การเสริมสร้างคุณลักษณะเด็กไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

๑. กระบวนการของความคิด

ความคิดเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาปัญญา การคิดแยบคายทำให้เกิดปัญญา แต่ในกระบวนการที่จะให้เกิดความคิดนั้น ที่ผ่านมาเรามักพูดกันว่าเด็กมีปัญหา เอาแต่ท่องจำ ไม่รู้จักคิด แล้วก็เลยจะให้เด็กคิดโดยไม่ต้องจำ เรื่องนี้ต้องระวัง มันอาจจะกลายเป็นวิธีการแบบแยกส่วน และอาจจะกลายเป็นสุดโต่ง ซึ่งไม่ใช่เป็นธรรมชาติที่แท้จริง

ความจำ และความรู้ความเข้าใจ เป็นองค์ประกอบร่วมของความคิด แทนที่จะแยกมันขาดออกไปจากกัน เราควรมาดูว่า ในการพัฒนาปัญญานั้น มีองค์ประกอบอะไรบ้าง และองค์ประกอบเหล่านั้นมีความสัมพันธ์ เกื้อหนุน อาศัยกันอย่างไร

ถ้าจำอย่างเดียว ก็จะเหมือนกับนกแก้วนกขุนทอง หรือถ้าเอาแต่คิดอย่างเดียว ก็จะกลายเป็นความเพ้อฝัน หรือเป็นความคิดที่เลื่อนลอย ซึ่งเป็นกันมาก คือคิดเรื่อยเปื่อยโดยไม่มีข้อมูล หรือคิดโดยไม่ตั้งอยู่บนฐานของความรู้

เริ่มด้วยความจำ การจำก็คือการเก็บรักษาข้อมูล และความจำก็คือข้อมูลที่เรามีพร้อมอยู่กับตัว ในการจำนั้น ก็ต้องรู้จักจำ หรือจำให้เป็น โดยรู้จักเลือกสรรข้อมูลที่จะจำ หรือเลือกสรรความรู้ที่จะบันทึกเข้าไปไว้ในความจำ และจัดระบบข้อมูลความจำคือความรู้ที่เก็บไว้นั้น

การคิดต้องอาศัยข้อมูลความรู้ในปัจจุบันบ้าง ในอดีตบ้าง ใครมีความจำดี ก็มีข้อมูลพร้อมที่จะเอามาโยงกัน ทำให้เกิดการเชื่อมโยงการประสาน การปรุง การสร้างความรู้ใหม่ ความจำกับความคิดสัมพันธ์กัน เพราะฉะนั้น ข้อมูลที่เป็นความจำ จึงมีความจำเป็นมากเพราะต้องใช้ในการสร้างความคิดใหม่ ถ้ารู้จักจำก็จะเป็นประโยชน์มาก

การจำคู่กับการจด ที่เหลือจากจำก็จด หรือจดเพื่อช่วยความจำเราควรแบ่งได้ว่าข้อไหนควรจำ ข้อไหนควรจด แต่ถึงแม้จะจดไว้แล้วก็อาจจะลืมได้ และส่วนที่จดไว้ เราก็ไว้ใจไม่ได้ทีเดียว บางคนนึกว่าไม่ต้องจำก็ได้ เราจดไว้แล้ว หรือบันทึกใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์แล้ว แต่บางทีลืมไปเลย ไม่ได้นึกถึง หรือไม่รู้ว่าตนมีข้อมูลนั้นๆ ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นบางทีข้อมูลที่เก็บไว้ข้างนอกก็ไม่เกิดประโยชน์ และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ คนที่มีข้อมูลต่างอย่างต่างเรื่องหลากหลายพร้อมอยู่ในความจำ ถ้ารู้จักคิดเชื่อมโยง พอมีสถานการณ์เกี่ยวข้อง หรือเจอประสบการณ์ใหม่ก็โยงเรื่องคิดแตกฉานออกไปได้อย่างดี ในกรณีอย่างนี้ ข้อมูลที่จดไว้ไม่อาจสนองความต้องการพร้อมทันทีอย่างนั้น แต่ความคิดเชื่อมโยงนั่นแหละจะเรียกร้องข้อมูลที่จดหรือที่จะค้นเพิ่มต่อไป

เป็นอันว่า ความจำที่ดี เป็นประโยชน์ในการคิด และช่วยให้เราคิดบนฐานของข้อมูล คือคิดไม่เลื่อนลอย คนที่จำได้ดี ก็ได้เปรียบในการคิด ข้อสำคัญยิ่ง ควรกำหนดว่า ข้อมูลอะไรมีประโยชน์หรือจำเป็นสำหรับการคิด ควรต้องจำ

ข้อมูลบางอย่างในความจำนั่นแหละเป็นฐานกระตุ้นขึ้นมา หรือเจอข้อมูลอื่นจากประสบการณ์ใหม่เข้ามากระทบ กระบวนการคิดก็เริ่มขึ้น โดยอาจจะสนองความต้องการรู้หรือความใฝ่รู้ เพื่อให้รู้เข้าใจเข้าถึงความจริง หรืออาจจะสนองความต้องการทำ หรือความใฝ่สร้างสรรค์ เป็นการคิดที่จะทำ คิดที่จะแก้ปัญหา คิดที่จะสร้างสรรค์ คิดจะใช้ประโยชน์ และคิดที่จะนำไปปฏิบัติให้สำเร็จ

ถึงตอนนี้ การคิดก็ครบกระบวนการ เป็นการคิดที่นำไปสู่การรู้เข้าใจความจริง และการรู้จักจัดทำให้สำเร็จหรือใช้ประโยชน์ วงกลมนี้หมุนไป เดินหน้าไป ก็เกิดการพัฒนาของปัญญา

เข้าไปดูภายในวงจรของการพัฒนาปัญญานี้ ซึ่งเหมือนเป็นวงกลม ที่มี ๓ ช่วงหรือ ๓ ส่วน ก็มีความจำ ที่เป็นข้อมูลให้แก่การคิด จากการคิดก็ได้ความรู้ความเข้าใจ แล้วความรู้ความเข้าใจนั้นก็เป็นข้อมูลใหม่ที่จะเอามาคัดจัดสรร ว่าอันไหนควรจำหรือไม่ควรจำ ส่วนไหนจำ ส่วนไหนจด และวางระบบเก็บไว้เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่การคิด ที่จะนำไปสู่การรู้เข้าใจ และความรู้จักเอาไปใช้ทำประโยชน์ต่อไป แล้วก็ได้ความรู้ความเข้าใจและความหยั่งรู้หยั่งเห็นใหม่นั้นมาเป็นข้อมูลให้แก่การจำต่อไป นี้คือวงกลมหรือกงล้อแห่งการพัฒนาปัญญาด้านภายในที่หมุนไป คือ คนก็พัฒนาไป

พร้อมกันนั้นก็เกิดมีประโยชน์ที่เป็นผลได้ออกไปข้างนอก คือภายนอกวงล้อแห่งความคิดหรือวงล้อแห่งกระบวนการพัฒนาปัญญานี้ ก็มีผลผลิตของการคิด-รู้-เข้าใจนั่นเอง ปรากฏออกมา ซึ่งเป็นเรื่องของการรู้จักแก้ปัญหา สร้างสรรค์ จัดการดำเนินการ และทำประโยชน์ต่างๆ ที่เราเรียกว่าเป็นการพัฒนาโลกพัฒนาสังคม

รวมความว่า มนุษย์สร้างทุกอย่างขึ้นด้วยความคิด ความคิดเป็นตัวการสร้างโลก แยกได้เป็น ๒ ด้าน คือ ด้านชีวิตภายในตัวเรานี้วงล้อแห่งการพัฒนาปัญญาก็หมุนเจริญก้าวหน้าไป และข้างนอกก็ส่งผลิตผลของปัญญาออกมา นำให้โลกเจริญก้าวหน้า มีอารยธรรม

องค์ประกอบและความสัมพันธ์ขององค์ประกอบทั้งหลายในกระบวนการคิดที่เป็นการพัฒนาปัญญานี้ จะต้องแยกแยะให้ชัด ถ้าแยกได้ชัดและปฏิบัติให้ถูกต้องตรงตามกระบวนการแล้ว ก็จะมีการคิดที่มีความหมาย และก่อประโยชน์ ไม่ใช่เป็นการคิดที่เฉิดฉาย แต่ไม่มีจุดหมาย กลายเป็นการคิดที่ฟุ้งซ่านและเลื่อนลอย

เวลานี้ต้องระวัง เพราะชอบเน้นกันบ่อยเหลือเกินว่า ให้เด็กแสดงความคิดเห็น ถ้ามองกันแคบๆ อย่างนี้ ระวังเถิด เด็กไทยจะแสดงความคิดเห็นกันง่ายๆ กล้าแสดงออกไว แต่อาจจะไม่ได้สาระ

สมัยก่อนโน้น เด็กไทยไม่กล้าแสดงออก ไม่เฉพาะเรื่องความคิดเห็น แต่ไม่ว่าในเรื่องอะไรทั้งนั้น เช่นเรื่องทางเพศ แต่เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร ทำท่าจะไปไกลกว่าฝรั่งด้วยซ้ำ

เด็กไทยนี่ไวนักในเรื่องการปรับตัว ไม่ใช่เฉพาะเด็กไทยหรอกคนไทยทั่วไปนี่แหละ แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว เก่งนักในเรื่องการรับอะไรใหม่ๆ และเป็นนักปรับตัว วัฒนธรรมอะไรน่าตื่นเต้นจากข้างนอกคนไทยรับได้ฉับไว อะไรที่แต่ก่อนไม่เคยเห็นไม่เคยเป็น เดี๋ยวเดียวคนไทยล้ำหน้าไปแล้ว ฝรั่งไม่ทัน เรื่องการแสดงความคิดเห็นก็เหมือนกัน ต่อไปก็จะชอบจะกล้าแสดงความคิดเห็นล้ำหน้าฝรั่ง แต่ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าจะเป็นความคิดเห็นที่มีสาระหรือเปล่า

ถ้าไม่รู้จักปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนการของการคิด การชอบหรือกล้าแสดงความคิดเห็น อาจเกิดผลเสียมากกว่าผลได้ คือจะออกมาในลักษณะที่ว่า ชอบให้ความเห็น แต่ไม่หาความรู้ และมีแต่ความคิดเห็นที่ไม่ตั้งอยู่บนฐานของความรู้

ถ้าขาดข้อมูล ไม่มีความรู้เป็นฐาน และขาดความจริงใจที่ต้องการความจริง ความรู้สึกก็จะเข้ามานำกระบวนการคิด แล้วก็คิดไปตามความรู้สึก ที่ชอบใจ และไม่ชอบใจ เป็นต้น เลยกลายเป็นทาสของอารมณ์ หรือเป็นความคิดที่รับใช้ตัณหา มานะ ทิฏฐิ

เพราะฉะนั้น จึงต้องระวังในเรื่องกระบวนการคิดนี้ อย่าให้เป็นกิจกรรมแยกส่วน แล้วก็กลายเป็นสุดโต่ง ที่จบลงโดยเป็นเพียงความคิดที่ดูมีสีสัน แต่เพ้อฝัน เพิ่มปัญหา หรือไม่ก็เลื่อนลอย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.