ตัวอย่างที่หนึ่ง คือ ทันทีที่มีการศึกษาที่แท้ ที่ถูกต้อง ความสุขก็จะพัฒนา และช่องทางที่จะมีความสุขก็จะเพิ่มขึ้นในทันที พร้อมกันนั้นชีวิตของบุคคลนั้นก็จะพึ่งพาขึ้นต่อความสุขจากการเสพวัตถุน้อยลงทุกที เพราะมีความสุขเป็นทุนในตัวอยู่แล้ว และมีทางออกมากมายในการที่จะมีความสุข
การศึกษาเริ่มต้นจากที่เดียวกันกับความสุข ถ้าการศึกษาผิด ก็จะแยกความสุขออกจากการศึกษา แต่ถ้าการศึกษาถูกต้อง ก็จะทำให้มีความสุขและมาเสริมเพิ่มความสุข
ตามปกติ คนเรานี้มีความสุขจากสิ่งเสพเป็นพื้นฐาน โดยเสพสิ่งที่ให้ความสุขทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ เราอยู่ในโลกนี้เราใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ รับรู้ประสบการณ์ต่างๆ ชีวิตของเราแต่ละวันนี้อยู่กับตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจนั้น ตาดู หูฟัง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายเสพสัมผัส และใจคิดคำนึงต่างๆ
ลองมองให้ชัดว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรานี้ ทำหน้าที่อะไรบ้าง เราบอกว่าทำหน้าที่รับรู้ พระบอกว่าไม่ใช่รับรู้อย่างเดียว แต่รู้สึกด้วย จึงรวมเป็นการทำหน้าที่ ๒ อย่าง
ด้านหนึ่ง คือ รับรู้ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร โดยเฉพาะรู้ข้อมูล เช่น ตาดูว่า เขียว ขาว ดำ แดง ยาว กลม เหลี่ยม เป็นต้น หูฟังว่า เสียงทุ้ม เสียงแหลม เสียงนก เสียงกา ฯลฯ
ทีนี้ อีกด้านหนึ่ง มันรู้สึกด้วย พร้อมกับรับรู้ก็มีความรู้สึก ตาดูก็รู้สึกสบายตา หูฟังก็รู้สึกสบายหู หรือไม่สบายตา ไม่สบายหู มีทุกครั้ง มันคู่กันไป
เป็นอันว่า คนเรามีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมสองด้าน คือ ด้านความรู้กับด้านความรู้สึก
ในชีวิตของคนทั่วไป (ที่ยังไม่มีการศึกษา) ความรู้สึกจะเป็นตัวเด่น เด่นกว่าด้านความรู้ เวลาเรามองดู และฟังเสียงต่างๆ ตัวไหนจะมาครอบงำจิตใจเราก่อน ด้านความรู้สึกมักมาก่อน คือใจแล่นไปที่สบายหรือไม่สบาย ถ้าสบายตาก็ชอบ ไม่สบายตาก็ชัง ไม่ชอบใจ ทางพระท่านเรียกว่ายินดียินร้าย ฉะนั้นเราจึงรับรู้ประสบการณ์ด้วยท่าทีของ
๑. ด้านความรู้สึกว่า สบาย หรือไม่สบาย โดยมีปฏิกิริยาแบบชอบชัง เรียกว่ามองสิ่งทั้งหลายในแง่ชอบชัง
๒. ด้านความรู้ว่า คืออะไร เป็นอย่างไร เกิดจากอะไร เกิดขึ้นเพราะอะไร ใช้ทำอะไร มีแง่ดีแง่เสียอย่างไร เป็นต้น จะรู้ได้อย่างไร ก็ต้องเรียน เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าเรียนรู้
เป็นอันว่า คนเราจะมีความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ สองแบบ คือ สัมพันธ์แบบชอบชัง และ สัมพันธ์แบบเรียนรู้
คนจำนวนมากสัมพันธ์แบบชอบชัง พออะไรมา สบายตาก็ชอบ ไม่สบายก็ชัง แล้วก็คิดครุ่นไปตามนั้น ความรู้สึกชอบชังก็เข้ามาครอบงำจิตใจ สุขทุกข์ปรุงแต่งก็ตามมา
เมื่อการศึกษาเข้ามา ก็จะมีความสัมพันธ์แบบเรียนรู้ โดยสนองความต้องการที่อยากจะรู้ว่า อะไรเป็นอะไร มันคืออะไร มันเป็นมาอย่างไร มันมีโทษ มีคุณอย่างไร เป็นเพราะอะไร ทำไมจึงเกิดขึ้นอย่างนี้
ทีนี้ การมองนั้นมีผลต่อสุขทุกข์ของเรา เมื่อคนมองสิ่งทั้งหลายแบบชอบชัง ความสุขความทุกข์ของเขาก็ไปขึ้นต่อความชอบชัง ถ้าได้สิ่งที่ชอบ ก็สุข ถ้าเจอสิ่งที่ชัง ก็ทุกข์ เมื่อมองแบบชอบชัง เขาก็มีสุขกับทุกข์คู่กันไปตามที่ชอบและชังนั้น
ส่วนคนที่มองแบบเรียนรู้ ถ้าได้รู้ก็เป็นสุข ทีนี้ การเรียนรู้นั้นไม่ขึ้นต่อการที่สิ่งนั้นจะถูกตา หรือไม่ถูกตา เพราะว่าทุกสิ่ง ไม่ว่าดี หรือไม่ดี เป็นสิ่งสำหรับเรียนรู้ทั้งหมด มีแต่การได้เรียนรู้ เพราะฉะนั้น จึงไม่มีทุกข์มาเลย มีแต่สุขอย่างเดียว คือสุขจากการที่ได้เรียนรู้ คนที่มองอะไรเป็นการเรียนรู้จึงได้สุขทุกสถานการณ์
เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนว่า ให้ตั้งท่าที หรือตั้งทัศนคติต่อประสบการณ์ทุกอย่างด้วยท่าทีของการเรียนรู้ เพียงเท่านี้แหละ การศึกษาก็เริ่ม สิ่งร้ายเราก็ได้เรียนรู้ สิ่งดีเราก็ได้เรียนรู้ สิ่งร้ายบางทีได้ประโยชน์ในการเรียนรู้ยิ่งกว่าสิ่งดีหรือสิ่งที่เราชอบ คนที่อยากเรียนรู้ และได้พัฒนาท่าทีของการเรียนรู้ไว้มาก ความใฝ่รู้และใฝ่เรียนรู้ก็จะเกิดขึ้น ทางพระท่านเรียกว่าฉันทะ เมื่อเรียนรู้ ก็ไม่มีทุกข์จากอะไรเลย มีสุขอย่างเดียว คือมีความสุขจากการเรียนรู้ และการเรียนรู้ก็เป็นความสุข
ความสุขจากการเรียนรู้นั้น เป็นความสุขในการศึกษา หรือความสุขทางปัญญา มีแต่ดี มันเข้ามาช่วยหลายอย่างหลายชั้น คนที่ศึกษาพัฒนาตนอยู่นั้น ในด้านความสุขจากการเจอของที่ชอบ เขาก็มีอยู่แต่เดิมแล้ว แต่การเรียนรู้จะช่วยเสริมสุขนั้นอีก โดยทำให้เขารักษาตัวได้ดี ให้ได้ความสุขจากของชอบ โดยไม่ถลำพลาดพลั้งติดเอาทุกข์มาด้วย เช่น ถ้าจะมีอะไรเสียหายเป็นโทษนำทุกข์มาเขาก็รู้ทันและหลีกเลี่ยงหรือยั้งได้และไม่ลุ่มหลงมัวเมาเป็นต้น เมื่อเจอของไม่ชอบ เขาก็พลิกเปลี่ยนจากทุกข์เพราะไม่ชอบ มาเป็นความสุขจากการได้เรียนรู้มัน
มนุษย์ที่ยังไม่พัฒนาจะมีความสุขและทุกข์จากสิ่งที่ชอบและชังเป็นคู่กัน คือ ได้สุขจากสิ่งชอบ และทุกข์จากสิ่งชัง แต่พอเราพัฒนาคนขึ้นมา เขาได้ความสุขจากการเรียนรู้เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง ทุกข์จากการชังก็เริ่มมีผลลดน้อยลง นอกจากนั้น จากสิ่งที่ชังนั้น เขาก็ได้ประโยชน์ด้วย คือได้เรียนรู้ ซึ่งทำให้เขามีความสุข ถึงตอนนี้จึงสบายไปเลย
คนที่มองสิ่งทั้งหลายแบบชอบชัง ท่านเรียกว่ามองแบบตัณหา ถ้ามองแบบตัณหา ก็จะต้องวนเวียนอยู่ในวังวนแห่งความสุขและความทุกข์ และเป็นความสุขแบบเมืองขึ้นเรื่อยไป แต่ถ้าเมื่อไรเราเริ่มพัฒนาฉันทะ คือความใฝ่รู้ คืออยากรู้ขึ้นมา เมื่อนั้น เราก็เริ่มได้ความสุขจากฉันทะ ตอนนี้เราจะได้ความสุขจากประสบการณ์ทุกอย่าง และเป็นความสุขแบบอิสระทางปัญญา
คนที่หาความสุขจากสิ่งที่ชอบ ก็คือ สุขด้วยการสนองความต้องการเสพ หรือสนองความต้องการแบบตัณหา ซึ่งเป็นความสุขพื้นฐานของคนทั่วไป โดยไม่ต้องมีการศึกษา และเป็นความสุขที่ต้องเจอกับทุกข์จากสิ่งที่ชังคู่กันเรื่อยไป แต่พอคนนั้นมีการศึกษา เริ่มพัฒนาขึ้นมา เขาก็พัฒนาความใฝ่รู้ เกิดความต้องการที่จะเรียนรู้มากขึ้นๆ เขาก็ได้ความสุขจากการเรียนรู้นั้น ซึ่งเป็นความสุขด้วยการสนองความต้องการเรียนรู้ หรือความต้องการทางปัญญา คือสนองความต้องการแบบฉันทะ และเป็นสุขอิสระที่เกิดในทุกกรณี ไม่อยู่ในวงจรของความชอบชัง
ในการพัฒนาเด็ก อย่ามัวไปพัฒนาให้เขามีความสุขจากตัณหา (= จากการสนองความต้องการเสพ) เพราะตัณหามีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปพัฒนามัน เมื่อเราเกิดมา มีตา หู จมูก ลิ้นมา ก็มีตัณหามาด้วย ตัณหานั้นพึ่งอวิชชา เมื่อมีอวิชชา ตัณหาก็มาตลอด เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องพัฒนาหรอก มันคอยจะเกิดอยู่เรื่อย
ทีนี้ ความสุขจากการเรียนรู้ (= จากการสนองความต้องการที่จะเรียนรู้) นี่สิที่เราต้องพัฒนา เราก็ฝึกเด็กให้รู้จักหาความสุขจากการเรียนรู้ จนกระทั่งเด็กเกิดความใฝ่รู้ เมื่อไรเด็กเกิดความใฝ่รู้และชอบเรียนรู้ เมื่อนั้นก็เริ่มสบายใจได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเกิดฉันทะแล้ว คราวนี้แหละประสบการณ์เข้ามา ไม่ว่าดีว่าร้าย แกได้ความสุขหมด เพราะแกดีใจที่แกได้เรียนรู้ใช่ไหม เกิดไปเจอสิ่งร้าย แกก็ยิ่งได้เรียนรู้มาก แกก็ยิ่งดีใจใหญ่ กลายเป็นว่าเจอสิ่งร้ายกลับดีใจ อาจจะมีความสุขมากกว่าเจอสิ่งดี กลายเป็นอย่างนั้นไป เพราะได้เรียนรู้มากกว่า