พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

โลกถึงกันเป็นอันเดียว
แต่คนยิ่งเดียดฉันท์แบ่งแยก

ต่อไป สภาพโลกาภิวัตน์ที่ห้า คือ ความไม่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติในประชาคมโลก นี่เป็นปัญหาที่สำคัญยวดยิ่งในปัจจุบัน เมื่อมนุษย์ประสบความสำเร็จในยุคของการสื่อสาร การขนส่ง และการคมนาคม ที่เชื่อมโยงถึงกันไปหมดทั่วโลก ทำให้โลกนี้แคบเข้าจนกระทั่งเป็นโลกใบเล็กๆ ดังที่เดี๋ยวนี้ฝรั่งเรียกว่า global village เป็นหมู่บ้านโลก คือโลกนี้เป็นเหมือนชุมชนอันเดียว มีสภาพแวดล้อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ปรากฏว่า เมื่อสภาพแวดล้อมในทางวัตถุเป็นอันเดียวกันแล้ว แต่ตัวมนุษย์ไม่ยอมเป็นอันเดียวกัน กลับปรากฏผลในทางตรงข้าม คือมนุษย์ยิ่งแบ่งแยกกัน ขัดแย้งกัน และรบราฆ่าฟันกันอย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสภาพของการแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา และสีผิว เป็นต้น

เวลานี้จึงเป็นปัญหาใหญ่ของโลกว่า เมื่อโลกได้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยทางกายภาพแล้ว ทำอย่างไรจะให้จิตใจและความเป็นอยู่ของมนุษย์รวมกันได้ เรื่องนี้นับว่าเป็นปัญหาการพัฒนามนุษย์ที่แสดงว่าการพัฒนามนุษย์นั้นไม่ทันกับการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพหรือการพัฒนาทางด้านวัตถุ เราพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้เจริญมาถึงขั้นที่ทำให้โลกถึงกับเป็นอันเดียวแล้ว แต่ทำไมตัวมนุษย์เองกลับไม่สามารถรวมเป็นโลกเดียวกันหรืออยู่ร่วมกันด้วยดีในโลกที่เป็นอันเดียวกันนั้นได้ กลับแบ่งแยกกันหนักหนา ขัดแย้งกัน รบราฆ่าฟันกัน หยุดไม่ได้ นี้คือปัญหาติดตันที่แทบจะถึงความอับจนของมนุษย์ และเป็นปัญหาที่โยงไปถึงประชาธิปไตยในข้อภราดรภาพ คือหลักการที่สามของประชาธิปไตยว่ามันไม่สัมฤทธิ์ผลแม้แต่ในประเทศเดียว ไม่ต้องพูดถึงทั้งโลก

ขณะนี้สังคมอเมริกันก็มีปัญหามากในเรื่องนี้ เขาพัฒนาประชาธิปไตยมาในระยะหนึ่งก็มีความภูมิใจใน liberty (เสรีภาพ) freedom (อิสรภาพ) equality (ความเสมอภาค) ว่า สังคมของเรานี่ยอดเยี่ยม ประเทศอื่นเคยยกย่องอเมริกาที่เป็น melting pot แปลว่าเป็นเบ้าหลอม หมายความว่าคนชาติอเมริกันนี้เป็นคนอพยพมาจากเชื้อชาติต่างๆ ดินแดนต่างๆ ศาสนาต่างๆ แล้วมาอยู่ร่วมกันได้ ชาติอื่นเลยยกย่องอเมริกันถึงเอกภาพอันนี้ แต่เวลานี้อเมริกันเองหมดความภูมิใจนี้แล้ว ขณะนี้คำว่า melting pot นี้เขาถือว่าเลิกใช้ได้แล้ว อเมริกาขณะนี้ไม่เป็น melting pot คำที่ภูมิใจอย่างยิ่งหมดความหมาย เพราะเบ้าหลอมนั้นแตกแล้ว

เมื่อเป็น melting pot ไม่ได้ บางคนก็ว่าเอาแค่เป็น American mosaic หมายความว่าเป็นเหมือนกระเบื้องชิ้นเล็กๆ มีสีสันต่างๆ มาประกอบประดับกัน ชาติอเมริกันประกอบด้วยชนหลายพวกหลากพันธุ์ มาอยู่ร่วมกันเป็นสังคมที่มีความหลากหลาย แม้จะไม่สามารถรวมเข้าเป็นอันเดียวกันก็ยังประกอบกันได้ แต่เวลานี้แม้แต่ mosaic ก็เป็นปัญหา หนังสือบางเล่มบอกว่า เวลานี้สังคมอเมริกันเป็นจานสลัดที่ชนต่างพวกต่างพันธุ์คลุกกันเลอะเทอะไม่เป็นระเบียบ เข้ากันไม่ได้

สภาพที่แตกแยกนี้กำลังรุนแรงขึ้น แม้แต่แค่ผิวขาวกับผิวดำก็แก้ไม่ตก ปัญหามีแต่รุนแรงยิ่งขึ้น คนเชื้อชาติผิวดำก็ทวงสิทธิ์มากขึ้นและขยายขอบเขตที่เรียกร้องออกไป เช่น ในทางการศึกษามีลัทธิหรือขบวนการใหม่เรียกว่า post-modernism ให้มี post-modern education มีการเสนอแนวความคิดทางการศึกษาที่เป็นการทวงสิทธิ์ของคนผิวดำและเป็นการแสดงถึงภาวะที่สังคมไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันว่า การศึกษาอเมริกันที่ผ่านมานี้ เป็นการศึกษาที่กดขี่ มีความเอารัดเอาเปรียบ ประวัติศาสตร์ให้เรียนว่าคนผิวขาวเท่านั้นที่สร้างสรรค์สังคมอเมริกันมา ไม่มีชื่อคนผิวดำ ทั้งๆ ที่คนผิวดำจำนวนมากเป็นผู้สร้างสรรค์สังคมนี้ขึ้น จะต้องยกย่องวัฒนธรรมของคนผิวดำด้วย ทางด้านพวกเชื้อสายสเปน ก็ถึงกับเคยเรียกร้องว่าให้เอาภาษาสเปน เป็นภาษาราชการด้วยภาษาหนึ่ง สังคมอเมริกันกำลังมีปัญหาอย่างยิ่ง ขณะนี้แยกได้เป็น ๕ สาย มีสายผิวขาว สายผิวดำ สาย Native Americans (คนอินเดียนแดง) สายเอเชียน สายสเปนหรือลาตินอเมริกัน (Hispanics)

ในระดับโลกก็เห็นชัดว่า เวลานี้สงครามระหว่างเผ่าพันธุ์เชื้อชาติศาสนารบราฆ่าฟันกันรุนแรงโหดร้ายทารุณอย่างยิ่ง เป็นอันว่า มนุษย์มาถึงยุคนี้ที่เป็นโลกาภิวัตน์ทำให้โลกรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางกายภาพ แต่ตัวมนุษย์เองกลับไม่สามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้ มีปัญหาแบ่งแยกมากมาย ขัดแย้งกัน นี่คือความอับจนของมนุษยชาติข้อหนึ่ง และการศึกษาก็ถูกท้าทายว่าจะสามารถพัฒนามนุษย์ให้ข้ามพ้นปัญหานี้ได้หรือไม่

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.