พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เหตุปัจจัยแท้อยู่ที่ฐานทางทิฏฐิ

แต่เบื้องหลังเหตุปัจจัยระดับปฏิบัติการนี้คือเหตุปัจจัยที่ลึกกว่า ได้แก่เหตุปัจจัยในด้านความคิดพื้นฐาน เรื่องนี้ชาวตะวันตกเองได้เริ่มสืบสาวและเวลานี้ก็ยอมรับกันมาก ดังปรากฏในหนังสือต่างๆ เมื่อพูดถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมมักจะเน้นว่า ต่อไปนี้เราจะต้องมองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และวิเคราะห์ว่าอารยธรรมตะวันตกได้มองมนุษย์แยกออกจากธรรมชาติตลอดมาเป็นเวลากว่า ๒ พันปีมาแล้ว และที่ร้ายกว่านั้นก็คือ เมื่อมองมนุษย์แยกจากธรรมชาติแล้ว ยังมีแนวความคิดขึ้นมาด้วยว่าจะต้องพิชิตธรรมชาติ

แนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาตินี้ เป็นแนวความคิดที่ทางตะวันตกได้ภูมิใจมาตลอดเวลายาวนานมาก เพราะถือว่าการชนะธรรมชาติ คือชัยชนะและความสำเร็จของมนุษย์ มนุษย์จะมั่งคั่งพรั่งพร้อมเป็นเจ้าเป็นนายของโลกด้วยการพิชิตธรรมชาติ และถือว่าความคิดนี้ได้ทำให้ตะวันตกเจริญล้ำหน้าตะวันออกในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่มาถึงเวลานี้ตะวันตกได้เกิดความรู้ตระหนักใหม่เป็นความสำนึกว่า แนวความคิดนี้ผิดพลาด เพราะแนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาตินี้แหละจึงทำให้เขาจัดการกับธรรมชาติตามใจชอบจนกลายเป็นการทำลาย ทำให้สภาพแวดล้อมเสียและก่อภัยพิบัติแก่มนุษย์เอง จึงกลายเป็นว่า แนวความคิดพื้นฐานที่สร้างสรรค์อารยธรรมตะวันตกมานั้นเอง กลายเป็นตัวเหตุปัจจัยสำคัญในการทำลายล้างโลกมนุษย์ เวลานี้ในตะวันตกกำลังเกิดความสำนึกนี้

อย่างหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “A Green History of the World” คือประวัติศาสตร์โลกเชิงสิ่งแวดล้อม มีบทหนึ่งซึ่งสืบประวัติความคิดของตะวันตกมาตั้งแต่โสกราตีส เพลโต อริสโตเติล ผ่านนักปรัชญาศาสนา ตลอดจนนักเศรษฐศาสตร์ และแม้แต่นักจิตวิทยาอย่างฟรอยด์ และนักปรัชญาเชิงวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะเดคาร์ต ท่านเหล่านี้มีวาทะตามที่เขายกมาแสดง ล้วนแต่พูดถึงความคิดหมายหรือมุ่งมั่นที่จะเอาชนะธรรมชาติ ด้วยความเข้าใจว่าความสำเร็จของมนุษย์อยู่ที่เอาชนะธรรมชาติ และจัดการกับธรรมชาติตามชอบใจ คนหนึ่งถึงกับพูดว่า วิทยาศาสตร์จะสามารถช่วยให้มนุษย์จัดการกับธรรมชาติได้ตามปรารถนา เหมือนอย่างเป็นขี้ผึ้งอันอ่อนเหลวในกำมือที่มนุษย์จะปั้นให้เป็นรูปอะไรก็ได้ นี่คือความหวังและความภูมิใจของมนุษย์ในโลกที่พัฒนา แห่งอารยธรรมตะวันตกที่ผ่านมา ซึ่งถือว่านี่ คือ ความสำเร็จ แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นจุดติดตันที่ทำให้รู้ตัวว่า นี่คือภัยพิบัติของมนุษย์ ซึ่งได้ค้นพบว่าในที่สุดปัญหาเหล่านี้เกิดจากทิฏฐิ คือ แนวความคิดทั้งสิ้น

แนวความคิดอีกอย่างหนึ่ง ที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรม ก็คือมนุษย์ได้เกิดมีความเชื่อว่า ความสุขของมนุษย์อยู่ที่การได้บริโภควัตถุ หรือการมีวัตถุมาเสพบริโภคอย่างพรั่งพร้อม เพราะฉะนั้น ถ้ามนุษย์มีวัตถุพรั่งพร้อม มีวัตถุเสพบริโภคบริบูรณ์แล้ว มนุษย์ก็จะมีความสุขสมบูรณ์ ความหวัง และความเชื่อเช่นนี้ก็ไปสัมพันธ์สอดคล้องกันกับความเชื่อในการพิชิตธรรมชาติว่า เมื่อเราพิชิตธรรมชาติได้แล้วเราก็จะจัดการกับธรรมชาติได้ตามชอบใจ เราก็จะเอาธรรมชาติมาจัดสรรสนองความต้องการของมนุษย์ แล้วมนุษย์ก็จะมีความสุข เพราะมีวัตถุเสพบริโภคเต็มที่

แนวความคิด ๒ อย่างนี้แหละที่มาประสานแนวความคิดในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้ากับแนวความคิดในการพัฒนาอุตสาหกรรม คือ จากความเชื่อว่า วัตถุจะเป็นแหล่งความสุขของมนุษย์ มนุษย์จะมีความสุขมากที่สุดเมื่อเสพมากที่สุดหรือมีวัตถุพรั่งพร้อม มนุษย์ก็พัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นมาจัดการกับธรรมชาติที่ตนพิชิตได้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แนวความคิด ๒ อย่างนี้จึงประสานกันและถือว่านี่คือความเจริญของมนุษย์ อันหมายถึงความเจริญทางด้านเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นความวิจิตรพิสดารหลากหลายในโลก สืบเนื่องมาจากฐานความคิดนี้เอง เพราะฉะนั้นในที่สุดมนุษย์จะต้องไปแก้ปัญหาที่ตัวแนวความคิดหรือทิฏฐิพื้นฐานดังกล่าว นี่คือภารกิจที่การศึกษาจะต้องทำให้สำเร็จ

ยังมีอีกมาก ดังได้กล่าวแล้วว่าคนอเมริกันนั้นมีความยึดมั่นในแนวความคิดแห่งการแข่งขัน (competition) ซึ่งก็หมายถึงระบบตัวใครตัวมัน ว่าเป็นหัวใจแห่งความเจริญก้าวหน้าและความสำเร็จ แต่เบื้องหลังกว่านั้นอีก เขาถือว่าสังคมอเมริกันเจริญขึ้นมาได้มากอย่างนี้ด้วยสิ่งที่เขาเรียกว่า frontier mentality ซึ่งขอแปลว่าสภาพจิตแบบบุกฝ่าพรมแดน เขาถือว่าสภาพจิตนี้เขาได้รับสืบมาจากยุโรป

สภาพจิตบุกฝ่าพรมแดน (frontier mentality) เชื่อว่าโลกนี้กว้างใหญ่นัก ทรัพยากรในธรรมชาติมีเหลือล้นไม่รู้จักหมดสิ้น เราจะต้องบุกฝ่าไปเอามันมาใช้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นจงไปข้างหน้า แล้วก็จงไปทำดินแดนที่ล้าหลังให้เจริญขึ้นมา พวกนั้นเป็นมนุษย์ป่าเถื่อน ไปทำให้มันเจริญขึ้นมา เพราะฉะนั้นแนวความคิดนี้ก็มีส่วนทำให้เกิดลัทธิอาณานิคมด้วย

พอไปอเมริกา ก็นำความคิดนี้มาด้วย พอขึ้นที่อเมริกา แนวความคิดนี้ยิ่งพัฒนารุนแรงมาก เพราะพอขึ้นฝั่งที่บอสตัน และนิวยอร์ก ทางภาคตะวันออกแล้ว ก็มองเห็นผืนแผ่นดินอเมริกากว้างใหญ่ข้างหน้าที่ยังไม่รู้ว่าจะกว้างไกลไปถึงไหน ความคิดแบบบุกฝ่าพรมแดนก็ฟูขึ้นมาเต็มที่ ดินแดนกว้างใหญ่ข้างหน้านี้เราสามารถไปแสวงหาทรัพยากร ไปบุกเบิก ไปสร้างความเจริญได้มากมาย เขาก็มุ่งหน้าตะวันตกดังที่ต่อมาก็เกิดมีคติที่คนอเมริกันภูมิใจว่าเป็นอดีตของเขาในการสร้างสรรค์ประเทศคือ “Go west young man” แปลว่า เจ้าหนุ่มจงมุ่งหน้าไปตะวันตก (เพราะตะวันตกคือดินแดนที่ยังไม่ได้บุกเบิก) “and grow up with the country” และจงสร้างสรรค์บ้านนอกขอกนาให้เจริญขึ้นมากับตัวเจ้า

แนวคิดบุกฝ่าพรมแดน (frontier mentality) ทำนองนี้ คือเบื้องหลังการสร้างสรรค์สังคมอเมริกันจนกระทั่งเมื่ออเมริกาเจริญเต็มที่แล้ว ก็บุกเบิกต่อไปในอวกาศ ซึ่งเขาก็บอกว่าเป็น frontier เหมือนกัน แต่ขณะนี้ไปดูหนังสือเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมจะกลายเป็นติเตียน frontier mentality แล้ว เวลานี้เขาบอกว่ามันเป็นสภาพจิตที่นำมาซึ่งการล้างผลาญธรรมชาติ สิ่งที่คนอเมริกันเคยภูมิใจว่าเป็นปัจจัยสร้างสรรค์นำความเจริญมาให้ แต่ขณะนี้เขากำลังมีความรู้สึกผิดหวังและกลับเห็นไปว่ามันเป็นตัวการก่อความพินาศ นี่ก็คือจุดอับจนอย่างหนึ่ง แต่เดี๋ยวจะไปกันใหญ่ พูดแค่นี้ก่อน

สาระสำคัญของเรื่องนี้ก็คือแนวความคิดที่อยู่เบื้องหลังหรือที่เป็นฐานของอารยธรรม จากแนวคิดหรือทิฏฐิจึงเกิดวิถีชีวิตและสังคมที่เป็นไปตามอิทธิพลของมัน เพราะฉะนั้นการศึกษาจะต้องสืบสาวเจาะจับให้ถึงจุดนี้ว่าแนวความคิดอะไรอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เราเรียกว่าโลกาภิวัตน์ และเป็นจุดเสื่อมหรือเจริญ อะไรกันหนอคือเหตุปัจจัยเหล่านั้น ต้องสืบลึกลงไปถึงจิตใจของมนุษย์แล้วก็แก้ทิฏฐินั้นให้ตรงให้ถูกต้องและนี่คือภารกิจที่แท้จริงของการศึกษา

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.