การเสริมสร้างคุณลักษณะเด็กไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ถ้าการศึกษาเข้าทางถูก ความสุขต้องพัฒนาทันที

พระพุทธเจ้าตรัสแบ่งความสุขเป็นประเภทต่างๆ มากมาย พระองค์ตรัสว่า ถ้าพระองค์ไม่บรรลุความสุขที่ประณีตขึ้นไป พระองค์ก็จะไม่สามารถยืนยันพระองค์ได้ว่าจะไม่หวนกลับมาหากามสุข แต่เพราะพระองค์เข้าถึงความสุขที่สูงประณีตเหนือขึ้นไป จนความสุขทางกามจากการเสพบริโภคหมดความหมายไป จึงทรงยืนยันพระองค์ได้ว่าจะไม่หวนกลับมาหากามสุข

การที่ตรัสไว้อย่างนั้น เป็นการบ่งบอกว่า ความสุขเป็นคุณสมบัติที่พัฒนาได้ และความสุขมีหลายอย่างหลายระดับ

คนพัฒนาความสุขได้ด้วยการพัฒนาความต้องการ พึงทราบว่า ความต้องการนั้นพัฒนาได้ แต่การพัฒนาความต้องการไม่ใช่หมายความว่าเพิ่มขยายปริมาณ หรือขยับเลื่อนขีดระดับของความต้องการอย่างเดิม แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความต้องการอย่างใหม่

ถ้าจับจุดปัญหาที่เรื่องความสุขนี้ได้ ก็จะมองเห็นว่า มนุษย์ปัจจุบัน ในยุคบริโภคนิยมนี้ ประสบปัญหาติดตันอยู่ตรงที่ติดจมอยู่ในความต้องการแบบเดียว และรู้จักความสุขแบบเดียวจากการสนองความต้องการแบบเดียวนั้น คือ ความต้องการเสพ ปัญหานี้ชี้ทางแก้อยู่ในตัว คือต้องให้เขาพัฒนาความต้องการใหม่ เพื่อจะให้สามารถมีความสุขอย่างอื่นที่เป็นทางเลือกและเป็นทางออก และนี่ก็คือการพัฒนาคนที่เรียกสั้นๆ ว่า การพัฒนาความสุข

ในกระบวนการของการศึกษา การพัฒนาด้านต่างๆ จะต้องเป็นการพัฒนาความสุขไปด้วยในตัว ซึ่งจะเป็นตัวพิสูจน์ด้วยว่าเด็กมีการพัฒนาที่ถูกต้องหรือไม่ เริ่มตั้งแต่แรกเรียนรู้ ถ้าเขาไม่มีความสุขในการหาความรู้ ถ้าเขาฝืนใจเรียน หาความรู้อย่างฝืนใจ ก็แสดงว่าการศึกษายังไม่เดินหน้า เด็กยังไม่มีการพัฒนาที่ถูกต้อง

ถ้าเด็กพัฒนาจริง เขาจะเรียนอย่างมีความสุข เขาจะหาความรู้อย่างมีความสุข และต่อไปเขาจะทำงานอย่างมีความสุข ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ เมื่อเขามี ความต้องการที่จะทำ ที่ท่านถือว่าเป็นคุณสมบัติอันสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนามนุษย์ เป็นตัวบ่งชี้การพัฒนาในการศึกษา และเราจะต้องช่วยให้เด็กพัฒนามันขึ้นมาให้ได้

ความต้องการที่จะทำนี้ มาเป็นทางเลือก ทางออก และเป็นตัวดุลความต้องการที่จะเสพ มันเกิดขึ้นมาเมื่อใด ก็เหมือนเปิดมิติใหม่ให้เห็นทางพัฒนาคุณสมบัติต่างๆ อีกมากมายขึ้นมา

ความต้องการเสพ เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ คือความปรารถนาที่จะเสพบริโภค มีชื่อเรียกว่า ตัณหา เป็นความต้องการที่สนองด้วยการเสพบริโภค คือเอาหรือได้รับสิ่งเสพนั้นๆ มาบำเรอผัสสะของตน เมื่อสนองแล้วก็เกิดความสุขที่เรียกว่า สุขจากเสพ เป็นความต้องการที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา เพราะมันไม่เรียกร้องการใช้และการพัฒนาปัญญา

ส่วนความต้องการที่จะทำ เรียกสั้นๆ ว่า ความต้องการทำ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ฉันทะ ถ้าจะแสดงความหมายให้ชัดขึ้น ก็บอกว่า คือความอยากหรือต้องการให้มันดี และอยากหรือต้องการทำให้มันดี ความต้องการแบบนี้ เรียกร้องการใช้และการพัฒนาปัญญา

เพื่อให้มองเห็นความหมายชัดขึ้น ขอให้ดูสภาวะของความต้องการแบบนี้ ที่มันมีที่มันเป็นไปตามธรรมชาติ

ตรงข้ามกับความต้องการเสพ ที่อยากเอาสิ่งนั้นๆ มาบำเรอผัสสะของตน ความต้องการแบบฉันทะนี้ อยากให้สิ่งนั้นๆ มันดีของมัน มันงามของมัน ให้มันอยู่ในภาวะที่สมบูรณ์ของมัน เช่น พอเห็นต้นไม้ใบดกดอกสวยงาม หรือสนามหญ้าเขียวขจี ก็มีความรู้สึกชื่นชม พร้อมทั้งอยากให้มันคงอยู่ในภาวะที่ดีงามสมบูรณ์อย่างนั้น

พอมีฉันทะ ที่พอใจในภาวะที่ดี หรืออยากให้มันดีนี้ ฉันทะนั้นก็เรียกร้องการทำงานของปัญญาทันที เริ่มด้วยปัญญาที่แยกแยะมองเห็นความแตกต่างว่า อันนี้สมบูรณ์ อันนี้บกพร่อง อันนี้งอกงามมากงอกงามน้อย เป็นต้น

ทีนี้ พอเห็นต้นไม้ต้นอื่นเหี่ยวแห้ง ไม่งาม ไม่สมบูรณ์อย่างนั้น ก็ตาม หรือเห็นต้นไม้ที่งอกงามสนามที่เขียวขจีนั้นแหละ เหี่ยวเฉาลงไปก็ตาม ความอยากให้มันดี ก็ก้าวต่อไปเอง ตอนนี้ก็เกิดเป็นความต้องการที่จะทำให้มันดี คือจะทำต้นไม้ที่ไม่งอกงาม แห้งเหี่ยว ไม่เขียวขจี ให้มันสดชื่น งดงาม อยากทำให้มันน่ารื่นรมย์ ให้มันเข้าอยู่ในภาวะที่สมบูรณ์ของมัน พอความต้องการที่จะทำให้มันดี ให้มันสมบูรณ์นี้เกิดขึ้นมา การที่จะสนองความต้องการนี้ ก็เรียกร้องปัญญาทันที

เมื่อความต้องการทำให้มันดีเกิดขึ้น ก็นำไปสู่การกระทำ คือพยายามเริ่มแต่หาทางที่จะทำให้ต้นไม้นั้นงอกงามสมบูรณ์ การที่จะทำได้ ก็ต้องมีความรู้ จึงเกิดความอยากรู้ คือต้องการหาความรู้ว่าทำอย่างไรจะให้ต้นไม้นั้นงอกงามสมบูรณ์

การกระทำทั้งหลายที่เป็นการสนองความต้องการทำให้มันดี จะทำให้มีความสุขตลอดทั้งหมด การหาความรู้ ซึ่งเป็นการสนองความอยากรู้ คือความต้องการรู้เพื่อจะทำให้มันดี ก็อยู่ในกระบวนการที่จะทำให้มันดีนั้น เพราะฉะนั้น การหาความรู้ จึงเป็นความสุข หรือทำให้มีความสุขในการหาความรู้ แล้วต่อจากนั้น เขาก็มีความสุขในการกระทำเพื่อให้มันดี ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปตามธรรมดาของธรรมชาติทั้งสิ้น

เด็กต้องมาถึงขั้นนี้ จึงจะพูดได้ว่า การศึกษาเกิดขึ้น ชีวิตมีการพัฒนา

ส่วนความอยากเสพ การสนองความต้องการเสพ และความสุขจากเสพนั้น ตรงกันข้าม อยู่แค่ความรู้สึกชอบใจ-ไม่ชอบใจ และเป็นผู้รับ ซึ่งทำให้อ่อนแอ ไม่เรียกร้องปัญญา (เว้นแต่ในกรณีเป็นเงื่อนไข) การศึกษาจึงไม่เกิดขึ้น และไม่มีการพัฒนา

ความอยากทำให้มันดี แล้วก็ลงมือทำนั้น นอกจากเรียกร้องปัญญาแล้ว ก็ได้ฝึกได้พัฒนาความเข้มแข็ง ความอดทน ความเพียรพยายาม ทักษะทางพฤติกรรมต่างๆ และคุณสมบัติอะไรต่ออะไรสารพัด จะเห็นว่า ถ้าเดินถูกทาง การศึกษาก็มาง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร

หันกลับไปดูเรื่องการเรียนให้สนุก ที่ว่าเป็นความสุขจัดตั้งนั้น ถ้าไม่แยกเรื่องความสุขจากเสพออกไปให้ดี บางทีเฉไปทำให้เด็กมุ่งหาความสนุกเป็นเป้าหมาย ก็ไปเร้าความสุขจากการเสพให้หนักขึ้นไปอีก แทนที่จะไปหนุนให้เด็กพัฒนาไปสู่การมีความต้องการที่จะทำ แล้วมีความสุขจากการสนองความต้องการที่จะทำนั้น และการกระทำกลายเป็นความสุข ก็กลายเป็นมีความสุขจากการไม่ต้องทำ ซึ่งเป็นความสุขแบบพึ่งพาไปเสีย การศึกษาก็ไม่มี ชีวิตของเด็กก็ไม่พัฒนา

เป็นอันว่า ถ้าเมื่อไร การกระทำเกิดจากความต้องการทำสิ่งทั้งหลายให้ดีงามสมบูรณ์ และการกระทำเป็นความสุข เมื่อนั้น เด็กพัฒนาแน่นอน ตรงนี้คือจุดตัดสำคัญของการศึกษา ที่เด็กเริ่มเข้าสู่การศึกษา

ตรงนี้เป็นจุดแยกของความต้องการ ๒ แบบ ด้านหนึ่ง ได้แก่ความต้องการเสพ คืออยากบำเรอผัสสะของตัว ซึ่งไม่เรียกร้องการใช้ปัญญา และมีท่าทีแบบรับเอา เรียกว่า ตัณหา เป็นความต้องการที่เป็นอกุศล และอีกด้านหนึ่ง ได้แก่ ความต้องการทำ คืออยากทำให้สิ่งนั้นๆ มันดีงาม มันสมบูรณ์ของมัน ซึ่งเรียกร้องปัญญา เรียกว่า ฉันทะ เป็นความต้องการที่เป็นกุศล

ขอสรุปเป็นเชิงวิชาการไว้หน่อย ท่านแยกไว้แล้วว่า ความอยากความปรารถนา หรือ ความต้องการ มี ๒ อย่าง คือ ความต้องการที่เป็นอกุศล (อกุศลฉันทะ เรียกสั้นๆ ว่า ตัณหา) และความต้องการที่เป็นกุศล (กุศลฉันทะ หรือธรรมฉันทะ เรียกสั้นๆ ว่า ฉันทะ)

ฉันทะ คือความต้องการ เป็นมูล เป็นรากเหง้าของธรรมทั้งปวง (ฉนฺทมูลกา สพฺเพ ธมฺมา แปลว่า ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล) ธรรมฝ่ายอกุศลก็มีฉันทะเป็นมูล แต่เป็น “อกุศลฉันทะ” คือความต้องการที่เป็นอกุศล ธรรมฝ่ายกุศลก็มีฉันทะเป็นมูล แต่เป็น “กุศลฉันทะ” คือความต้องการที่เป็นกุศล ความต้องการที่ใฝ่ดี

พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ไม่ได้ ถ้าไม่มีความต้องการดี คือกุศลฉันทะนี้ และเมื่อตรัสรู้แล้ว คือเป็นพระพุทธเจ้า ก็ทรงมีพระคุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ทรงมีฉันทะไม่ลดถอยเลย (นตฺถิ ฉนฺทสฺส หานิ) จึงทรงเที่ยวแสดงธรรม บำเพ็ญพุทธกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนไม่หยุดหย่อน

ความต้องการนี้ ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็คือความอยากนั่นเอง แต่ในที่นี้พูดเลี่ยงไป เพราะคนไทยเราเข้าใจเพี้ยนเสียแล้ว คือคนไทยเดี๋ยวนี้ แยกไม่ถูก พอพูดว่าความอยาก ก็นึกว่าเป็นตัณหาไปหมด

ความเข้าใจเพี้ยน คือเข้าใจคลาดเคลื่อน ที่เอาความอยากเป็นตัณหาไปหมดนี้ ถือได้ว่าเป็นจุดอ่อนสำคัญของสังคมไทย และเป็นความเพลี่ยงพล้ำใหญ่ของการศึกษาไทยด้วย

ทั้งๆ ที่ท่านแยกความอยากเป็น ๒ แบบ คือ ความอยากที่เป็นอกุศล กับความอยากที่เป็นกุศล แล้วบอกว่าให้ละความอยากฝ่ายอกุศล แต่ต้องเร้าความอยากฝ่ายกุศลขึ้นไป แล้วทำให้สำเร็จตามความอยากนั้น เรากลับไปบอกว่าไม่ให้มีความอยากเสียเลย การศึกษาก็แทบล้มครืน

ยิ่งมาวันนี้ ก็เพี้ยนหนักขึ้นไปอีก คือ พากันหันไปเร้าความอยากที่เป็นอกุศล ให้อยากเสพ ให้หาสุขจากเสพ มองข้ามความอยากให้มันดี และความอยากทำให้มันดี จนแทบไม่รู้จักกันแล้ว ถ้าอย่างนี้ การศึกษาก็ถึงคราวจะเน่าแน่ๆ

หลักธรรมบอกไว้ชัดว่า ตัณหากับฉันทะ ต้องละทั้งคู่ แต่ต่างกันตรงที่ว่า ตัณหาเกิดที่ไหน ละได้ที่นั่นเลย ไม่เสียหาย ละได้ละไป แต่ฉันทะ ต้องละด้วยการทำให้สำเร็จ

ท่านว่าอย่างนั้นนะ “ฉันทะ” เราก็ต้องละเหมือนกัน คือมันเกิดขึ้นแล้ว เช่นว่า เกิดความอยากจะทำให้ต้นไม้งอกงาม ก็ต้องละมันด้วยการทำให้สำเร็จ คือไปรดน้ำ พรวนดิน กำจัดวัชพืช เป็นต้น พอทำสำเร็จ ฉันทะก็ละไปเอง แต่ต้นไม้ก็งามไปแล้ว

ที่พูดมาในเรื่องความอยากความต้องการนี้ ก็เป็นการที่จะให้เข้าถึงธรรมชาตินั่นเอง แค่เห็นต้นไม้งาม เกิดฉันทะขึ้นมา พอใจ ชื่นใจ การเข้าถึงธรรมชาติก็ขึ้นมาแล้ว

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.