การเสริมสร้างคุณลักษณะเด็กไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ถ้าสติดี สมาธิก็มี ปัญญาก็มา

อาจารย์: สติมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสมาธิอย่างไรบ้าง

ท่านเจ้าคุณ: นี่คือตัวสำคัญเลย สติเรียกว่าตัวนำก็ได้ จะเห็นว่าการฝึกสมาธินั้น เริ่มด้วยสติทั้งนั้น เพราะสติเป็นตัวจับ ตัวดึง ตัวตรึงตัวกำกับ กำหนดไว้ เพื่อให้สิ่งนั้นไม่ลอยหายไปจากจิตของเรา คือ ให้จิตของเราอยู่กับสิ่งที่ต้องการ ไม่หลุดลอย ไม่คลาดกันไป

ในตอนแรก มันยังไม่ยอมอยู่ เราใช้สติจับไว้ ดึงไว้ ก็จับหลุดๆ ดึงไว้ลอยไปๆ คอยจะลอยหายไปจากกัน พลัดกันเรื่อย เช่น เราต้องการจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง แม้แต่จะอ่านหนังสือ ต้องการให้ใจอยู่กับหนังสือที่อ่าน แต่บางทีเดี๋ยวเดียวไปแล้ว หนังสือก็อยู่ของมันที่นี่ แต่ใจไปที่อื่นแล้ว นี่คือพลัดกันแล้ว ทีนี้ทำอย่างไรจะให้ใจของเราอยู่ด้วยกันกับหนังสือ ถ้ามันอยู่ด้วยกันมั่นสนิทจริง ก็คือเป็นสมาธิ แต่ก่อนที่มันจะอยู่ด้วยกันเป็นสมาธิได้ ก็ต้องดึงมันจับมันมาอยู่ด้วยกันก่อน ตอนแรกมันก็ไม่ค่อยยอมอยู่ใช่ไหม พอจับมาไว้ ก็หลุดจากกัน พลัดกันไป ลอยหายไปอีก ในขั้นนี้ ก็ต้องดึงต้องจับมันมาไว้อยู่เรื่อย การที่ดึงมันไว้ ตรึงมันไว้ จับมันไว้ กำกับมันไว้ นี่แหละเรียกว่าสติ เอาง่ายๆ ว่า “ดึง” ก็แล้วกัน ใช้ภาษารูปธรรม ง่ายดี

ทีนี้ ดึงมี ๒ อย่าง คือ ดึงมา กับดึงไว้ ที่ว่า ดึงมา หมายความว่าสิ่งนั้นผ่านไปแล้ว ไปอยู่ในความจำ เรื่องนี้เราเคยพบ เคยเห็น เคยรู้ แล้วตอนนี้มันไปอยู่ในความจำแล้ว ทีนี้ เราจะใช้ประโยชน์มัน เช่น จะเอามาคิด เอามาพิจารณาด้วยปัญญา เราก็ดึงมันขึ้นมาจากความจำนั้น เรียกว่าระลึก หรือนึกขึ้นมา นี่คือ ดึงมา คือดึงจากความจำให้มันมาปรากฏอยู่ต่อหน้า เพื่อเราจะทำงานกับมันได้

ทีนี้ ดึงไว้ คือ สิ่งนั้นเข้ามาถึงข้างหน้าเราแล้ว เช่น อ่านหนังสืออยู่นี่ แต่มันจะหลุดไปเรื่อย เราก็ดึงไว้ๆๆ ให้อยู่ต่อหน้าเรา ไม่ให้มันหลุดไป นี่เรียกว่า ดึงไว้

สติทำงาน ๒ อย่าง คือ ดึงมา กับดึงไว้ นี่แหละ ถ้าดึงมา กับดึงไว้ ไม่ทำหน้าที่ สมาธิก็เกิดไม่ได้ แต่พอดึงมา กับดึงไว้ สำเร็จ ทีนี้มันอยู่ มันไม่หลุด ไม่ลอยหายไปแล้ว ก็เป็นสมาธิ ถ้าไม่อยู่ เจ้าตัวดึงมากับดึงไว้ คือสตินั้น ก็ต้องดึงอยู่นั่นแหละ เพราะฉะนั้น สติจึงต้องทำหน้าที่ของมันอยู่เรื่อย ในเมื่อสมาธิยังไม่แข็ง แต่พอสมาธิอยู่ตัวมั่นสนิทแล้ว สติก็วางมือ แล้วก็แค่แฝงตัวอยู่ ไม่ต้องเป็นเจ้าการแล้ว ทีนี้ก็เป็นเรื่องของสมาธิต่อไป เพราะสิ่งที่ต้องการนั้นมันอยู่ มันไม่หลุดไปไหนแล้ว ก็เป็นสมาธิ แต่ถ้ายังไม่อยู่ ยังไม่เป็นสมาธิ สติก็ต้องทำงานไปเรื่อย ดึงมา ดึงไว้ ดึงมา ดึงไว้ อยู่นั่นแหละ นี่คือสติ ก็เป็นอย่างนี้

เป็นอันว่า สติเป็นตัวนำให้สมาธิเกิดขึ้น แล้วก็เป็นตัวนำที่จะให้ปัญญาทำงานด้วย เพราะฉะนั้น สติจึงมีบทบาทสำคัญทั้งด้านฝึกสมาธิ และด้านฝึกวิปัสสนา

สติเป็นตัวนำที่จะให้ปัญญาทำงานอย่างไร ก็ง่ายๆ คือว่าปัญญาก็เหมือนตา จะพิจารณาอะไร จะมองเห็นอะไรได้ สิ่งนั้นต้องอยู่ต่อหน้า

ทีนี้ ถ้าสิ่งนั้นไม่อยู่ต่อหน้า จะทำอย่างไร ก็ต้องเอาสติดึงมาดึงไว้อย่างที่ว่าเมื่อกี้นั่นแหละ อ้าว... กำลังจะพิจารณาสิ่งนั้น มันก็ลอยไปเสียแล้ว สติก็ดึงมา ดึงไว้ ตรึง จับ กำกับไว้ ให้มันอยู่ต่อหน้าปัญญาที่เป็นเหมือนลูกนัยน์ตานี้ ก็มองได้ เห็นได้ พิจารณาได้ แต่ถ้าสิ่งนั้นหลุดลอยหายไป ไม่อยู่ต่อหน้า ปัญญาก็ทำงานไม่ได้ นี่แหละที่ว่า ปัญญาจะทำงานได้ ต้องอาศัยสติ เราจึงพูดคู่กันว่า สติปัญญา (เช่นเดียวกับ สติสัมปชัญญะ)

เป็นอันว่า ในการฝึกสมาธิ วิธีฝึกสมาธิแบบต่างๆ มักจะมีคำว่าสติอยู่ในชื่อ เช่น อานาปานสติ นี่ก็หมายความว่า วิธีฝึกสมาธินั้น เอาสตินั่นเองมาเป็นตัวนำในการฝึกให้เกิดสมาธิ ส่วนในการฝึกวิปัสสนา (คือฝึกปัญญา) เราก็จะพบคำคู่ว่า สติสัมปชัญญะ ซึ่งหมายความว่า เอาสติมานำให้ปัญญาได้พบได้ดูสิ่งนั้นๆ นั่นเอง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.