เป็นอันว่า ยุคของการสร้างความเจริญที่ผ่านมานี้ เราเรียกว่า ยุคพัฒนา ลักษณะของยุคพัฒนา หรือลักษณะของความเจริญในยุคพัฒนานั้น ก็คือ
๑. วิทยาการและระบบการจัดสรรความเจริญต่างๆ แต่ละอย่างขยายตัวพุ่งตรงออกไปๆ เต็มที่ของตนๆ อย่างที่เรียกว่าเป็นระบบแบ่งซอย ซึ่งแต่ละอย่างเจริญไปเต็มที่ของตัวเอง ให้ถึงที่สุด ให้ชำนาญเฉพาะอย่าง
๒. มุ่งเอาความรู้และแม้แต่เทคโนโลยีนั้น มาใช้พิชิตธรรมชาติ ลักษณะของการพัฒนาที่มุ่งจะเอาชนะธรรมชาตินั้นมีความหมายไม่ใช่เพียงแค่จะเอาชนะเท่านั้น แต่กลายเป็นเอาเปรียบธรรมชาติและเบียดเบียนธรรมชาติไปทีเดียว
ลักษณะของยุคพัฒนาที่เป็นอย่างนี้ ได้ก่อให้เกิดปัญหา คือ เมื่อวิทยาการและระบบการต่างๆ เจริญตรงออกไปข้างหน้า ชำนาญเฉพาะอย่างของตัวเองแล้ว
๑. ความรู้ของมนุษย์นั้นก็แตกกระจัดกระจาย ไม่โยงกัน ไม่ประสานสัมพันธ์กัน ก็แก้ปัญหาได้ไม่จริง ปัญหาเก่าที่พยายามจะแก้ ก็ยังแก้ไม่ตก
๒. ปัญหาใหม่ๆ แปลกๆ ก็เกิดขึ้นมาอีกมากมาย ซึ่งแทบทุกอย่างเกิดจากความไม่กลมกลืน และไม่เกื้อกูลกันในระบบชีวิต ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับสังคม แม้แต่ในระบบชีวิตของมนุษย์เอง ระหว่างกายกับใจ ก็ไม่กลมกลืน ไม่เกื้อกูล ไม่สมดุลกัน
ยกตัวอย่างเช่น ในตัวมนุษย์เองนี้ กายของเราไปทำงานในระบบงานที่ซ้ำซากของยุคอุตสาหกรรม ก็เกิดปัญหาที่ว่าจิตใจมีความเบื่อหน่ายแปลกแยก มีความรู้สึกอึดอัดโดดเดี่ยว ทั้งที่อยู่ในสังคมซึ่งมีผู้คนมากมาย เพื่อนร่วมงานก็เต็มไปหมด แต่เพราะเป็นระบบที่แข่งขันและแย่งชิงกัน แทนที่จะอุ่นใจ ก็กลายเป็นมีความเหงาและรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดายมากขึ้น คนอยู่ด้วยกันมากหลาย แต่ใจต่างก็โดดเดี่ยว อย่างที่เรียกว่า เดียวดายด้วยกัน ทางกายคับคั่ง แต่ทางใจว้าเหว่ หรือคับคั่งกายแต่ใจอ้างว้าง เป็นปัญหาทางจิตใจ แล้วจิตใจที่ไม่สบายนี้ ก็ส่งผลออกมาทางกายเป็นโรคที่ชัดที่สุดในสังคมพัฒนาอย่างที่ว่าคือ โรคหัวใจ เพราะจิตใจมีความเครียด กังวล มีความกระวนกระวายมาก มีความเบื่อหน่าย มีความโดดเดี่ยวมาก ก็ทำให้โรคหัวใจเจริญแพร่หลายมากขึ้น จนเขาเรียกว่าเป็นโรคของสังคมที่พัฒนา หรือเป็นโรคอารยธรรม ในเวลาเดียวกัน ในด้านความสัมพันธ์ หรือความเกื้อกูลกับธรรมชาติ มนุษย์ก็ไม่รู้จักประมาณ และได้ทำให้เกิดภาวะเสียสมดุลของธรรมชาติขึ้นมา ด้วยการใช้เทคโนโลยีผลิตสิ่งต่างๆ แล้วสร้างมลภาวะขึ้น พร้อมทั้งทำลายทรัพยากรของธรรมชาติให้ร่อยหรอไป นอกจากนั้น มนุษย์ยังปฏิบัติตัวในทางที่ผิดธรรมชาติ แม้แต่ในการบริโภคอย่างที่ยกตัวอย่างมาแล้ว เช่น กินอาหารที่ปรุงแต่งมาก มีสารเคมีเจือปน เมื่อไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ก็กลับมาเป็นโทษแก่มนุษย์ การที่มนุษย์ใช้สิ่งปรุงแต่งเหล่านี้ก็เพื่อสนองความต้องการในคุณค่าที่เรียกว่า คุณค่าเทียม ไม่บริโภคเพื่อคุณค่าแท้ ซึ่งก็เป็นอาการของความไม่สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติอีกอย่างหนึ่ง ปัญหาจึงเกิดมากขึ้น ส่วนในด้านความสัมพันธ์ทางสังคม ความเป็นอยู่ในยุคปัจจุบันก็มีลักษณะที่ไม่ประสานกลมกลืนกัน คือ ชีวิตในสังคมพัฒนาที่เป็นแบบอุตสาหกรรมนี้ นอกจากเร่งเร้าและรีบร้อนผิดธรรมชาติแล้ว ระบบความเป็นอยู่และการทำงาน ก็เป็นสังคมที่คนมุ่งแต่แข่งขันแย่งชิง เอาชนะซึ่งกันและกัน เอาเปรียบกัน ไม่คิดในทางเกื้อกูลซึ่งกันและกัน รวมความแล้ว ลักษณะของยุคพัฒนาก็มีอย่างที่กล่าวมาแล้วนี้ คือ
๑. การเจริญเติบโตแบ่งซอยเฉพาะอย่างดิ่งตรงแยกกันออกไป เกิดความลักลั่นกระจัดกระจาย
๒. การไม่ประสานกลมกลืน ไม่เชื่อมโยง ไม่เกื้อกูลต่อกันของทุกระบบ ตั้งแต่ในชีวิตของมนุษย์เองระหว่างกายกับใจ ทั้งชีวิตหรือมนุษย์กับธรรมชาติ ธรรมชาติกับสังคม และมนุษย์กับสังคม ลักษณะพิเศษของยุคพัฒนา คือความไม่ประสานกลมกลืนและไม่เกื้อกูลกัน สูญเสียสมดุล
สำหรับเมืองไทยนั้น นับว่ามีปัญหาซ้อนถึงสองชั้น คือ ไม่ได้มีปัญหาเฉพาะความไม่ประสานกลมกลืน อย่างที่ว่ามาข้างต้นโน้นเท่านั้น คือ ภายในสังคมของตัวเองโดยเฉพาะแท้ๆ ก็มีปัญหาการพัฒนาอย่างไม่ประสานกลมกลืนอยู่ขั้นหนึ่งแล้ว ซึ่งการที่จะแก้ปัญหาภายในสังคมของตัวเองนั้น ก็เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการที่จะเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อจะก้าวออกมาร่วมแก้ปัญหาในวงกว้างต่อไป เมื่อแก้ปัญหาความไม่ประสานกลมกลืนในสังคมของตนเองได้แล้ว ก็จะต้องก้าวมาแก้ไขภาวะที่ยังไม่ประสานกลมกลืนในระบบความดำรงอยู่ของมนุษย์ทั้งหมด ที่ประกอบด้วยมนุษย์ ธรรมชาติ และสังคมนี้ด้วย ในฐานะที่เป็นปัญหาร่วมกันของสังคมโลกทั้งหมด แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็จำเป็นจะต้องแก้ปัญหาข้อนี้ เพราะฉะนั้น ในตอนนี้ เราจึงมาถึงหัวข้อของปาฐกถาที่บอกว่า จะต้องไปให้พ้นจากยุคพัฒนา เพราะคำว่าพัฒนามีความหมายพิเศษ แสดงถึงลักษณะความเจริญอย่างที่ได้พูดมาแล้ว ฉะนั้น ความเจริญที่ไปพ้นจากยุคพัฒนา จึงมีความหมายว่า
๑. วิทยาการต่างๆ ที่เจริญแบบชำนาญพิเศษเฉพาะทางนั้น จะต้องมาประสานโยงกัน เพื่อช่วยแก้ปัญหาของมนุษย์ ให้ทั่วตลอดระบบและกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของมัน อย่างที่ใช้คำว่า แยกแล้วโยง
๒. นำเอาความรู้ในวิทยาการนั้นๆ มาใช้อย่างสอดคล้อง ให้ระบบความดำรงอยู่ของมนุษย์นั้นอิงอาศัยกันได้อย่างประสานกลมกลืนเกื้อกูลกัน ทั้งระหว่างกายกับใจของมนุษย์เอง ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์กับสังคม และธรรมชาติกับสังคม อย่างที่เรียกว่า เกิดความสมดุล
นี้คือลักษณะของความเจริญในยุคต่อไป ที่เรียกว่า พ้นจากยุคพัฒนา เมื่อพ้นจากยุคพัฒนาจะเป็นอะไร ก็เป็นยุคแห่งความประสานกลมกลืน เกื้อกูล และมีความสมดุลนั่นเอง เพราะเหตุที่ยุคพัฒนามีลักษณะพิเศษที่เป็นปัญหาอย่างที่ว่ามาแล้ว ถ้าเราไม่พ้นยุคพัฒนา ปัญหาก็ไม่หมด ก็จึงจำเป็นต้องไปพ้นจากยุคพัฒนา ขึ้นสู่ยุคแห่งความประสานเกื้อกูล ที่มีความสมดุล