พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ประชาธิปไตยใต้อิทธิพลเศรษฐกิจ

ต่อไปสภาพโลกาภิวัตน์ที่สี่ ก็คือระบบการเมือง เวลานี้ระบบการเมืองการปกครองที่ได้รับความนิยมมากก็แน่นอนละ เมื่อในค่ายคอมมิวนิสต์โซเวียตล่มสลายแล้ว ค่ายเสรีประชาธิปไตยก็มีชัยชนะ เพราะฉะนั้นระบบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยก็ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ประธานาธิบดีอเมริกัน บิลล์ คลินตัน จึงได้ประกาศแสดงความภูมิใจ บอกว่า American idea ได้รับความนิยมเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก คือประชาธิปไตยหรือ democracy พร้อมทั้ง free-market economy (ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี) เมื่อกี้พูดถึงเศรษฐกิจ คราวนี้ก็ต้องพูดถึงการเมือง

เมื่อการเมืองแบบประชาธิปไตยได้รับความนิยม มีชัยชนะแล้ว ก็ต้องระวังความเอียงสุดด้วย เพราะว่าอเมริกันพยายามที่จะผนวกความเป็นประชาธิปไตยเข้ากับระบบทุนนิยมให้เป็นอันเดียวกัน เหมือนกับว่าถ้าเป็นประชาธิปไตยแล้วต้องเป็นทุนนิยมด้วยนะ เวลานี้อเมริกันกำลังพยายามอย่างนี้ หรือโดยไม่รู้ตัวเขาอาจจะคิดด้วยความภูมิใจอย่างนั้น ดังที่ต่อมาได้มีการรวมสองอย่างนี้เข้าเป็นคำเดียวกัน คือ ตอนแรกเขาพูดคู่กันว่าเป็น democracy กับ free-market economy แต่ขณะนี้ได้มีศัพท์ที่ผนวกสองคำนี้เข้าด้วยกัน เรียกว่า free-market democracy คือประชาธิปไตยแบบตลาดเสรีอันได้แก่ทุนนิยม นี่คือการผนวกเอาระบบการปกครองกับระบบเศรษฐกิจ เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนจะบอกว่า คุณจะเป็นประชาธิปไตยคุณต้องเป็นทุนนิยมด้วย หรือกลายเป็นว่าคุณจะมีประชาธิปไตยที่ดี คุณต้องใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แต่เราจะยอมรับหรือว่ามันควรจะหรือจะต้องผนวกกันอย่างนั้น ประชาธิปไตยจำเป็นต้องเป็นทุนนิยมตามระบบผลประโยชน์ด้วยหรือ

ระบบผลประโยชน์นั้นได้ทำให้เกิดปัญหามากมายอย่างที่บอกเมื่อกี้ ทั้งแก่ชีวิต สังคม และสภาพแวดล้อม เราจะเอาหรือ ประชาธิปไตยอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นภารกิจที่การศึกษาจะต้องช่วยให้ความแจ่มกระจ่างว่าประชาธิปไตยนั้นอย่างไรแน่ เมื่อโยงทุนนิยมกับประชาธิปไตยแล้ว เวลานี้สภาพการพัฒนาประชาธิปไตยจะมีลักษณะที่โน้มไปทางระบบการแข่งขันด้วย คือกลายเป็นประชาธิปไตยในระบบแย่งชิงผลประโยชน์ และหลักการต่างๆ ของประชาธิปไตยจะมีความหมายผันแปรไปตามอิทธิพลความคิดของระบบเศรษฐกิจแบบแข่งขันหาผลประโยชน์นั้น

ขอให้สังเกตดูให้ดี แนวความคิดต่างๆ จะเป็นไปในทางแบ่งแยกความหมายของศัพท์ต่างๆ จะมีลักษณะโน้มเอียงไปในทางนี้ คำว่า เสรีภาพ และความเสมอภาค เป็นต้น ซึ่งเป็นหลักการใหญ่ของประชาธิปไตยนั้น เวลานี้มีความหมายในเชิงแบ่งแยกและแก่งแย่ง เป็นเสรีภาพในลักษณะของการแก่งแย่งช่วงชิง และความเสมอภาคเพื่อแบ่งแยกกัน เรื่องนี้เดี๋ยวจะพูด ตอนนี้อาจจะยังไม่ชัด แต่ขอผ่านไป เพียงตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ก่อน

นอกจากนั้น อีกอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยคือภราดรภาพ กำลังจะเลือนหายไป หรือถูกลืมไป ทั้งที่ประชาธิปไตยมีหลักการใหญ่ ๓ อย่างคือ เสรีภาพ (liberty) ความเสมอภาค (equality) และภราดรภาพ (fraternity) เวลานี้คำที่พูดมากที่สุดคือ เสรีภาพ อเมริกันก็ภาคภูมิใจว่าตนเป็นสังคมแห่งเสรีภาพ ความเสมอภาคก็เป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ความหมายของหลักการทั้งสองอย่างนี้ ได้เป็นไปในทางแบ่งแยก และเป็นเรื่องของการเอามาใช้เป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ให้แก่ตัว ส่วนภราดรภาพนี้ไม่ค่อยได้รับการพูดถึง ในเรื่องของการเป็นประชาธิปไตย เวลานี้ประชาธิปไตยแบบอเมริกันกำลังจะนำโลกไปในแนวทางอย่างนี้ การศึกษาจึงมีหน้าที่หาทางออกว่าทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหา และทำให้เกิดความชัดเจนแจ่มแจ้งและนำมนุษย์ให้ดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ด้วยความรู้ชัดว่าประชาธิปไตยนี้จะพัฒนากันอย่างไร

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.