ต่อไปจะพูดทีละข้อ ในแง่เหตุปัจจัย พร้อมทั้งเสนอแนะทางแก้ไปด้วย แต่ก็ยังไม่ใช่ตัวหลักการใหญ่ ตอนนี้ขอพูดถึงหลักอีกหลักหนึ่งที่จะมาช่วยแก้ปัญหาสังคมในยุคโลกาภิวัตน์
ในทางพุทธศาสนาท่านสอนหลักการสำคัญในการศึกษาของมนุษย์ว่า ก่อนที่มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงาม หรือจะเริ่มต้นพัฒนาตัวเองได้ดีนั้น มีองค์ประกอบ ๒ อย่างมานำมาช่วย คือ องค์ประกอบภายนอก กับองค์ประกอบภายใน
องค์ประกอบภายนอกเรียกว่า ปรโตโฆสะ แปลว่า เสียงจากผู้อื่น คืออิทธิพลจากภายนอก ในสังคมมนุษย์เรามีปรโตโฆสะจัดตั้ง คือมนุษย์มีเจตจำนงจัดสรรขึ้นหรือมีเจตนาทำให้เป็น โดยที่มุ่งที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน คือไม่เป็นเพียงปรโตโฆสะที่ลอยอยู่แล้วเราต้องเข้าไปหา แต่หมายความว่าเขาตั้งเจตนามาหาเราและมาช่วยเกื้อกูล ปรโตโฆสะอย่างนี้ก็กลายเป็นกัลยาณมิตร เพราะฉะนั้นจึงพูดง่ายๆ ว่ากัลยาณมิตรเป็นปรโตโฆสะจัดตั้ง กัลยาณมิตรเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะเกื้อหนุนให้คนมีชีวิตที่ดีงามโดยเข้ามาช่วยหนุนการศึกษา ท่านเรียกว่าเป็น ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ คือช่วยชักนำให้เกิดความรู้ความเข้าใจถูกต้อง ทำให้รู้เข้าใจความจริงและรู้คุณค่าของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เข้าไปสัมพันธ์ และทำให้ปฏิบัติถูกต้องต่อสิ่งเหล่านั้น จึงทำให้มีชีวิตที่ดีงามได้ กัลยาณมิตรมีหน้าที่นี้ จึงเป็นผู้ชักนำในกระบวนการศึกษาทั้งหมด
อีกด้านหนึ่งคือปัจจัยภายใน ได้แก่ โยนิโสมนสิการ หมายถึงการรู้จักคิดพิจารณาด้วยตนเอง การรู้จักใช้ปัญญาคิดเองเป็น ซึ่งทำให้พึ่งตนเองได้ แม้กระทั่งไม่ต้องอาศัยปรโตโฆสะ ไม่ต้องอาศัยกัลยาณมิตร แต่สำหรับคนทั่วไป จะต้องมาเข้าคู่กัน กล่าวคือ องค์ประกอบภายนอกเป็นปัจจัยทางสังคม ได้แก่ กัลยาณมิตร และองค์ประกอบภายในเป็นปัจจัยส่วนตัว ได้แก่ โยนิโสมนสิการ
หลักกัลยาณมิตรที่จะนำคนเข้าสู่การศึกษานั้น เริ่มต้นด้วยการจัดสภาพแวดล้อมให้เกื้อกูลต่อการเรียนรู้ของบุคคล หรือให้เกื้อกูลต่อการพัฒนาของบุคคล คือเป็นผู้จัดสรรสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาบุคคล ตลอดจนทำตัวเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีเองด้วย สภาพแวดล้อมอย่างหนึ่งที่กัลยาณมิตรจัดให้คือข่าวสารข้อมูล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เช่นจัดหาข้อมูลความรู้มาให้ เพื่อให้เด็กได้สภาพแวดล้อมอันเกื้อกูลที่จะพัฒนาตนเอง
แต่พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่ง เราจะต้องให้เด็กมีคุณสมบัติภายในของตนเองด้วย ตราบใดที่เขายังต้องอาศัยกัลยาณมิตรก็ยังต้องถือว่าเขายังพึ่งตนเองไม่ได้ ชีวิตยังไม่เป็นอิสระ ยังต้องขึ้นต่อศรัทธา คือฝากความไว้วางใจไว้ที่ปัญญาของคนอื่น เราจึงต้องให้เด็กพัฒนาตนเองให้มีโยนิโสมนสิการ เมื่อใดเด็กรู้จักคิดเองเป็น เมื่อนั้นเขาก็พึ่งตนเองได้ เพราะฉะนั้นหัวใจที่จะทำให้การศึกษาสำเร็จคือโยนิโสมนสิการ แต่กัลยาณมิตรในฐานะเป็นจุดเริ่มต้นแรกสุดก็สามารถชักนำให้เกิดโยนิโสมนสิการขึ้นในตัวคนได้ด้วย
โดยวิธีนี้ ก็จะเกิดสภาพตรงข้ามขึ้นมาเสริมกันสองอย่างที่สำคัญมากในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นภารกิจ ๒ อย่างของกัลยาณมิตร กล่าวคือ ครูซึ่งเป็นผู้นำในกระบวนการศึกษา ทำหน้าที่กัลยาณมิตรโดย หนึ่ง ด้านหนึ่งจัดสภาพแวดล้อมข้างนอก สอง อีกด้านหนึ่งฝึกโยนิโสมนสิการขึ้นในตัวคน สองอย่างนี้เหมือนตรงข้ามกัน คือ
๑. ในฐานะเป็นผู้จัดสรรสภาพแวดล้อม เราต้องจัดสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก คือให้เกื้อกูลที่สุด ให้เป็นประโยชน์แก่การเรียนรู้ของเด็กด้วยการจัดแหล่งความรู้และให้แบบอย่างที่ดีเป็นต้น
๒. ในทางตรงข้ามคือ ข้างในบุคคล เราต้องฝึกจนกระทั่งเด็กสามารถถือเอาประโยชน์ได้จากสิ่งแวดล้อมที่เลวที่สุด
งานสองด้านที่ตรงข้ามย้อนกันเข้ามาประสานเสริมกันนี้คือความสำเร็จของการศึกษาอย่างหนึ่ง ด้านภายนอกเรามีหน้าที่จัดสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุด แต่ในตัวเด็ก เมื่อใดเขามีโยนิโสมนสิการแท้จริง เขาจะสามารถเอาประโยชน์ได้จากทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ที่เลวที่สุด เพราะโยนิโสมนสิการ ไม่ว่าจะมีวิธีคิดกี่แบบก็ตามก็มีสาระสำคัญสองอย่าง คือ หนึ่ง สามารถมองและคิดพิจารณาให้เข้าถึงความจริงของสิ่งนั้นๆ สอง สามารถเฟ้นประโยชน์จากสิ่งนั้นๆ ได้ ไม่ว่ามันจะเลวร้ายแค่ไหน ก็เรียนรู้เอามาใช้ได้ จะต้องทำสองอย่างที่ว่ามานี้พร้อมกัน
ถ้าใช้หลักนี้ การพัฒนาเด็กจะได้ผลหลายอย่าง ซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับระบบของสังคมด้วย แต่เรื่องนี้ไม่มีเวลาพูด เคยพูดเน้นให้เห็นว่าเวลานี้สังคมอเมริกันกำลังเอียงไปข้างเดียว จนกระทั่งพวกจิตวิทยาการศึกษาก็มองแต่ในแง่ที่พยายามจะจัดสิ่งแวดล้อมให้น่าสนใจ ทำบทเรียนให้จูงใจ ทำกิจกรรมให้เด็กชอบใจ เน้นกันเรื่องนี้มากจนไปๆ มาๆ กลายเป็นเอาใจเด็ก เมื่อเอาใจตามใจเด็กมากเด็กก็จะอ่อนแอลงตามลำดับ และเสรีภาพก็ผิดจากความหมายไปด้วย ในขณะเดียวกันในโลกอีกซีกหนึ่ง สังคมกำลังพัฒนาในทางตรงข้าม คือ ฝึกเด็กให้สู้ทุกอย่าง บทเรียนที่ยาก กิจกรรมที่ไม่น่าสนใจ ถือว่าฉันต้องเอาชนะ ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ ปรากฏว่า ในเวทีโลกปัจจุบันที่ถือระบบแข่งขันเป็นสำคัญนี้ พวกหลังกำลังชนะ เมื่อวัดสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษาเวลามาสอบแข่งกันในระดับโลก ประเทศเหล่านั้นชนะ แต่ต้องระวังเพราะที่จริงเป็นการเสียดุลยภาพทั้งสองฝ่าย
ทางที่ถูกคือ มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเป็นทางแห่งความพอดี เราต้องรู้ความมุ่งหมายว่าเราทำกิจกรรม และทำบทเรียนให้น่าสนใจ เพื่ออะไร ก็เพื่อเป็นการชักจูงเด็กเข้าสู่การเริ่มเรียน พอเริ่มต้นได้แล้วคือพอดึงให้เข้าสู่จุดเริ่มเดินทางแล้วเราต้องพัฒนาเขาให้สู้ ให้เขาเอาเอง ถ้าเขายังไม่เอาเอง แล้วเราต้องคอยเอาใจเรื่อยไป อย่างนี้ไม่ไหว ต้องถือว่าเป็นความล้มเหลวของการศึกษา และอเมริกันก็มีจุดอ่อนตรงนี้ ที่พูดได้ว่า เป็นความเพลี่ยงพล้ำในเวทีการศึกษา
ระยะนี้มีการวัดผลมากในการสู้หรือแข่งขันกันสำหรับเด็กนักเรียนระหว่างชาติ ซึ่งก็เกิดจากอเมริกันนี่แหละ กล่าวคืออเมริกันเกิดความวิตกเนื่องจากรู้ตัวว่าแย่แล้ว ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของตนตกต่ำมาก เด็กจบมัธยมแล้วเข้ามหาวิทยาลัยมีพื้นฐานอ่อนมาก แกก็เลยหาวิธีที่จะเร่งรัดคุณภาพขึ้นมา วิธีหนึ่งคือต้องจัดสอบแข่งขันระหว่างประเทศ แกก็เลือกดูวิชาที่จะให้มาสอบแข่งขันในเวทีโลกในยุคของการพัฒนาเศรษฐกิจ แกก็จับเอาวิชาจำพวกคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาในประเทศของตัวเองเอามาจัดสอบ อาตมาเคยเขียนไว้แล้ว ขอเอามาเล่าให้ฟังซ้ำอีก ในการสอบครั้งหนึ่งมี ๑๔ ประเทศส่งนักเรียนมาสอบแข่ง วัดผลแล้วปรากฏว่าอเมริกันได้ที่ ๑๓ แล้วประเทศที่ ๑๔ ก็คือประเทศไทย นี่เป็นตัวอย่าง แต่รวมความก็คืออเมริกันมีการศึกษาซึ่งอยู่ในภาวะเป็นที่น่าวิตกมาก เราจะต้องหันมาใช้หลักการอันนี้ ซึ่งจะช่วยเราได้ โดยใช้หลักกัลยาณมิตรกับโยนิโสมนสิการเข้ามาจับคู่ให้เสริมซึ่งกันและกันในทางย้อนตรงกันข้าม