พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

คำนำการจัดพิมพ์หนังสือ

สืบเนื่องจากการที่ ภาควิชาพื้นฐานของการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒได้จัดสัมมนาเรื่อง “ปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์” เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2538 ควบคู่ไปกับการจัดนิทรรศการเรื่อง “พระธรรมปิฎก : ปราชญ์ทางการศึกษาของไทย” ระหว่างวันที่ 23-27 มกราคม 2538 เพื่อร่วมแสดงมุทิตาสักการะแด่ พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เนื่องในโอกาสที่ท่านได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากองค์การยูเนสโก เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2537 และเพื่อร่วมกันแสวงหาทางเลือกให้กับปรัชญาการศึกษาของไทย ในภาคเช้าของงานสัมมนา ภาควิชาพื้นฐานของการศึกษาได้กราบนมัสการพระเดชพระคุณพระธรรมปิฎก เป็นองค์ปาฐกแสดงปาฐกถาในเรื่อง “พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์” มีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังอย่างเนืองแน่นล้นห้องประชุม หลายๆ ท่านแสดงความสนใจไต่ถามถึงความเป็นไปได้ที่จะจัดพิมพ์ปาฐกถาของท่านออกเผยแพร่ เนื่องจากปาฐกถาเรื่อง “พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์” ให้แก่นสารแนวคิดที่ลึกซึ้ง “สมสมัย” น่าจะก่อให้เกิดการตรึกตรอง น้อมรับและนำไปเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติกันต่อไป

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงได้กราบนมัสการพระธรรมปิฎก ขออนุญาตเป็นผู้จัดพิมพ์ปาฐกถาดังกล่าว เพื่อนิสิต นักศึกษาและผู้สนใจจะได้มีตำราทางปรัชญาการศึกษาไทยที่มีคุณค่าไว้ศึกษาค้นคว้าทั้งยังเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี อดีตอธิการของวิทยาลัยวิชาการศึกษา (ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) ผู้บุกเบิกแสวงหาแนวทางในการประยุกต์พุทธปรัชญามาเป็นพื้นฐานของการศึกษาไทย

พระเดชพระคุณพระธรรมปิฎกได้อนุญาตให้จัดพิมพ์ปาฐกถาดังกล่าว ทั้งยังมีเมตตาปรับปรุงขยายความงานเขียนให้สมบูรณ์ จัดหัวข้อให้อ่านง่ายชัดเจน ตรวจพิสูจน์อักษร และให้คำปรึกษาการจัดพิมพ์หนังสือด้วยความเมตตายิ่ง ในนามของผู้จัดพิมพ์หนังสือ ขอน้อมกราบนมัสการด้วยกตเวทิตาจิต และขอขอบพระคุณ พระมหาอินศร จินฺตาปญฺโ ที่เมตตาพิมพ์งานทั้งหมดด้วยขันติธรรม

(รศ.ดร.ศักดิ์ชัย นิรัญทวี)
คณบดีคณะศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.