พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

วัตถุบังใจ ทำให้คนห่างธรรมชาติ

สภาพโลกาภิวัตน์ข้อต่อไปคือ ความแปลกแยกระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ หรือภาวะที่มนุษย์แปลกแยกจากธรรมชาติ หรือว่าสภาพที่โลกมนุษย์แปลกแยกจากโลกธรรมชาติ

มนุษย์มีความสามารถพิเศษในการสร้างสรรค์ปรุงแต่ง มนุษย์จึงได้สร้างโลกของมนุษย์ขึ้นมาต่างหากจากโลกของธรรมชาติ โลกของมนุษย์ เป็นโลกของวัฒนธรรม อารยธรรม เป็นโลกของเทคโนโลยี ซึ่งเป็นโลกของการปรุงแต่งสร้างสรรค์ที่มนุษย์จัดทำขึ้นมา ปัจจุบันมนุษย์ดำเนินชีวิตโดยเฉพาะคนเมืองจะอยู่กับโลกมนุษย์ จนแทบมองไม่เห็นโลกธรรมชาติ

ที่จริงนั้นโลกธรรมชาติครอบคลุมโลกมนุษย์อยู่ตลอดเวลา และมนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงาม สังคมจะมีสันติสุขแท้จริงไม่ได้ ถ้ามนุษย์มองข้ามโลกธรรมชาติ โลกมนุษย์จะอยู่ดีได้ต้องตั้งอยู่บนฐานของโลกธรรมชาติโดยเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ ถ้ามนุษย์แปลกแยกกับโลกของธรรมชาติ ปัญหาจะเกิดขึ้นกับโลกมนุษย์เอง เวลานี้ปัญหาได้เกิดขึ้นแล้วเนื่องจากมนุษย์ได้แปลกแยกจากโลกของธรรมชาติ กลายเป็นว่า มนุษย์อยู่กับโลกมนุษย์จนลืมตัว ซึ่งเป็นภาวะผิดเพี้ยนอย่างหนึ่ง ทางพระเรียกว่าหลงสมมติ จนกระทั่งหลงแม้แต่กฎของมนุษย์ที่มนุษย์สร้างขึ้นว่าเป็นความจริงในธรรมชาติ ซึ่งที่แท้ไม่ใช่ อันนี้มีเรื่องต้องพูดยาว ถึงแม้เรื่องนี้จะต้องแก้ปัญหาด้วยการศึกษา แต่เดี๋ยวจะกลายเป็นการเอาเวลามาใช้ในเรื่องที่ไม่ใช่การศึกษาโดยตรง จึงขอผ่านไปก่อน

สภาพแปลกแยกอีกอย่างหนึ่งซึ่งแยกกันมานานแล้วก็คือ ความแปลกแยกระหว่างจิตกับวัตถุ โลกได้เข้าสู่ยุคของวัตถุนิยม และอยู่ในยุควัตถุนิยมเรื่อยมาตลอดเวลายาวนาน และวัตถุนิยมก็เป็นสภาพโลกาภิวัตน์อย่างหนึ่งในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เวลานี้มนุษย์ได้เริ่มรู้ปัญหากันพอสมควรถึงความติดตันของวัตถุนิยม ทั้งในแง่ของการที่จะบรรลุจุดหมายแห่งความสุขสมบูรณ์ของมนุษย์ และในแง่ของการเข้าถึงความจริง มนุษย์ชั้นนำจึงได้หันมาเน้นการพัฒนาด้านจิตใจ และดำเนินการค้นคว้าในเรื่องจิต

แม้แต่วิทยาศาสตร์ในปัจจุบันก็ได้มาถึงจุดที่หันมาสนใจและพยายามศึกษาว่า mind คืออะไร consciousness คืออะไร ถ้าสังเกตจะเห็นว่ายุคนี้วิทยาศาสตร์ได้หันมาสนใจเรื่องนี้เหมือนกับเดินสวนทางกับวิชาการที่อยากเป็นวิทยาศาสตร์ เช่นอย่างจิตวิทยา จิตวิทยาศึกษาเรื่องจิตมาถึงสมัยหนึ่ง เพราะตัวเองต้องการเป็นวิทยาศาสตร์ก็มาถึงจุดที่พูดว่าเรื่องจิตนั้นไม่รู้จะดูได้อย่างไร จะเอามาศึกษาด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้ ในที่สุดก็เลยเอาแค่พฤติกรรม จนกระทั่งไปๆ มาๆ จิตวิทยามีความหมายเป็นศาสตร์แห่งพฤติกรรม ทั้งๆ ที่ตัวศัพท์ยังเป็นจิตอยู่แต่ตัวศาสตร์เองบอกว่าตัวเองเป็นศาสตร์แห่งพฤติกรรม จนกระทั่งเวลานี้เมื่อวิทยาศาสตร์กลับไปศึกษาเรื่อง mind, consciousness อีก จิตวิทยาจึงเริ่มกลับหันไปสนใจเรื่องจิตบ้าง อันนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงในหมู่มนุษย์ที่น่าสังเกต แต่รวมความก็คือ วัตถุนิยมได้เป็นสภาพโลกาภิวัตน์ข้อที่แปดในที่นี้ และมนุษย์ได้ก้าวไปในวิถีแห่งวัตถุ จนกระทั่งได้พยายามแก้ปัญหาทางจิตด้วยวิธีการทางวัตถุ

การแก้ปัญหาทางจิตด้วยวิธีการทางวัตถุก็คือว่า เราจะรู้เรื่องจิตโดยศึกษาจากพฤติกรรมและความเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ เราจะดูว่าจิตเป็นอย่างไรโดยดูจากวัตถุ เช่นจากการวัดคลื่นสมองหรือจากสารเคมีที่หลั่งออกมาในสมองเป็นต้น ด้วยการศึกษาแบบนี้ วิทยาศาสตร์ก็เก่งจนกระทั่งดูรู้ว่าถ้าสารเคมีอย่างนี้ออกมาจะมีสภาพจิตอันนี้ ถ้าใส่สารเคมีอันนี้แล้วจะได้สภาพจิตอันนี้ ถ้าคนซึมเศร้าจะมีสารเคมีอันนี้เกิดขึ้น ถ้าคนรื่นเริงแจ่มใสจะมีสารเคมีอันนี้หลั่งออกมา เมื่อเป็นอย่างนี้เราก็ทำสารเคมีอย่างนี้ๆ โดยสังเคราะห์ขึ้นมา เมื่อต้องการให้คนมีสภาพจิตอย่างนี้เราก็เอาสารเคมีนี้ฉีดเข้าไป และตอนนี้ก็จะมาถึงยุคที่มนุษย์จะใช้วิธีการทางวัตถุมาแก้ปัญหาทางจิต

อย่างไรก็ตาม ถ้าหลงในทางนี้เกินไปมนุษย์ก็จะสูญเสียอิสรภาพ เพราะมนุษย์จะไม่มีความสามารถที่จะทำอะไรด้วยตนเองและต้องพึ่งวัตถุไปหมด ถ้าต้องการจะมีความสุขรื่นเริง ก็ไปหยิบสารเคมีนี้มาฉีด เวลาเศร้าก็ไปหยิบอีกขวดหนึ่งมาฉีด ต่อไปยาและสารเคมีก็เต็มไปหมดที่บ้าน คนมีความสามารถบันดาลชีวิต ตลอดจนบันดาลจิตใจได้ แต่ต้องอาศัยวัตถุเช่นสารเคมี โดยไม่สามารถบังคับควบคุมหรือจัดการกับจิตใจของตัวได้เองเลย กลายเป็นว่ามนุษย์หมดสมรรถภาพ มนุษย์สูญเสียอิสรภาพ ต้องไปขึ้นต่อเทคโนโลยีและวัตถุโดยสิ้นเชิง และยิ่งกว่านั้นวิธีนี้จะมีปัญหาในระยะยาว เหมือนกับว่าเราสังเคราะห์ปุ๋ยเคมีขึ้นมาแล้วเอามาใช้กับพื้นดิน เราก็ภูมิใจว่าพืชพันธุ์ธัญญาหารต่อไปนี้จะอุดมสมบูรณ์ แต่พอมนุษย์ผลิตปุ๋ยเคมีได้เสร็จแล้วเป็นอย่างไร ในระยะยาวปรากฏว่าปุ๋ยเคมีทำพิษ แทนที่จะอุดมสมบูรณ์แท้จริง ดินเสียหมด นี่แหละปุ๋ยเคมีที่จะทำให้มนุษย์มีความสุข ถ้าขืนใช้กับมนุษย์คงจะยุ่ง นี่สภาพโลกาภิวัตน์ข้อที่แปด คือ เรื่องวัตถุนิยม ตลอดจนการพยายามแก้ปัญหาทางจิตด้วยวิธีการทางวัตถุ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.