อารยธรรมไทย: ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ไม่พัฒนาก็ติดขัด พัฒนาแล้วก็ติดตัน

คนทั้งหลายก่อนจะเริ่มต้นอารยธรรมขึ้นมา ก็เป็นคนป่าคนดง เรียกกันว่ามนุษย์ยุคบุพกาล มนุษย์ยุคบุพกาลนี้ เป็นอยู่หรือดำรงชีวิตอยู่ด้วยวิธีเก็บกับล่า หมายความว่า เก็บอาหารที่ขึ้นตามธรรมชาติ ได้แก่ ผลไม้หรือพืชพันธุ์ธัญญาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และล่าสัตว์ พูดสั้นๆ ว่า เก็บพืช และ ล่าสัตว์ ชีวิตในยุคนี้ขึ้นต่อธรรมชาติโดยสิ้นเชิง เพราะอาหารนั้นมีอยู่ตามธรรมชาติ ตัวเองก็ต้องไปเก็บไปล่าเอา ต่อมาคนเราก็พยายามที่จะสร้างสรรค์ความเจริญ เพราะต้องการความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนกระทั่งมาถึงตอนหนึ่ง มนุษย์ก็เจริญพ้นจากยุคบุพกาลขึ้นมาเป็นยุคเกษตรกรรม

ยุคเกษตรกรรมมีลักษณะสำคัญคือ รู้จักทำการเพาะและเลี้ยง เพาะ หมายถึงเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร เลี้ยง หมายถึงเลี้ยงสัตว์ มนุษย์สมัยนี้ ก็มีลักษณะการดำเนินชีวิตที่ยังอยู่กับธรรมชาติอีกนั่นแหละ เพราะว่าพืชพันธุ์ธัญญาหารก็เป็นธรรมชาติ สัตว์ทั้งหลายก็เป็นธรรมชาติ สิ่งที่จะทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหาร และสัตว์เลี้ยงเจริญเติบโตได้ ตั้งแต่ที่ดิน นา ไร่ ทุ่งหญ้า ตลอดจนฝนฟ้าต่างๆ ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติทั้งสิ้น แต่มนุษย์ยุคนี้มีความสามารถก้าวหน้าขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง คือ มีความรู้เข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติขึ้นมาบ้างแล้ว จึงรู้จักทำตัวให้กลมกลืนกับธรรมชาติ และรู้จักทำสิ่งที่เป็นของของตัวเองขึ้น หมายความว่า การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์นี่เป็นของของตัวเอง แต่อาศัยความรู้ในระบบของธรรมชาติมาทำงานของตนให้กลมกลืนกับธรรมชาตินั้น เช่น ได้เรียนรู้จากการเห็นบ่อยๆ หรือจากการสังเกตว่า พืชนั้น ต้นไม้นั้น เกิดจากเมล็ดที่ฝังอยู่ในดิน พืชนี้เกิดจากหน่อ ดินมีน้ำชุ่มชื้น พืชก็งอกงามดี พืชอย่างนี้งอกงามในฤดูไหน จะต้องทำอย่างไร ให้ถูกต้องกับสภาพของธรรมชาติ จึงจะอุดมสมบูรณ์ ดังนี้เป็นต้น แล้วก็นำความรู้นั้นมาใช้ ทำการปลูกพืชของตนเองขึ้นมาบ้าง เมื่อทำไปตามความรู้นั้น พืชก็เจริญเติบโตงอกงาม ลักษณะของชีวิตในระยะนี้ก็คือยังกลมกลืนกับธรรมชาติ แต่รู้จักทำสิ่งที่เป็นของตัวเอง โดยกลมกลืนกับธรรมชาติ ด้วยการเรียนรู้และปฏิบัติให้เป็นไปตามธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม มนุษย์ในยุคเกษตรกรรมนี้ก็ยังมีปัญหาว่า รู้จักธรรมชาติแต่เพียงที่ปรากฏชัดและเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ประจำวัน โดยเฉพาะในการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ คือ รู้แต่ปรากฏการณ์และสังเกตจดจำความเป็นไปของปรากฏการณ์เหล่านั้น แต่ธรรมชาติที่ลึกซึ้งกว่านั้นยังไม่เข้าใจ ไม่รู้เหตุปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทั้งหลาย ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นอย่างไร น้ำท่วม แผ่นดินไหว โรคระบาดต่างๆ เกิดขึ้น ก็ไม่รู้เหตุปัจจัย จึงยังต้องตกอยู่ใต้อำนาจของภัยธรรมชาติเหล่านี้ มนุษย์ต้องการชีวิตที่ดีขึ้น จึงพยายามพัฒนากันต่อมาอีก โดยเรียนรู้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติมากขึ้น จากการที่เรียนรู้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มองเห็นเหตุปัจจัยของปรากฏการณ์ต่างๆ ก็เอาความรู้นั้นมาใช้ ทำให้สามารถควบคุมความเป็นไปของธรรมชาติได้มากขึ้น แก้ไขปัญหาที่เกิดจากธรรมชาติได้มากขึ้น เอาธรรมชาติมารับใช้ความประสงค์ได้มากขึ้น เช่น เอาน้ำมาต้มเป็นไอ ทำให้เรือวิ่งได้ เรียกว่าเรือไอ ทำให้รถไฟวิ่งได้ เรียกว่ารถจักรไอน้ำ แล้วก็ทำโรงงานผลิตของได้คราวละมากๆ อะไรต่างๆ เหล่านี้ เทคโนโลยีก็เจริญก้าวหน้าขึ้นมากมาย มนุษย์ก็เลยมีความคิดหวังมากขึ้นไปอีกว่า จากการรู้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เราจะเอาชนะธรรมชาติได้ แล้วเราก็จะเจริญพรั่งพร้อมและสุขสมบูรณ์ เมื่อคิดเห็นอย่างนั้นแล้ว มนุษย์ก็มุ่งหน้าสู่เป้าหมายนี้ คือการที่จะเอาชนะธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ทำอะไรได้ทุกอย่าง และมีอะไรได้พร้อมบริบูรณ์ เพราะฉะนั้น มนุษย์ในยุคนี้จึงได้มีการค้นคว้าวิทยาการต่างๆ เจริญก้าวหน้ามาอย่างมากมาย และวิทยาการเหล่านั้น เมื่อเจริญขึ้นมา ก็แยกกระจายออกเป็นสาขาย่อยๆ เพราะต้องการรู้รายละเอียดมากขึ้น ทำให้ต้องเรียนเฉพาะมากขึ้น เมื่อเรียนเฉพาะแต่ละด้านก็แยกกันออกไป เจริญลึกละเอียดลงไปเฉพาะด้านนั้นๆ จนกระทั่งมีลักษณะความเจริญในทางวิทยาการของยุคสมัยนี้ ว่าเป็นความรู้ความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และวิทยาการด้านต่างๆ เหล่านั้น ก็เจริญถึงขีดสุดหรือใกล้ขีดสุด นี่เป็นลักษณะของการพัฒนาในความหมายที่เป็นมา ซึ่งประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมเดินทางกับเขาอยู่ เป็นความเจริญที่พ่วงมาในยุคอุตสาหกรรม

เป็นอันว่า ยุคอุตสาหกรรมนี้ มีลักษณะความเจริญที่ต้องการความพรั่งพร้อมทางวัตถุ พยายามสร้างสิ่งบำรุงบำเรอ ความสะดวกสบายทุกอย่าง ซึ่งเมื่อเทียบกันในระหว่าง ๓ ยุค ก็จะเห็นว่า ในยุคที่ ๑ คือยุคบุพกาล มนุษย์ขึ้นต่อธรรมชาติโดยสิ้นเชิง ในยุคที่ ๒ คือยุคเกษตรกรรม มนุษย์รู้จักสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นของตัวเอง ด้วยวิธีปฏิบัติให้สอดคล้องกลมกลืนกับวิถีของธรรมชาติ แต่เพราะเหตุที่ยังรู้จักธรรมชาติน้อยไป ไม่พอ ก็จึงยังตกอยู่ใต้อำนาจของธรรมชาติมาก แต่ในยุคที่ ๓ คือยุคอุตสาหกรรมนี้ มนุษย์รู้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาก ถึงขั้นตั้งความมุ่งหมายที่จะเอาชนะธรรมชาติ และถือว่าการเอาชนะธรรมชาติได้นี้ คือความสำเร็จในการที่จะสร้างความพรั่งพร้อมสุขสมบูรณ์ แต่เมื่อทำไปทำมา มาถึงปัจจุบันนี้ มนุษย์ก็ได้ประสบความติดตันขึ้นแล้ว ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ก็กำลังตระหนักถึงปัญหานี้ เพราะว่า เมื่อมนุษย์แก้ปัญหาหนึ่งสำเร็จ ก็กลายเป็นว่าได้ทำให้ปัญหาอื่นเกิดขึ้น และปัญหาอื่นที่เกิดขึ้นใหม่นั้น บางทีก็เป็นปัญหาที่ร้ายแรงกว่า ซึ่งหลายอย่างมนุษย์ยังมองไม่เห็นทางแก้ เพราะฉะนั้น ถึงตอนนี้มนุษย์ก็มาเห็นตระหนักว่า ความพรั่งพร้อมทางวัตถุและความสะดวกสบายทั้งหลายที่ยุคอุตสาหกรรมนำมานี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาของมนุษย์ได้จริง อย่างที่พูดแล้วว่า ลดปัญหาบางอย่างแต่สร้างปัญหาให้มากขึ้น และไม่สามารถทำให้มนุษย์มีความสุขได้แท้จริง ยิ่งกว่านั้น ยังมาถึงขั้นที่ว่า ความรู้ในวิทยาการต่างๆ และการใช้วิทยาการต่างๆ แก้ปัญหานั้น มีขีดขั้นที่ว่าถึงจุดติดตันไม่มีทางออก ก็จึงมาถึงยุคใหม่ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อแก้ปัญหาที่ติดตันอยู่ของยุคอุตสาหกรรม เป็นการหาทางออกให้แก่ยุคอุตสาหกรรมนั้น

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง