อารยธรรมไทย: ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ทางเลือกที่รอการเริ่ม

รวมความว่า เรื่องที่พูดมาในวันนี้มี ๒ ตอน ตอนที่หนึ่ง เป็นเรื่องของสังคมไทยโดยเฉพาะ ที่จะต้องสร้างความประสานกลมกลืนกันในสังคมของตัวเอง ที่องค์ประกอบทั้งหลายในขณะนี้ระส่ำระสายทิ้งห่างเหลื่อมล้ำแตกแยกกันเป็นอันมาก นี้เป็นส่วนที่จะต้องทำเฉพาะในสังคมไทยของเราเอง แต่เพียงเท่านั้นยังไม่พอ เพราะเป็นการแก้ปัญหาในขอบเขตหนึ่งที่อยู่ภายในเท่านั้น จะต้องก้าวไปอีกสู่ ตอนที่สอง ที่ว่าด้วยปัญหาร่วมกันของอารยธรรมมนุษย์ เท่าที่พัฒนามาจนเจริญเด่นชัดในยุคอุตสาหกรรม และก็เกิดปัญหาต่างๆ เด่นชัดด้วย ซึ่งจะต้องแก้ไขด้วยการสร้างความประสานกลมกลืนและเกื้อกูลกันในระบบความเป็นอยู่ของมนุษย์ ทั้งในตัวมนุษย์เอง ระหว่างกายกับใจ ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และระหว่างมนุษย์กับสังคม ให้องค์ ๓ นี้เกื้อกูลกันด้วยดี การพัฒนาความเจริญ สร้างสรรค์เทคโนโลยีต่างๆ แม้ในระบบอุตสาหกรรม ถ้ามีหลักการนี้อยู่ ก็มีแนวทางที่จะดำเนินไปได้ด้วยดี และจะข้ามพ้นยุคแห่งการพัฒนาที่ลักลั่นและกระจัดกระจาย ไปสู่ความอุดมสมดุลและสมบูรณ์ได้ แต่ถ้าไม่มีแนวทางอย่างนี้ เราก็จะยังติดวนอยู่ในยุคพัฒนา ที่มีลักษณะสำคัญ ๒ ประการ ดังได้กล่าวมาแล้ว คือ การเจริญเติบโตแบบแบ่งซอยเป็นเฉพาะทางแต่ละอย่าง ไม่โยงกัน และความไม่ประสานกลมกลืน ไม่เกื้อกูลกันขององค์ประกอบต่างๆ แล้วก็เกิดปัญหาดังที่ว่ามา มีคำกล่าวว่า อวกาศโลก (โลกในอวกาศ หรือโลกวัตถุ อันได้แก่ แผ่นดิน แผ่นน้ำ และแผ่นฟ้า) เป็นหนึ่งเดียว มีอะไรเกิดขึ้นที่ไหน ก็กระเทือนไปทั่วทั้งระบบ แต่สัตวโลก คือสังคมมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในอวกาศโลกนั้น กลับแบ่งแยก ไม่ยอมเป็นโลกเดียวกัน ต่างก็แก่งแย่งเอาแต่ผลประโยชน์ของตัว ไม่คำนึงถึงผู้อื่น กรรมของสัตวโลกนั้น ก็จะทำให้เกิดความวิปริตขึ้นในโลกทั้งหมด แล้วความวิปริตนั้นก็จะลงโทษแก่สัตวโลกหรือมวลมนุษย์นั้นเอง ถ้ามนุษย์ไม่หันมาร่วมมือกันแก้ปัญหา ความพินาศก็จะตามมา ถ้าเอาแต่จะได้ ก็จะต้องสูญเสียไปหมดทุกสิ่ง

ฉะนั้น จึงได้กล่าวว่า เราจะต้องไม่หยุดเพียงแค่การสร้างความประสานกลมกลืนในสังคมไทยของเราเอง ที่เป็นปัญหาตกค้างมาเท่านั้น แต่จะต้องสร้างอารยธรรมไทยขึ้นมาให้เป็นทางเลือกใหม่ ที่จะหลุดพ้นจากยุคพัฒนา ซึ่งเป็นทางเลือกที่แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ก็ยังพยายามแสวงหากันอยู่จนบัดนี้ อย่างน้อยเราควรจะรู้ตระหนักว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายนั้น หาได้มีความพึงพอใจกับสังคมที่พัฒนาแล้วของตนเองไม่ เขาก็กำลังแสวงหาชีวิตและสังคมที่ดีงามกันต่อไป ถ้าเทียบกับสภาพที่เป็นอยู่ หลักการที่กล่าวมานี้ก็เป็นอารยธรรมใหม่ของโลก หรือเป็นวิถีใหม่ของอารยธรรม ถ้าสังคมไทยจะเดินตามแนวทางนี้ เราก็ไม่จำเป็นจะต้องมัวไปคอยตามสังคมตะวันตก หรืออารยธรรมเก่าๆ ของตะวันตกที่กำลังจะถูกทอดทิ้ง แต่เราควรจะเอาบทเรียนและความรู้เท่าทันในสิ่งที่เป็นคุณเป็นโทษในระบบของตะวันตก มาใช้ในการสร้างแนวทางของเราเอง ภูมิปัญญาอย่างนี้จึงจะเป็นอารยธรรมไทย ที่ว่าเป็นทางเลือกออกจากยุคพัฒนา ไปสู่ยุคบูรณาการ ที่มีความประสานกลมกลืน เกื้อกูล และสมดุลกันเป็นลักษณะสำคัญ

อาตมาได้พูดมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว เป็นอันว่า ได้เข้ามาถึงคำตอบที่ได้ตั้งไว้เบื้องต้น ดังที่ได้ยกเป็นหัวข้อปาฐกถานี้ว่า อารยธรรมไทย: ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา ปัญหาอยู่ที่ว่า เราจะมีความแข็งขันจริงจัง และมีความเห็นร่วมสอดคล้องกันแค่ไหนที่จะทำ ถ้าสังคมไทยทำได้อย่างนี้ ก็ไม่ใช่เฉพาะจะเป็นการแก้ปัญหาให้กับสังคมไทยเท่านั้น แต่เป็นการที่เราจะได้มีส่วนเกื้อกูลแก่อารยธรรมของโลกทั้งหมด หรือแม้แต่จะเป็นผู้นำที่ช่วยให้เกิดอารยธรรมที่ดีงามของมนุษย์ต่อไปก็ได้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งใหม่ที่อาจจะถือว่าเป็นทางเลือก ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อคิดที่เสนอแก่ท่านทั้งหลาย จะเห็นชอบด้วยประการใดก็ขอให้นำไปขบคิดพิจารณากัน แม้แต่ถ้าไม่เห็นด้วย จะเอาเป็นมูลฐานในการขบคิดต่อไปก็ยังดี แต่ดังที่ได้บอกแล้วว่า ชุมชนทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว กำลังแสวงหาทางออกใหม่และกำลังแก้ปัญหากันอยู่ จึงควรพิจารณาว่า เราควรจะไปรับเอาปัญหาของเขามาหรือควรจะช่วยแก้ปัญหาให้เขา โดยพัฒนาให้พ้นจากยุคพัฒนา ไปสู่ภาวะที่เรียกว่าความประสานกลมกลืนและเกื้อกูลกัน เพื่อชีวิต สังคม และธรรมชาติ ที่ดีงามอุดมสมดุลดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าสิ่งที่กล่าวมานี้สอดคล้องกับความเห็นของท่านทั้งหลาย ก็จะถือเอามาเป็นคำอวยชัยให้พรเลยทีเดียว

ในท้ายที่สุดแห่งปาฐกถานี้ ขออ้างอิงคุณพระรัตนตรัย อวยชัยให้พรแก่ท่านทั้งหลาย ขอจงได้มีชีวิตที่ประสานกลมกลืนเกื้อกูลสอดคล้องกัน ทั้งกายและใจ ในท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อมที่เรียกว่าระบบนิเวศ และในสังคมที่มีความประสานเกื้อกูลสมดุลกัน เพื่อให้ประสบประโยชน์สุขทั้งส่วนตนและส่วนรวม โดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง