ที่จริง จริยธรรม ก็คือระบบการดำเนินชีวิตของเราเอง ที่ว่าเราจะพัฒนาให้ชีวิตดีงามขึ้น เราจะมีศีลธรรมที่จะอยู่กับผู้อื่นได้ดี ถ้าเป็นจริยธรรมแท้ ที่เราประพฤติดี ดำเนินชีวิตดีงาม โดยทำด้วยความเข้าใจ มองเห็นเหตุผล และมีจิตใจปรารถนาพอใจพร้อมที่จะทำอย่างนั้น เราก็ย่อมมีความสุขในการประพฤติจริยธรรมนั้น ที่จะอยู่กับผู้อื่นได้ดี ตลอดจนจะไปช่วยเหลือเขาด้วย จริยธรรมอย่างนี้จึงมาด้วยกันกับความสุข จริยธรรมที่แท้จะแยกจากความสุขไม่ได้
แต่ตอนนี้ กลายเป็นว่า เราไปคิดและปรุงแต่งสภาพจิตตามแบบจริยธรรมตะวันตก เหมือนอย่างจริยธรรมตะวันตกในเรื่องเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่พูดมาแล้ว จริยธรรมก็เลยเป็นเรื่องฝืนใจ เป็นเรื่องของการที่จะต้องยับยั้งชั่งใจ ไม่ยอมตามใจตนเอง เช่นว่า ถ้าเราสุขเต็มที่ ธรรมชาติก็อยู่ไม่ได้ เราจึงต้องยอมกินไม่เต็มที่ ไม่เสพบริโภคมากเกินไปจนกระทั่งจะทำให้ธรรมชาติอยู่ไม่ได้ เพื่อยอมให้มันอยู่ได้บ้าง เราก็จึงต้องละ งด ลด ความสุขไปเสียบ้าง เราก็เลยสุขไม่เต็มที่ ก็วนอยู่แค่นี้ นี่คือจริยธรรมของอารยธรรมตะวันตกในปัจจุบัน แล้วก็เลยแก้ปัญหาธรรมชาติแวดล้อมไม่ได้
เพราะอย่างนี้แหละ ทั้งที่มองเห็นความร้ายแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมมานานนัก จนกระทั่งมีการประชุมระดับโลกครั้งแรกในเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 1972 แล้วถึงปี 1992 อีก ๒๐ ปี ก็เกิด Earth Summit เป็นการประชุมสุดยอดเกี่ยวกับเรื่องโลกนี้ หาทางแก้ไขปัญหากันอย่างยิ่ง แต่จนถึงบัดนี้ ปรากฏว่าธรรมชาติแวดล้อมมีแต่ยิ่งเสื่อมโทรมลง แก้ไม่ได้
ทำไมจึงแก้ไม่ได้ ก็เพราะจิตใจของมนุษย์ไม่สอดคล้องกับกระบวนการแก้ปัญหา สภาพจิตใจไม่เอื้อต่อการที่จะให้ธรรมชาติอยู่ การทำตามจริยธรรมก็จึงเป็นการฝืนใจ เมื่อฝืนใจมันก็ไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้น ธรรมชาติก็จึงทรุดลงไปๆ
แล้วทีนี้เราจะทำอย่างไร เราก็มาถึงการศึกษาที่ต้องให้เด็กหรือให้มนุษย์มีแนวคิดที่สร้างทัศนคติต่อโลกและชีวิตอีกแบบหนึ่ง คือมองโลกและชีวิตในสายตาใหม่ และเข้าใจความสุขในแนวใหม่ที่มีการพัฒนาได้มากมาย แล้วจริยธรรมก็จะพัฒนาคู่เคียงไปกับความสุข และทุกอย่างก็จะเข้าสู่แนวทางแห่งความประสานกลมกลืนที่จะอยู่กันได้อย่างดี
ทีนี้มามองดูว่าตามหลักการที่แท้ ท่านมองเรื่องของธรรมชาติ เรื่องของโลก เรื่องของจักรวาล หรือเรื่องของสรรพสิ่งอย่างไร บอกแล้วว่า ตะวันตกมองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ เป็นคนละฝ่าย และมนุษย์จะต้องพิชิต ต้องเอาชนะมัน แล้วก็จัดการกับธรรมชาติตามความประสงค์ของตน
แต่พุทธศาสนาไม่ได้มองแยกออกไปจากกันว่าโลกว่าเราหรือว่าอะไร แต่มองรวมทั้งหมดก่อนว่า สิ่งทั้งหลาย หรือสภาวธรรมทั้งหลายประดามี ซึ่งไม่ว่าโลกว่าจักรวาลว่ามนุษย์หรือว่าเราหรืออะไรๆ ก็รวมอยู่ในระบบสภาวธรรมนี้ เป็นสภาวธรรม เป็นธรรมชาติทั้งหมด
ทีนี้ สภาวธรรมทั้งหมดทั้งปวงนี้ เป็นระบบแห่งความสัมพันธ์ ที่อิงอาศัยเป็นเหตุปัจจัยแก่กัน เมื่ออันหนึ่งเป็นอย่างไร ก็ส่งผลต่ออันอื่น ถ้าเรามองแยกเป็นธรรมชาติส่วนอื่น กับธรรมชาติส่วนที่เรียกว่ามนุษย์ ถึงเราจะแยกเอามนุษย์ออกมามองต่างหาก มนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในระบบใหญ่นั่นแหละ คือเป็นองค์ประกอบและเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่เป็นทั้งฝ่ายส่งผลและฝ่ายรับผลอยู่ในระบบรวมทั้งหมดนั้น
เมื่อมนุษย์เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งอยู่ในระบบความสัมพันธ์อันหนึ่งอันเดียวกันนี้ มนุษย์ก็เป็นส่วนร่วมอยู่แล้ว แต่ทีนี้ก็มามองตัวเองว่าเราจะเอาอย่างไรกับมนุษย์ และมนุษย์จะมีบทบาทอย่างไรในระบบนี้
ก็หันมาดูสภาพของระบบสัมพันธ์ทั้งหมดนั้น ตอนนี้ ท่านบอกว่า ระบบสัมพันธ์ทั้งหมดนั้น ที่เรียกง่ายๆ ว่า “โลก” นี้ มันยังมีสภาพที่ไม่น่าพอใจ ถ้ามองในแง่มนุษย์ก็คือ มันยังมีการเบียดเบียนกันมากท่านใช้คำนี้ว่า โลกยังมีการเบียดเบียนมาก ถ้าอย่างนั้นก็ต้องหาทางแก้ไข เพื่อให้โลกมีการเบียดเบียนกันน้อยลง หรือหมดการเบียดเบียน พอมองถึงตรงนี้ ก็เห็นช่องทางว่าจะให้มนุษย์มีบทบาทอย่างไร
ก่อนจะให้บทบาทแก่มนุษย์ ก็มาดูที่ตัวมนุษย์ก่อน ดูให้เข้าใจว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นอย่างไร จะไปทำอะไรได้แค่ไหน ก็ปรากฏว่า ในฐานะที่เป็นองค์ประกอบ เป็นส่วนร่วมและเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในระบบความสัมพันธ์ที่เรียกว่าโลกนี้ มนุษย์เป็นองค์ประกอบ เป็นปัจจัย เป็นธรรมชาติส่วนที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือพัฒนาได้ ที่เรียกว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ไม่เหมือนองค์ประกอบอื่น มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้พัฒนาได้ ทำให้มีคุณความดีต่างๆ ได้ มีกุศลงอกงามขึ้นได้ เฉพาะอย่างยิ่งทำให้มีปัญญาได้ จนถึงขนาดที่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติทั้งระบบนั้นได้
ถึงตอนนี้ก็ได้ความละ เมื่อมนุษย์มีความพิเศษอย่างนี้ ถ้าเราพัฒนามนุษย์ให้เป็นองค์ประกอบที่ดีมากๆ ให้เขาเจริญงอกงามมีคุณสมบัติที่เป็นกุศลมากขึ้น มีปัญญามากขึ้นๆ จนถึงกันกับสภาวะของธรรมชาติ ปัจจัยมนุษย์ตัวนี้ก็จะมาเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนซึ่งจะช่วยจัดปรับให้ระบบสัมพันธ์ทั้งหมดนี้ลดการเบียดเบียนลงไปและมีภาวะเกื้อกูลกันมากขึ้น ก็จะได้ผลที่หมายดังประสงค์
เพราะฉะนั้น เราก็จึงพัฒนามนุษย์ในฐานะองค์ประกอบซึ่งมีศักยภาพที่จะเอื้อต่อระบบ ให้เขามีคุณสมบัติที่ดีต่างๆ จนถึงมีปัญญาที่เยี่ยมยอดอย่างที่ว่าแล้ว เพื่อให้เขามาเป็นปัจจัยที่เอื้อเกื้อหนุน ช่วยให้ระบบความสัมพันธ์ในโลกหรือทั้งโลกนี้ ให้เป็นไปในทางที่มีการเบียดเบียนกันน้อยลง เกื้อกูลกันมากขึ้น อยู่กันดีขึ้น ถ้าถึงขั้นอุดมคติได้ ก็เรียกว่าเป็นโลกที่เป็นสุขไร้การเบียดเบียน อันนี้เรียกได้ว่าเป็นอุดมคติของพระพุทธศาสนา คือ โลกที่เป็นสุขไร้การเบียดเบียน ต่างจากอุดมคติของตะวันตกที่ว่า โลกที่มนุษย์มีชัยได้เป็นนายของธรรมชาติ
ทีนี้ อุดมคติว่าโลกที่เป็นสุขไร้การเบียดเบียนนี้ จะสำเร็จได้ ก็ด้วยการพัฒนามนุษย์ที่เป็นองค์ประกอบพิเศษของธรรมชาติ ให้ไปเป็นส่วนร่วมที่ดีที่เกื้อหนุนระบบนั้น อันนี้ก็คือหน้าที่ของการศึกษานั่นเอง ที่จะพัฒนามนุษย์ เริ่มตั้งแต่ให้เด็กมีแนวคิดมีทัศนคติในการมองโลก ว่าเป็นระบบความสัมพันธ์ที่เราเองเป็นส่วนร่วมอันหนึ่ง และเราเป็นส่วนร่วมพิเศษ ที่จะต้องพัฒนาตัวเองให้มีชีวิตที่ดีของตนเอง และร่วมเกื้อหนุนโลกให้ดีงามจนเป็นโลกที่เป็นสุขไร้การเบียดเบียน
ในการพัฒนาแนวตะวันตกนั้น เขาเอาตัวเราเป็นศูนย์กลาง โดยพัฒนาตัวเราเพื่อไปเอาชนะสิ่งอื่นทั้งหมด ลองไปดูเถิด ในวัฒนธรรมตะวันตกนั้น เขาบอกว่า ตามระบบของเขานั้น จะต้องฝึกอบรมเด็กขึ้นมาโดยมุ่งให้ไปอยู่อย่างมีชัยในระบบแข่งขัน ให้มีจิตสำนึกว่า เราจะต้องเหนือคนอื่น โดยแข่งกันตั้งแต่ในโรงเรียนซึ่งพ่อแม่ก็จะกระตุ้นว่า One-up, one-up. หมายความว่า เราจะต้องเหนือคนอื่น นี่เรื่องของเขา แต่ถ้าจะให้โลกอยู่ดี ก็จะต้องเปลี่ยนแนวคิดนี้
ที่ไม่เอาอย่างเขานั้น ก็ไม่ใช่ให้เฉื่อยชา ก็ต้องไม่ตกอยู่ในความประมาท ต้องปลุกใจให้มีความเข้มแข็งว่า มนุษย์เรานี้ ในแง่หนึ่ง ถ้ามุ่งจะสนองความต้องการในทางเห็นแก่ตัว จะโลภะเอาเพื่อตัว หรือจะโทสะกำจัดคนอื่น ก็มีแรงเข้มแข็งได้มาก จนเป็นรุนแรง แต่ถ้ามุ่งมาในแนวคิดที่จะเกื้อหนุน ยิ่งต้องใช้ปัญญามากกว่า และต้องใช้กำลังจิตกำลังใจมากกว่า การศึกษาจะต้องเข้มจริงๆ ไม่อย่างนั้นสู้ไม่ได้
การศึกษาเพียงเพื่อพัฒนาเด็กให้มีความสามารถในการแข่งขันเอาชนะผู้อื่นนั้น ทำง่ายกว่า และการศึกษาปัจจุบันนี้ ก็มักจะเน้นกันแค่นี้ คือมุ่งพัฒนาเด็กให้มีความสามารถในการแข่งขันเอาชนะผู้อื่นในระบบแข่งขันนี้
ถึงเวลาที่จะต้องเลือกว่าจะเอาการศึกษาแบบไหน ในแนวคิดใหญ่ ๒ แบบนี้ เราจะต้องชัด และจะต้องเลือก เด็กรออยู่แล้วที่จะมองโลกในแนวคิดที่เราพากันสร้างไว้ว่าจะเอาอย่างไร