พระธรรมทูตไทย เบิกทางสู่อารยธรรมใหม่

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

มองมนุษย์แยกจากธรรมชาติ
วิทยาศาสตร์มุ่งพิชิตเป็นเจ้านาย

ในด้านภูมิปัญญาก็เป็นเรื่องใหญ่ การที่ตะวันตกหันมาสนใจพระพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้ เหตุผลหนึ่งก็เพราะเห็นว่าพุทธศาสนาอาจจะมีคำตอบให้แก่เขา โดยเฉพาะในเรื่องรากฐานทางความคิดที่ต่างจากตะวันตก เช่นเรื่องที่กำลังเป็นปัญหามากอย่างหนึ่งก็คือ ตะวันตกมีแนวความคิดมาแต่เดิมที่ถือว่ามนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ อันนี้เรียกได้ว่าเป็นรากฐานทางความคิดของอารยธรรมตะวันตก ปรัชญาตะวันตกทั้งหมด ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว ตั้งแต่โสคราตีส เพลโต อริสโตเติล มาถึงศาสนาคริสต์ ตลอดจนนักคิดนักปราชญ์ฝรั่งทั้งหลายทั้งหมดสอนแบบเดียวกันว่า ให้มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติแวดล้อม

เมื่อมองมนุษย์เป็นต่างหากจากธรรมชาติแล้ว ก็ให้มองว่ามนุษย์จะต้องครอบครองธรรมชาติ โดยเป็นนาย เป็นผู้พิชิต เป็นผู้จัดการกับธรรมชาติ เอาธรรมชาติมารับใช้สนองความต้องการของตน อันนี้เป็นแนวคิดที่ตะวันตกเคยภูมิใจมานักหนาว่า ได้ทำให้ตะวันตกเจริญก้าวหน้ามาจนปัจจุบัน โดยเฉพาะในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ในเรื่องนี้ พระพุทธศาสนาและศาสนาตะวันออกสอนว่า คนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และมีแนวความคิดทั่วไปให้คนอยู่อย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่ได้คิดจะไปรุกรานเอาชนะธรรมชาติ

ครั้นมาถึงบัดนี้ เมื่อแนวความคิดของตะวันตกที่ภูมิใจนักว่าได้นำตะวันตกให้สามารถสร้างสรรค์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจริญมาถึงจุดหนึ่ง ก็กลับเป็นเหตุให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ทางตะวันตกถือว่า เป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน คนตะวันตกเองก็เลยกลับมองว่า จากรากฐานความคิดอันนี้เอง ที่มองมนุษย์ต่างหากจากธรรมชาติ และให้มนุษย์ครอบครองธรรมชาตินี่แหละ จึงทำให้มนุษย์สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นโดยไปเบียดเบียนข่มเหงรังแกธรรมชาติเพื่อจัดการเอาทรัพยากรมาใช้ โดยไม่ได้ยั้งคิด แล้วก็เกิดภัยอันตรายอันเกิดจากธรรมชาติ

สรุปว่า ความคิดที่เคยภูมิใจนั้นเป็นความหลงผิด เข้าใจผิด เขาก็เลยผิดหวังกับแนวความคิดเดิมนั้น จึงกลายเป็นว่ารากฐานความคิดของตะวันตกนั้นพังหมด ทำให้มนุษย์มาติดตันอยู่ที่นี่ ความรู้สึกที่รุนแรงนี้ จึงทำให้ฝรั่งหันมาสนใจศาสนาตะวันออก โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาของเราที่สอนว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราควรจะอยู่ร่วมกันด้วยดีอย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ เขาก็เลยสนใจว่า พระพุทธศาสนาอาจจะเสนอคำตอบให้แก่ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งรวมไปถึงการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษยชาติด้วย และเมื่อมองในแง่ของความถูกความผิดก็เท่ากับว่านี่แหละคือปรัชญาที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ตอนนี้ฝรั่งก็มาสนใจทางออกในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ในแนวของพระพุทธศาสนามากขึ้น นี่เป็นตัวอย่างของการที่ฝรั่งหันมาสนใจพระพุทธศาสนา ซึ่งเกี่ยวกับปัญหาที่กำลังเป็นเรื่องใหญ่มาก

มีหนังสือบางเล่มถึงกับขุดบรรพบุรุษมาพูด โดยเขาเล่าตามประวัติศาสตร์ว่า บรรพบุรุษของเขา ตั้งแต่ทางปรัชญา เริ่มด้วยโสคราตีส เพลโต อริสโตเติ้ล มาจนกระทั่งศาสนาคริสต์ ตลอดถึงนักประวัติศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ แม้แต่นักจิตวิทยาทั้งหลายที่เป็นชาวตะวันตกทั้งหมด มีความคิดที่จะรุกรานธรรมชาติอย่างไรๆ เต็มไปหมด เขาเอาวาทะมาแสดงให้เห็นว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ฉะนั้นเวลานี้ ตำราในทางสิ่งแวดล้อมของตะวันตกจะเน้นกันนักว่า ต่อไปนี้จะต้องมองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ซึ่งในสายตาของคนตะวันออก เมื่อไม่รู้ภูมิหลังของคนตะวันตกไปอ่านเข้าก็จะแปลกใจว่า เอ! จะต้องพูดทำไม ชีวิตมนุษย์ก็เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว นี่แหละเพราะภูมิหลังของเขาเป็นอย่างนั้น เขามองแยกมาตลอด เขาจึงต้องมาย้ำกันในปัจจุบันว่าต้องมองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

ศาสนาคริสต์ก็สอนว่า พระผู้เป็นเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมา แล้วจึงสร้างสัตว์ทั้งหลายให้มาเป็นอาหารของมนุษย์ และสร้างธรรมชาติแวดล้อมต่างๆ ให้อยู่ภายใต้การครอบครองของมนุษย์ ให้มนุษย์มี dominion คือมีอำนาจครอบครองเหนือพืชพรรณสิงสาราสัตว์ตลอดธรรมชาติทั้งหมด ฝรั่งบางพวกถึงกับติเตียนศาสนาคริสต์ว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้อารยธรรมตะวันตกเป็นอย่างนี้ เพราะทำให้มนุษย์แตกแยกจากธรรมชาติ โดยมีความเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าสร้างธรรมชาติมาให้เป็นของสำหรับมนุษย์จะไปจัดการ แม้แต่สัตว์ก็ให้เป็นอาหาร มีฐานะแค่นั้น ส่วนมนุษย์มีฐานะพิเศษ เป็นคนที่สร้างขึ้นในรูปแบบอย่างที่เขาเรียกว่าในฉายาของพระผู้เป็นเจ้า

ในฝ่ายฝรั่งตอนนี้ก็เถียงกันเอง พวกหนึ่งก็บอกว่า ศาสนาคริสต์ เป็นตัวการอย่างที่เล่ามานี้ แต่บางคนก็เถียงเข้าข้างศาสนาคริสต์ว่า ที่จริง ศาสนาคริสต์มิใช่ถึงอย่างนั้นหรอก ศาสนาคริสต์สอนให้มนุษย์เป็นผู้มีอำนาจครอบครองจัดการกับธรรมชาติก็จริง แต่หมายความว่าพระเจ้าสร้างธรรมชาติไว้แล้ว ก็ทรงมอบหมายให้มนุษย์ดูแลธรรมชาตินั้นไว้แทนพระองค์ เป็นการแก้ต่างให้ศาสนาคริสต์ เท่ากับบอกว่า พระผู้เป็นเจ้าสร้างสมบัติของพระองค์ไว้แล้ว ก็ทรงมอบให้มนุษย์เป็นผู้ดูแลสมบัติของพระองค์ให้ดี ไม่ใช่ไปจัดการทำลาย นี่ก็เป็นทางออกของเขา ขอยกตัวอย่างคนที่เถียงแบบนี้ เช่น นาย Al Gore ที่เป็นรองประธานาธิบดีอเมริกันปัจจุบัน นาย Al Gore เป็น environmentalist คือเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย

Al Gore ได้แต่งหนังสือขึ้นมาเป็นเล่มเลยว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม ชื่อว่า Earth in the Balance ตอนหนึ่งแกพูดถึงเรื่องที่เล่ามานี้ เพราะว่าคนในสังคมของแกเองติเตียนศาสนาคริสต์ แกก็ออกมาแก้ต่างในแง่ว่า ที่พระเจ้าให้มนุษย์ครอบครองธรรมชาตินั้น หมายถึง ให้ครอบครองในฐานะเป็นผู้ดูแลแทนพระเจ้า เพราะฉะนั้น Al Gore จึงว่าศาสนาคริสต์สอนไม่ผิด แต่ท่านผู้นี้ก็ยอมรับว่า สถาบันศาสนาคริสต์และบาทหลวง ตลอดจนนักเผยแพร่ศาสนาคริสต์ทั้งหลาย สอนให้คนจัดการกับธรรมชาติตามใจชอบจริงๆ ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่าสถาบันศาสนาคริสต์และพวกบาทหลวงทั้งหลาย ตกอยู่ใต้อิทธิพลของปรัชญากรีก และหลงผิดไปตามปรัชญากรีกนั้น Al Gore ยอมรับว่าอารยธรรมตะวันตกโดยรวมแล้ว สอนอย่างนั้น คือสอนให้มนุษย์พิชิตธรรมชาติเพื่อเอามาจัดการตามชอบใจ จึงเป็นเหตุนำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน แกติเตียนองค์กรศาสนาคริสต์ สถาบันศาสนาคริสต์ พวกบาทหลวง พวกนักสอนศาสนาว่าไปอยู่ใต้อิทธิพลปรัชญากรีก ก็เลยไปตีความและสอนศาสนาคริสต์ตามแบบปรัชญากรีก ที่ให้มนุษย์จัดการกับธรรมชาติตามชอบใจ เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ เรื่องนี้ฝรั่งเถียงกันเอง แต่รวมความแล้ว ถึงอย่างไรปรัชญาตะวันตกก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ทุกคนยอมรับ นี้ก็ด้านหนึ่ง

ขอยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ฝรั่งหันมาสนใจพุทธศาสนา คือ แนวคิดตะวันตกในยุคที่ผ่านมานี้เป็นแนวความคิดที่เขาสรุปด้วยศัพท์ว่า reductionism หรือ reductionistic view ซึ่งเป็นแนวทัศนะแบบแยกส่วนหรือแบ่งซอย คือมองธรรมชาติในลักษณะที่แยกเป็นชิ้นส่วน ทำให้เกิดลักษณะทางวิชาการแบบที่เรียกว่า specialization คือความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง วิทยาการต่างๆ ในสังคมตะวันตก ซึ่งหมายถึงอารยธรรมปัจจุบันของมนุษย์ทั้งหมด อันอยู่ภายใต้ครอบงำของอารยธรรมตะวันตกมีลักษณะเป็นแนวนี้ทั้งหมด คือมีลักษณะเป็นการศึกษาแบบแยกส่วน เพื่อความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง จะลงลึกดิ่งกันไปเป็นด้านๆ โดยการแยกวิชาการออกเป็นสาขาต่างๆ แล้วแต่ละสาขานั้นก็แยกซอยออกไปให้ชำนาญพิเศษในแต่ละเรื่อง เช่นวิชาแพทย์ เรียนการรักษาคน ต่อมาก็แยกคนเป็นส่วนๆ ให้ผู้เชี่ยวชาญรักษาแต่ละส่วนของร่างกาย ให้มีหมอเฉพาะทาง เป็นหมอตา หมอหู หมอจมูก หมอหัวใจ หมอปอด แล้วก็แบ่งซอยไปอีกจนกระทั่งรักษาเป็นชิ้นส่วนเฉพาะไปเลย

วิชาการที่แยกซอยอย่างนี้ แต่ละสายก็เก่งมากจนกระทั่งคิดว่า ตัวเองนี่แหละรู้ปัญหาและเข้าใจวิธีแก้ปัญหาของโลกอย่างแท้จริง เช่น นักเศรษฐศาสตร์ก็บอกว่า ปัญหาของโลกทั้งหมดทุกอย่างตั้งอยู่บนฐานของปัญหาเศรษฐกิจ เกิดจากเศรษฐกิจเท่านั้น ถ้าแก้เศรษฐกิจได้อย่างเดียวแล้วทุกอย่างดีเอง โลกก็จะเรียบร้อย พวกนักเศรษฐศาสตร์มองแบบนั้น ส่วนนักวิชาการพวกอื่นก็จะมองไปอีกอย่าง แต่ในที่สุดก็แก้ไม่ได้ จนกระทั่งเมื่อไวๆ นี้เองจึงเกิดสำนึกรู้ความจริงว่า โอ้ ไม่ถูกต้องแล้วที่จะไปใช้ความชำนาญพิเศษเฉพาะทางเป็นตัวแก้ปัญหาของโลก การทำอย่างนั้นผิดพลาดมาก ฝรั่งก็เลยหันมาสนใจแนวความคิดที่เรียกว่า holism หรือ holistic view คือแนวความคิดแบบองค์รวม

องค์รวม หมายความว่าสิ่งทั้งหลายสัมพันธ์กันเป็นระบบ คือ ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งๆ ต่างหากจากกัน แต่เป็นส่วนย่อยที่มาสัมพันธ์กันเข้าอย่างเป็นระบบ แม้แต่ในระดับความคิด ปัจจุบันฝรั่งก็ยังหันมาสนใจว่าต้องคิดแบบเป็นระบบ ดังที่มีคำว่า “systems thinking” เป็นต้น ขึ้นมา นี่เป็นแนวโน้มใหม่ในทางวิชาการ อะไรต่างๆ เดี๋ยวนี้ต้องเป็นระบบหมด แนวคิดแบบองค์รวมก็ดี แนวคิดแบบเป็นระบบก็ดี หรือแนวคิดแบบบูรณาการ (integration) ก็ดี ทั้งหมดนี้พวกเดียวกัน อยู่ในสายของแนวความคิดใหม่ เวลานี้ความสนใจในแนวคิดแบบองค์รวมหรือ holism นี้ กำลังเฟื่อง คนไทยเราก็พลอยตื่นตามไปด้วย

พระพุทธศาสนามองโลกนี้และธรรมชาติทั้งหมด เป็นระบบความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยต่างๆ แม้แต่ชีวิตของเรานี้ก็ประกอบด้วยกายกับใจ คือรูปธรรมและนามธรรมที่แยกย่อยออกไปเป็นองค์ประกอบส่วนย่อย และองค์ประกอบเหล่านั้นก็มาประชุมกันโดยมีความสัมพันธ์อิงอาศัยกันและส่งผลกระทบต่อกัน หลักการนี้ก็ไปสะดุดความคิดและก่อความสนใจแก่คนตะวันตกในยุคที่ผิดหวังกับแนวความคิดแบบแยกส่วน และเห็นว่าแนวความคิดแบบพุทธศาสนานี้ เป็นการมองสิ่งทั้งหลายเป็นระบบที่สัมพันธ์กันทั้งหมด อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของเหตุผลที่ว่าทำไมตะวันตกจึงหันมาสนใจพุทธศาสนา ในที่นี้จะไม่พูดถึงด้านจิตใจเพราะได้พูดไปบ้างแล้ว ตอนนี้พูดถึงแต่ด้านภูมิปัญญาดังที่ได้ยกมาเป็นตัวอย่างให้ฟัง เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็จะเป็นทางที่จะช่วยให้ไปสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับฝรั่งได้ถูกต้อง จับจุดเขาได้ดีขึ้น

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.