อารยธรรมไทย: ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ปัญหาจากการพัฒนาไม่สมดุล

รวมความว่า การพัฒนาประเทศที่เป็นมานี้มีลักษณะสำคัญคือ เป็นการพัฒนาอย่างไม่ประสานกลมกลืน ไม่คำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ ทั้งหมดของสังคม ที่จะต้องเจริญก้าวหน้าไปด้วยกัน ทำให้เกิดภาวะระส่ำระสาย เสียสมดุล ดังเป็นสภาพซึ่งปรากฏเป็นปัญหาในปัจจุบันนี้ ถ้ามีเวลามากพอ ก็จะลองมายอมเสียเวลากันหน่อย พูดถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาอย่างไม่ประสานกลมกลืน เพื่อให้เห็นว่า ปัญหาหลักของสังคมไทยนั้น ล้วนเกิดจากการพัฒนาอย่างไม่ประสานกลมกลืน และการสูญเสียสมดุลที่ว่ามานี้แทบทั้งสิ้น แต่การที่จะปรากฏเป็นปัญหาขึ้นก็ต้องอาศัยกาลเวลาบ่มตัว แล้วปัจจุบันนี้ก็เป็นระยะเวลาที่ปัญหาต่างๆ ได้ปรากฏให้เห็นเด่นชัดทั่วไป ในสังคมปัจจุบันนี้ เราจะเห็นสภาพที่ปรากฏคือ ภาวะที่ห่างเหินกัน ตามกันไม่ทัน ภาวะแปลกแยกกัน ภาวะชุมชนแตกสลาย การมีช่องว่างต่างๆ มากมาย ยกตัวอย่างหนึ่ง คือ การพัฒนาเมืองล้ำหน้าชนบทโดยมีช่องว่างห่างไกลกันลิบลิ่ว ชนบทนั้นเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ แต่เป็นสังคมที่มีรายได้ต่ำ และขาดแคลนบริการแทบทุกอย่าง โดยเฉพาะขาดแคลนบริการการศึกษา การแพทย์ สาธารณสุข โรงเรียนดีๆ ก็มากระจุกกันอยู่ในกรุง เด็กชนบท ชาวไร่ ชาวนา ได้ทราบว่าไม่ถึง ๖% ที่ได้เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐ ทางด้านการแพทย์ ปัจจุบันอาตมายังไม่ได้ดูสถิติ แต่เมื่อปี ๒๕๒๕ เรามีแพทย์ทั้งหมด ๘,๐๐๐ คน ทั่วประเทศไทย อยู่ในกรุงเสีย ๔,๐๐๐ คน ในชนบทเรามีอำเภอทั้งหมด ๖๒๐ กว่าอำเภอ มีแพทย์ประจำอำเภอเหล่านั้นอยู่ ๓๗๐ อำเภอ ไม่ถึงครึ่งของจำนวนอำเภอทั้งหมด แสดงว่า บริการทางการแพทย์ของเราขาดแคลนอย่างยิ่งในชนบท แพทย์มาคั่งอยู่ในกรุงจังหวัดเดียว ส่วนที่เหลือก็ไปอยู่ในประเทศอเมริกาเสีย ๑,๕๐๐ คน นอกนั้น อยู่ตามโรงพยาบาลประจำจังหวัดบ้าง อะไรบ้าง อันนี้ก็เป็นสภาพตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า กรุงกับชนบทนั้นทิ้งช่องว่างห่างไกลกันมาก ระยะหลังนี้ในยุคพัฒนา รัฐก็ได้ตระหนักถึงปัญหานี้มาก จึงพยายามที่จะใส่ใจในการเร่งรัดพัฒนาชนบท เช่น มีการเร่งรัดการชลประทาน เพื่อให้บางแห่งที่เคยแห้งแล้งได้มีน้ำใช้ เป็นต้น แต่เราก็ยังพูดได้ว่า ยังห่างไกลจากการแก้ปัญหาได้สำเร็จ เพราะการแก้ปัญหายังกระจัดกระจายกันอยู่ ไม่ลงลึกถึงเหตุปัจจัยหลักที่โยงเรื่องราวต่างๆ เข้าด้วยกัน

มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการพัฒนาของรัฐสัก ๒ ข้อ คือ

ข้อแรก เมืองกับชนบทนี้ น่าจะมีความแตกต่างกันโดยประเภท เพราะว่าเมืองกับชนบทนั้น ตามปกติเป็นคนละประเภทอยู่แล้ว เช่นมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และสภาพแวดล้อมคนละอย่าง เป็นต้น แต่ควรจะมีความใกล้เคียงกันโดยขีดระดับ คือ ในด้านระดับความเป็นอยู่ รายได้ บริการต่างๆ เป็นต้น นี้ไม่ควรแตกต่างกันมาก แต่ในการพัฒนาของเรานี้ ดูไปคล้ายกับว่า จะพยายามทำให้เมืองกับชนบทกลายเป็นสังคมประเภทเดียวกัน อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน ถ้าของที่ควรเป็นคนละประเภทแล้วมาทำให้เป็นประเภทเดียวกัน มันก็จะเกิดปัญหา ยิ่งกว่านั้น ในการพยายามทำให้เป็นประเภทเดียวกันนั้น ก็ไปทำให้ความแตกต่างกันในขีดระดับกลับห่างไกลมากขึ้น เลยยิ่งสวนทางกัน หมายความว่า โดยความเป็นจริง เมืองกับชนบทนั้น ควรจะแตกต่างกันโดยประเภท แล้วก็ใกล้เคียงกันโดยขีดระดับ แต่เมื่อทำไป กลายเป็นว่าให้เปลี่ยนมาเป็นประเภทเดียวกัน แต่ต่างกันโดยขีดระดับมากขึ้น ถ้าอย่างนี้ ก็ต้องเกิดปัญหามากขึ้นแน่นอน นี้ก็เรื่องหนึ่ง

ทีนี้ ข้อที่สอง การพัฒนาของเราที่เร่งรัดทุ่มเทกันอยู่ในเวลานี้ มีลักษณะอย่างหนึ่งที่น่าจะเป็นการจับจุดไม่ค่อยถูก คือ ในการพัฒนาสังคม แม้แต่ชนบท เราจะต้องพัฒนาให้เขาพึ่งตนเองได้ การที่จะให้พึ่งตนเองได้ ต้องจับจุดให้ถูก จุดที่จะพึ่งตนเองได้ก็คือ องค์ประกอบต่างๆ ของชุมชนนั้น จะต้องได้รับการพัฒนาให้เจริญไปด้วยกัน เพราะการที่จะพึ่งตนเองได้นั้น เขาจะต้องเกื้อกูลอาศัยซึ่งกันและกัน คือพึ่งกันเอง อาศัยกันเอง ถ้าองค์ประกอบของสังคมหรือชุมชนนั้น แต่ละส่วนแต่ละองค์ประกอบเจริญขึ้นมาด้วยกันแล้ว เขาก็สามารถพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อิงอาศัยกันไป มันก็พึ่งตนเองได้ แต่ถ้าไม่พัฒนาองค์ประกอบของชุมชนให้เจริญไปด้วยกัน มัวไปทำอยู่แต่ที่ใดที่หนึ่งเป็นบางจุดบางแห่ง ก็เกิดความลักลั่น กลับทำให้เกิดปัญหามากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น องค์ประกอบของชุมชนในชนบทไทย มีทั้งทางการศึกษา ได้แก่โรงเรียน ทางด้านประชาชน ได้แก่บ้าน ทางด้านศาสนาและวัฒนธรรม ได้แก่วัด แม้ว่าเราจะพัฒนาประเทศชาติไปได้มากมาย แต่สำหรับในชุมชนชนบทแล้ว พระก็ยังเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของชุมชนอยู่นั่นเอง ยังเป็นบุคคลที่หนึ่งที่ชาวบ้านเชื่อฟัง ถ้าเราไม่พัฒนาทางฝ่ายวัดให้กลมกลืนพร้อมเพรียงกันกับบ้านและโรงเรียนแล้ว เราก็จะประสบปัญหา เช่นว่า ราชการอาจจะขอให้ชาวบ้านพัฒนานั่นพัฒนานี่ แต่ทางวัด หลวงพ่อเจ้าอาวาสก็มาเร่งรัดให้ชาวบ้านช่วยสร้างเมรุ สร้างกำแพงวัดก่อน ก็ไปคนละทิศทาง แล้วพระก็เป็นผู้นำชาวบ้าน ในเมื่อไม่รู้กันไม่เข้าใจกัน ก็ไม่มีความประสานกลมกลืนกัน ปัญหาก็เกิดขึ้น อันนี้เป็นตัวอย่างที่ว่า เราไม่ได้จับจุดที่องค์ประกอบของชุมชน ที่จะต้องพัฒนาไปให้เคียงข้างเป็นที่อาศัยซึ่งกันและกันได้

ต่อไป ข้าราชการกับราษฎร ก็ปรากฏว่ามีช่องว่างห่างไกลกันมาก โดยเฉพาะข้าราชการระดับบริหารนั้น ในสภาพสังคมของเราที่พัฒนากันมา ส่วนมากข้าราชการระดับบริหาร เป็นผู้มีพื้นเพภูมิหลังต่างจากชาวบ้าน ทั้งโดยชาติกำเนิด ถิ่นฐานก็เกิดในเมืองในตลาด และโดยการศึกษาก็ได้รับการศึกษาแบบสมัยใหม่ในเมือง เพราะฉะนั้น ก็เกิดปัญหาว่า ข้าราชการกับราษฎรมักจะสื่อสารกันยาก ทั้งภาษาและความรู้ความคิดก็ห่างไกลกัน พูดกันไม่ค่อยเข้าใจ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ยิ่งในระยะที่เราต้องการเร่งรัดพัฒนาประเทศชาติด้วย การที่จะให้ข้าราชการมานำประชาชนให้พัฒนาไปได้ เมื่อเกิดอุปสรรคข้อนี้แล้ว ก็เป็นไปได้ยาก ทีนี้ ฝ่ายบ้านเมืองกับฝ่ายศาสนาก็มีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกัน เกี่ยวข้องกันแต่ในพิธีกรรม ผู้บริหารประเทศก็ไม่ค่อยรู้เรื่องวัด ไม่เข้าใจศาสนาและกิจการศาสนาว่าเป็นอย่างไร ซึ่งอันนี้จะเห็นได้ชัดว่าต่างจากในสมัยราชาธิปไตย ในสมัยพระเจ้าแผ่นดินนั้น พระองค์มักจะรู้กิจการศาสนาเป็นอย่างดี เข้าไปเกี่ยวข้องกับพระ มีความสนิทสนมกับพระ ทั้งในทางส่วนพระองค์ในชีวิตประจำวัน และในด้านกิจการพระศาสนา รู้และเข้าใจกันเป็นอย่างดี ฉะนั้น ก็ได้ประโยชน์จากองค์ประกอบต่างๆ ที่จะเอามาเชื่อมโยงกันในการพัฒนาประเทศชาติได้เป็นอย่างมาก พระยังเป็นผู้นำที่โยงเมืองกับชนบทได้ แล้วก็มีส่วนที่เข้าถึงชนบทได้เต็มที่แม้ในปัจจุบันนี้ แต่ในเมื่อทางฝ่ายรัฐในปัจจุบันนี้ เรามีปัญหาที่ว่า ราชการเข้ากับชุมชนชนบทไม่ค่อยได้ ไม่ค่อยรู้จักชนบทอยู่แล้ว แล้วยิ่งมาห่างจากพระอย่างนี้อีก ก็เลยยิ่งมีโอกาสน้อยที่จะเข้าถึงชนบท ก็เลยไปกันใหญ่ การสื่อสารระหว่างพระกับทางบ้านเมืองหรือผู้บริหารประเทศชาติเอง ก็ไม่ค่อยรู้ไม่ค่อยเข้าใจกัน อันนี้ก็นับว่าเป็นปัญหาที่เกิดมาจากการพัฒนาที่ไม่ประสานกลมกลืนกันนี้

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง