การเสริมสร้างคุณลักษณะเด็กไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สี่ข้อที่ต้องมี

ที่ว่าคุณสมบัติของเด็กไทยนั้น เด็กไทยก็เป็นมนุษย์นั่นแหละ ทีนี้ ความเป็นมนุษย์ก็มองได้ ๒ อย่าง คือ มองระยะยาว กับมองระยะสั้น ระยะยาวก็คือความเป็นมนุษย์ที่ยืนตัวอยู่ในฐานะที่ไม่ว่าจะอยู่ในยุคไหนๆ ก็เป็นมนุษย์ แล้วมนุษย์ที่ดี ที่มีคุณสมบัติซึ่งเรียกได้ว่ายืนตัวนั้นเป็นอย่างไร นี่แบบหนึ่ง ส่วนระยะสั้นก็คือ มนุษย์ที่อยู่ในกาลเทศะต่างๆ กัน ในยุคสมัย และในสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไป ซึ่งมีปัญหาเฉพาะของยุคสมัยไม่เหมือนกัน อย่างเด็กสมัยนี้ก็มีปัญหาพิเศษของเขาที่ต่างจากสมัยอื่น และเด็กไทยสมัยนี้ก็มีปัญหาพิเศษของเขาที่ต่างจากเด็กที่อื่นในสมัยนี้ด้วยกัน เขาจึงควรจะมีคุณสมบัติพิเศษที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในยุคสมัยนี้

ส่วนที่เราพูดถึงอนาคตนั้น ก็คงมุ่งในแง่ที่ว่า เมื่อเรามองดูความเจริญก้าวหน้าของโลก เฉพาะอย่างยิ่งในทางเทคโนโลยี เราจะเตรียมเด็กไว้ให้รับมือกับสภาพแวดล้อม และความเจริญของยุคสมัยได้อย่างไร จะให้เด็กมีคุณสมบัติพร้อมที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อม และมีชีวิตในสังคมแบบนั้นอย่างดีที่สุดได้อย่างไร

เป็นอันว่า แยกเป็น ๒ แบบ คือ คุณสมบัติยืนตัวของความเป็นมนุษย์ และคุณสมบัติเฉพาะยุคสมัย เป็นระยะสั้น กับระยะยาว ทีนี้ ก็จะพูดโดยเอาสองอย่างนี้มากลืนๆ กันไป แบบพูดสั้นๆ และจะพูดให้น้อยๆ เอาแค่ ๔ ข้อ คือ

๑. เข้าถึงธรรมชาติ นี้เป็นข้อสำคัญ ที่ว่าเข้าถึงธรรมชาตินั้น รวมไปถึงการรู้จักปฏิบัติต่อวัตถุสร้างสรรค์ของมนุษย์ ตลอดจนเทคโนโลยีด้วย ในแง่ที่โยงกับธรรมชาติ โดยไม่ให้เกิดความแปลกแยกไม่ขัดแย้ง แต่ให้สำนึกตระหนักถึงกัน ให้เกื้อกูลหนุนกัน

ข้อนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก มันไม่ใช่เป็นปัญหาของเด็กหรือของบุคคลเท่านั้นหรอก แต่เป็นปัญหาของทั้งโลก ของอารยธรรมทั้งหมดในขณะนี้เลย ว่าทำอย่างไรคนจะใช้วัตถุสร้างสรรค์ โดยเฉพาะเทคโนโลยี โดยไม่แปลกแยกกับธรรมชาติ แล้วยิ่งกว่านั้น ยังสวนทางกับสภาพขณะนี้อีกด้วย เพราะเวลานี้มนุษย์ได้แปลกแยกไปมากแล้ว ดังที่พยายามแก้ปัญหาการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนกันอยู่ ก็ไปไม่ถึงไหน การที่จะให้คนกลับมาหนุนเกื้อกูลกันกับธรรมชาตินั้น เป็นปัญหาที่หนักแสนยากยิ่ง จะต้องพัฒนาให้คนเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ และมีความสุขได้ในท่ามกลางธรรมชาติ

๒. ไม่ขาดไมตรี คืออยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี มีความพร้อมที่จะอยู่ร่วมอย่างสร้างสรรค์สังคม ข้อนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องของสังคมมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว ซึ่งโยงต่อออกไปประสานกับข้อ ๑ ด้วย รวมเป็นสิ่งแวดล้อม ๒ ชั้น ๒ ด้าน คือ สิ่งแวดล้อมด้านเพื่อนมนุษย์ และ สิ่งแวดล้อมด้านธรรมชาติ รวมถึงโลกแห่งวัตถุทั้งหมด

เวลานี้ มนุษย์เอาแต่ตัวมากขึ้น มุ่งหมายแต่จะสนองความอยากความต้องการของตัว ไม่ต้องพูดถึงการที่จะอยู่ร่วมกันด้วยดี ที่จะเกื้อกูลกัน และร่วมกันสร้างสรรค์สังคม แม้แต่จิตสำนึกทางสังคมก็แทบจะไม่มีเลย เวลานี้ ได้ยินบ่นกันนักว่า เด็กสมัยนี้ไม่มีจิตสำนึกทางสังคม คิดแต่จะหาความสุขส่วนตัว เมื่อเจริญเติบโตขึ้นไป ก็มุ่งแต่จะหาความสำเร็จส่วนตัว หาผลประโยชน์ให้แก่ตัว มัวเมากับความสุขจากการกินเสพบริโภค ได้แต่ขัดแย้งแย่งชิงกัน แล้วทั้งกินเสพ ก็ตามแย่งชิงกันก็ตาม ก็ไปทำลายล้างผลาญวัตถุ และลงท้ายก็คือก่อความวิบัติแก่ธรรมชาติ จะต้องเปลี่ยนแปลงให้มีการพัฒนาในทางที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และเกื้อกูล

๓. มีจิตตั้งมั่น คือมีจิตใจเข้มแข็ง มีพื้นฐานจิตใจที่มุ่งมั่นจะพัฒนาชีวิตของตนให้เจริญงอกงามขึ้นไปจนเต็มสุดศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ของตน อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าคนมีความมุ่งมั่นจะทำชีวิตของตัวให้ดีที่สุด ให้เต็มศักยภาพ ก็จะไม่ประมาท จะไม่หลงใหลเพลิดเพลินเตลิดไปกับสิ่งภายนอกที่มาล่อเร้าชักจูง แต่เวลานี้เด็กมักจะลืมไปเลย ไม่นึกถึงการพัฒนาชีวิตของตน นึกตื้นๆ อยู่แค่สิ่งเสพบริโภคเท่านั้น และนึกถึงความสุข ก็มองแค่ความสุขจากการเสพบริโภค

จะต้องตระหนักว่า ในการพัฒนาศักยภาพนั้น ศักยภาพหมายถึงการที่จะเจริญงอกงามขึ้นในทุกด้านที่ความเป็นมนุษย์จะมีให้ การพัฒนาศักยภาพนี้ จึงหมายถึงพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขด้วย คนที่มีจิตใจเข้มแข็ง มั่นในจุดหมาย จิตใจก็มีคุณสมบัติต่างๆ พร้อมมากขึ้น ก็จะเข้าถึงความสุขที่สูงขึ้นลึกซึ้งขึ้นด้วย

๔. ใช้ปัญญาพาชีวิตถึงจุดหมาย คือมีปัญญาที่สามารถแก้ปัญหาได้ และนำทางพาชีวิตไปให้ถึงจุดหมาย คุณสมบัติที่ว่ามาหมดทั้ง ๓ ข้อต้นนั้น จะสัมฤทธิ์ได้ก็ด้วยมีปัญญาเป็นหลักประกัน ถ้าไม่มีปัญญา ทุกอย่างก็เลือนราง เพราะฉะนั้น ข้อท้ายนี้ถือว่าครอบคลุม คือทำให้ทุกอย่างที่ว่ามานั้นบรรลุผลสำเร็จ

คิดว่า ๔ ข้อนี่แหละเป็นคุณสมบัติสำคัญ ตอนนี้ถ้าเราเอาคุณสมบัติ ๔ ข้อนี่มาตั้งเป็นจุดหมายในการพัฒนาคน เราก็จะมองเห็นปัญหาของสังคม โดยเฉพาะปัญหาของเด็กและเยาวชนที่มีมากมาย

ดูง่ายๆ ในข้อปัญญา เวลานี้ เราแทบไม่มีวัฒนธรรมทางปัญญา มีแต่วัฒนธรรมในการเสพบริโภค แม้แต่วัฒนธรรมเก่าที่มีสืบมา คือวัฒนธรรมทางจิตใจ เช่นที่บอกว่า คนไทยเป็นคนมีน้ำใจ ก็ค่อยๆ เลือนรางหายไป ส่วนวัฒนธรรมทางปัญญานั้น ในทรรศนะของอาตมาเห็นว่า คนไทยเราค่อนข้างอ่อนอยู่แล้ว หรือเราไม่ได้ใช้ประโยชน์จากคำสอนของพระพุทธศาสนาในด้านปัญญา เวลานี้ เราขาดวัฒนธรรมทางปัญญา เริ่มตั้งแต่ขาดความใฝ่แสวงปัญญา ไม่มีความใฝ่รู้ การค้นคว้าหาความรู้อะไรไม่ค่อยมี แล้ววัฒนธรรมทางปัญญาที่แดนตะวันตกต้นแหล่งอารยธรรมปัจจุบันเขามีอยู่ เราก็มัวเพลินรับแต่ของอื่น ไม่รับเอาวัฒนธรรมทางปัญญาของเขามา ก็เลยกลายเป็นว่า เรายิ่งเสื่อมทรุดลงไป คือมีความบกพร่องขาดแคลนมากขึ้น ทุนดีที่มีติดตัวมา ก็ไม่รักษาไว้ ทางที่ยังต้องก้าวต่อไป ก็ไม่เดินหน้า เลยเสียทั้งสองข้าง

เมื่อขาดวัฒนธรรมทางปัญญาแล้ว ข้ออื่นๆ ก็แทบจะไม่มีไปด้วย ดังจะเห็นได้อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่า เราประสบปัญหาในทุกข้อ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.