พระธรรมทูตไทย เบิกทางสู่อารยธรรมใหม่

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เมื่อยุคอุตสาหะผ่านพ้น
คนก็เลิกขยันหมั่นเพียร

ความเจริญในบัดนี้เป็นผลจากบุญเก่าที่ยังต่อเนื่องเป็นกระแสสืบต่อมา เรียกว่าเป็นสังคมที่กินบุญเก่า คนอเมริกันที่เจริญมาได้ทุกวันนี้ เพราะว่าคนรุ่นเก่าสู้กับความยากลำบาก มีความขยันหมั่นเพียร เขาเองก็บอกว่าสังคมตะวันตกเจริญมาได้เพราะจริยธรรมการทำงาน (work ethic) ที่สร้างสรรค์ระบบอุตสาหกรรมขึ้นมา คือ หลักความสันโดษ คนไทยเราไม่ได้ศึกษาเลยว่าสังคมอเมริกันเขาสร้างตัวมาได้อย่างไร สังคมอเมริกัน รวมทั้งสังคมตะวันตกทั่วไป สร้างตัวมาได้ด้วยความสันโดษ แต่ไม่ใช่แค่สันโดษเฉยๆ นะ สันโดษคือการที่เราพอใจในวัตถุบำรุงบำเรอความสุขเท่าที่มี ไม่หลงหมกมุ่นกับการหาความสุขสำราญทางวัตถุ เราพอใจในวัตถุตามมีตามได้ แล้วเราจะได้เอาแรงงาน เวลา และความคิดของเราไปใช้ในการสร้างสรรค์ ทำกิจหน้าที่ นี้คือหลักของสันโดษ เราไปมองดูสังคมอเมริกัน เขาปฏิบัติตามหลักนี้มาตลอด เขาจึงสร้างสังคมโดยเฉพาะระบบอุตสาหกรรมมาได้สำเร็จ

น่าเสียดายที่คนของเรามักมองสันโดษแค่ชั้นเดียว เพราะเราไม่มองตามพระพุทธเจ้า สันโดษคืออะไร คือความพอใจในปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ หรือความพอใจในวัตถุบำรุงบำเรอความสุขตามมีตามได้ เราหยุดแค่นี้ แต่ทำไมท่านจึงให้สันโดษ อันนี้เราไม่พิจารณา การที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สันโดษ คือพอใจในวัตถุบำรุงบำเรอความสุขตามมีตามได้นั้น ก็เพื่อให้เราไม่มัวไปวุ่นวายกับการคิดหาวัตถุมาเสพ ฉะนั้น เราก็ประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน และประหยัดความคิดไว้ได้ ถ้าคนไหนไม่สันโดษ เขาก็คิดอยู่แต่ว่า วันนี้จะหาอะไรมาเสพบำเรอความสุข พรุ่งนี้จะไปสนุกที่ไหน หมกมุ่นอยู่กับการหาสิ่งเหล่านี้ เวลา แรงงาน และความคิดหมดไปกับการวุ่นวายหาสิ่งเสพ หน้าที่การงานก็ไม่เป็นอันทำ ส่วนคนที่สันโดษถูกต้องก็ออมเวลา แรงงาน และความคิดไว้ แล้วเอาเวลา แรงงาน และความคิด ที่ออมไว้ได้นั้นมาใช้ในการทำกิจหน้าที่ และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามเป็นคุณประโยชน์ ก็เกิดความเจริญก้าวหน้า สันโดษของพระพุทธเจ้าท่านมุ่งอย่างนี้

ถ้าเป็นพระสันโดษ นอกจากเลี้ยงง่าย ไม่ทุจริต ไม่ประกอบมิจฉาชีพแล้ว ก็จะได้มีเวลา แรงงาน และความคิดที่จะมาใช้ในการปฏิบัติธรรมได้เต็มที่ พูดง่ายๆ ว่า สันโดษเพื่อขยัน ถ้าเราสันโดษลอยๆ เราก็ไม่มีจุดหมายเพื่อประหยัดเวลา แรงงาน ความคิดของเราเพื่อเอามาใช้ในการทำกิจหน้าที่ ก็กลายเป็นสันโดษที่สนับสนุนให้ขี้เกียจ สันโดษพอใจตามมีตามได้ เอาแค่นี้พอ ก็นอนเลย! สุขสบายแต่ขี้เกียจ ก็ไม่เจริญ เพราะฉะนั้น จะต้องสันโดษเพื่อสนับสนุนความขยัน จะได้ทำกิจหน้าที่ได้เต็มที่ เต็มแรง เต็มกำลัง เต็มเวลา

เรามาดูสังคมฝรั่ง เขามีจริยธรรมการทำงาน (work ethic) หลักการของเขาชัดมาก ในตอนที่เขาสร้างอุตสาหกรรมขึ้นมาเขาบอกว่า ให้อดใจไว้ ไม่ตามใจตัวในการที่จะแสวงหาความสุข ไม่บำรุงบำเรอตัวเอง ไม่ปรนเปรอตนในทางวัตถุ มุ่งแต่ทำงานหาเงินมาให้ได้มาก แล้วอดออม ไม่เอาเงินไปใช้หาความสุข แต่เอาเงินที่ได้นั้นไปลงทุนทำงานต่อไป การงานก็ยิ่งพัฒนา อุตสาหกรรมก็เกิดขึ้น คำว่า อุตสาหกรรม แปลมาจาก industry แปลว่า “ความขยัน” เพราะฉะนั้น ผู้บัญญัติศัพท์ภาษาไทยจึงเอาคำว่า “อุตสาหะ” มาแทน industry เพราะมันแปลว่า “ความขยัน” ยุคอุตสาหกรรมก็คือ ยุคคนขยันที่เพียรพยายามสร้างเนื้อสร้างตัว

ในสังคมตะวันตกนั้น คนรุ่นเก่าต้องผ่านความยากลำบากมามาก เพราะดินแดนของเขามีความขาดแคลนมาก อากาศแสนจะโหดร้ายทารุณ ถ้าไม่ขยันเร่งทำการงาน ไม่ปรับปรุงปัจจัย ๔ มีที่อยู่อาศัยเป็นต้น ก็ตาย! ฤดูกาลของเขาที่หนาวเย็น ไม่ยอมให้เขาอยู่ได้อย่างสบาย ฝรั่งเองก็บอกว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาพัฒนามาได้ก็คือ ความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหา เอาชนะ ให้ผ่านพ้น scarcity แปลว่า ความแร้นแค้นหรือขาดแคลน ในการพยายามเอาชนะความขาดแคลนนี้ เขาก็ใช้ความขยัน (industry) มาทำงานทำการ โดยมีจริยธรรมในการทำงาน (work ethic) ซึ่งเป็น Protestant ethic คือจริยธรรมในการทำงานตามแนวคิดแบบโปรเตสแตนต์ ซึ่งสอนให้เป็นคนอยู่สันโดษ ไม่บำรุงบำเรอตนเอง แต่ขยันหมั่นเพียรมุ่งมั่นทำการงานอย่างเดียว แนวความคิดนี้สืบมาจากอังกฤษ เป็นลัทธิในยุคที่นิกายโปรเตสแตนต์เกิดขึ้น ถือว่าเป็นต้นทางของการพัฒนาอุตสาหกรรม

คนอเมริกันก็เจริญพัฒนามาด้วยแนวคิดอันนี้ เขาจึงภูมิใจว่าสังคมของเขามีจริยธรรมในงาน (work ethic) สูง แต่มาถึงปัจจุบันนี้ สังคมของเขาผ่านพ้นจากความเป็นสังคมอุตสาหกรรม ที่เรียกว่า สังคมอุตสาหกรรม (industrial society) มาเป็นสังคมที่เรียกว่า สังคมผ่านพ้นอุตสาหกรรม (post-industrial society) ไปแล้ว ซึ่งหมายความว่า อุตสาหกรรมบรรลุผลสำเร็จด้วยดี สร้างสรรค์วัตถุพรั่งพร้อมแล้ว สังคมอเมริกันกลายเป็นสังคมที่มั่งคั่งพรั่งพร้อม (affluent society) เขาก็ภูมิใจ แล้วตอนนี้ เขาก็เรียกสังคมของเขาว่าเป็น สังคมบริโภค (consumer society) คือผ่านพ้นจากการเป็นสังคมอุตสาหกรรม ที่ขยันหมั่นเพียรสร้างเนื้อสร้างตัวอย่างนักผลิต มาเป็นสังคมของผู้เสวยผลและเสพสุข เพราะฉะนั้นตอนนี้สังคมอเมริกันไม่เป็นสังคมอุตสาหกรรม (industrial society) แล้ว แต่เป็นสังคมที่ผ่านพ้นอุตสาหกรรม (post-industrial society) และเป็นสังคมบริโภค (consumer society) หรือมิฉะนั้นก็เรียกตามความเจริญทางเทคโนโลยีว่าเป็นสังคมข่าวสารข้อมูล หรือสังคมสารสนเทศ (information society)

เมื่อสังคมอเมริกันพัฒนามาจนเป็นสังคมบริโภค (consumer society) แล้ว ผู้คนก็มีความมั่งคั่งพรั่งพร้อม คนรุ่นใหม่ก็สบาย ไม่ต้องผจญความยากลำบาก ก็เริ่มสำรวย หยิบโหย่ง ไม่ขยันทำงานทำการ ยิ่งเทคโนโลยีเจริญมากจนเป็นยุคกดปุ่ม จะทำอะไรก็กดปุ่มเอา ไม่ต้องใช้กล้ามเนื้อ ใช้แต่กล้ามนิ้ว คนก็เห็นแก่ความสะดวกสบาย ขี้เกียจลง เกิดปัญหาขึ้นใหม่ว่าคนรุ่นใหม่ไม่สู้ความยากลำบาก มีผลงานวิจัยออกมาว่า จริยธรรมในการทำงานของคนอเมริกันปัจจุบันเสื่อมลง และสังคมอเมริกันก็มีปัญหารุมเร้ามากขึ้น เหมือนอย่างที่หนังสือต่างๆ เขียนบรรยาย เช่นข้อเขียน Is America on the Way Down? (อเมริกากำลังอยู่บนทางลง คือกำลังเสื่อมหรืออย่างไร) ปัญหาของอเมริกันมีมากมาย พูดเดี๋ยวมากไปก็น่าเบื่อ

เป็นอันว่า ปัญหาในสังคมอเมริกันขณะนี้ มากเหลือเกิน จนกระทั่งทำให้สังคมของเขาเสื่อมทรามลง คนอเมริกันยุคใหม่ใช้แต่เครื่องทุ่นแรง และเครื่องแทนอินทรีย์ของตน จนเรี่ยวแรงและอินทรีย์เสื่อมลงเพราะไม่ค่อยได้ใช้และไม่ได้ฝึก เช่นจะคำนวณ ก็ใช้เครื่องคิดเลขมาช่วย สมองไม่ต้องฝึก เมื่อสมองไม่ฝึกแล้ว มาถึงตอนนี้ คนฝรั่งรุ่นใหม่ ก็คิดเลขไม่ค่อยเป็น เมื่อคนไปซื้อของตามร้าน ถ้าไม่มีเครื่องคิดเลข ฝรั่งก็คิดไม่ออก นี่คือโทษของการปฏิบัติผิดต่อเทคโนโลยี คือตกอยู่ในความประมาท จนต้องกลายเป็นผู้พึ่งพาขึ้นต่อเทคโนโลยี จึงต้องระวัง คนเรานี้ถ้าไม่ฝึกอินทรีย์ไว้ อินทรีย์ก็เสื่อมลง ก็ต้องอาศัยเทคโนโลยีอย่างเดียว ฝรั่งเขาใช้ศัพท์เรียกว่า technological dependence ถ้าอย่างนี้ก็จะมีฝรั่งเพียงจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนจำนวนน้อยที่ยังมีความเก่งกล้าสามารถ มีสติปัญญาสูง แต่คนส่วนใหญ่โดยทั่วไปกำลังเสื่อมทรามลงมาก คนที่เป็นห่วงสังคมจึงครุ่นคิดกังวลกันว่า ทำอย่างไรจึงจะฟื้นฟูสังคมอเมริกันขึ้นมาได้

อันนี้เป็นปัญหาในส่วนเฉพาะบางอย่าง แต่เรื่องที่ควรจะพูดลงไปให้ลึกละเอียดก็คือ สภาพทางด้านรากฐานความคิดที่ว่าทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ เช่น แก้ปัญหาสภาพแวดล้อมไม่ได้ ที่ยังติดตันกันอยู่ อันสืบเนื่องจากแนวความคิดที่ผิด ซึ่งทำให้อะไรต่างๆ พลอยผิดไปหมด อะไรที่เคยทำให้เขาเจริญ บัดนี้ อันนั้นเองกลายเป็นเหตุแห่งความเสื่อมของเขา

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.