การเสริมสร้างคุณลักษณะเด็กไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เสมอภาค เพื่อเอาให้เท่า หรือเพื่อให้เข้ากันได้ดี

ความเสมอภาคก็เหมือนกัน กลายเป็นปัญหา อย่างเวลานี้ ระบบธุรกิจกำลังครอบงำสังคม พร้อมด้วยบริโภคนิยมที่เป็นพวกเดียวกัน เรื่องเศรษฐกิจนำหน้าอยู่แล้ว พอบริโภคนิยมครอบงำสังคม ธุรกิจก็ยิ่งเป็นใหญ่ ทีนี้การตีความความหมายของ concepts ต่างๆ ก็จะเน้นไปในทางเศรษฐกิจ มองด้วยสายตาแบบธุรกิจมาก

จะเห็นว่า คนมองความหมายของความเสมอภาคโดยเพ่งไปในแง่เศรษฐกิจ และเป็นเชิงเกี่ยงหรือแก่งแย่งกัน เช่น คอยเพ่งกันว่าคนนั้นจะได้เท่าไร ฉันจะได้เท่าไร หรือฉันได้น้อยกว่า เขาได้มากกว่า ความเสมอภาคเป็น negative ไปหมด เป็นความเสมอภาคเชิงลบ

ในทางพระพุทธศาสนา ท่านเน้นเรื่องความเสมอภาคมาก ในการปฏิบัติธรรมก็ต้องมี “สมตา” คือความเสมอกัน เช่น ความเสมอทางอินทรีย์ เป็นต้น เพราะความสมกันเสมอกันเข้ากันได้ขององค์ประกอบต่างๆ จะทำให้องค์รวมดำเนินไปได้ แต่ถ้าองค์ประกอบไม่สมกัน เข้ากันไม่ได้ ก็เสียระบบ แล้วทั้งหมดก็ไปไม่ได้ ความเสมอภาคก็เป็นเรื่องสำคัญในระบบธรรมของพระพุทธศาสนา

ทีนี้ ในเรื่องของคน สังคมจะอยู่ดี คนต้องมีความเสมอภาค แต่ความเสมอภาคในพุทธศาสนานั้น ท่านมองเชิงบวก ความเสมอภาคที่เน้นมากที่สุด คือ มีสุขทุกข์เสมอกัน แปลเป็นภาษาไทยว่า ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ซึ่งเป็นการเข้ามาร่วมกัน ไม่ใช่แบ่งแยก

ศัพท์สำหรับความเสมอภาคของคนนั้น ท่านใช้คำว่า “สมานัตตตา” แปลว่า ความมีตนเสมอกัน หรือมีตนสมานกัน (คำบาลี “สมาน” แปลว่าเสมอ คือ เท่ากัน สมกัน เหมาะกัน เข้ากันได้) ซึ่งท่านอธิบายว่า “สมาน-สุข-ทุกข-ตา” แปลว่า ความมีสุขและทุกข์เสมอกัน เอาใจความว่า “ร่วมสุขร่วมทุกข์”

ส่วนความเสมอภาคสมัยนี้ ที่ว่าเป็นยุคประชาธิปไตย แต่ไม่ใส่ใจที่ความเป็นคน กลับไปเน้นในเชิงเศรษฐกิจ (เข้าหลัก free-market democracy คือประชาธิปไตยแบบตลาดเสรี หรือทุนนิยมประชาธิปไตย) คนมักคอยจ้องดูว่า คุณได้เท่าไร ฉันได้เท่าไหม ถ้าฉันได้ ๕๐๐ คุณก็ได้ ๕๐๐ เท่ากัน ก็เสมอภาค แต่ถ้าไม่อย่างนี้ ก็ไม่เสมอภาค เมื่อคอยจ้องดูความเสมอภาคแบบนี้ ก็แบ่งแยกแน่ แยกตั้งแต่ในใจที่ตั้งท่าจะระแวงแก่งแย่งเกี่ยงกัน คอยชิงไหวชิงพริบกัน ในที่สุดก็เลยตีกัน อย่างนี้ก็ร่วมสุขร่วมทุกข์กันไม่ได้ ไปคนละทางกับความเสมอภาคที่มุ่งสมานคนแบบพุทธ

ขอให้ลองเอาคำในพระพุทธศาสนามาตั้งเทียบไว้เป็นจุดสังเกต เราอาจจะได้แง่คิดที่เสริมปัญญา อย่างในเรื่องความเสมอภาคนี้ ที่บอกไปแล้วว่า ความเสมอภาค ท่านใช้คำว่า “สมานัตตตา” (ความมีตนเสมอกัน) ซึ่งอาจจะพูดแบบไทยว่า “สมานตัว” แล้วมีคำอธิบายว่า “สมานสุขทุกขตา” (ความมีสุขและทุกข์เสมอกัน) ซึ่งอาจจะพูดแบบไทยว่า “สมานสุขทุกข์”

คำว่า “เสมอ” แปลจากคำพระว่า “สมาน” แล้วทีนี้คำไทยว่า “สมาน” ซึ่งอาจจะมาจากคำบาลีนั่นแหละ ก็มามีความหมายว่า ประสาน ร่วมกัน เชื่อม ทำให้เข้ากัน

รวมความว่า เสมอแบบพุทธนี้ เป็นความเท่ากัน ที่ทำให้เข้ากันได้ ที่ว่ามีตนเสมอ ท่านยกตัวอย่างว่า ไปนั่งในที่เดียวกันหรือเคียงกัน กินอาหารด้วยกัน เป็นต้น ก็จึงเป็นความเสมอแบบสมาน ที่ประสานเข้าด้วยกัน ไปๆ มาๆ ความหมายเลยกลายเป็นว่า ร่วมกัน อย่างที่ว่ามีสุขมีทุกข์เสมอกัน ก็คือ ร่วมทุกข์ร่วมสุข นี่คือความหมายหลัก

จากนั้นเราก็ขยายความอีกว่า มีตนเสมอกัน คือ ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน แล้วก็ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน และไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หรือไม่เลือกรักผลักชัง คือมีความเป็นธรรมต่อทุกคน ทั้งหมดนี้เป็นความเสมอแบบร่วมกันทั้งนั้น เป็นเสมอแบบประสานทั้งหมด แต่เสมอในปัจจุบันนี้ มาเพ่งกันจ้องกันแต่ในแง่เศรษฐกิจเป็นเชิงธุรกิจ เพราะฉะนั้นมันก็ยากที่จะทำให้คนประสานรวมกันได้ และสังคมก็ยากที่จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความสามัคคีก็ไม่เกิด

เอาละ ว่าเท่านี้ก่อน เป็นการมาชวนให้ชำระสะสางกันในทางความคิด

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.