การเสริมสร้างคุณลักษณะเด็กไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

- ๓ -
หลายเรื่องรอหน้า ท้าทายการศึกษา

 

ชอบเสรี แต่ไม่มีอิสรภาพ

เรื่องหลักการ หรือพวก concepts ต่างๆ อย่างเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค เป็นต้นนั้น บางทีพวกที่ต้นคิดในยุคสมัยแรกตอนที่ริเริ่มการปฏิวัติประชาธิปไตย อาจจะมีความชัดเจนพอสมควร แต่พอมาถึงยุคปัจจุบัน คนมองเห็นแต่ตัวศัพท์ ส่วนความหมายก็ คล้ายๆ เรื่องพุทธศาสนาที่พูดในตอนต้นนั่นแหละ คือมันชักจะเหลือแต่ขวด เนื้อแทบจะไม่มี ฉะนั้น ความหมายของเสรีภาพ และความเสมอภาค เป็นต้นนั้น จึงเลือนราง คลุมเครือ สับสน แล้วก็เกิดปัญหาด้วย

เอาง่ายๆ “เสรีภาพ” คืออะไรกันแน่ คนทั่วๆ ไปมักจะมองไปในแง่ที่ว่า เสรีภาพคือทำได้ตามใจชอบ ใช่ไหม พอคนมองความหมายกันไปแบบนั้น ก็ทำให้ต้องคอยย้ำคอยเน้นข้อจำกัด เช่นว่า “ภายในขอบเขตของกฎหมาย” บ้าง “เท่าที่ไม่ละเมิดต่อผู้อื่น” บ้าง ซึ่งเป็นเสรีภาพเชิง negative คือต้องมีขอบเขตกีดกั้น นี่ก็เพราะว่า คนเข้าใจความหมายไม่ชัดเจน เข้าไม่ถึงสาระของตัวหลักการ จึงต้องเอาเครื่องกีดกั้นมาช่วยห้ามไว้ กันไว้

ทีนี้ ถ้าคนเข้าถึงความหมายที่แท้จริง ก็จะรู้จักใช้เสรีภาพ โดยตระหนักรู้เองว่า ทำไมจึงต้องไม่ละเมิดต่อผู้อื่น การที่ว่าต้องไม่เกินขอบเขตของกฎหมายนั้น ก็สัมพันธ์กับความรู้เข้าใจที่ว่าเรามีกฎหมายเพื่ออะไรด้วย แต่เมื่อความรู้เข้าใจไม่มีหรือไม่ชัดพอ ก็พร่ามัวเสียหมด เลยได้แค่ตัวถ้อยคำกับรูปแบบที่ว่า ฉันจะทำอะไรก็ได้ตามชอบใจ เพียงแต่ว่าอย่าให้ละเมิดกฎหมาย และอย่าให้ละเมิดคนอื่น ก็แล้วกัน มองและคิดอยู่แค่นี้

ที่จริงนั้น เสรีภาพสัมพันธ์กับความเป็นมนุษย์ ทั้งการพัฒนาชีวิตและการจะมีสังคมที่ดี ศักยภาพของมนุษย์จะพัฒนาขึ้นมาและสังคมที่ดีจะมีได้อย่างไร เหล่านี้มันสัมพันธ์กับการมีเสรีภาพอย่างไร เรื่องนี้ต้องชัด และคนจะชัดในเรื่องเหล่านี้ได้ ก็คืองานของการศึกษาที่จะต้องมาช่วย

อย่างง่ายๆ เสรีภาพก็สัมพันธ์กับการพัฒนามนุษย์นั่นเอง มีแง่พูดหลายอย่าง ก็พูดสักแง่หนึ่ง เช่น เราอาจจะพูดว่า สัตว์ป่ามันก็มีนะเสรีภาพ มันก็อยู่ มันก็ทำอะไรอย่างเสรีของมันนะ แต่เสรีภาพแบบนั้นมีข้อเสียแง่หนึ่งก็คือ มันไม่เอื้อ ไม่ทำให้เกิดอิสรภาพ

เวลานี้คนสับสนในเรื่องคำศัพท์ เช่น ระหว่างคำว่าอิสรภาพกับเสรีภาพ นี่ในภาษาไทย แต่แม้ในภาษาอังกฤษ ก็มีปัญหาได้เหมือนกัน อย่าง liberty กับ freedom บางทีก็ใช้แทนกันได้ เป็นเรื่องธรรมดาของชาวบ้าน แต่บางทีในภาษาอังกฤษนั้น ก็ต้องเอาอีกศัพท์หนึ่งมาช่วยคือ independence เมื่อว่ากันให้ถึงต้นรากที่มาของศัพท์จริงๆ ใช้คำไทย คือ อิสรภาพ กับเสรีภาพ จะชัดกว่า

เสรีภาพกับอิสรภาพนี่ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเด็กเล่นเกม แกมีเสรีภาพในการเล่นเกม แกก็เล่นของแกไป แต่เด็กหลายคน หรือแม้แต่เด็กส่วนมาก ก็รู้อยู่ว่าการเล่นเกมมากนัก หรือหลงติดเกมนั้น ไม่ดี มีโทษหลายอย่าง แกรู้ตัว แกมีความรู้ แกเข้าใจ แต่ก็บังคับตัวเองไม่ได้ ก็ต้องเข้าหาเกม ห่างไม่ได้ ขาดไม่ได้ แล้วก็เกิดโทษแก่ตัวเองทั้งที่รู้นั่นแหละ นี้คือใช้เสรีภาพโดยที่ตัวเองไม่มีอิสรภาพ ตรงนี้ ถ้าใช้ภาษาอังกฤษ อาจจะพูดว่า เด็กนี้สัมพันธ์กับเกมโดยมี liberty แต่ขาด independence

การขาดอิสรภาพทำให้เด็กใช้เสรีภาพไม่ถูก จะเห็นว่า ตามตัวอย่างนี้ เมื่อคนไม่มีอิสรภาพ ก็จะใช้เสรีภาพไม่เป็น หรือใช้ไม่ได้ผล และจะเกิดโทษมาก บางทีกลายเป็นว่า เพราะขาดอิสรภาพ ก็เลยต้องจำกัดเสรีภาพ เพื่อกันไม่ให้ใช้เสรีภาพผิดๆ หรือใช้อย่างเสียหาย

อิสรภาพ คือความเป็นใหญ่ในตัวเอง และไม่ขึ้นต่อสิ่งอื่น ทีนี้ อิสรภาพก็มีหลายระดับ อย่างง่ายๆ ถ้ามีปัญญารู้ว่าอันนี้ไม่ดี ไม่ถูกต้อง ถ้ามีอิสรภาพหรือเป็นอิสระ ก็หมายความว่าสามารถเว้น สามารถไม่ทำสิ่งนั้น เพราะตนไม่ต้องขึ้นต่อสิ่งนั้น หรือสิ่งนั้นบังคับตนไม่ได้ ก็เป็นคนที่เก่งจริง คือมีอิสรภาพ

แต่ในกรณีนี้ ตรงข้ามเลย เด็กนี่แกใช้เสรีภาพในการเล่นเกมอย่างเต็มที่ เพราะแกไม่มีอิสรภาพ แต่แกตกอยู่ใต้อำนาจของเกม แกขึ้นต่อเกม ติดเกมหลงเกมจนหมดอิสรภาพ อย่างนี้เป็นต้น

การศึกษาปัจจุบันนี้ไม่เกื้อหนุนอิสรภาพ เราไม่พัฒนาเด็กให้เป็นอิสระ เราบอกให้เด็กอยากมีแต่เสรีภาพ และก็ไม่รู้จักเสรีภาพจริง แล้วแกก็ใช้เสรีภาพไม่เป็น เลยยุ่งไปหมด

ในหลายเรื่อง คนไม่มีอิสรภาพ ก็จึงต้องมีกฎหมายมาจำกัดเสรีภาพ และในบางอย่าง กฏหมายอย่างน้อยในบางถิ่นบางที่ถึงกับต้องห้ามต้องตัดเสรีภาพไปเลย เช่นอย่างเสรีภาพในการใช้ยาเสพติด ที่จริงเสรีภาพในการใช้ยาเสพติดนั้น ในบางยุคสมัยก็ยังไม่ได้ห้าม แต่พอห้ามแล้ว การใช้เสรีภาพให้ถูก ก็เลยต้องอ้างกฎหมายว่าให้ใช้เสรีภาพได้เท่าที่ไม่ละเมิดกฎหมาย

แต่ที่จริง ก่อนมีกฎหมายห้าม การใช้ยาเสพติดก็ไม่ดีมีโทษไม่ถูกอยู่แล้ว ใช่ไหม ถ้าคนพัฒนาดีจริงแล้ว เขาก็ควรจะไม่ใช้ยาเสพติดด้วยความเป็นอิสระของเขาเอง ไม่ต้องมาออกกฎหมายตัดเสรีภาพในการเสพยา แต่นี่ก็เพราะคนไม่เป็นอิสระที่จะใช้เสรีภาพให้ถูกต้องด้วยปัญญา ก็เลยต้องตรากฎหมายออกมาจำกัดเสรีภาพ ว่าให้ใช้เสรีภาพได้เท่าที่ไม่ละเมิดกฎหมาย

พูดแง่หนึ่งก็เหมือนกับบอกว่า เพราะคนยังมีการศึกษาพัฒนาไม่เพียงพอ จึงต้องเอากฎหมายมาช่วย หรือเพราะคนยังไม่เป็นอิสระ จึงต้องจำกัดเสรีภาพ

ตอนนี้เด็กมีเสรีภาพในการเล่นเกม แต่ใช้เสรีภาพนั้นไม่เป็น จนเกิดโทษทั้งแก่ตนเอง แก่ครอบครัว แก่สังคม เพราะเขาขาดอิสรภาพจนตกเป็นทาสของเกมนั้น การใช้เสรีภาพของเขาเลยกลายเป็นการซ้ำเติมโทษให้หนักขึ้น เราจึงต้องพัฒนาเด็กให้มีอิสรภาพ

อิสรภาพเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นความหมายอย่างหนึ่งของนิพพาน คือความเป็นใหญ่ในตัวเอง ไม่ขึ้นต่ออะไรแม้แต่กิเลส เอาชนะกิเลสได้หมด กิเลสจะมาบีบบังคับชักนำบัญชาไม่ได้ จึงเป็นหลักที่สำคัญ

ถ้าเราไม่เข้าใจเสรีภาพชัดเจนพอ และใช้เสรีภาพไม่เป็น มันอาจจะกลับไปเป็นเสรีภาพแบบสัตว์ป่าอีกก็ได้ เวลานี้ก็ว่ากันนัวเนียไปหมด เช่น จะเบียดเบียนกันอย่างไรก็ได้ เอาแค่ว่ามีกฎหมายมาเป็นกรอบบังคับ เท่าที่ไม่ละเมิดกฎหมาย ต่อไปคนออกกฎหมายก็ลำบากใจหรือไม่ก็ทะเลาะกันว่ากฎหมายจะเอาแค่ไหน หรือที่ว่าไม่ละเมิดต่อกัน จะเอาแค่ไหน ก็พูดยากอีก ต่อไปก็ยุ่งหมด พูดไม่ถูก เมื่อปัญญากับจิตใจไม่ลงตัว ความสับสนวุ่นวายก็มีในหลายระดับ เพราะความเข้าใจของมนุษย์ไม่เข้าถึงหลักพื้นฐาน เกิดความสับสนระหว่างบทบัญญัติของคน กับความเป็นจริงของธรรมชาติ

อย่างที่เคยยกตัวอย่างเรื่องที่ว่า สิทธิกับเสรีภาพมาคู่กัน มาถึงยุคนี้ ฝรั่งบางคนคิดขยายวงออกไปถึงพวกสัตว์เลี้ยงต่างๆ ว่ามันมีสิทธิหรือไม่ เช่น สิทธิในชีวิตของมัน พวกหนึ่งว่ามันมีสิทธิ อีกพวกหนึ่งบอกว่ามันไม่มีสิทธิ ดังที่ได้เกิดเรื่องปลาโลมาเป็นกรณีตัวอย่าง

คนพวกหนึ่งไปลอบปล่อยปลาโลมาที่เขาเลี้ยงไว้ทำธุรกิจ โดยบอกเหตุผลว่า ปลาโลมาจะต้องมีสิทธิในชีวิตของมันที่จะอยู่ตามธรรมชาติ การที่พวกทำธุรกิจเอามันมากักขังเลี้ยงไว้ เป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตของมัน ถือว่าทำความผิด แต่คนอีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า สัตว์ทั้งหลายนั้นมนุษย์สามารถครอบครองเป็นสมบัติของตน อย่างเช่นวัวควาย คนที่มาปล่อยปลาโลมาของเขา เป็นผู้ละเมิดสิทธิของเขา ต้องมีความผิดฐานลักทรัพย์ นี่ก็ชักจะยุ่ง

เรื่องนี้ก็แสดงว่ามนุษย์ยังมีปัญหาในการจำแนกแยกแยะ และปัญหาเรื่องสิทธิก็โยงไปถึงเรื่องเสรีภาพ ตอนนี้ สิทธิกับเสรีภาพขัดกัน พวกที่ถือว่าปลาโลมามีสิทธิในชีวิตของมัน ก็ถือว่ามันต้องเป็นอิสระและมีเสรีภาพที่จะไปไหนๆ หรือจะไปทำอะไรของมัน จะจับเอามาขังไม่ได้ แต่อีกพวกหนึ่งก็ถือว่ามีกฎหมายที่ให้ฉันถือกรรมสิทธิ์ในปลาโลมาได้ ฉันมีสิทธิตามกฎหมายที่จะจำกัดเสรีภาพของมัน ก็เอามันมาขังไว้ เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งมาลอบปล่อยปลาโลมาออกไป ก็ละเมิดสิทธิของฉัน ก็เกิดเป็นคดีขึ้นศาล ฝ่ายหนึ่งก็เถียงในแง่ที่ว่าสัตว์ก็มีสิทธิเสรีภาพของมัน อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าฉันมีกฎหมายที่ให้ครอบครองกรรมสิทธิ์ นี่เป็นตัวอย่างว่า ต่อไปมนุษย์จะมีปัญหาในเรื่องแบบนี้มากขึ้น ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาไปไกล ปัญหาของมนุษย์จะซับซ้อนยิ่งขึ้น และมีมากขึ้น เราจะต้องเข้าใจหลักพื้นฐานเหล่านี้ให้ชัดเจน

อิสรภาพนั้นมีหลายระดับ ซึ่งในที่สุดก็คือความเป็นอิสระภายในที่แท้จริง ซึ่งสัมพันธ์กับการพัฒนามนุษย์ เมื่อคนพัฒนาขึ้นไป มีปัญญายิ่งขึ้น ก็จะทำให้รู้เข้าใจเรื่องอิสรภาพชัดขึ้น จนเข้าถึงอิสรภาพ แล้วอิสรภาพที่แท้ก็จะทำให้ใช้เสรีภาพได้อย่างถูกต้อง

ในขั้นนี้ ควรจะพูดไว้กว้างๆ ว่า เมื่อปฏิบัติอย่างถูกต้อง เสรีภาพก็เป็นตัวเกื้อหนุนที่จะทำให้เกิดอิสรภาพ แล้วอิสรภาพก็จะทำให้ใช้เสรีภาพได้อย่างถูกต้อง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.