หันมาดูอีกด้านหนึ่ง คือเรื่องทางด้านศาสนา ซึ่งโยงไปหาเรื่องจิตใจด้วย ศาสนาตะวันตกนั้น มีประวัติเต็มไปด้วยสงคราม อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ฝรั่งยกย่องพระพุทธศาสนามานานแล้ว เช่นนักปรัชญาอังกฤษคนหนึ่งที่หัวรุนแรงมาก ชื่อนายเบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ (Bertrand Russell) พูดไว้ว่า ในบรรดาศาสนาทั้งหลายนั้นเขาเห็นพุทธศาสนาดีที่สุด เพราะมีเรื่อง persecution คือการกำราบปราบปรามข่มเหงรังแกผู้ที่ไม่นับถือเหมือนตนน้อยที่สุด เป็นที่รู้กันในประวัติศาสตร์ว่า ไม่มีสงครามที่เกิดจากพระพุทธศาสนาโดยตรง ต่างจากศาสนาตะวันตก คือศาสนาคริสต์ และอิสลาม ที่เต็มไปด้วยประวัติของการรบราฆ่าฟันเพราะเรื่องศาสนาโดยตรง ตั้งแต่สงครามที่ใหญ่และยืดเยื้อเป็นร้อยปีอย่างสงครามครูเสดส์ (Crusades) จนถึงสงครามย่อย ตั้งแต่อดีตมาจนถึงยุคปัจจุบัน
ปัญหาติดตันของโลกที่ใหญ่ที่สุด พูดได้ว่ามี ๒ อย่าง ซึ่งเป็นปัญหาที่แทบจะหาทางออกไม่ได้เลยสำหรับอารยธรรมของมนุษย์ที่มีแนวคิดของตะวันตกเป็นผู้นำ คือ
๑. ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่พูดไปแล้วเมื่อกี้ ซึ่งเป็นจุดติดตันถึงขั้นที่ว่ามนุษย์จะต้องพินาศไปเพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ยังหาทางออกไม่ได้
๒. ปัญหาการแบ่งแยกขัดแย้งและสงครามในหมู่มนุษย์ ทั้งๆ ที่ว่าเวลานี้โลกติดต่อถึงกันหมด ด้วยระบบเทคโนโลยีสื่อสาร และการคมนาคม ทำให้โลกแคบเข้าเป็นอันเดียวกันโดยทางสภาพแวดล้อมด้านวัตถุ แต่สภาพชีวิตทางด้านจิตใจของมนุษย์เหมือนกับเดินสวนทางกับด้านรูปธรรม สภาพรูปธรรมภายนอกรวมถึงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว แต่จิตใจคนยิ่งแบ่งแยก มีความขัดแยังกันมากขึ้น เวลานี้มนุษย์ทำสงครามกันหนักยิ่งขึ้น ด้วยการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ ผิวพรรณ และลัทธิศาสนา ประเทศเดียวกันก็ทำสงครามล้างเผ่ากัน ฆ่าฟันกันโหดเหี้ยมทารุณอย่างยิ่ง ร้ายยิ่งกว่าเมื่อตอนโลกแบ่งแยกเป็น ๒ ค่ายระหว่างอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ กับประชาธิปไตย
ตอนที่สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ กับเสรีประชาธิปไตย แบ่งกันเป็น ๒ ค่าย ก็น่ากลัวมาก โดยเฉพาะมีสงครามนิวเคลียร์เป็นตัวคุกคามอยู่ แต่สงครามนิวเคลียร์ก็ไม่เกิดจริงสักที คือ ได้แต่กลัวว่าจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ (nuclear war) แต่ไม่เกิดจริง เพราะทั้ง ๒ ฝ่าย ต่างก็กลัวสงครามนิวเคลียร์ ก็เลยไม่ทำให้เกิดสงคราม แต่พอหมด ๒ ค่าย เหมือนกับเหลือค่ายเดียวแล้ว เขาเรียกว่าสงครามเย็นสิ้นสุดลง ฝ่ายโซเวียตรัสเซียล่มสลายไปแล้ว คอมมิวนิสต์ก็ทลายไปแล้ว อิทธิพลของฝ่ายเสรีประชาธิปไตยก็แผ่ไปทั่วโลก แต่แทนที่มนุษย์จะมีสันติสุขอยู่กันได้สบายขึ้น กลับรบกันหนักขึ้น คราวนี้เป็นสงครามจริงๆ ฆ่ากันอย่างหนัก ในประเทศเดียวกันก็ล้างเผ่ากันอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ด้วยสาเหตุความต่างลัทธิศาสนา และการแบ่งแยกเผ่าพันธุ์ อันนี้ก็เป็นจุดตายของมนุษย์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งยังหาทางออกไม่ได้ แสดงว่าการพัฒนามนุษย์สวนทางกับการพัฒนาวัตถุภายนอก
สรุปว่าสองปัญหานี่ยังแก้ไม่ตก คือ
๑. ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม เนื่องจากธรรมชาติถูกเบียดเบียน
๒. การยึดติดกับเชื้อชาติ ผิวพรรณ ศาสนา ที่เป็นเหตุให้มนุษย์แบ่งแยกขัดแย้งกัน
เมื่อกี้นี้พูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมไปทีหนึ่งแล้ว ทีนี้หันมาพูดถึงเรื่องของการแบ่งแยกในหมู่มนุษย์ พระพุทธศาสนามีคำสอนที่ให้หลักเมตตาสากล ศาสนาโดยทั่วไปก็สอนเมตตา สอนความรัก แต่มักจำกัดความรักนั้นไว้สำหรับคนในศาสนาเดียวกัน ต่างจากพระพุทธศาสนาที่สอนว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าอยู่ที่ไหน นับถือศาสนาใด ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ไม่เคยมีการแบ่งแยก ฉะนั้นจึงพูดได้เต็มปากด้วยความมั่นใจว่า พระพุทธศาสนาสอนเมตตาที่เป็นสากล ไม่จำกัดแบ่งแยก อันนี้จึงเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ว่า ถ้านับถือธรรมตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว การรบราฆ่าฟันแบ่งแยกกันจะหมดไปได้
นอกจากมีหลักเมตตาสากลแล้ว หลักการใหญ่และคำสอนปลีกย่อยทั่วไปก็มีความเป็นสากล นำไปสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของมนุษยชาติสอดคล้องกันทั้งหมด เช่น หลักมัจฉริยะ ๕ ที่สอนว่า เมื่อเราพัฒนาคนไปจะค่อยๆ หมดความรู้สึกหวงแหนกีดกัน ที่เรียกว่ามัจฉริยะ ๕ คือมีมัจฉริยะ ๕ น้อยลงๆ ไม่ใช่มากขึ้น อริยบุคคล หรืออารยชนในความหมายของพระพุทธศาสนา คือคนที่หมดมัจฉริยะ ๕ ดังจะเห็นว่า อริยบุคคลชั้นแรก ได้แก่พระโสดาบัน มีคุณสมบัติอย่างหนึ่ง คือไม่มีมัจฉริยะ ๕
เราพิจารณาคุณสมบัติของพระโสดาบันได้หลายอย่าง เช่น มองดูในแง่สังโยชน์ ว่าท่านละสังโยชน์ ๓ เบื้องต้นได้หมดแล้ว คือละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้ และในจำพวกอกุศลธรรมย่อยๆ ที่ท่านละได้ก็มีมัจฉริยะ ๕ อยู่ด้วย พระโสดาบันละมัจฉริยะได้หมดทั้ง ๕ ถ้าหมดมัจฉริยะ ๕ แล้ว มนุษย์ไม่มีทางรบกัน มนุษย์จะรวมกันได้ ไม่มีการแบ่งแยกแน่นอน
อย่างน้อยก็เป็นที่ชัดเจนว่าพระพุทธศาสนาพัฒนาคนในแนวทางที่จะให้รวมกันได้ ต่างจากหลายลัทธิศาสนาที่ยิ่งนับถือก็ยิ่งทำให้คนยิ่งยึดมั่นในการแบ่งแยก คือตอนแรกคนยังมีความรู้สึกแบ่งแยกกันน้อย แต่พอมานับถือศาสนานั้นเข้าและปฏิบัติตามคำสอน ก็ยิ่งคิดตั้งใจแยกตัวแบ่งพวกออกไป ทำให้แบ่งกันแยกกันชัดยิ่งขึ้นๆ เป็นการรวมคนเพื่อแยกกลุ่ม ส่วนในพระพุทธศาสนาคนเข้ามาโดยยังมีกิเลสที่อยากจะแยก แต่พอเข้ามานับถือแล้วพุทธศาสนาจะสอนให้คนแบ่งแยกน้อยลงๆ จนเลิกแบ่งมารวมกันหมด เป็นการรวมคนจากกลุ่มย่อยสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมด จุดหมายของเราคือ พัฒนาคน ให้ลดละกิเลสที่จะแบ่งแยกขัดแย้งกันให้น้อยลงๆ จนกระทั่ง ถ้าเป็นพระโสดาบันก็ไม่มีมัจฉริยะ ๕ เหลืออยู่เลย คือ
๑. อาวาสมัจฉริยะ “หวงถิ่น” คือหวงแหนกีดกันกันด้วยเรื่องที่อยู่อาศัย ที่อยู่อาศัยนี้มองกว้างออกไปก็คือประเทศถิ่นดินแดน คนเราก็หวงถิ่น หวงที่อยู่อาศัย และแม้แต่ประเทศของตน ว่านี่เป็นถิ่นของฉันที่ฉันอยู่ แกอยู่ไม่ได้ ติดที่อยู่อาศัย เห็นแก่ประเทศของตัวเท่านั้น จนกระทั่งเบียดเบียนข่มเหงพวกถิ่นอื่น แดนอื่น ตามประสาปุถุชน แต่ถ้าจะพัฒนาคนให้ทันกับกระแสโลกาภิวัตน์ ก็ต้องละอาวาสมัจฉริยะ ทำให้เป็นอาวาสสากลให้ได้
๒. กุลมัจฉริยะ “หวงเผ่าพันธุ์” คือความหวงแหนกีดกันในเรื่องพวกพ้องตระกูลวงศ์ หรือพวกพ้องเผ่าพันธุ์ คำว่า “กุล” นี้ อย่างในสมัยนาลันทามหาวิหาร ไม่ใช่มีความหมายว่า เป็นเพียงวงศ์ตระกูล เพราะพระสงฆ์ก็เป็นกุลเหมือนกัน แต่หมายถึงว่าเป็นคณะหนึ่ง เป็นกลุ่มหนึ่ง ในชุมชนหรือหมู่มนุษย์ที่แบ่งกันเป็นส่วนๆ การแบ่งจะต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในด้านความเป็นอยู่หรือกิจการเป็นต้นอย่างบริสุทธิ์ ไม่ใช่กลายเป็นการยึดถือด้วยกิเลสที่ทำให้แบ่งแยกแก่งแย่งและชิงชังกัน
๓. ลาภมัจฉริยะ “หวงลาภผล” คือหวงแหนกีดกันกันด้วยเรื่องลาภหรือผลประโยชน์ ผลประโยชน์เป็นเรื่องใหญ่มากที่ทำให้มนุษย์แบ่งพวก แบ่งแยก และแก่งแย่งกัน พระโสดาบันละลาภมัจฉริยะได้หมด ใครอยากได้อะไรก็ให้ได้ ไม่หวงแหน และมีความสุขในการให้
๔. วรรณมัจฉริยะ “หวงชั้นวรรณะ” คือความหวงแหนกีดกันกันด้วยเรื่องผิวพรรณชั้นวรรณะ การแบ่งชั้นวรรณะในสังคม เช่นในอินเดียที่แบ่งเป็น กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ก็ดี การแบ่งพวกกันเป็นผิวขาว ผิวดำอย่างในอเมริกา ก็ดี เราไม่มี ในพระพุทธศาสนามีแต่สอนให้เลิกให้ละ
๕. ธรรมมัจฉริยะ “หวงธรรม” คือความหวงแหนกีดกันกันในเรื่องภูมิธรรม ภูมิปัญญา รวมทั้งความสำเร็จในการสร้างสรรค์ต่างๆ และอารยธรรม ผลสำเร็จในการสร้างสรรค์นี้ก็เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้คนดูถูกดูแคลนกัน แล้วก็แบ่งแยกกัน หวงแหนกัน กีดกันกัน คอยระวังไว้ไม่ให้พวกชาติอื่นรู้อย่างเรา หรือทำได้อย่างเรา ผลสำเร็จทางอารยธรรม วัฒนธรรม การสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรื่องของความก้าวหน้าทางสติปัญญา ภูมิธรรมภูมิปัญญาต่างๆ เหล่านี้อยู่ในข้อสุดท้ายนี้ทั้งหมด ความหมายจึงกว้างมาก มนุษย์ที่พัฒนาแล้วในที่สุดจะมาตันในข้อสุดท้าย มาแบ่งแยกแก่งแย่งหวงแหนกันอีก แต่ในพระพุทธศาสนาท่านสอนให้ละได้หมด
ทั้งนี้ แน่นอนว่า สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเจตน์จำนงหรือความตั้งจิตตั้งใจและความโน้มเอียงที่เป็นพื้นฐานอยู่ในใจ ถ้าคนมีความตั้งใจคิดที่จะสมานประสานเข้ากันให้ได้ การอยู่ร่วมรวมกันก็ดำเนินไปในแนวทางสู่ความสำเร็จ แต่ถ้าในใจมีแต่ความคิดจะแบ่งแยก คิดแต่ว่าจะเอาแต่พวกตัวไว้ และหาทางให้พวกอื่นหมดไป ถ้าอย่างนี้สันติสุขและสามัคคีในหมู่มนุษย์ก็ไม่มีทางสำเร็จ
พระพุทธศาสนาสอนให้คนมีเมตตาที่สากลจริงๆ ทำให้คนรวมกันได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะถือว่าทุกคนเป็นคนเสมอกัน ถ้าใช้ถ้อยคำตามภาษาสามัญก็พูดได้เลยว่า ถ้าโลกไม่มาปฏิบัติตามหลักธรรมอย่างที่พระพุทธศาสนาสอน (คือไม่ปฏิบัติตามหลักความจริงของธรรมชาติ) ปัญหาของโลกนี้ไม่มีทางแก้ ขณะนี้ปัญหาเรื่องนี้แผ่ขยายไปมาก ไหนๆ พูดแล้วก็เลยคิดว่าเดี๋ยวจะยกตัวอย่างให้ฟัง
คำสอนของพระพุทธศาสนาในเรื่องนี้ มีความหมายลึกซึ้งลงไปอีก ไม่ใช่แค่เมตตาสากลเท่านั้น จริยธรรมทั้งหมดก็เป็นสากล จริยธรรมเป็นสากลได้เพราะมีสัจจธรรมคือความจริงตามธรรมดาธรรมชาติเป็นฐาน สัจจธรรมคือความจริงนี่แหละคือสากลที่แท้จริง เพราะเป็นของกลางและเป็นอย่างนั้นเหมือนกันไปทั่วทุกหนทุกแห่ง อะไรก็ตามที่จะเป็นสากลได้ก็ต้องเป็นไปตามสัจจธรรม คือเป็นความจริงตามธรรมดาธรรมชาติ มนุษย์จะอยู่ร่วมกันด้วยสันติสุขอย่างแท้จริง อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็ต้องมีจริยธรรมที่ให้ความเสมอกันเป็นสากล จริยธรรมสากลจะมีไม่ได้ถ้าไม่เป็นไปตามสัจจธรรมที่เป็นสากล เพราะจริยธรรมต้องสัมพันธ์กับสัจจธรรม ดังนั้นข้อกำหนดหรือหลักความประพฤติปฏิบัติของมนุษย์จะต้องตั้งอยู่บนฐานของตัวสัจจธรรมจริงๆ พระพุทธศาสนาสอนสัจจธรรมคือความจริงที่เป็นสากลก่อนแล้ว จึงมาถึงจริยธรรม เช่น เมตตาที่เป็นสากลได้