อีกเรื่องหนึ่ง การมองปัจจัยตัวหนึ่ง โดยไม่มองตัวควบ หรือตัวประกอบของมันด้วย ก็ทำให้พลาดได้ ตามปกติในระบบของความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยนั้น ปัจจัยตัวหนึ่งจะเกิดผลได้ ต้องร่วมกับปัจจัยอื่นด้วย เพราะมันมีความสัมพันธ์กัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสันโดษไม่มากับความขยัน ก็พาลิ่วลงเลย เราจะสอนสันโดษอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูปัจจัยที่จะใช้ร่วมกันด้วย คือความขยัน เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ในหลักอริยวงศ์ ๔ คือ หนึ่ง ภิกษุสันโดษพอใจในจีวร สอง สันโดษในบิณฑบาต สาม สันโดษในเสนาสนะ และ สี่ คือ ยินดีในการเจริญกุศลและในการละอกุศล ข้อที่สี่นี้คือเป้าหมายของสันโดษ คือสันโดษในวัตถุเสพแล้ว ไม่ต้องวุ่นด้านวัตถุแล้ว ก็จะได้ระดมกำลังมาปฏิบัติในด้านเจริญกุศลและละอกุศลได้เต็มที่ นี่แสดงว่า สันโดษต้องมากับองค์ประกอบที่มารับช่วง คือความเพียร หมายความว่า สันโดษเพื่อหนุนความเพียร ธรรมต้องสัมพันธ์กัน ไม่ใช่ว่า ไปเอาธรรมะมาเป็นข้อๆ ลอยๆ แยกต่างหากจากกัน
คนอเมริกัน เวลานี้ก็สำนึกในเรื่องนี้เหมือนกัน แนวความคิดอย่างหนึ่งที่เขาถือว่า เป็นปัจจัยสร้างสรรค์ความเจริญของอเมริกัน คือลัทธิปัจเจกนิยม (individualism) สังคมอเมริกันเป็นสังคมที่ถือหลักปัจเจกนิยม (individualism) แนวความคิดนี้ เมื่อนำมาใช้ในทางเศรษฐกิจ มีความหมายว่า เมื่อปัจเจกชนแต่ละคน แสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนให้มากที่สุด ความเจริญก็จะเกิดขึ้นแก่สังคมไปเอง หมายความว่า เมื่อแต่ละคน ต่างคนต่างก็หาผลประโยชน์ สร้างเนื้อสร้างตัว หารายได้เพื่อตัวเองให้มากที่สุดแล้ว ประโยชน์จะเกิดขึ้นแก่สังคมเอง สังคมจะเจริญไปเอง ลัทธินี้เป็นปัจจัยนำมาซึ่งระบบการแข่งขัน (competition) ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหรือเป็นแกนของการสร้างความเจริญแก่สังคมอเมริกัน
แต่มาในปัจจุบันนี้ คนอเมริกันบางส่วนเริ่มสำนึกว่า สังคมของเขาไม่ได้เจริญเพราะปัจเจกนิยม (individualism) เท่านั้น แต่ต้องมีปัจจัยตัวอื่นมาประกอบด้วย มันจึงทำให้เจริญ เหตุที่คนอเมริกันเกิดความรู้สึกสำนึกในเรื่องนี้ก็เพราะว่า มาถึงตอนนี้สังคมอเมริกันไปเกี่ยวข้องกับสังคมอื่น ประเทศชาติอื่น แล้วก็มาประสบความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของตัวเอง ที่กลายเป็นสังคมบริโภคแล้วคนชักขี้เกียจ การที่แต่ละคนหาผลประโยชน์ของตัวให้ได้มากที่สุด แล้วทำให้สังคมเจริญขึ้นนั้น ก็คือ ลัทธิเห็นแก่ตัวนั่นเอง สังคมอเมริกันสนับสนุนความเห็นแก่ตัวให้แต่ละคนหาผลประโยชน์แก่ตนให้มากที่สุด และเข้าใจว่านี่แหละคือตัวเหตุของความเจริญ แต่เวลานี้บางคนมานึกได้ว่า การที่ลัทธิปัจเจกนิยมทำให้สังคมอเมริกันเจริญได้ก็เพราะที่จริงมันมีตัวควบ เป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้คนสร้างความเจริญได้ คือจริยธรรมการทำงาน (work ethic) นั่นเอง
ถ้าปัจเจกนิยม (individualism) ไม่มีจริยธรรมการทำงาน (work ethic) ควบอยู่ด้วย การหาผลประโยชน์ของตัวเองนั้น ถ้าไม่มาพร้อมกับความขยันหมั่นเพียรในการทำงาน ไม่มีความอดออม สู้งาน เป็นต้น แบบเก่า คนก็จะหาผลประโยชน์โดยวิธีอื่น เช่น โดยวิธีซู (sue) คือคอยหาช่องเล่นงานเพื่อนพ้อง หักหลังเพื่อนบ้าน ตลอดจนหากินบนหลังคนอื่น และทุจริตในรูปแบบต่างๆ หรือไม่ก็จะเป็นไปอีกทางหนึ่ง คือ พอตัวเองได้ผลประโยชน์ให้แก่ตนอยู่สบาย แล้วก็จะขี้เกียจไปเลย เพราะฉะนั้นการที่ลัทธิปัจเจกนิยม (individualism) สามารถเป็นปัจจัยสร้างความเจริญให้แก่สังคมอเมริกันได้ ก็เพราะมีตัวควบคือจริยธรรมการทำงาน (work ethic) มาด้วย
ครั้นมาถึงปัจจุบันนี้ ทั้งๆ ที่ลัทธิปัจเจกนิยม (individualism) ก็ยังคงอยู่ แต่เมื่อตัดจริยธรรมการทำงาน (work ethic) คือ นิสัยรักงานสู้งานออกไป ปัจเจกนิยม (individualism) นี้กลับไปพ่วงกับนิสัยบริโภคนิยม แล้วจะเกิดผลอย่างไร ผลก็คือความลุ่มหลงเพลิดเพลินเสพวัตถุ การจ้องหาผลประโยชน์จากผู้อื่น และความเกียจคร้านที่นำไปสู่ความเสื่อมเท่านั้นเอง ยกตัวอย่างเพียงแค่ปัจเจกนิยม (individualism) อย่างเดียว ก็มีแง่คิดมากพอแล้ว
ตอนนี้อเมริกันมาสมาคมกับประเทศอื่นๆ และสู้กันในเวทีโลก เช่นสู้กับญี่ปุ่น เขาเข้าใจว่า ในระบบแข่งขันแต่ละคนต้องหาผลประโยชน์ให้แก่ตัวให้มากที่สุด แล้วจะสร้างความเจริญขึ้นได้ และนึกว่านี่เป็นวิธีเดียวที่จะสร้างความเจริญให้แก่สังคม แต่พอหันไปดูญี่ปุ่น อเมริกันก็สะดุดใจว่าไม่อย่างนั้น ญี่ปุ่นนี่ใช้ระบบสามัคคี คนญี่ปุ่นร่วมงานกัน มีการเชื่อฟังกันมาก หัวหน้างานว่าอย่างไร ลูกน้องเอาตาม ใครไปทำงานในโรงงานไหน บริษัทไหน ก็รักโรงงาน และบริษัทของตัว อุทิศตัวให้แก่กิจการ ไม่ลาไม่จากไปไหน ถ้าใครออกจากงานที่หนึ่งจะไปหางานที่อื่นยาก เพราะคนอื่นเขามองว่าคงจะเป็นคนไม่ดีจึงต้องออกมา ระบบการทำงานของญี่ปุ่นนี้ ตรงกันข้ามกับอเมริกันเลย ไม่เป็นระบบแก่งแย่งสิทธิ แต่เป็นระบบร่วมมือกัน อเมริกันก็ได้คิดว่า โอ้! มันไม่ใช่ปัจเจกนิยม (individualism) แบบเราเท่านั้นนะที่จะสร้างความเจริญได้ ยังมีวิธีการอื่นอีก และพอไปสู้กับเขาแล้ว บางทีวิธีของตัวเองกลับสู้ไม่ได้