พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ลักษณะความคิดพื้นฐานของตะวันตก
ที่นำทางอารยธรรมปัจจุบัน

อนึ่งได้พูดเมื่อกี้นี้ว่ามนุษย์ปัจจุบันมีจริยธรรมแห่งความจำใจ ซึ่งเป็นจริยธรรมแห่งความประนีประนอม ซึ่งไม่เป็นจริยธรรมที่แท้จริง เพราะจริยธรรมที่แท้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ามนุษย์ไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นถ้าว่าตามปรัชญาการศึกษาที่แท้จริง เราต้องสร้างจริยธรรมแห่งความสุขขึ้นมาให้ได้ ในโลกตะวันตกนั้น ไม่ใช่เฉพาะจริยธรรมแห่งสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แม้จริยธรรมด้านอื่นที่เป็นมาแทบทั้งหมด ตลอดประวัติศาสตร์ของเขาก็เป็นจริยธรรมแห่งความจำใจ เพราะว่าจริยธรรมตะวันตกนั้นเกิดขึ้นจากเทวบัญชา ขึ้นต้นก็คือคำสั่งบังคับว่า ถ้าไม่ทำจะถูกลงโทษ ถ้าละเมิดจะถูกลงโทษ ถ้าทำตามจะให้รางวัล มนุษย์ต้องปฏิบัติตามนั้น และเมื่อวิทยาศาสตร์เจริญขึ้นมาก็ได้ทำลายฐานแห่งจริยธรรมเหล่านั้นเสียโดยถือว่าไม่มีเหตุผล ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งเหตุและผล เป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์บัญญัติขึ้นเอง อะไรดี อะไรชั่ว เป็นเรื่องที่แล้วแต่มนุษย์จะมาตกลงกัน เป็นข้อกำหนดของสังคม จริยธรรมก็เลยถูกมองข้ามไประยะหนึ่งจนมาถึงยุคที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงขึ้น และกลายมาเป็นปัญหาจริยธรรม ตะวันตกจึงหันกลับไปสนใจให้ความสำคัญแก่จริยธรรมอีก ดังที่ได้เกิดมีจริยธรรมสิ่งแวดล้อม (environmental ethics) และจริยธรรมธุรกิจ (business ethics) เป็นต้น แต่พื้นฐานทางปัญญาของเขาก็คือ จริยธรรมเป็นข้อบัญญัติที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติเพื่อยับยั้งพฤติกรรมของตนไม่ให้เกิดผลเสียแก่ตัวเอง กล่าวคือ จริยธรรมเป็นเรื่องของการที่มนุษย์จะต้องยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนา เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลเสียแก่ตน จริยธรรมก็เลยเป็นจริยธรรมแห่งความจำใจ

ถ้าวิเคราะห์ตามธรรม คือตามความจริงของธรรมชาติ พุทธศาสนาบอกว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ อันนี้แหละเป็นจุดที่สำคัญ มนุษย์นั้นพัฒนาได้ คำว่าพัฒนาได้นี้มีความหมายรวมไปถึงทุกสิ่งที่มนุษย์เกี่ยวข้อง รวมทั้งความสุขด้วย เมื่อมนุษย์พัฒนาขึ้น ความเข้าใจเกี่ยวกับความสุขก็เปลี่ยนไป ตัวความสุขเองก็พัฒนาด้วย และมนุษย์จะมีช่องทางได้ความสุขเพิ่มขึ้น จริยธรรมที่ถูกต้องเป็นจริยธรรมแห่งการพัฒนามนุษย์ คือเกิดจากการศึกษา เมื่อมนุษย์พัฒนาขึ้นมาในทางแห่งจริยธรรมเขาก็จะมีความสุขแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นจริยธรรมที่แท้จริงจึงสามารถเป็นจริยธรรมแห่งความสุข และการศึกษาจึงช่วยให้มนุษย์มีจริยธรรมแห่งความสุขได้ อันนี้ก็เป็นจุดสังเกตอย่างหนึ่ง

จุดที่ผิดพลาดของการพัฒนาและอารยธรรมที่ผ่านมาที่ทำให้เกิดจริยธรรมแห่งความจำใจนั้นสัมพันธ์กับการมองมนุษย์แบบนิ่งอยู่กับที่หรือตายตัว (static) ด้วย ฝรั่งนึกว่าตัวเองมองสิ่งทั้งหลายแบบคืบเคลื่อน (dynamic-พลวัต) แต่ที่จริงเขามองแบบ static คือถือเหมือนมนุษย์นี่คงเดิม ถ้าเป็นจิตวิทยาก็มองว่าสภาพจิตปุถุชนนี่เป็นสภาพจิตปกติ ถ้าคนเป็นบ้า หรือเป็นโรคประสาท จึงไม่ปกติ เราดึงกลับมาให้เป็นมนุษย์ปุถุชนก็พอแล้ว หรือในทางเศรษฐศาสตร์ ก็มองว่ามนุษย์มีความต้องการโดยเฉพาะความอยากเสพที่ไม่มีสิ้นสุด แก้ไขไม่ได้

แต่ถ้ามองแบบพุทธศาสนา มนุษย์ปุถุชนคือจุดเริ่มต้นของการพัฒนามนุษย์ จิตวิทยาตะวันตกถือว่ามนุษย์ปุถุชนคือเป็นปกติ หรือดีพอแล้ว ในทางพุทธศาสนา เราพัฒนาจากมนุษย์ปุถุชนให้เป็นอริยชน ในเมื่อฝรั่งมองมนุษย์แบบคงที่ (static) เขาก็เข้าใจว่า ความสุขของมนุษย์มีอย่างไรก็คงอยู่อย่างนั้น ส่วนพระพุทธศาสนามองมนุษย์แบบคืบเคลื่อน (dynamic) เมื่อมนุษย์พัฒนาตนก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับตัว เช่น ความสุขก็เปลี่ยนแปลงไปโดยมีการพัฒนาในทางความสุขด้วย เรื่องนี้ถ้ามีเวลาเราก็จะพูดกันอีก ตอนนี้ขอผ่านไปก่อน

อีกอย่างหนึ่งที่ตะวันตกหลงผิดบ่อยๆ คือ เขาเข้าใจว่าตนมีความคิดเชิงบวก (positive) แต่ที่จริงความคิดพื้นฐานของเขาเป็นแนวคิดเชิงลบ (negative) ตะวันตกไม่รู้ตัวว่าตนเองมีแนวคิดเชิงลบในสิ่งต่างๆ เพราะภูมิหลังของอารยธรรมตะวันตกเป็นภูมิหลังของมนุษย์ที่มีการต่อสู้ดิ้นรนมาก ในแง่นี้ตะวันตกก็ยอมรับ เขาบอกว่า อารยธรรมและวัฒนธรรมของเขาเป็นอารยธรรมแห่งการดิ้นรนต่อสู้ แต่การต่อสู้ดิ้นรนนี่แหละทำให้มนุษย์เข้มแข็ง และทำให้พัฒนามาได้ด้วยดี มนุษย์ตะวันตกนั้นนอกจากต้องต่อสู้กับธรรมชาติแวดล้อมที่บีบคั้นมากแล้ว อีกด้านหนึ่งก็มีการต่อสู้ดิ้นรนในการบีบคั้นระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งทำให้ทุกคนขวนขวายที่จะปกป้องตัวเอง โดยเฉพาะในระบบแข่งขันที่ฝ่ายหนึ่งก็จะเอาเปรียบอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้มากที่สุด ในเมื่อต่อสู้แข่งขันจะเอาเปรียบชิงกันชนะ ในที่สุดมนุษย์จะต้องสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อปกป้องตัวเองจากการรุกล้ำเอาเปรียบของกันและกัน ระบบความคิดและชีวิตแบบนี้ได้พัฒนามนุษย์ในลักษณะที่ทำให้สังคมตะวันตกมีข้อดี คือมีการพัฒนากฎเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นมาอย่างชัดเจนจำนวนมาก เช่น กฎสิทธิมนุษยชน (human rights) เป็นต้น

สิทธิมนุษยชน (human rights) นี้กำลังเกร่อมาก และอเมริกันก็ภูมิใจนัก นักการเมืองของเขาภูมิใจว่าจะเอา human rights ไปสถาปนาในโลก เขาว่าสังคมตะวันออกไม่มี human rights แต่หารู้ไม่ว่าที่จริงแนวคิดแบบ human rights นี้เกิดจากแนวคิดเชิงลบ และเป็นจริยธรรมเชิงลบทั้งนั้น คือเกิดจากการต่อสู้และประสบการณ์ที่ยาวนานในการที่ต้องคอยป้องกันการรุกล้ำละเมิดเอาเปรียบกัน จึงทำให้เขาสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อปกป้องตัวเอง สืบเนื่องจากลัทธิแย่งชิงและแข่งขัน เป็นแนวความคิดแบบแบ่งแยก

แม้แต่ในการอยู่ร่วมกันระหว่างศาสนาของตะวันตก ก็มีถ้อยคำใช้ในขีดจำกัดแห่งความคิดแค่ tolerance

tolerance แปลว่า ขันติธรรม คือ การอดได้ทนได้ ยอมที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น โดยทนฟังทนดูเขาได้ จริยธรรมแบบนี้เป็นจริยธรรมแบบปกป้องตัวเองเพื่อให้ต่างฝ่ายไม่มาละเมิดกัน แต่ไม่พอที่จะให้มนุษย์ประสานกลมกลืนเข้าด้วยกัน จริยธรรมที่จะให้มนุษย์ประสานกลมกลืนได้ ต้องข้ามพ้นจากขั้นของการปกป้องตัวเองด้วยการที่ไม่ให้ฝ่ายหนึ่งละเมิดอีกฝ่ายหนึ่ง จริยธรรมที่แท้ต้องช่วยให้มนุษย์ข้ามพ้นขั้นนี้ไปให้เข้าถึงภาวะที่มนุษย์มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน ประสานกลมกลืนเข้ากันได้ ถ้ามนุษย์มีความรู้สึกแค่ปกป้องตัวเอง มนุษย์ก็จะมีจริยธรรมเพียงในขั้น compromise คือการประนีประนอม ประนีประนอมก็คือยอมจำใจ ซึ่งเป็นไปในระบบสังคมตะวันตกอย่างที่กล่าวมาแล้ว

จริยธรรมที่ถูกต้องจะต้องพัฒนามนุษย์ไปถึง harmony คือ ความประสานกลมกลืน อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ เวลานี้ฝรั่งก็ตื่นเรื่อง harmony กันพอสมควร เพราะเกี่ยวเนื่องกับแนวคิดแบบองค์รวมและบูรณาการ ในที่นี้คงต้องยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นว่าเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนเหมือนกัน บางทีเราไม่เห็นว่ามันซ่อนอยู่ในถ้อยคำสื่อความคิด (concept) ต่างๆ ที่เราพูดถึง เช่น พระเจ้าอโศกในสังคมตะวันออก เมื่อตรัสถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างศาสนาทรงใช้คำว่า “สมวายะ” หมายถึงความปรองดองสามัคคีความประสานสอดคล้อง ในขณะที่ทางตะวันตกได้แค่ tolerance คือทนกันได้

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.