ในเมื่อมนุษย์ใช้เทคโนโลยีในรูปต่างๆ มากมาย เราก็มาดูว่า การพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งในด้านหนึ่งให้ความหวังแก่มนุษย์ว่า จะอยู่ด้วยความสงบสุข มีความเพียบพร้อมสมบูรณ์นั้น เป็นความจริงหรือไม่ เป็นการมองด้านเดียวหรือไม่ พร้อมกับการพัฒนาที่ให้เกิดความสุขสมบูรณ์นั้น อีกด้านหนึ่ง การต่อสู้ป้องกันภัยก็หนักยิ่งขึ้นด้วย และไม่เฉพาะการต่อสู้ป้องกันภัยอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้เท่านั้น แม้แต่เทคโนโลยีที่เข้าใจว่าเป็นคุณประโยชน์แก่การทำมาหาเลี้ยงชีพ น่าจะเป็นคุณอย่างเดียว ก็ยังมีปัญหาก่อโทษแก่ธรรมชาติแวดล้อม แล้วก็หวนกลับมาเป็นโทษแก่สังคมมนุษย์อีกด้วย แต่เรื่องไม่จบเท่านี้ การพัฒนาเทคโนโลยีต่อไปนี้ ซึ่งเทคโนโลยีจะเจริญมากนั้น จะมีปัญหาในการใช้มากขึ้นด้วย นอกจากการใช้ในด้านบวกแล้ว การนำเทคโนโลยีมาใช้ในด้านลบก็จะเป็นไปได้มากเช่นเดียวกัน ในประเทศที่เจริญแล้วก็กำลังมีการพิจารณาในด้านนี้ เช่นปัจจุบันนี้มีความเจริญในด้านที่เรียกว่า พันธุวิศวกรรม หรือ genetic engineering ถึงขั้นที่มนุษย์จะสามารถสร้างชีวิตแบบใหม่ขึ้นมาได้ มนุษย์ถึงกับวาดความหวังกันว่า ต่อไปในไม่ช้า เราอาจจะสร้างมนุษย์พันธุ์ใหม่ที่ดีกว่าเดิมก็ได้ เดี๋ยวนี้ได้มีการเริ่มเพาะพันธุ์มนุษย์ในหลอดแก้วแล้ว แม้จะยังไม่ถึงขั้นทำชีวิตใหม่ขึ้นมาแท้จริง แต่มนุษย์ในยุคปัจจุบันก็เริ่มหวังจากการพัฒนาสัตว์เล็กๆ ก่อน มนุษย์คิดว่าตนกำลังจะพัฒนาชีวิตที่เล็กที่สุดขึ้นมาได้ ต่อไปเมื่อมนุษย์มีความสามารถเช่นนี้มากขึ้น ก็จะสามารถกำหนดวิถีแห่งวิวัฒนาการของมนุษย์เองได้ด้วยวิธีทางพันธุวิศวกรรมนี้ แต่ในเวลาเดียวกัน ปัญหาก็สามารถเกิดได้หลายแบบหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น บริษัทยาบริษัทหนึ่งต้องการขายยาให้ได้มาก ก็อาจจะใช้ห้องแลบ (lab) ทำการผลิตชีวิตแบบใหม่ขึ้นมาชนิดหนึ่ง เป็นโรคใหม่ พูดง่ายๆ ว่าผลิตโรคชนิดใหม่ขึ้นมาโรคหนึ่ง แล้วก็ใช้วิธีการลึกลับแอบแฝงแพร่โรคนี้ให้กระจายไปในสังคม พอโรคนี้แพร่ไปในสังคม บริษัทนี้ซึ่งได้เตรียมการไว้แล้ว คือได้ผลิตยารักษาโรคนี้ไว้โดยเฉพาะ ในขณะที่คนอื่นไม่มียาจะรักษา ก็ขายยาได้บริษัทเดียว เลยรวยเต็มที่ นี่ก็จะเป็นวิธีหาผลประโยชน์แบบใหม่จากความเจริญในทางเทคโนโลยี
อีกตัวอย่างหนึ่ง ปัจจุบันนี้การแพทย์เจริญมาก และสามารถมากขึ้นในการที่จะผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะของคน ได้มีการสร้างเป็นเรื่องทำนองนิยายขึ้นมา แต่เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า แพทย์เห็นแก่รายได้ มุ่งผลประโยชน์แบบธุรกิจ มีคนไข้คนหนึ่งมารักษาโรค คนไข้ก็ไม่รู้ว่าตัวเป็นโรคอะไร ที่จริงคนไข้เป็นโรคนิดเดียว แพทย์ก็บอกว่าจะต้องผ่าตัด เสร็จแล้วแพทย์ก็อาจจะผ่าเอาอวัยวะอย่างหนึ่งที่ดีสมบูรณ์ของคนนั้นไว้ อาจจะเป็นไตหรือม้ามหรืออะไรก็แล้วแต่ ผ่าเอาของดีออกมาแล้วก็เอาของที่คุณภาพไม่ดีใส่เข้าไป คนไข้คนนั้นออกจากโรงพยาบาล อาจจะหายโรคที่ตัวเข้าไป แต่กลายเป็นโรคใหม่หรือกลายเป็นคนไม่สมบูรณ์ แล้วก็ไปดำเนินชีวิต ต่อมาไม่ช้าก็ตาย แพทย์ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ และแพทย์ก็ได้ผลโดยเอาอวัยวะดีที่สมบูรณ์ของคนนี้มาเก็บไว้ในธนาคารอวัยวะ แล้วต่อมาเห็นคนไข้ที่มีฐานะดีมีเงินมากเข้ามา ก็ผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ เอาอวัยวะนี้ใส่ให้ เอาไตใหม่ใส่ให้ เอาม้ามจากคนที่ออกไปแล้วเมื่อกี้นี้ใส่ให้ ซึ่งก็เป็นวิธีการที่ทำได้ เป็นตัวอย่างที่แสดงว่า ถ้าคนเรามีใจประกอบด้วย โลภะ โทสะ โมหะ เสียแล้ว เทคโนโลยีก็ไม่มีทางที่จะทำให้ปลอดพ้นจากปัญหา แต่จะทำให้ปัญหามากขึ้นและร้ายแรงยิ่งขึ้น เพราะมีเทคโนโลยีที่จะใช้สร้างปัญหาและทวีความรุนแรงร้ายแรงนั้น แล้วมนุษย์ก็จะไม่มีทางได้พบสันติสุข
แม้แต่ในปัจจุบันนี้ เมื่อแต่งเรื่องเกี่ยวกับความเจริญของเทคโนโลยีในอนาคต เช่นในหนังทีวี ขอให้นึกดูว่าหนังทีวีเกี่ยวกับความเจริญของเทคโนโลยีในอนาคต เป็นเรื่องอะไร ประเภทไหน ก็จะเห็นว่า ส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสงคราม การรบกันที่ก้าวหน้าจนกระทั่งต่อสู้กันในอวกาศ นี่เป็นความใฝ่ฝันของมนุษย์ต่อความเจริญทางเทคโนโลยี ความใฝ่ฝันส่วนใหญ่แสดงออกในทางรุนแรง ในการใช้ทำสงครามกัน ต่อสู้กัน ครองอำนาจ แย่งชิงเวหา รบกันในโลกนี้ไม่พอ ก็ไปรบกันต่อในอวกาศ ต่อไปมนุษย์ยิ่งเจริญขึ้นไปอีก ไปอยู่ในอวกาศหรืออยู่คนละดาว ก็มีหวังที่จะต้องรบกันระหว่างดาว การพัฒนาเทคโนโลยีก็จะเป็นไปในทิศทางของการสนองความต้องการในรูปนี้มากขึ้น เพราะฉะนั้น มนุษย์ก็จะมีวิธีการมากมายที่จะผลิตจะใช้และพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสนองโลภะ โทสะ และโมหะ ยิ่งเจริญมากก็ยิ่งใช้ได้แรงร้ายมาก แม้แต่ในด้านอินฟอร์เมชั่น หรือข่าวสารข้อมูลก็เหมือนกัน ต่อไประบบคอมพิวเตอร์เจริญกว้างขวาง ก้าวหน้า และแพร่หลายออกไป คนก็อาจจะทำร้ายกันโดยทางข่าวสารข้อมูล โดยไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง แทนที่จะลงหนังสือพิมพ์ ด่าในหนังสือพิมพ์ หรือในสื่อสารมวลชน ก็อาจจะใช้ระบบสื่อสารในยุคที่เจริญก้าวหน้าด้วยคอมพิวเตอร์ เป็นต้น เป็นเครื่องมือ ที่เห็นได้ชัดเจนเพราะเกิดขึ้นแล้วก็คือ เวลานี้มีสิ่งที่เรียกว่า ไวรัสของคอมพิวเตอร์ ระบาดออกไปมาก เพราะมีคนที่รู้มากและคิดเก่ง แต่ขาดคุณธรรม ไม่ถือจริยธรรม ได้คิดสร้างโปรแกรมตัวทำลายขึ้น แล้วปล่อยแพร่ออกไป เครื่องคอมพิวเตอร์ไหนเอาจานข้อมูลที่มีตัวทำลายนี้ติดอยู่ หรือต่อสายเช่นทางโทรศัพท์กับเครื่องอื่นที่มีตัวทำลายนี้เข้าไป ก็จะติดไวรัสนั้นด้วย และข้อมูลต่างๆ ที่อุตส่าห์เก็บไว้ก็อาจจะถูกทำลายลบไปหมด ดังที่ในอเมริกาได้ประสบความเดือดร้อนกันมามากแล้ว และแม้ในเมืองไทย ก็เริ่มมีปัญหา ท่ามกลางความเจริญแบบนี้ มนุษย์จะมีวิธีการที่จะสนองโลภะ โทสะ กันได้อย่างมากมาย หรือมอมเมากันด้วยโมหะได้มากขึ้น เพราะฉะนั้น การที่มนุษย์จะควบคุมเทคโนโลยีได้หรือไม่ จะเป็นปัญหาที่สำคัญมากขึ้นต่อไป ที่แล้วมาเราก็มีปัญหากับการควบคุมเทคโนโลยีอยู่แล้ว แต่เป็นขั้นของการใช้ทั่วไปว่า ทำอย่างไรจะไม่เอามารบราฆ่าฟันกัน ส่วนในปัจจุบันนี้ เราต้องก้าวขึ้นมาสู่การควบคุมเทคโนโลยี ในแง่ของการพิจารณา แม้แต่คุณโทษต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และสังคมอย่างที่ว่าเมื่อกี้ แต่ในความหมายที่แท้จริงแล้ว การควบคุมเทคโนโลยีได้ ต้องหมายถึงการที่มนุษย์จะต้องควบคุมตนได้ด้วย หรือว่าจะต้องควบคุมตนเองได้ก่อนด้วยซ้ำ ฉะนั้น การควบคุมตนเองของมนุษย์จึงเป็นเรื่องสำคัญมากยิ่งขึ้น พร้อมกับความเจริญเติบโตของเทคโนโลยี มนุษย์จึงต้องพัฒนาตัวเองด้วยอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
การที่มนุษย์จะพัฒนาตนเองได้นั้น มนุษย์จะต้องรู้ขอบเขตความสำคัญของสิ่งที่ตัวเองเกี่ยวข้อง คือเทคโนโลยีนั้นด้วย เราจะต้องมีความเข้าใจและจะต้องพิจารณาทบทวนอยู่เสมอถึงคุณค่าของเทคโนโลยีว่า เรามีมันเพื่ออะไร เราพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเพื่ออะไร มองคุณค่านั้นโดยสัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์ทั้งกายและใจ ในสภาพที่สัมพันธ์กับธรรมชาติแวดล้อมและสัมพันธ์กับสังคม พร้อมทั้งเข้าใจคุณและโทษของมันตามความเป็นจริง แล้วก็พยายามที่จะควบคุมตนเพื่อควบคุมการใช้เทคโนโลยีให้เป็นไปเพื่อความอยู่ดีของมนุษย์ โดยประสานกลมกลืนและเกื้อกูลกับสังคมและธรรมชาติดังที่ว่ามาแล้วนี้
เทคโนโลยีนั้นเราสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่ออะไร มนุษย์พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่ออะไร เราเคยตอบปัญหานี้หรือไม่ ถ้าตอบอย่างง่ายๆ ก็คือ เพื่อสร้างสรรค์ความเจริญ เพื่อจะทำอะไรได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่เมื่อมองโดยสัมพันธ์กับคุณค่าในการที่มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงาม และเป็นสุขอย่างแท้จริง คำตอบแบบนั้นยังคลุมเครือเกินไป เทคโนโลยีมีความหมายสัมพันธ์กับความเป็นมนุษย์ด้วย ถ้าเรามองชีวิตและสังคมมนุษย์ว่า มีความมุ่งหมายที่จะเข้าถึงความเป็นอยู่ที่ดีงามมีความสุข และชีวิตและสังคมนั้น ก็กำลังพยายามก้าวไปสู่ความมุ่งหมายนั้น คือกำลังพัฒนาตนเองไปสู่จุดหมาย เราก็จะมองเห็นว่าเทคโนโลยีมีคุณค่าหรือคุณประโยชน์อย่างไร เราสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร ในความสัมพันธ์กับการพัฒนาของมนุษย์ เทคโนโลยีก็คือสิ่งที่อำนวยโอกาสให้มนุษย์พัฒนาศักยภาพของตนและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้สะดวกขึ้น ตลอดจนให้โอกาสที่จะมีความสุขได้มากขึ้น ถ้าพิจารณาตามหลักการที่กล่าวมาแล้ว โอกาสสำคัญที่เทคโนโลยีอำนวยให้ ก็คือ การใช้เทคโนโลยีนั้นเป็นเครื่องมือช่วยเสริมสร้างความประสานกลมกลืน และเกื้อกูลกันในระบบชีวิตของมนุษย์ ในระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและสังคม และในกระบวนการพัฒนาตนของมนุษย์เอง เพื่อเข้าถึงชีวิตที่อุดมสมดุลมีอิสรภาพและสุขสมบูรณ์ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เทคโนโลยีเป็นปัจจัยพิเศษที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เป็นองค์ประกอบภายนอกจากระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ ที่ประกอบด้วยชีวิต ธรรมชาติ และสังคม เทคโนโลยีนั้นจะสร้างและใช้เพื่อเกื้อหนุนระบบที่กล่าวนั้นหรือเพื่อทำลายก็ได้ แต่ถ้าการสร้างและการใช้เทคโนโลยีนั้นเกิดจากแรงจูงใจที่มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นตัวนำ โอกาสที่เทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยเกื้อหนุน ก็เป็นไปได้ยาก เพราะไม่ได้สร้างไม่ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อมุ่งหาคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง
เทคโนโลยี เป็นส่วนขยายแห่งศักยภาพด้านกายของมนุษย์ เป็นผลของการพัฒนาศักยภาพทางด้านกายของมนุษย์ และเมื่อเกิดมีขึ้นแล้ว ก็กลายเป็นเครื่องอำนวยโอกาสให้ศักยภาพของมนุษย์สามารถเปิดเผยตัว และได้รับการพัฒนายิ่งขึ้นไปอีก เพราะเทคโนโลยีนั้นเป็นเครื่องมือขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ ทำให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มือ เท้า ขยายขีดความสามารถออกไป เช่นมีกล้องจุลทรรศน์ กล้องโทรทรรศน์ เครื่องโทรทัศน์ โทรศัพท์ วีดีโอเทป ออดิโอเทป วิทยุ ปั้นจั่น รถขุด รถไถ เครื่องบิน จรวด ยานอวกาศ มีเตอร์ต่างๆ ตลอดจนคอมพิวเตอร์ ทำให้ตาเห็นเล็ก เห็นไกล เห็นสิ่งที่ล่วงไปแล้วหรือมีในที่อื่น ทำงานได้มากและรวดเร็ว บันทึกจดจำเรื่องราวได้มากมาย คิดได้ไวและแม่นยำ เป็นต้น แต่จะอย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะเกิดจากมนุษย์ เป็นเครื่องมือขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ มันก็เป็นปัจจัยที่อยู่นอกระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ เป็นตัวแปลกหน้าหรือผู้มาใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นผู้ร้ายหรือผู้ดีก็ได้ มันอาจจะเข้ามากลายเป็นเพื่อนที่ช่วยเสริมกำลังของมนุษย์ในการอยู่ให้ดีในระบบแห่งชีวิต ธรรมชาติ และสังคม ก็ได้ หรือถ้าไม่เช่นนั้น หากหาที่ลงตัวให้พอดีที่จะเกื้อกูลกันไม่ได้ มันก็จะกลายเป็นตัวแปลกปลอมที่เข้ามาแฝงซ่อนคอยก่อปัญหาแก่มนุษย์ได้มากมาย
จุดที่จะพลาดในการพัฒนา ก็คือ ถ้ามนุษย์ผลิตและใช้เทคโนโลยีด้วยแรงจูงใจของโลภะ โทสะ โมหะ มนุษย์ก็อาจจะผลิตวัตถุอุปกรณ์ เช่นอย่าง ปืน ลูกระเบิด จรวด เป็นต้น ชนิดที่ใช้ได้สำหรับการฆ่าคนและทำลายกันอย่างเดียว เอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้อย่างที่เคยพูดมาแล้ว และมนุษย์ก็จะมีความสามารถในทางทำลายอย่างมหาศาล แม้กระทั่งทำลายชาติพันธุ์ของมนุษย์เองก็ได้ หรือถ้ามนุษย์ตกอยู่ใต้ความครอบงำของตัณหา มานะ ทิฏฐิ หลงผิดเห็นผิดไปว่า ตนมีเทคโนโลยีซึ่งทำให้ตนมีอำนาจยิ่งใหญ่ สามารถพิชิตเอาชนะธรรมชาติได้ จะทำอะไรก็ได้ตามชอบใจ แล้วเลยหลงเพลินไป แทนที่จะใช้เทคโนโลยีมาช่วยเกื้อกูลหนุนเสริมระบบความประสานสัมพันธ์ของชีวิต ธรรมชาติ และสังคม ให้เป็นไปอย่างราบรื่นสมดุล ก็กลับใช้เทคโนโลยีไปในทางที่ทำลายระบบความประสานสัมพันธ์นั้น ทำให้เสียสมดุล แล้วผลร้ายที่เกิดขึ้นในระบบนั้นก็จะสะท้อนมาถึงตัวมนุษย์และเผ่าพันธุ์ของมนุษย์เอง แต่ถ้ามนุษย์มีแรงจูงใจที่ถูกต้อง มีฉันทะที่มุ่งต่อคุณภาพชีวิต และไม่หลงผิด มีความเข้าใจถูกต้อง มองเห็นความจริงของสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องทั่วตลอดในระบบ และกระบวนการแห่งความประสานสัมพันธ์อิงอาศัยกันของสิ่งทั้งหลาย แล้วสร้างสรรค์พัฒนา และใช้เทคโนโลยี ในทางที่จะเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตและส่งเสริมความประสานเกื้อกูล ในระบบแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์ ให้ดำเนินไปอย่างสมดุล เทคโนโลยีก็กลายเป็นเครื่องสนับสนุนให้มนุษย์เข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น แต่จะอย่างไรก็ตาม ก็รวมความว่า เทคโนโลยีเป็นเครื่องอำนวยโอกาส ซึ่งมนุษย์นั้นแหละจะเป็นผู้ใช้โอกาสนั้น ไม่ว่าในทางสร้างสรรค์หรือในทางทำลาย และการที่มนุษย์จะใช้ในทางสร้างสรรค์หรือทำลาย ก็อยู่ที่คุณภาพของมนุษย์นั้นที่ว่าได้พัฒนาตนขึ้นมาแล้วแค่ไหนเพียงใด ถ้ามนุษย์ไม่ได้พัฒนาตน แรงจูงใจแห่งโลภะ โทสะ โมหะ และความหลงผิดมัวเมาในความยิ่งใหญ่แห่งการพิชิตธรรมชาติ ก็ย่อมเป็นตัวกำหนดการใช้โอกาสจากเทคโนโลยี แล้วการทำลายและความสูญเสียในระบบแห่งความสมดุล พร้อมทั้งความเสื่อมโทรมแห่งคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ก็ย่อมเกิดตามมาเป็นธรรมดา แต่ถ้ามนุษย์พัฒนาตนให้มีคุณภาพแล้ว เทคโนโลยีก็จะถูกสร้างถูกใช้ให้เอื้อโอกาสในการพัฒนาเพื่อเข้าถึงคุณภาพชีวิตยิ่งๆ ขึ้นไป ไปๆ มาๆ เรื่องก็มาลงที่ฐานคือตัวมนุษย์เอง
เทคโนโลยีสร้างโอกาสและให้โอกาสแก่มนุษย์ แต่มนุษย์จะใช้โอกาสนั้นหรือไม่ และใช้ถูกหรือผิด นี่ก็เป็นปัญหาอีกเรื่องหนึ่ง เทคโนโลยีไม่ได้ให้ตัวคุณภาพชีวิตโดยตรง เทคโนโลยีไม่ได้ให้ความสุขโดยตรง แต่เทคโนโลยีอำนวยโอกาสที่มนุษย์จะมีคุณภาพชีวิตและมีความสุข เพราะฉะนั้น เราก็ต้องใช้โอกาสจากเทคโนโลยี การที่จะใช้โอกาสได้ผล มนุษย์จะต้องเป็นผู้มีความสามารถในการที่จะใช้โอกาสนั้น และการที่จะมีความสามารถที่จะใช้โอกาสนั้นก็คือการพัฒนาตนเอง จึงบอกว่า มนุษย์จะทอดทิ้งละเลยไม่ได้ในการที่จะพัฒนาตัวเอง และถ้ามนุษย์มุ่งมาในแนวทางของการพัฒนาตน เทคโนโลยีก็สามารถเป็นปัจจัยที่อำนวยโอกาสในการพัฒนาตนของมนุษย์ด้วย ดังได้กล่าวแล้ว การพัฒนาตนนี้ หมายถึงการพัฒนาทั้งกายและใจ โดยประสานสัมพันธ์กับธรรมชาติและสังคม เพื่อให้ระบบทั้งหมดที่อิงอาศัยกันอยู่นี้ เชื่อมโยงเกื้อกูลกันได้อย่างเต็มที่ ทำให้องค์รวมดำรงอยู่ในภาวะสมดุลและมีความสมบูรณ์