อารยธรรมไทย: ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

เริ่มฉากใหม่ของการพัฒนา

หัวข้อปาฐกถานี้เกี่ยวกับเรื่องการพัฒนา ก็ทำให้นึกถึงว่า ตัวคำว่าพัฒนานี้เองมีความหมายอย่างไร เดี๋ยวนี้คนจำนวนมากก็คงไม่ค่อยชัดเจนเกี่ยวกับความหมายของคำว่าพัฒนา แม้ว่าจะเป็นคำที่เราใช้กันมากเหลือเกิน พูดกันอยู่เสมอว่า “พัฒนา” พัฒนาโน่น พัฒนานี่ ในระดับประเทศ รัฐบาลก็พยายามที่จะพัฒนาประเทศชาติ เอกชนก็มีองค์การอะไรต่างๆ มากมายดำเนินการพัฒนากัน เราพูดถึงคำว่า “พัฒนา” กันมา เป็นคำที่เกร่อในสังคมนี้ แต่กลับเป็นคำหนึ่งที่มีความหมายไม่ชัดเจน อาตมาเองก็ไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกันว่าจะให้ความหมายว่าอย่างไร นอกจากจะให้ความหมายไปตามที่ตัวเองเห็นว่า น่าจะเป็น คนอื่นจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ไม่อาจถือเป็นมาตรฐานได้ แต่ถ้าเราจะเอากันแค่ความหมายตามศัพท์ก็ไม่ยาก เพราะศัพท์ “พัฒนา” ก็มาจากคำภาษาบาลีว่า “วัฒนา” (วฑฺฒนา) วัฒนาก็แปลว่า ความเจริญ การเติบโตขยายตัวออกไป ตัวเดิมเป็นศัพท์นาม แต่เราเอามาใช้ในภาษาไทย แปลงวัฒนาเป็นพัฒนา แล้วใช้ในความหมายที่เป็นกริยาไป พัฒนานี้ ในที่นี้คิดว่าจะไม่พยายามให้ความหมาย เพราะถือเป็นอันว่าเราเข้าใจกันอยู่แล้ว แม้ว่าจะเป็นความหมายที่พร่าๆ ก็ตาม

คำว่า พัฒนาที่เราใช้กันอย่างในปัจจุบันนี้ เป็นศัพท์ที่ไม่เก่า เป็นศัพท์ที่มีอายุไม่นาน เรียกได้ว่าเป็นคำบัญญัติในภาษาไทย ท่านที่เกิดก่อนปี ๒๕๐๐ ก็อาจจะมีโอกาสได้ยินได้ฟังถึงกำเนิดของศัพท์นี้ เข้าใจว่า คำว่าพัฒนานี้เกิดขึ้นหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นได้มีการนำเอาคำว่า “พัฒนา” มาใช้ หมายถึงการสร้างความเจริญแก่ประเทศชาติ แก่สังคม ในทางราชการก็ได้มีการตั้งหน่วยราชการที่ทำงานรับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนา จนกระทั่งมีการตั้งกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ แล้วยังมีหน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรมอื่นๆ อีก ที่มีชื่อว่าพัฒนาหลายหน่วย เช่น สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท กรมการพัฒนาชุมชน ตลอดจนสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดถึงการที่ได้เริ่มมีแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติเป็นฉบับแรกใน พ.ศ. ๒๕๐๔ สมัยนั้นเรียกว่า แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ต่อมา ฉบับหลังๆ ตัดคำว่า “การ” ออก ก็เหลือว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำหรับฉบับแรกนี้ก็เป็นแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๐๔-๒๕๐๙ อันนี้นับว่าเป็นการเริ่มต้นของยุคพัฒนาก็ว่าได้ ถ้าจะเรียกอย่างที่ว่ากันในปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้น ในสมัยนั้นจึงได้มีการสร้างคำขวัญต่างๆ ขึ้นมา เพื่อให้มีการพัฒนาเกิดขึ้นทั่วไป และให้ประชาชนตื่นตัวในการพัฒนา คำขวัญอันหนึ่งที่รัฐบาลได้ให้โฆษณาเป็นอย่างมาก ก็คือ คำขวัญว่า งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข ซึ่งได้ยินกันเป็นประจำทุกวันในสมัยนั้น ต่อมาก็ได้เพิ่มคำขวัญเข้ามาอีก เป็นว่า ศึกษาดี มีเงินใช้ ไร้โรคา พาให้สุขสมบูรณ์ ซึ่งเราจะเห็นว่า แนวทางของการพัฒนานั้น เน้นเรื่องความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจ และความเจริญทางวัตถุเป็นสำคัญ จนกระทั่งว่า ในสมัยนั้น ถึงกับมีการขอร้องหรือแนะนำพระสงฆ์ว่า ไม่ให้สอนหลักธรรมเรื่องสันโดษ เพราะเห็นว่าสันโดษเป็นตัวขัดขวางการพัฒนา แต่ในทางตรงข้าม ได้หันไปเร้าให้ประชาชนมีความต้องการในวัตถุต่างๆ ในสิ่งฟุ่มเฟือยและสิ่งที่อำนวยความสะดวกสบายให้มาก โดยหวังว่า เมื่อคนมีความต้องการในสิ่งเหล่านี้ อยากได้สินค้า หรือสิ่งอำนวยความสะดวกและสิ่งบริโภคต่างๆ มากมายแล้ว เขาก็จะได้ทำงาน เมื่อทำงานแล้วก็จะได้มีเงินใช้ แล้วประเทศชาติและสังคมก็จะเจริญขึ้น อันนี้ก็เป็นแนวความคิดและความหวังของรัฐบาล ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นหนึ่งในการสร้างสรรค์ความเจริญของประเทศชาติ

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาประเทศชาติในช่วงระยะที่มีคำว่า “พัฒนา” เกิดขึ้นนี้ ความจริงก็เป็นการสืบต่อมาจากการทำประเทศให้ทันสมัย ที่เริ่มมาแล้วก่อนหน้านั้นเป็นเวลาประมาณ ๑ ศตวรรษล่วงแล้ว เพราะฉะนั้น อาจถือได้ว่าเป็นความพยายามกระแสเดียวกัน หรือในทิศทางเดียวกัน ต่างแต่ว่า ในยุคพัฒนาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ เศษมานี้ ได้มีการเร่งรัดจัดระบบและระดมกำลังโดยเน้นคุณค่าด้านวัตถุ และความเจริญเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น แต่ลักษณะทั่วไปของการกระทำก็อย่างเดียวกัน เป็นการย้ำลักษณะของการสร้างสรรค์ความเจริญของประเทศชาติแบบเดิมนั้นให้หนักหน่วงหรือเด่นชัดยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ในเมื่อการพัฒนาในยุคที่เริ่มมีคำว่าพัฒนานี้ เป็นการสืบต่อสืบสายการกระทำที่มีมาแต่เดิมเมื่อ ๑ ศตวรรษก่อนแล้ว เราก็ควรจะหวนกลับไปพูดถึงการสร้างสรรค์ความเจริญของประเทศชาติในยุคสมัยใหม่ เริ่มตั้งแต่ ๑ ศตวรรษนั้นมาทีเดียว

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง