การเสริมสร้างคุณลักษณะเด็กไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

๒. ปัจจัยที่เกื้อหนุนความคิด

ที่พูดกันว่า “เด็กไทยไม่รู้จักคิด” นั้น หมายความว่าอย่างไร ไม่รู้จักคิด หรือคิดไม่เป็น ก็คือ คิดบ้างเหมือนกัน แต่คิดออกนอกลู่นอกทาง คิดฟุ้งซ่าน คิดเพ้อฝัน คิดเลื่อนลอย แล้วบางทีก็พ่วงมาด้วยความรู้สึกเหงาหงอย ทุกข์ระทม ตรมใจ อย่างนี้ทางพระเรียกว่าคิดปรุงแต่ง เรียกแบบภาษาชาวบ้านว่า คิดอย่างเป็นทาสของอารมณ์ ซึ่งไม่ได้ประโยชน์อะไร มีแต่ทำให้เกิดความทุกข์

ถ้าคิดเป็น ก็ตรงข้ามกับที่ว่ามานั้น แม้แต่ในเรื่องความทุกข์แทนที่จะคิดแล้วเกิดทุกข์หรือคิดก่อทุกข์ ถ้าแม้เจอทุกข์ คนที่รู้จักคิดแทนที่จะมัวเป็นทุกข์ ก็เอาประโยชน์จากความทุกข์ได้ คือ แทนที่จะปล่อยให้ทุกข์มันทับตัวครอบงำใจเรา เราก็ พลิกเอาทุกข์นั้นขึ้นมาเป็นตัวกระตุ้นใจ ให้มีกำลังลุกขึ้นมาต่อสู้แก้ไขปัญหา เอาปัญหาของทุกข์มาเป็นแบบฝึกหัดของปัญญา เมื่อทำแบบฝึกหัด ก็เข้าสู่กระบวนการของความคิด เป็นการฝึกตัวด้วยการทำแบบฝึกหัด ซึ่งเป็นการพัฒนาปัญญา คิดอย่างนี้เรียกว่า คิดเป็น

มาดูวิธีปฏิบัติกันต่อไป ในเรื่องนี้ ควรทำความเข้าใจกันก่อน ที่ว่าเด็กไทยไม่รู้จักคิดนั้น คือไม่คิดในทางที่จะเป็นประโยชน์ หรือคิดแล้วกลับเกิดโทษ การไม่คิดของเด็กไทยเป็นเพราะ

  1. ไม่อยากคิด
  2. ไม่ต้องคิด
  3. ไม่เคยคิด

ทั้งนี้ เกิดจากการขาดปัจจัยสำคัญ ๒ ด้าน คือ ปัจจัยภายใน และ ปัจจัยภายนอก

• ปัจจัยภายใน คือ ความใฝ่รู้ ใฝ่ทำ หรือ อยากรู้ อยากทำ ความใฝ่ทำ หรือใฝ่สร้างสรรค์ เป็นตัวบีบหรือเรียกร้องให้เกิดความใฝ่รู้ด้วย เพราะเมื่ออยากจะทำ ก็เป็นเหตุให้ต้องหาทางที่จะทำ คือต้องรู้ว่าจะทำได้อย่างไร ก็ทำให้อยากรู้และต้องหาข้อมูลความรู้ แล้วก็เอาข้อมูลความรู้นั้นมาเข้ากระบวนการคิด ให้รู้เข้าใจที่จะจัดทำให้สำเร็จ ถ้ามีความใฝ่ทำใฝ่สร้างสรรค์ ก็จะเรียกร้องหรือเป็นเงื่อนไขให้เกิดความใฝ่รู้และใฝ่คิด เด็กไทยขาดความใฝ่รู้ใฝ่ทำ ที่เรียกว่า ฉันทะ ซึ่งเป็นปัจจัยภายในนี้ เมื่อไม่อยากรู้ ไม่อยากทำ ก็ “ไม่อยากคิด” ไปด้วย

• ปัจจัยภายนอก คือ สภาพแวดล้อม

- สถานการณ์บางอย่าง เช่น ภัยอันตราย และสภาพการดำเนินชีวิตที่บีบรัดต่างๆ เช่น มีการแข่งขันมาก จะบังคับคนให้ต้องคิดหาทางออกหรือหาความรู้เพื่อเอามาคิดแก้ปัญหา ถ้าต้องประสบสถานการณ์เช่นนั้นอยู่ต่อเนื่องตลอดเวลา หรืออยู่ในสภาพชีวิตแบบนั้นเป็นประจำ ก็จะเกิดเป็นนิสัยในการใฝ่รู้ แสวงปัญญา และคิดทำการต่างๆ แต่ตรงข้าม คนในสังคมที่มีแต่ความสุขสบาย ไม่ต้องผจญภัยอันตราย ไม่ต้องเผชิญสภาพชีวิตที่บีบคั้น ก็ไม่มีเหตุให้ต้องดิ้นรนคิดหาทางแก้ไขปัญหา ไม่ต้องขวนขวายหาความรู้ แต่จะมีความโน้มเอียงไปในทางที่จะหาความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ติดในความสุขสบาย ตลอดจนลุ่มหลงมัวเมา ไม่พัฒนาการคิดและไม่เกิดวิถีชีวิตแห่งการแสวงปัญญา นี้ก็คือการที่ “ไม่ต้องคิด”

เรื่องอาจจะซับซ้อนยิ่งกว่านั้นอีก คือ บางที ทั้งที่อยู่ในสถานการณ์บีบคั้น หรือมีภัยอันตราย แต่ถ้าภาวะบีบคั้นหรือภัยอันตรายนั้น ไม่โจ่งแจ้ง หรือไม่จวนแจกระชั้นตัวนัก ถ้ามีสิ่งบำเรอล่อเร้าให้เพลิน เช่น ในสังคมกำลังพัฒนา ที่ติดเพลินเหยื่อล่อจากสังคมอื่นที่หาผลประโยชน์ในทางธุรกิจ เป็นต้น ถึงแม้จะมีภัย แต่ยังไม่เห็นชัดออกมา คนก็ยังมัวแต่สนุกสนาน มัวเมาเพลิดเพลิน ก็จะไม่คิดแก้ไข ทั้งที่มีภัยและมีเรื่องต้องคิด ก็ไม่ดิ้นรนหาทางออก เพราะมัวแต่หาความสนุกสนาน อย่างนี้เรียกว่า มีภัยแต่มัวเพลิน พวกนี้ก็รวมอยู่ในประเภทที่ว่า “ไม่ต้องคิด” แต่จะต้องลำบากมาก เพราะจะต้องรอจนถึงขั้นที่เกิดมีภัยพิบัติรุนแรง จะอยู่ไม่ได้แล้ว ถึงจะมาเริ่มคิดเริ่มทำ เริ่มหาความรู้ ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่จะคิดไม่ทัน

- สืบเนื่องจากข้อก่อน คือ เมื่อไม่เจอสถานการณ์ที่เป็นภัยอันตราย ไม่มีสภาพชีวิตที่เร่งรัดบีบคั้น ที่จะทำให้ต้องแสวงความรู้และคิดแก้ปัญหา ก็ไม่คุ้นเคยกับการคิด ไม่เคยแสวงหาความรู้ เมื่อเวลาผ่านไป ก็กลายเป็นความเคยชิน กลายเป็นวิถีชีวิตที่ไม่ชอบคิดไม่ชอบหาความรู้อะไรๆ ทั้งนั้น เป็นวัฒนธรรมที่อยู่เรื่อยเฉื่อย ไม่เคยชินกับการคิดและการหาความรู้ เข้าในข้อที่ว่า “ไม่เคยคิด”

นี่เป็นเรื่องของทุนทางสังคม จะต้องตระหนักไว้ว่า ถ้าเราไม่มีวัฒนธรรมในการคิด ไม่ได้ฝึกการคิดและการหาความรู้กันมาในครอบครัวตั้งแต่เด็ก เมื่อมาเข้าโรงเรียน เด็กก็จะไม่มีนิสัยในการคิด เจออะไรก็ไม่อยากคิด และไม่สนใจใฝ่หาความรู้ จะต้องหาทางแก้ปัญหาโดยพัฒนาคนให้ถูกจุดถูกแง่ ให้ตรงกับเหตุปัจจัยของชีวิตและสังคมนั้น

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.