พระธรรมทูตไทย เบิกทางสู่อารยธรรมใหม่

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงในระบบความสัมพันธ์ใหญ่
อารยธรรมเก่าก็เปลี่ยนไปเป็นอารยธรรมใหม่

ที่พูดมาทั้งหมดวันนี้ ได้โยงไปหาหลักธรรมง่ายๆ เพียง ๒-๓ อย่างเท่านั้น แต่ที่จริงหลักธรรมเพียงแค่นี้ก็เพียงพอที่จะสร้างอารยธรรมใหม่ได้แล้ว

ที่ว่าจะสร้างอารยธรรมใหม่นั้น ในที่นี้ ไม่ใช่ว่าจะต้องสร้างขึ้นใหม่โดยสิ้นเชิง แต่หมายถึงการเปลี่ยนจากอารยธรรมปัจจุบันที่ไม่ถูกต้อง ให้กลายเป็นอารยธรรมที่แท้ที่ถูกต้อง เพียงแค่นี้ก็กลายเป็นอารยธรรมใหม่

ทำไมจึงว่าอารยธรรมปัจจุบันไม่เป็นอารยธรรมที่แท้ อารยธรรม แปลว่า ธรรมอันประเสริฐ ธรรมที่ทำมนุษย์ให้ประเสริฐ หรือ ธรรมของมนุษย์ผู้ประเสริฐ หมายถึงเรื่องราวความเป็นไปและสิ่งต่างๆ ที่เกิดมีขึ้น ที่เป็นการสร้างสรรค์ให้มนุษย์เจริญงอกงามขึ้นเป็นผู้ประเสริฐ แต่อารยธรรมปัจจุบันไม่เป็นไปตามความหมายนี้ ตรงข้าม กลับเป็นอย่างที่ฝรั่งจำนวนมากได้ผิดหวังและพูดว่า เป็นอารยธรรมที่จะนำโลกไปสู่ความพินาศ เมื่อเป็นอย่างนั้นก็เป็นอารยธรรมจริงแท้ไม่ได้

ที่จริงจะเรียกว่าอารยธรรมก็ไม่ถูกมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพราะเราแปลคำว่าอารยธรรมจากคำฝรั่งที่ว่า civilization ซึ่งมีความหมายว่าเป็นการทำให้เป็นคนเมือง หรือการเจริญขึ้นเป็นชาวเมือง คนแต่ก่อนมองว่าการเปลี่ยนจากคนอยู่ป่ามาเป็นคนอยู่เมือง เป็นความเจริญ แต่ที่จริงคนเมืองอาจไม่ประเสริฐก็ได้ ดังที่เวลานี้ก็ชักเป็นที่สงสัยมากขึ้นๆ ว่า ชีวิตเมืองและสังคมเมืองดีงามจริงแน่หรือ ตามความหมายนี้ civilization ตรงกับคำว่า “นาครธรรม” มากกว่า และคำหลังนี้ก็เคยมีผู้ใช้มาแล้ว

อารยธรรมที่ไม่แท้หรือนาครธรรมปัจจุบันนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะไร้คุณค่าเสียทีเดียว ประโยชน์ก็มีไม่น้อย แต่เพราะมันเจริญมาบนฐานที่ผิดอย่างแหว่งวิ่นและเอียงไปข้างเดียว จึงสะสมโทษไว้มากขึ้นๆ จนในที่สุด ส่วนที่เป็นโทษก็รุนแรงจนท่วมท้นส่วนที่ดี เมื่อโทษแรงนักก็จะกลายเป็นความพินาศ

ได้พูดเมื่อกี้ว่าหลักธรรมง่ายๆ ไม่กี่อย่างที่นำมาอธิบายวันนี้ก็เพียงพอที่จะเปลี่ยนนาครธรรมหรืออารยธรรมเทียมให้กลายเป็นอารยธรรมที่แท้ขึ้นมาใหม่ได้

ทำไมหลักธรรมง่ายๆ ไม่กี่อย่างจึงเปลี่ยนอารยธรรมได้ ตอบว่า เพราะมันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สังคม และธรรมชาติแวดล้อม เมื่อความเปลี่ยนแปลงในระบบความสัมพันธ์นี้เกิดขึ้น ย่อมหมายถึงความเปลี่ยนแปลงของอารยธรรม (ในกรณีนี้ คือการเปลี่ยนแปลงจากอารยธรรมเทียมหรือนาครธรรมไปเป็นอารยธรรมที่แท้)

ไม่ต้องพูดถึงสัจจธรรม เช่นหลักการที่ว่าสิ่งทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์อยู่ในระบบความสัมพันธ์อันเดียวกันแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นหลักขั้นพื้นฐาน เอาแค่หลักธรรมขั้นปฏิบัติการที่แก้โดยปรับเปลี่ยนให้บูรณาการเข้าสู่ระบบดุลยภาพก็พอ

ในการสร้างสรรค์ความเจริญ ฝรั่งเริ่มต้นทุนนิยมและยุคอุตสาหกรรมด้วยปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งคือ “สันโดษ” แต่สันโดษของฝรั่งเป็นสันโดษเทียม คือ ไม่ใช่เป็นการอิ่มพอในการเสพวัตถุด้วยความพอใจเองอย่างเป็นธรรมชาติ โดยมุ่งให้สามารถสงวนเวลาแรงงานและความคิดไว้เพื่อนำไปอุทิศให้แก่การสร้างสรรค์สิ่งดีงาม แต่เป็นการยอมอดยอมงดการเสพวัตถุในบัดนี้ ด้วยอาศัยแรงศรัทธาทางศาสนามากดข่มหรือชดเชยไว้ (ตามแนวคิดแบบ Protestant ethic) ซึ่งไปๆ มาๆ ก็แปรไปเป็นการข่มใจทนรอด้วยความหวังที่จะไปเสพให้มากที่สุดในกาลข้างหน้า โดยสงวนเวลาแรงงานและความคิดนั้นไปทุ่มให้กับการแสวงหาและผลิตวัตถุมาไว้เสพต่อไปในอนาคต

ผลเสียของสันโดษเทียมแบบฝรั่ง คือ ในด้านชีวิตจิตใจก็กลายเป็นการจำใจ ฝืนใจ เพราะใจจริงคือต้องการจะเสพให้มากที่สุด แต่อาศัยศรัทธามาช่วยข่มหรือชดเชยไว้ หรือเพราะหวังผลที่อยู่ข้างหน้าจึงต้องรอไปก่อน และในแง่ธรรมชาติแวดล้อม ในเมื่อเป้าหมายในความหวังคือการจะได้เสพบริโภคอย่างเต็มที่ ผลสำเร็จก็คือการล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาตินั่นเอง ส่วนในด้านสังคมก็ไม่ช่วยให้ลดปัญหาการเบียดเบียนแย่งชิงกันในระยะยาว

ส่วนสันโดษของคนไทย (พิจารณาจากความเข้าใจในปัจจุบัน ซึ่งจะเกิดจากการถือผิดสืบกันมา หรือคลาดเคลื่อนภายหลังเนื่องจากขาดการศึกษาก็ตาม) ก็เป็นสันโดษเทียมอีกแบบหนึ่ง คือเป็นสันโดษแบบด้วนๆ ลอยๆ ไม่มีจุดหมายต่อเนื่องไปว่าจะเอาเวลา แรงงานและความคิดที่สงวนไว้ได้ ไปใช้ทำอะไรต่อไป ไม่เชื่อมต่อสู่ความเพียรพยายาม กลายเป็นเพียงความสันโดษที่ทำให้นอนเสวยความสุขอยู่เฉยๆ เสี่ยงต่อการที่จะทำให้เกียจคร้านเฉื่อยชาตกอยู่ในความประมาท

เมื่อปรับแก้ให้ถูกต้องเป็นสันโดษที่แท้ ก็จะเกิดดุลยภาพ และการประสานประโยชน์ ทั้งของชีวิตกายใจของบุคคล ความสงบสุขของสังคม และการอนุรักษ์ธรรมชาติแวดล้อม เพราะความอิ่มพอต่อวัตถุ เป็นความพึงพอใจที่ทำให้ตนเองมีความสุข พร้อมกันนั้นก็มีจุดหมายที่จะนำเอาเวลา แรงงาน และความคิดที่สงวนไว้ได้ไปใช้สร้างสรรค์ความดีงามและประโยชน์สุขที่เกื้อกูลต่อสังคม กับทั้งในเวลาเดียวกันก็ไม่ต้องมีการเบียดเบียนเอาจากธรรมชาติเพื่อมาสนองความหวังเสพสุขในกาลข้างหน้า มนุษย์จะมีความสุขโดยไม่ต้องผลาญทรัพยากรธรรมชาติ และพร้อมกันนั้นก็มีความพร้อมมากยิ่งขึ้นในการเพียรพยายามสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้ดีงาม

ความไม่ประมาทของตะวันตกก็เช่นเดียวกัน เป็นความไม่ประมาทเทียม ซึ่งเกิดจากแรงบีบคั้นของระบบการแข่งขัน ที่เรียกว่าระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์ ไม่ใช่เกิดจากสติปัญญาแท้จริง แรงบีบคั้นนั้นยิ่งก่อปฏิกิริยา ให้ความเห็นแก่ตัวหรือความต้องการสนองความต้องการของตนรุนแรงยิ่งขึ้น การหาทางอยู่รอดและแสวงผลประโยชน์ของตนเข้มข้นยิ่งขึ้น โดยที่ชีวิตจิตใจยิ่งเครียด การเบียดเบียนกันในสังคมยิ่งรุนแรง และธรรมชาติแวดล้อมยิ่งถูกทำลายรวดเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้นตามอัตราการแข่งขันหาผลประโยชน์กันในสังคม

ส่วนสังคมไทยก็ดังที่กล่าวแล้วว่า ไปในทางตรงข้าม คือตกอยู่ในความประมาท

เมื่อพัฒนาคนด้วยการศึกษาอย่างถูกต้อง ก็จะมีการปรับแก้ให้เป็นความไม่ประมาทแท้ ที่เกิดจากสติปัญญา ซึ่งจะเป็นความไม่ประมาทที่เป็นไปเพื่อผลในทางสร้างสรรค์อย่างแท้จริง โดยที่สติปัญญาจะนำกิจกรรมของมนุษย์ให้ดำเนินไปเพื่อผลดีที่ต้องการ ภายในขอบเขตที่ไม่ส่งผลกระทบในทางร้ายต่อชีวิต สังคม และธรรมชาติแวดล้อม

เมื่อธรรมได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องประสานกันครบองค์เป็นระบบอย่างมีดุลยภาพดังตัวอย่างนี้ ผลดีก็เกิดขึ้นแก่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง คือทั้งชีวิต สังคม และธรรมชาติแวดล้อม อย่างกลมกลืนและเกื้อกูลกัน โดยสัมพันธ์กับการพัฒนาคน ไม่เกิดภาวะที่ต้องขัดขืนจำยอมหรือต้องประนีประนอม

ธรรมปฏิบัติอย่างหนึ่ง ที่เป็นเรื่องพื้นๆ เบื้องต้น แต่มีความสำคัญยิ่งในการสร้างสรรค์อารยธรรมที่แท้ ก็คือ โภชเนมัตตัญญุตา คือ ความรู้จักประมาณในการบริโภค พูดง่ายๆ ว่ากินพอดี ซึ่งหมายถึงกินหรือบริโภคตลอดจนใช้สอยสิ่งต่างๆ ด้วยปัญญา ธรรมปฏิบัติหรือการดำเนินชีวิตอย่างนี้ เกิดจากการทำงานประสานกันของพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ในระบบการพัฒนาคนหรือการศึกษาแท้ที่เรียกว่าสิกขา ๓ (คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง) แล้วแสดงผลออกมาเป็นการประสานประโยชน์ของชีวิต สังคม และธรรมชาติแวดล้อม ที่จะดำรงอยู่อย่างกลมกลืนและเกื้อกูลกัน

แม้ว่าตะวันตกจะมีคำว่า moderation ซึ่งใช้เป็นคำแปลของ มัตตัญญุตา แต่ก็หาได้มีความหมายตามระบบองค์รวมที่มีปัจจัยอันเกี่ยวข้องมาบูรณาการกันอย่างมีดุลยภาพดังที่กล่าวนี้ไม่

พูดได้ไม่เกินความจริงว่า ถ้าไม่สามารถพัฒนามนุษย์ให้มีโภชเนมัตตัญญุตา ในความหมายที่กล่าวข้างต้น ก็ไม่สามารถแก้ไขอารยธรรมปัจจุบันให้เป็นอารยธรรมใหม่ที่แท้ได้ และอารยธรรมปัจจุบันนั้นก็จะนำมนุษยชาติไปสู่ความพินาศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

การพัฒนามนุษย์ให้ลดละมัจฉริยะทั้ง ๕ ก็จะทำให้เกิดความเป็นสากลที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้มนุษย์ทั้งโลกอยู่ร่วมกันได้โดยสันติสุข พร้อมกันนั้น มนุษย์ที่พัฒนาตนให้มีพรหมวิหาร ๔ ก็จะสร้างสรรค์อภิบาลโลก ทำให้สังคมดำรงอยู่อย่างมั่นคงสวัสดี บนฐานแห่งความสัมพันธ์อย่างสมดุลทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ

ศักยภาพที่แท้จริงของมนุษย์ไม่ใช่การเอาชนะธรรมชาติ แต่เหนือกว่านั้น คือ ความสามารถที่จะทำให้ชีวิต สังคม และธรรมชาติ ดำเนินไปด้วยดี อย่างเกื้อกูลแก่กันและกันมากยิ่งขึ้นๆ เบียดเบียนกันน้อยลงๆ จนกระทั่งเป็นโลกที่เป็นสุขไร้การเบียดเบียน อารยธรรมที่เป็นเช่นนี้นั่นแหละคืออารยธรรมที่แท้ ซึ่งเกิดจากการแก้ไขปรับปรุงอารยธรรมปัจจุบันที่อยู่ในแนวทางของตะวันตก ไปเป็นอารยธรรมใหม่

สำหรับวันนี้เห็นจะพอสมควรแล้ว ส่วนเรื่องธรรมวินัย คงต้องเอาไว้ก่อน นี่ก็มากมายแล้ว ท่านมหาสมชัยก็บอกแล้วว่าควรจะจบเสียที

พระผู้เข้าอบรม - ไม่เป็นไรครับ พวกเกล้าฯ ยินดีที่จะรับฟังครับ

พระธรรมปิฎก - ก็คิดว่าพอสมควรแล้ว ถ้าอย่างนั้น มีโอกาสข้างหน้าค่อยคุยกันใหม่ ขออนุโมทนาทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง ขอทุกท่านจงประสบสุขสวัสดี มีความเจริญงอกงามทั่วกัน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.