พระธรรมทูตไทย เบิกทางสู่อารยธรรมใหม่

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

มีภูมิปัญญาที่มั่นใจและรู้ว่าเขาต้องการอะไร

ข้อที่ ๑ ต้องมั่นใจในคุณค่า ความดีงาม ความประเสริฐของพระพุทธศาสนา หรือแคบเข้ามาจะเรียกว่าพุทธธรรมก็ได้ ข้อนี้สำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าเมื่อเป็นพระธรรมทูต จะไปเผยแผ่ธรรม ก็ต้องมีความมั่นใจในธรรมที่ตนจะนำไปเผยแพร่ จะต้องมั่นใจว่าพระพุทธศาสนามีอะไรดีที่จะให้แก่โลก โดยเฉพาะแก่แผ่นดินที่เราจะไปทำงาน ซึ่งเท่าที่ผมเข้าใจ คงจะไปยังประเทศตะวันตกมาก เช่น ประเทศอเมริกาเป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงต้องมั่นใจว่า พระพุทธศาสนามีอะไรที่จะให้แก่ประเทศอเมริกา และเราต้องมีดีแน่ๆ ถ้ามองเห็นว่า เรามีดีที่จะให้แล้ว เราจะสามารถเป็นผู้ให้ อันนี้แหละจะเป็นฐานรองรับที่ทำให้เกิดความมั่นใจ แต่ถ้าเรามองตนเองว่าเป็นผู้ด้อยแล้วจะไปรับเอา ถ้าอย่างนี้ก็รู้สึกว่าชักจะง่อนแง่นตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะฉะนั้นข้อนี้คิดว่าสำคัญมาก

เมื่อมั่นใจในความจริง ความดีงาม และคุณค่าของพระพุทธศาสนาหรือพุทธธรรมแล้ว ความรู้อีกด้านหนึ่งนอกเหนือจากความรู้เกี่ยวกับพุทธธรรม ก็คือความรู้เกี่ยวกับสภาพสังคมที่เราจะไป ซึ่งโยงไปหาสภาพของโลกทั้งหมดในปัจจุบัน โดยเฉพาะถ้าเราไปประเทศที่เจริญมากอย่างอเมริกา สองอย่างที่ว่านั้นจะโยงกันได้ง่าย เพราะว่าสภาพปัญหาของโลกปัจจุบันนี้ ถือว่าประเทศอเมริกาเป็นผู้นำ หรือเป็นตัวแทนของความเป็นไปในโลกนี้ สภาพของสังคมอเมริกัน จึงแสดงถึงสภาพของโลกปัจจุบันที่เป็นอยู่ หรือมีแนวโน้มที่จะเป็นหรือจะถูกผลกระทบ เราต้องมีความรู้เข้าใจว่าเวลานี้โลกมีปัญหาอะไร มีความต้องการอะไรที่พระพุทธศาสนาจะไปสนองได้ อันนี้จะโยงกัน

การที่เราเห็นคุณค่าของพระศาสนาว่าพระพุทธศาสนามีอะไรจะให้ ย่อมโยงไปสู่คำถามต่อไปว่า จะให้อะไรอย่างไร ซึ่งต้องสัมพันธ์กับความต้องการของเขาว่า เวลานี้โลกกำลังต้องการอะไร การที่เขาต้องการก็เพราะเขาประสบปัญหา มีความขาดแคลนอะไรอยู่ ยิ่งประเทศผู้นำอย่างอเมริกานี่เราต้องเข้าใจชัดว่าเขาเป็นผู้นำของโลก เขามีปัญหาอะไร เขาขาดอะไร เขาต้องการอะไร เราจะนำเอาสิ่งที่เขาขาดแคลนนั้น ซึ่งมีอยู่ในพุทธธรรม ไปให้แก่เขา

ความเข้าใจสภาพสังคมอเมริกันมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้รวมไปถึงอารยธรรมตะวันตกทั้งหมดด้วย ทั้งปัจจุบันตามสภาพที่ปรากฏอยู่แล้ว และสืบสาวลงไปถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้เขาเป็นมาอย่างนั้น ขอย้ำว่าต้องเข้าถึงเหตุปัจจัยของเขาเลยทีเดียว ไม่ใช่อยู่แค่สภาพที่เป็นปัญหา การรู้แค่ความต้องการปัจจุบันยังไม่พอ เราต้องเข้าถึงเหตุปัจจัยว่า เพราะอะไร จึงทำให้เขามาประสบปัญหาอย่างที่เป็นอยู่

ลองมองดูทางตะวันตก ฝรั่งอย่างอเมริกัน เมื่อเขาจะส่งคนของเขามาทำงานในประเทศไทย เขาศึกษาสังคมของเราอย่างจริงจังมาก มหาวิทยาลัยต่างๆ มีการตั้งคณะวิชาหรือโครงการต่างๆ ขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับงานที่เขาจะส่งคนไปทำในต่างประเทศ

ในยุคที่ดินแดนแถบที่เรียกว่า อาเซียอาคเนย์ หรืออาเซียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังมีปัญหามาก เช่น ยุคสงครามเวียดนาม สงครามในลาว และในเขมร ตอนนั้นจะเห็นชัดว่า มหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศอเมริกา ตั้งภาควิชา ตลอดจนโครงการ Southeast Asian Studies กันเยอะไปหมด เพราะอะไร เพราะว่าฐานทางวิชาการต้องมารองรับการเมือง การศึกษาของเขาไม่ได้พรากจากเรื่องการบ้านการเมือง เมื่อความต้องการทางการเมืองมีขึ้นมา ว่าจะต้องส่งคนมาทำงานในประเทศเหล่านี้ และจะต้องปฏิบัติงานโดยสัมพันธ์กับประเทศทางอาเซียอาคเนย์ให้ได้ผลดี เขาก็ต้องวางฐานทางวิชาการให้คนของเขาได้ศึกษาค้นคว้าให้มีความชำนาญรู้เรื่องประเทศเหล่านั้นจริงจัง และคนของเขานอกจากเรียนที่โน่นก็ยังส่งเข้ามาเรียนที่นี่ เข้ามาวิจัยกันใหญ่

แม้แต่คนไทยที่ไปเรียนที่เมืองเขา เขาก็อาจจะสนับสนุนให้ทำเรื่องวิจัยเกี่ยวกับประเทศของเราและสังคมของเรา เพื่อว่าเขาจะได้ข้อมูลเพิ่มเติม ตลอดจนข้อคิดความเห็นของพวกเราที่มีต่อประเทศหรืออารยธรรมของตนเอง จนกระทั่งบางทีเขามีความรู้เกี่ยวกับประเทศของเราดียิ่งกว่าคนไทย เราพูดกันว่ามหาวิทยาลัยบางแห่งในอเมริกามีความชำนาญพิเศษในเรื่องของประเทศในย่านนี้ รวมทั้งประเทศไทยเราลึกซึ้งมาก ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยคอร์เนล ก็มีการศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยลงลึกละเอียดทีเดียว ต่อไปแม้แต่คนไทยจะเรียนประวัติศาสตร์ประเทศไทย ก็อาจจะต้องไปเรียนที่ประเทศอเมริกา คนไทยอาจจะได้ปริญญาทางด้านประวัติศาสตร์ที่ชำนาญพิเศษเกี่ยวกับประเทศไทย จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล อย่างนี้เป็นต้น

นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นว่า ประเทศฝ่ายเขา เมื่อมีใครจะมาทำงานที่เรา เขาจะต้องเรียนรู้เข้าใจเราอย่างลงลึก มองในทางกลับกัน เมื่อคนไทยเราจะไปเรียนหรือจะไปทำงานในประเทศของเขา เราจะต้องเข้าใจสังคมของเขาให้ดีที่สุด แต่น่าเสียดายว่าเราไม่ได้เอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ เราไม่ได้เตรียมคนของเราถึงขนาดนั้น ถึงเวลาเราก็ไปเลย ทั้งที่ยังไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับสังคมของเขาสักนิด แสดงว่าเราทำงานกันผิวเผินหรือไม่ก็เลื่อนลอย

ขอย้อนไปพูดว่า แม้แต่ในวงการศึกษาทั่วไป คนของเราที่ไปเรียนในประเทศอเมริกา สิ่งหนึ่งที่รัฐโดยเฉพาะผู้รับผิดชอบในทางการศึกษา ควรมีนโยบาย ก็คือ คนของเรานั้น นอกจากไปเรียนวิชาของเขา รับเอาวิชาที่เขารู้เหนือกว่าเราแล้ว เราต้องไปศึกษาสังคมอเมริกันด้วย วิเคราะห์วิจัยสังคมของเขาออกมาให้ถึงขนาดที่ว่ารู้เห็นในส่วนที่เขาเองยังมองไม่เห็น เหมือนอย่างเขามาศึกษาบ้านเมืองเราแล้วเห็นส่วนที่เราไม่เห็น เพราะเขาเป็นคนนอก สิ่งที่ต่างจากเขา เขาจะเห็นชัด เราก็เหมือนกัน ถ้ามีความตั้งใจ มีแนวความคิด และมีหลักในการพิจารณาแยกแยะ เราอาจจะเห็นอะไรต่างๆ ที่คนของเขาไม่เห็น แล้วเราจะใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงานของเราได้

นักเรียนของเรา เราส่งไปเรียนต่างประเทศปีหนึ่งมากมาย และส่งกันมานานหลายสิบปี แต่น่าเสียดายว่า ไปเรียนในวิชานั้นๆ ได้วิชาชำนาญพิเศษ ซึ่งเป็นเรื่องของยุคสมัยมา พอเสร็จแล้ว ไม่ค่อยรู้สังคมของเขาเลย จึงมีความรู้จำกัด แคบมาก ยิ่งกว่านั้นก็คือ เราไปเรียนวิชาที่เขาใช้ในสังคมของเขาโดยไม่รู้สังคมของเขา และเอากลับมาใช้กับประเทศของเราซึ่งมีสภาพแวดล้อมต่างจากเขา จึงใช้กับสังคมของเราไม่ค่อยได้ วิชาการต่างๆ ที่เรียนกันมาจากต่างประเทศ เป็นหมันเสียมาก

ยิ่งกว่านั้นอีก ฝรั่งเลยได้โอกาสจากคนไทย คือ เวลาเราไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทำปริญญาชั้นสูง โดยเฉพาะปริญญาเอก ก็เป็นธรรมดาจะต้องมีการทำวิทยานิพนธ์ เวลาทำวิทยานิพนธ์นั้น จะเป็นทางด้านประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรืออะไรก็ตาม เราก็มักจะทำในหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวกับประเทศของเรา ฝรั่งชอบ เพราะถ้าฝรั่งจะมาศึกษาเรื่องของเรา และส่งคนของเขามา ค่าวิจัยแพงมาก คนของเขากินเปลือง ต้องลงทุนสูง ใช้เงินของเขา คิดเทียบเป็นเงินไทยแพงมาก แต่ทีนี้คนของเราไปศึกษาที่ประเทศของเขา เอาเงินไปให้เขาแล้ว ยังจะเอาความรู้ไปให้เขาอีก คือ วิจัยเรื่องของประเทศเราให้แก่เขา เขาประหยัดเงินเยอะ เขาก็ชอบ เขาก็สนับสนุน เราก็กลับมาค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศของเรา วิเคราะห์สังคมของเราไปให้เขา แถมยังได้ความคิดเห็นของพวกเราที่มองตัวเองอีกด้วย เขาก็ได้โดยไม่ต้องลงทุนเลย ฝรั่งก็ยิ่งชอบใจ นี้เป็นการที่เราเสียเปรียบทั้ง ๒ ด้าน

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์วิจัยทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับสังคมของเรานี้ไม่ใช่ว่าจะเสีย คือเราได้ผล แต่ข้อเสียอยู่ที่ว่า เราไม่ได้วางนโยบายที่พร้อมทั้ง ๒ ด้าน คือเมื่อเราจะทำงานในสังคมของเรา คนของเราต้องรู้สังคมของตัวเองอย่างเต็มที่ จุดที่หนึ่งเราจะต้องตั้งไว้เลยว่า ต้องให้คนของเราส่วนหนึ่ง รู้จักสังคมของตัวเองให้เต็มที่ อันนี้เรายอมรับให้วิจัยสังคมของตัวเอง แต่อีกส่วนหนึ่งเราต้องวางไว้พร้อมกัน ต้องให้ไปศึกษาเขา ให้เข้าใจสังคมอเมริกันอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน เอาสองส่วนนี้มาประกอบกัน เอามาเป็นส่วนร่วมเพื่อทำให้เกิดความสมบูรณ์ที่สุด จะช่วยเหลือสังคมของตนเองได้ดี อันนี้เป็นข้อสังเกต กลายเป็นพูดถึงเรื่องการศึกษาของประเทศชาติทั้งหมดกว้างๆ

หันกลับมาเรื่องของเรา เราจะไปทำงานในสังคมอเมริกัน เราก็ต้องเข้าใจสังคมของเขา ต้องเข้าใจอารยธรรมตะวันตกทั้งหมด เมื่อได้ความรู้ ๒ ด้าน คือความรู้ถึงหลักของเราเองในพระพุทธศาสนา หรือในพระพุทธธรรม และความรู้เรื่องของเขาด้วย ก็เท่ากับว่ารู้เขารู้เรา จะเป็นฐานทำให้เกิดความมั่นใจในการทำงาน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.