อารยธรรมไทย: ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

โลกแห่งธรรมชาติ ก็คลาดจากดุล

ทางด้านธรรมชาติแวดล้อม ปัญหาที่เกิดขึ้น พูดได้ว่า เป็นปัญหาของยุคพัฒนาและเกิดจากการพัฒนาโดยตรง ปัญหาด้านนี้อาจจะถือได้ว่าเป็นปัญหายิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดในแง่ที่มีผลกระทบกว้างขวางขยายไปทั่วโลก คือ แม้จะเกิดขึ้นในที่หนึ่งที่เดียว แต่ผลแผ่กระจายไปถึงมนุษย์ทั่วทุกแห่ง ปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยตรง ข้อแรกก็คือ ปัญหาจากการเผาผลาญเชื้อเพลิง โดยเฉพาะ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซ ปัจจุบันนี้ ควันจากรถยนต์และโรงงานต่างๆ ที่ปล่อยออกไปเป็นประจำ ทำให้มีคาร์บอนเพิ่มขึ้นในบรรยากาศของโลกปีละ ๕,๔๐๐ ล้านตัน (การตัดไม้ทำลายป่าก็ทำให้คาร์บอนในบรรยากาศเพิ่มปีละประมาณ ๒,๖๐๐ ล้านตัน จึงรวมเป็นคาร์บอนที่เพิ่มขึ้นในบรรยากาศปีละ ๗,๐๐๐ ล้านตัน) ทำให้กำมะถันเพิ่มขึ้นปีละเกือบ ๑๐๐ ล้านตัน และปล่อยไนโตรเจนออกไซด์ขึ้นไปอีกปีละจำนวนมาก (คิดเฉลี่ยรายหัว คนอเมริกันและเยอรมันตะวันออกปล่อยคาร์บอนขึ้นไปในอากาศคนละเกือบ ๕ ตันต่อปี ส่วนคนในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ปล่อยคาร์บอนขึ้นไปคนละ ๑ ตันเศษ) สิ่งเหล่านี้เป็นมลภาวะที่ทำลายธรรมชาติแวดล้อมและทำให้เสียคุณภาพชีวิต

โดยเฉพาะ เรื่องที่ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายกำลังหวั่นวิตกกันมากก็คือ การที่ออกไซด์ของกำมะถันและไนโตรเจนไปผสมกับความชื้นในอากาศ เกิดเป็นกรดกำมะถันและกรดไนตริคขึ้น เมื่อมีฝนก็ตกลงมากับฝน เรียกกันว่า acid rain แปลง่ายๆ ว่า ฝนน้ำกรด เมื่อมีลมมาก็พัดพาไปได้ไกลๆ ตกลงที่ไหน ก็ก่อความเสียหายที่นั้น ทำลายทั้งธรรมชาติ คือ ต้นไม้ในป่า กุ้งปลาในทะเลสาป พืชพันธุ์ธัญญาหารที่มนุษย์เพาะปลูก และทำลายสิ่งก่อสร้างที่เป็นมรดกแห่งอารยธรรมของมนุษย์ คือ กัดกินปูนศิลาและโลหะให้ผุกร่อน พร้อมทั้งคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์ด้วย จากการสำรวจปรากฏว่า ใน พ.ศ. ๒๕๒๙ ป่าในทวีปยุโรปเสียหายไปประมาณ ๑๙๐ ล้านไร่ หรือ ๑ ใน ๕ ของป่าทั้งหมดในทวีปยุโรป โดยเฉพาะป่าในประเทศเยอรมันตะวันตกเสียหายไปแล้วเกินครึ่ง ที่ชายแดนเยอรมันกับเชคโกสโลวาเกีย ป่ากลายเป็นสุสานต้นไม้ขนาดมหึมา ป่าในสวิสเซอร์แลนด์และเนเธอร์แลนด์ก็เสียหายไปราวครึ่งหนึ่ง ในภาคใต้ของจีนมีการใช้ถ่านหินที่มีกำมะถันสูงกันอย่างมาก ทำให้มีฝนน้ำกรดหนักยิ่งกว่าในอเมริกาเหนือ และปรากฏว่าในแคว้นเสฉวน บริเวณที่เคยเป็นป่าสน บัดนี้ว่างเปล่าไปแล้ว ๙๐ เปอร์เซนต์ แต่ว่าโดยทั่วไปแล้ว ป่าในเขตร้อนลดน้อยลง เพราะการโค่นไม้ใช้ที่ดินทำการเกษตรบ้าง ทำทุ่งเลี้ยงสัตว์บ้าง ตัดไปขายบ้าง ตัดทำฟืนบ้าง แต่ในประเทศอุตสาหกรรมป่าลดป่าหดเพราะมลภาวะโดยเฉพาะฝนน้ำกรดนี้

ในสหรัฐภาคตะวันออกเฉียงเหนือและในคานาดาภาคตะวันออก นอกจากปัญหาป่าเสียหายมากแล้ว ทะเลสาปจำนวนมากก็ถูกฝนน้ำกรดทำให้ปลาและสัตว์น้ำอยู่ไม่ได้ ปรากฏว่าทะเลสาป ๒๐๐ แห่ง ในสหรัฐภาคตะวันออก และ ๑๔๐ แห่ง ในแคว้นออนตาริโอของคานาดา กลายเป็นทะเลสาปตายแล้ว คือ ไม่มีปลาเหลือ แม้ในยุโรปก็มีสภาพคล้ายกัน เช่น ในสวีเดน ทะเลสาป ๑๘๐๐ แห่งก็ไม่มีสัตว์น้ำเหลืออยู่ ปัญหานี้นอกจากกระทบกระเทือนธรรมชาติและชีวิตของมนุษย์แล้ว ก็กระทบกระเทือนแม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย ดังที่คานาดาร้องทุกข์หรือกล่าวหาว่า ปัญหาควันพิษที่เกิดขึ้นในคานาดานั้น เกิดมาจากรถยนต์และโรงงานในสหรัฐเสียตั้งครึ่งค่อน

นอกจากปัญหามลภาวะ โดยเฉพาะฝนน้ำกรดนี้แล้ว ปัญหาสำคัญอย่างยิ่งอีกเรื่องหนึ่ง ที่เกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิง ก็คือ คาร์บอนไดออกไซด์ในควันที่ปล่อยกันขึ้นไปนั้น ได้ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นทีละน้อยๆ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า เวลานี้ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นแล้ว ๐.๕° เซลเชียส และในช่วง ๑๐ ปีหน้าก็จะเพิ่มขึ้นอีก ๑° เซลเชียส ซึ่งจะทำให้โลกนี้มีความร้อนสูงยิ่งกว่ายุคสมัยใดตั้งแต่เริ่มประวัติศาสตร์ของมนุษย์ (ประมาณปี ๒๕๗๓-๒๕๙๓ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงขึ้น ๑.๕-๔.๕° เซลเชียส) ตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงในภูมิอากาศที่เห็นง่ายๆ เช่น ในกรุงวอชิงตัน เมืองหลวงของสหรัฐ ฤดูร้อนที่อุณหภูมิถึง ๓๒° ซึ่งเคยมีอยู่ ๓๖ วัน ก็จะเพิ่มเป็น ๘๗ วัน และที่อุณหภูมิถึง ๓๘° ซึ่งเคยมีอยู่ ๑ วัน ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น ๑๒ วัน เมื่อโลกร้อนขึ้น กระแสน้ำในมหาสมุทร ก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงไปด้วย บางถิ่นร้อนขึ้น แต่บางถิ่นจะหนาวลง บางถิ่นจะมีน้ำมากขึ้น บางถิ่นจะแห้งลง ทั้งลมและฝนก็จะเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะพายุจะรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะความแตกต่างของอุณหภูมิในต่างพื้นที่ ส่วนในผืนแผ่นดิน เมื่อความร้อนสูงขึ้น การระเหยของน้ำก็มากขึ้น ความชื้นในดินก็จะลดลง เมื่อระบบของดิน น้ำ ลม ไฟ เปลี่ยนไป ก็กระทบกระเทือนการเกษตรให้ต้องเปลี่ยนแปลง บางแห่งการปลูกพืชจะเสื่อมลง บางแห่งจะดีขึ้น ไร่นาที่เคยปลูกข้าว บางแห่งอาจเปลี่ยนเป็นทุ่งหญ้า ฯลฯ และความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ ความสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล เพราะเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น น้ำในทะเลก็ขยายตัว และพร้อมกันนั้นภูเขาน้ำแข็งที่ขั้วโลกก็จะละลายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น กว่าจะถึง พ.ศ. ๒๕๖๘ รัฐแมสสาจูเซทส์ ซึ่งเป็นรัฐชายทะเลมีขนาดค่อนข้างเล็กในสหรัฐ จะสูญเสียเนื้อที่เพราะถูกน้ำทะเลท่วมหมดไป ๑๘,๗๕๐-๒๕,๐๐๐ ไร่ นอกจากนี้ ขยะและสารเคมีต่างๆ ที่มนุษย์ทำขึ้นมา ยังทำให้สภาพแวดล้อมทั้งดิน น้ำ อากาศ เน่าเสีย เกิดปัญหาอีกมากมาย บางถิ่นแม้แต่มนุษย์เองก็อยู่ไม่ได้ ต้องอพยพทิ้งถิ่นไปเพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเสีย จนเริ่มเกิดมีผู้ลี้ภัยหรือคนอพยพชนิดใหม่ เรียกว่า “ผู้ลี้ภัยสภาพแวดล้อม” (environ-mental refugees) เช่นที่ Love Canal ในสหรัฐ และที่ Seveso ในอิตาลี

ว่าโดยสรุป ผลร้ายที่เกิดจากปัญหาการทำลายธรรมชาติแวดล้อมดังที่กล่าวมา คือ ป่าหด ทะเลทรายขยาย (ในประเทศมาลีเพียงประเทศเดียว ทะเลทรายสะฮาร่าขยายกว้างออกไป ๓๕๐ กิโลเมตร ในช่วงเวลา ๒๐ ปี) ทะเลสาปตาย ภูมิอากาศวิปริตและร้อนขึ้น ดินพัง ดินน้ำอากาศเลว เสื่อมคุณภาพ ไร่นาเสียหาย พืชและสัตว์ลดน้อยลง (ในปีหนึ่งๆ พืชและสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปมีจำนวนเป็นพันๆ ชนิด เพราะปรับตัวไม่ทัน ไม่ไหว และไม่มีที่จะอพยพหนี หลายชนิดสูญไปโดยที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อและยังไม่ได้จดเข้าในบัญชีเลย) เกิดภัยธรรมชาติมากขึ้น (เช่น เมื่อป่าถูกทำลาย ก็แห้งแล้ง ฝนไม่มา หรือเมื่อมาก็กลายเป็นน้ำบ่าไหลท่วม เกิดอุทกภัยไปเลย ลมแปรปรวน พายุร้ายยิ่งขึ้น) อาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ผุกร่อน และมนุษย์เองเสื่อมเสียสุขภาพ มีโรคปอด โรคมะเร็ง และโรคภูมิแพ้ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้น ก็จะต้องสิ้นเปลืองทรัพย์มากมายในการต่อสู้แก้ไขปัญหามลภาวะ

ปัญหาร้ายแรงอีกเรื่องหนึ่งที่ควรกล่าวไว้ด้วย ก็คือ การใช้ยาปราบศัตรูพืช โดยเฉพาะยาฆ่าแมลง สารเคมีที่ใช้ในการเกษตรนั้นเป็นผลผลิตของประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ผู้ได้รับผลร้ายโดยตรงก่อนส่วนใหญ่ คือประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาทั้งหลาย นับแต่ พ.ศ. ๒๔๘๘ ถึงปัจจุบัน มีการผลิตยาปราบศัตรูพืชออกมาขายกันแล้ว ๑๕,๐๐๐ ชนิด นับเป็นสูตรได้กว่า ๓๕,๐๐๐ สูตร (สารเคมีที่มีรายชื่ออยู่ในปัจจุบันทั้งหมด ๔๘,๕๐๐ อย่าง) เวลานี้ ตลาดยาปราบศัตรูพืชใหญ่มาก ประมาณว่า ปีหนึ่งๆ มีการผลิตยาปราบศัตรูพืชออกมาเป็นสารเคมีหนึ่งปอนด์ต่อคนหนึ่งคน คิดเป็นราคาซื้อขายประมาณ ๓๐ พันล้านเหรียญอเมริกัน (ประมาณ ๗ แสน ๕ หมื่นล้านบาท) เฉพาะปี ๒๕๒๘ สหรัฐประเทศเดียวผลิตออกมาเป็นปริมาณ ๑๐๒ ล้านตัน ประเทศที่พัฒนาน้อยทั้งหลาย เป็นผู้ใช้ยาฆ่าแมลงประมาณ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ของยาที่ผลิตขายกันทั้งหมดในโลก ตลาดใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งหากำไรของยาปราบศัตรูพืชก็คือ ประเทศที่กำลังพัฒนา ยาที่ห้ามขายหรือมีข้อจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดในยุโรปและอเมริกา ก็นำมาขายในประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีคาร์เตอร์ (พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๒๔) สารเคมีที่ส่งออกไปขายต่างประเทศ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เป็นส่วนที่มีประกาศห้ามขายหรือจำกัดการใช้หรือยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนในสหรัฐ ประมาณว่ายาฆ่าแมลงและสารเคมีจำพวกนี้ได้ฆ่าคนลงไปปีละ ๑๔,๐๐๐-๒๙,๐๐๐ คน และทำให้เจ็บป่วยไป ๒ ล้านคน การถูกพิษและการตายทั้งหมด ๗๕ เปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๗ มีแมลงที่พัฒนาตัวขึ้นมาจนสามารถสู้ฤทธิ์ยาฆ่าแมลงบางอย่างได้แล้วถึง ๔๔๗ ชนิด (บางท่านว่าถึง ๖๐๐ ชนิด) และมีแมลงอยู่ประมาณ ๑๗ ชนิดที่สู้ฤทธิ์ยาฆ่าแมลงได้ทุกอย่าง ต่อไปอีก ๒๐ ปีข้างหน้า สารเคมีทุกอย่างที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้จะใช้ไม่ได้ผลเลย ยาที่ใช้กันเวลานี้ก็ร้ายแรงมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะพาราทีออน (Parathion)นั้น มีพิษแรงกว่า ดีดีที ถึง ๖๐ เท่า ในระยะยาว ผู้ที่จะได้รับผลร้ายจากสารเคมีเหล่านี้ ก็คือมนุษย์ทั้งหลายนี้เอง ทั้งโดยตรงจากความประมาทของตนเอง และโดยอ้อมจากสารตกค้างที่อยู่ในดินในน้ำ มาในอากาศ และปนมาในพืชพันธุ์ปลาเนื้อที่เป็นอาหาร และมิใช่เฉพาะมนุษย์เท่านั้นที่จะได้รับโทษ แต่โลกแห่งชีวิตและระบบแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์ทั้งหมดจะเป็นอันตราย ผลจากการพัฒนาอย่างที่กล่าวมานี้ ถ้าไม่รีบแก้ไข ผู้เชี่ยวชาญในวิทยาการยุคปัจจุบันนี้ จำนวนมากพากันให้ความเห็นว่า จะถึงวิกฤติการณ์ในขั้นที่ว่า โลกนี้จะไม่อาจเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ได้อีกต่อไป1

ปัญหาต่างๆ เท่าที่กล่าวมา เริ่มแต่การตายของคนส่วนใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น คนอเมริกัน โดยเฉพาะการตายเพราะโรคหัวใจ ก็มาจากเรื่องของการขาดความสมดุลในระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ คือ พัฒนาไปๆ โดยไม่ได้คำนึงหรือแม้แต่ตระหนักถึงความสมดุลในระบบนั้น แทนที่จะพัฒนาโดยคอยสร้างความประสานเกื้อกูลให้เกิดความสมดุลในระบบ ก็พัฒนาไปในทางที่ทำให้เสียสมดุลมากขึ้นๆ และขาดความรู้จักประมาณ ที่เรียกว่า มัตตัญญุตา เช่น ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค เกิดความไม่พอดี ไม่เป็นมัชฌิมา ทำให้มีชีวิตที่ไม่สมดุลระหว่างกายกับใจ ตลอดจนมีความเป็นอยู่ที่ไม่ประสานเกื้อกูลกับธรรมชาติ จนกลายเป็นปัญหาใหม่ของยุคพัฒนาอุตสาหกรรม มนุษย์เริ่มรู้สึกว่าการพัฒนาที่ก้าวไปในแต่ละด้านๆ แต่ละสาขาอย่างเต็มที่เป็นเส้นตรงออกไป จะประสบอุปสรรค คือ พัฒนาไปจนเต็มที่แล้ว แต่ผลที่สุดชีวิตกลับมามีปัญหาขั้นพื้นฐาน เริ่มแต่ขั้นแรก มนุษย์นั้นอยู่กับกายและใจของตัวเองก่อน เมื่อกายกับใจไม่ประสานกลมกลืนกัน ไม่สมดุล ก็เกิดปัญหาขึ้นมา ขั้นที่สอง มนุษย์อยู่กับธรรมชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เมื่อมนุษย์อยู่กับธรรมชาติอย่างไม่ประสานกลมกลืน ไม่สมดุลกัน ก็เกิดปัญหาขึ้นอีก แม้แต่โรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆ แปลกๆ ปัญหาเกี่ยวกับมลพิษ สภาพแวดล้อมเสีย ก็เป็นปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาแทบทั้งสิ้น แม้ในทางสังคมก็มีปัญหาพัวพันไปด้วยกัน นี่ก็เป็นลักษณะของสังคมที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเราจะถือว่าพึงปรารถนาหรือไม่พึงปรารถนาก็ตาม แต่คนในสังคมที่พัฒนาแล้วนั้นเอง ส่วนใหญ่บอกว่าไม่พึงปรารถนา จึงมีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งว่า คนจำนวนมากในประเทศพัฒนาแล้ว เขามองสังคมของเขาเองที่พัฒนาแล้วนั้นว่า เป็นสังคมที่มีปัญหา ยังไม่พึงปรารถนา และกำลังหาทางออก ฉะนั้น การที่เราจะพัฒนาตามเขาต่อไปนี้ ก็น่าพิจารณาว่าจะเอาอย่างไรกัน นี้ก็เป็นเรื่องของการที่เรามาประสบปัญหาใหม่ ที่จะต้องนำมาคิด และการที่วิทยาการตลอดจนวิธีการต่างๆ ในการสร้างความเจริญตามแบบของยุคพัฒนาได้มาถึงจุดอุดตัน แก้ปัญหาของมนุษย์ไม่สำเร็จ เพราะเจริญอย่างกระจัดกระจายตรงออกไปในด้านของตนๆ อย่างเดียว

1ข้อมูลต่างๆ ในตอนนี้ รวบรวมและสรุปมาจากหลายแหล่ง นอกจาก Almanacs และ Encyclopaedias บางเล่มแล้ว แหล่งสำคัญ ได้แก่ Sociology 88/89 และ Social Problems 88/89 ของ The Dushkin Publishing Group; และ State of the World 1988 ของ Worldwatch Institute
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง