั้นเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ และเมื่อธรรมชาติเสีย ตัวเองก็จะเกิดความเดือดร้อน ถ้าธรรมชาติพินาศ มนุษย์ก็จะวิบัติด้วย เพราะฉะนั้น จึงจะต้องรักษาธรรมชาติไว้ โดยตนเองต้องยอมยับยั้งสูญเสียความสุขบ้าง ไม่หาเสพความสุขให้เต็มที่ตามต้องการ เพื่อให้ธรรมชาติอยู่ได้ แต่กลายเป็นว่าต้องจำใจ เพราะว่ากลัวภัยอันตรายมาถึงตัวจึงจำใจต้องยอมปฏิบัติถูกต้องต่อสิ่งแวดล้อม

เวลานี้ก็เกิดจริยธรรมขึ้นใหม่ เรียกว่าจริยธรรมด้านสิ่งแวดล้อม (environmental ethics) ซึ่งได้รับการยอมรับและได้รับการเน้นกันมาก แต่ก็เป็นปัญหาว่าเมื่อเป็นจริยธรรมแบบจำใจมันก็ไม่มีฐานที่มั่นคงยั่งยืน เพราะจะอยู่ยั่งยืนได้อย่างไรในเมื่อมนุษย์จำใจปฏิบัติ เกิดเป็นปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกว่า ถ้ามนุษย์จะสุขมากที่สุด ธรรมชาติก็อยู่ไม่ได้และตัวมนุษย์เองก็จะกลับเดือดร้อน ถ้าจะให้ธรรมชาติอยู่ได้ ตัวเองก็ต้องยอมละเว้นความสุขบางอย่าง และมนุษย์ก็จะไม่สุขสมปรารถนา นี่คือจริยธรรมของมนุษย์ปัจจุบัน เป็นจริยธรรมแบบจำใจหรือจริยธรรมแบบประนีประนอม หมายความว่าทั้งสองฝ่ายจะต้องยอมสูญเสียผลประโยชน์บางอย่างเพื่อตนยังคงได้ผลประโยชน์อยู่บ้าง

อนึ่ง เรื่องของสิ่งแวดล้อมนี่แหละที่เป็นปัญหาสำคัญจนทำให้เกิดคำศัพท์ใหญ่ยิ่งของยุคปัจจุบันคือคำว่า sustainable development ที่แปลว่าการพัฒนาแบบยั่งยืน ก่อนคำว่าโลกาภิวัตน์จะได้รับความนิยมมากนั้น คำว่า sustainable development (การพัฒนาแบบยั่งยืน) เป็นคำที่เกร่อที่สุด แต่เวลานี้คำว่า โลกาภิวัตน์มาข่มคำว่า sustainable development จนกระทั่งคนเดี๋ยวนี้พูดถึงคำนี้น้อยจนเกินไป หรือจะกลายเป็นคำที่ถูกลืม

sustainable development (การพัฒนาแบบยั่งยืน) เป็นศัพท์ที่สำคัญและเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หมายความว่าการพัฒนาโลกที่ผ่านมานี้มันไม่ยั่งยืน (unsustainable development) ซึ่งมีความหมายตามที่เขาจำกัดความว่า เป็นการพัฒนาที่เศรษฐกิจเจริญดีแต่สิ่งแวดล้อมอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นความหมายของคำว่า การพัฒนาแบบยั่งยืน (sustainable development) จึงได้แก่การพัฒนาที่ว่า เศรษฐกิจก็เจริญได้และสิ่งแวดล้อมก็อยู่ดี ดังที่เขาใช้ภาษาอังกฤษคู่กันว่า economy คู่กับ ecology นี่คือสภาพการพัฒนาแบบยั่งยืนที่เป็น sustainable ซึ่งจะต้องคำนึงถึง economy และ ecology ทั้งสองอย่าง

ปัญหานี้เป็นเรื่องของการพิจารณาวิเคราะห์ว่า การพัฒนาที่ผ่านมาไม่สมดุล และไม่ครบองค์ประกอบ คือแต่ก่อนนี้เป็นการพัฒนาที่เอียงไปข้างเดียว มุ่งแต่เศรษฐกิจไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องแก้ไขโดยต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย ให้ครบเป็นองค์ประกอบสองอย่าง ทั้งสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ แต่ปัญหาสำหรับเราก็คือว่า การคำนึงถึงองค์ประกอบในการพัฒนาแบบยั่งยืนที่เอาแค่ ecology กับ economy นี้ครบถ้วนเพียงพอหรือเปล่า นี่ก็เป็นปัญหาสำหรับการศึกษาเหมือนกัน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.