ธรรมกับการพัฒนาชีวิต

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เมื่อเสรีชนปรารถนาสยบยอม
สละเสรีภาพ – เลือกเอาความภักดี

ต่อจากคำตอบที่ ๑ ก็มีคำตอบที่ ๒ ขึ้นมาอีก กล่าวคือ มองไปอีกด้านหนึ่งจะเห็นว่า ปัญหาจิตใจอย่างนี้เกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาทางสังคม เป็นเรื่องเกี่ยวพันเชื่อมโยงอยู่กับความเป็นไปหรือความเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่เรียกกันในชื่อว่าเป็นความเจริญของสังคม ความเจริญทางสังคมนี้เป็นปัจจัยสำคัญ เราก็เลยต้องวิเคราะห์ปัญหาทางสังคม ที่มีความสัมพันธ์กับจิตใจด้วย จะเห็นว่า ในกรณีนี้ปัญหาจิตใจกับสังคมสัมพันธ์กันหลายด้าน เมื่อกี้นี้ได้บอกว่า เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างปัญญากับจิตใจ แต่คราวนี้บอกว่า เป็นปัญหาระหว่างจิตใจกับสังคมด้วย เพราะว่าปัญหาทางสังคมก็ทำให้เกิดปัญหาทางจิตใจ ในแง่ของปัญหาจิตใจที่สัมพันธ์กับปัญหาทางสังคมนี้ ฝรั่งคนที่เอ่ยชื่อมาแล้วข้างต้นก็ได้วิเคราะห์ไว้ จึงขอนำมาเล่าให้ฟัง เผื่อว่าบางท่านยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะได้ลองพิจารณาดูว่า การวิเคราะห์แนวนี้จะเข้ากับแบบที่ว่ามาแล้วไหม คือ เหตุปัจจัยในแง่ของความแปลกแยกระหว่างจิตใจกับปัญญา

แนวความคิดที่นายแอลวิน ทอฟเฟลอร์ได้วิเคราะห์ไว้คือ เขาบอกว่า ในสังคมปัจจุบันนี้ ความเจริญได้เป็นไปในลักษณะที่ทำให้คนไม่สามารถปรับตัวปรับใจได้ มีความสับสนวุ่นวายมาก แล้วก็ทำให้มนุษย์เกิดความรู้สึกที่เป็นความต้องการ ๓ อย่างซึ่งเป็นปัญหาทางจิตใจ ความรู้สึกที่เป็นปัญหาทางจิตใจ ๓ อย่างนี้ เป็นสิ่งที่เด่น จนเป็นลักษณะสำคัญของชีวิตคนในสังคมปัจจุบัน กล่าวคือ

ประการที่ ๑ คือ ความว้าเหว่ หรือ โดดเดี่ยว ในสังคมปัจจุบันนี้ แม้ว่าจำนวนคนจะมากขึ้น แต่คนเหล่านั้นแต่ละคนโดดเดี่ยวมากขึ้น สมัยก่อนคนน้อย แต่คนไม่โดดเดี่ยว คนยังมีน้อย แต่รู้สึกว่าอบอุ่น มีความสัมพันธ์กันมาก แต่เดี๋ยวนี้คนมากกลับโดดเดี่ยวหนักขึ้น มันกลับกันชอบกล คนในสังคมที่มากขึ้นๆ ประชากรมากขึ้น ผู้คนแต่ละคนมีความรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น ก็ทำให้เกิดความเหงาความว้าเหว่ เป็นสภาพจิตใจที่เป็นปัญหาในทางสังคมประการที่หนึ่ง เมื่อมันมากขึ้นๆ จนกลายเป็นบรรยากาศของสังคมปัจจุบันไปแล้ว คนก็จะพากันหาทางสนอง เขาจะสนองกันอย่างไรก็ดูกันต่อไป

ประการที่ ๒ จากความว้าเหว่หรือความโดดเดี่ยว ก็มีความอ้างว้าง อ้างว้างนี้ไม่เหมือนกับว้าเหว่นะ ต่างกันนิดหนึ่ง อ้างว้างอย่างไร อ้างว้างเป็นอาการของความไม่มีหลักยึดเหนี่ยว โดดเดี่ยวนั้นเขาไม่มีเพื่อน ไม่มีความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดความอบอุ่นในสังคม หรือในหมู่มนุษย์ด้วยกัน แต่ตอนนี้อ้างว้างเพราะไม่มีหลักยึดเหนี่ยว ไร้กฎ ไร้เกณฑ์ โดยเฉพาะในสังคมที่เรียกว่าสังคมเสรีอย่างอเมริกัน เขาฝึกกันมาสั่งสมอบรมกันมาให้มีเสรีภาพมาก แต่ความหมายของเสรีภาพนั้นไปเน้นทางสังคม ไม่เน้นเสรีภาพทางจิตใจด้วย ปรากฏว่า คนในสังคมที่นิยมความเป็นเสรีมากนั้น ไปๆ มาๆ เพลินกับเสรีภาพมากเข้า จนชักจะมีลักษณะที่กลายเป็นการทำอะไรได้ตามใจชอบ พอมาถึงตอนนี้ ก็กลับมีความรู้สึกที่เรียกว่าเกิดความอ้างว้างขึ้นมา มีความรู้สึกว่าพวกตนเป็นอยู่อย่างไร้กฎไร้เกณฑ์ ไม่มีหลักยึดเหนี่ยว ไม่มีเครื่องควบคุม ปล่อยให้ทำอะไรได้ตามชอบใจ ไปๆ มาๆ ไม่รู้จะทำอะไรดี มันเวิ้งว้างไปหมด ไม่มีใครมาช่วยชี้นำหรือช่วยบอกว่าจะไปทิศไหนทางไหน จะทำอะไรอย่างไรดี ต้องคอยเลือกคอยคิดเองทุกอย่าง ไปๆ มาๆ ชักเมื่อยล้าขี้เกียจจะคิด ชักอยากให้มีคนมาช่วยคิดให้ หรือมีคำสั่งสำเร็จว่าจะต้องทำอะไร เลยชักอยากจะมีกฎมีเกณฑ์มีหลักมีกรอบ มีเครื่องควบคุมบังคับ มีคนมาบอก มาสั่ง มาชี้ให้ว่าจะให้ทำอะไร หรือไปทิศไหนทางไหน เป็นอันว่ามนุษย์นี้ชอบกล ดูคล้ายกับว่าพอสบายมากไปก็อยากจะทุกข์บ้าง พอไม่มีกฎไม่มีเกณฑ์ทำอะไรสบายหนักเข้า ไม่รู้จะทำอะไร ก็อยากให้มีคนมาสั่ง มาบังคับ มาชี้ให้ทำโน่นทำนี่ อันนี้เป็นเรื่องทางจิตวิทยา เป็นความรู้สึกประการที่ ๒ คือ ความอ้างว้าง ความรู้สึกไร้หลักยึดเหนี่ยว ไม่มีกฎมีเกณฑ์ ขาดผู้ชี้นำ

ประการที่ ๓ เกิดความรู้สึกเลื่อนลอย คือ รู้สึกว่าชีวิตของเราไม่มีความหมาย ชีวิตไร้จุดหมาย อยู่ในสังคมนี้กว้างเหลือเกิน เจริญเหลือเกิน มองไม่ถูกว่าอะไรอยู่ที่ไหนตำแหน่งไหน จนกระทั่งชีวิตของตัวเองก็หมดความหมายไปเลย ในสังคมที่เจริญแล้ว คนจะไปภูมิใจกับความเจริญที่ปรากฏอยู่รอบตัว แต่พอมองกลับหันเข้ามายังชีวิตของตนเอง ก็ปรากฏว่าชีวิตของตัวเองหมดความหมายไปเสียแล้วท่ามกลางความเจริญนั้น พอชีวิตหมดความหมาย ท่ามกลางความเจริญ ก็เป็นชีวิตที่เลื่อนลอย แล้วก็ไม่มีจุดหมายว่าจะไปทางไหน เป็นความรู้สึกที่เด่นอีกอย่างหนึ่งของจิตใจของมนุษย์ในสังคมปัจจุบันนี้

คำว่า เลื่อนลอย มีความหมายตรงกับคำไทยในปัจจุบัน คือคำว่า ‘เซ็ง’ หรือเปล่า อาจจะใกล้กัน จิตใจของคนปัจจุบันนี้มีลักษณะที่เซ็งบ่อยๆ จนกระทั่งมีบางคนเข้ามาในมหาวิทยาลัยแล้ว ได้เขียนหนังสือบอกไว้ว่า ‘ฉันมาหาความหมาย’ อาจจะแสดงว่าแม้แต่ในมหาวิทยาลัยที่เป็นแหล่งการศึกษา ก็ไม่สามารถให้ความหมายแก่ชีวิตได้ ชีวิตนี้เลื่อนลอย แต่ละคนอยู่ไปอย่างปราศจากจุดหมายที่ชัดเจนในชีวิต มาเรียนแล้ว ศึกษาแล้ว ก็ไม่พบแก่นสารชัดเจน มองไปข้างหน้าถ้าจบการศึกษาไป ก็ยังไม่เห็นว่าชีวิตมีจุดหมายอย่างไร จึงเป็นปัญหาน่าสงสัยว่าการศึกษาของเราอาจจะไม่ช่วยกระมัง ที่จะแก้ปัญหาจิตใจเหล่านี้ พอมีความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นมามันก็เกิดความต้องการ เรื่องจึงเกิดตามมาว่า

๑) เมื่อเกิดความรู้สึกว้าเหว่ โดดเดี่ยว ก็ต้องการการรวมกลุ่ม การมีหมู่ การที่จะได้มีสังกัด มีส่วนร่วม รวมกลุ่มกันเป็นหมู่เป็นคณะที่มีใจเดียวกันร่วมสุขร่วมทุกข์กันขึ้น เป็นเรื่องของ sense of belonging สมัยปัจจุบันมีความรู้สึกเกิดความต้องการอันนี้กันมาก เรียกว่า need for community คือ ความต้องการที่จะมีหมู่ มีคณะ มีชุมชน เป็นความต้องการที่สนองความรู้สึกข้อที่หนึ่ง คืออยากมีสถาบันมีกลุ่มมีหมู่ที่ตนเองจะเข้าสังกัด มีส่วนร่วม แล้วก็จงรักภักดี

๒) เมื่อเกิดความรู้สึกอ้างว้าง ไม่มีหลักยึดเหนี่ยว เขาก็ต้องการสิ่งที่เรียกว่าระเบียบและกฎเกณฑ์ ต้องการจะมีบทบาทที่ชัดเจนแน่นอน ต้องการเห็นสถานะของตนในสังคมที่ชัดเจนลงไป และต้องการจะเห็นว่าตัวเองจะต้องทำอะไร เพราะขณะนี้ไม่รู้จะทำอะไร มีทางเลือกเต็มไปหมด จะทำอะไรก็ได้ตามชอบใจหรือไม่ทำก็ได้ตามชอบใจ แต่ก็ไม่รู้จะทำอะไร อยากจะรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร เรียกง่ายๆ คือ ต้องการมีระเบียบและกฎเกณฑ์

๓) เมื่อมีความรู้สึกเลื่อนลอย หรือความรู้สึกไม่มีความหมาย ไร้จุดหมาย ก็นำไปสู่ความต้องการสิ่งที่เรียกว่าความหมายหรือจุดหมายในชีวิต ข้อนี้มีคู่ตรงกันอยู่แล้ว คนจำนวนมากในสังคมขณะนี้มองไปรอบตัวเห็นสังคมวุ่นวายมาก และบางทีถึงกับมีความระส่ำระสาย มีความไม่ชัดเจนในเรื่องต่างๆ ก็ต้องการความชัดเจน คือ เขามองไปในสังคมที่เป็นอย่างนี้แล้ว รู้สึกเหมือนว่าตนเองเลื่อนลอยไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลังที่จะไปทำอะไรได้เลย เมื่อไม่มีกำลังไม่มีอำนาจที่จะทำอะไร ก็เลยขาดความหมายและไม่มีจุดหมาย ซึ่งจะต้องแก้ด้วยการสร้างสิ่งที่จะให้ความหมายขึ้นมา

ในท่ามกลางสังคมที่มีสภาพอย่างนี้ จึงได้มีลัทธิศาสนาต่างๆ เกิดขึ้น เพื่อสนองความต้องการเหล่านี้ เขาวิเคราะห์ว่า ถ้าลัทธิศาสนาหรือความเชื่อถือต่างๆ กลุ่มไหนพวกไหนมาสนองความต้องการ ๓ อย่างนี้ให้แล้ว คนในสังคมปัจจุบันนี้ส่วนหนึ่งก็จะไปเข้าร่วม โดยยอมอุทิศตน และมีความจงรักภักดี ยอมเชื่อ แม้กระทั่งว่ายอมมอบกายถวายตัวสยบยอมโดยไม่ต้องคิดพิจารณาเลย นี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ขอตั้งเป็นข้อสังเกต เป็นสภาพที่ได้เกิดขึ้นแล้วในสังคมอเมริกัน เป็นอันว่า ลัทธิศาสนาที่จะไปได้ดีในสังคมยุคปัจจุบันนี้ จะต้องมาช่วยทำอะไรๆ ที่เป็นการสนองความต้องการ ๓ อย่างของยุคสมัย คือ

๑. จะต้องสร้าง community ให้มีกลุ่ม มีหมู่ มีคณะ มีชุมชน ซึ่งเป็นที่ที่เขาจะไปรวมกลุ่มได้ ไปร่วมสังกัดให้รู้สึกว่าอบอุ่น มีพวกและให้จิตใจที่กำลังต้องการพึ่งพาได้จงรักภักดี

๒. ให้ความรู้สึกมีหลัก มีกฎเกณฑ์ มีที่ยึดเหนี่ยว ให้รู้สึกชัดแก่ตนเองว่าจะต้องทำอะไร แม้แต่จะมีคนหรือมีคำสั่งที่มาบอกมาสั่งมาชี้ว่าต้องทำอะไร ก็พร้อมที่จะรับและสยบยอม จะได้สบายใจ จะได้มีทิศมีทางว่าวันหนึ่งๆ เราจะต้องทำอะไรบ้าง แม้จะเป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับ หรือระเบียบวินัยอย่างเข้มงวดก็เอา

๓. ในขณะที่คนมีความรู้สึกเลื่อนลอย ไม่ชัดเจน และกำลังมีความต้องการในความหมาย และจุดหมายกันอยู่นั้น สังคมปัจจุบัน ซึ่งเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยข่าวสารข้อมูล ก็มีข่าวสารข้อมูลท่วมท้นมากมายจนกระทั่งคนรับไม่ไหวและเกิดความรู้สึกสับสนยิ่งขึ้น ทำให้เขาต้องการอะไรสักอย่างที่ชัดเจน ที่จะทำให้มองเห็นความหมาย ลัทธิศาสนาบางกลุ่ม ก็เข้ามาสนองความต้องการนั้น ด้วยการนำเอาคำสอนบางอย่างที่เป็นหลักตายตัวแบบเดียวอย่างเดียว มาคอยกรอกหูให้แก่สมาชิกของตนทุกวันทุกคืนตลอดเวลา ซึ่งปรากฏว่าได้ผลจนกระทั่งทำให้สมาชิกในหมู่นั้นคิดไปตามแบบนั้นทางเดียว แม้แต่ถ้อยคำสำนวนก็พากันใช้ตามแบบนั้น กลายเป็นแบบเดียวอย่างเดียวกันไปหมด

อันนี้เป็นคำอธิบายของนายแอลวิน ทอฟเฟลอร์ ที่ได้วิเคราะห์สังคมซึ่งพัฒนาแล้วอย่างสูง คือสังคมอเมริกันของเขาเอง ถ้าใครต้องการจะอ่านรายละเอียดให้ไปอ่านในหนังสือ The Third Wave คลื่นลูกที่ ๓

เป็นอันว่า คนในสภาพปัจจุบันนี้ มีปัญหาในด้านจิตใจดังที่กล่าวมา และมีความต้องการเกิดขึ้นที่จะต้องสนอง ถ้าหากว่าลัทธิความเชื่ออะไรมาสนองความต้องการอย่างนี้ได้ ก็จะดำเนินงานได้ผลมาก จนกระทั่งว่าสาวกจะยอมอุทิศตัว ยอมอุทิศทรัพย์สิน อุทิศอะไรๆ ทุกอย่างให้ จนถึงขั้นที่ว่ามอบกายถวายชีวิตกันทีเดียว ดังเช่นในกรณีของนายจิมโจนส์ ซึ่งสามารถพาคนมีสติปัญญาจำนวน ๙๐๐ กว่าคน ไปชุมนุมกันที่เกาะแห่งหนึ่งแล้วก็สั่งให้กินยาพิษตายไปเกือบ ๑๐๐๐ คน นับว่าเป็นปรากฏการณ์อัศจรรย์ในสังคมที่พัฒนาแล้ว ซึ่งยังไม่มีในสังคมที่ด้อยพัฒนา เป็นเรื่องที่แปลกมากว่าคนเป็นอะไรไป นี่แหละคือสภาพจิตใจที่แปลกแยกจากปัญญาไปแล้ว แต่ฝรั่งอธิบายในแง่สังคมอย่างที่ว่ามานี้ อาตมภาพเห็นว่าคำอธิบายของฝรั่งนี้ก็เข้าที น่าจะโยงเข้ามาประกอบกันกับคำอธิบายแบบที่หนึ่ง ซึ่งก็สำคัญเหมือนกัน คือ ความแปลกแยกระหว่างปัญญากับจิตใจ ถ้าพูดรวบรัดอีกอย่างหนึ่งก็ต้องว่า สาเหตุเกิดจากการที่คนเรา ได้แต่พัฒนา ไม่ได้ภาวนา หมายความว่า พัฒนาแต่ด้านวัตถุ และเรื่องอื่นๆ นอกตัว ไม่ได้พัฒนาชีวิตของตนเอง

คุณแอลวิน ทอฟเฟลอร์ สรุปไว้ตอนหนึ่งว่า ในสังคมของเขาคือสังคมอเมริกันนั้น คนมีทางเลือกมากมายที่จะคิด จะพูดจะทำอะไรอย่างไรก็ได้ เพราะเป็นสังคมที่เสรี แต่ทางเลือกนั้นมีมากมายเสียจนคนไม่สามารถตัดสินใจด้วยตนเองอย่างได้ผล จึงต้องการให้คนอื่นมาช่วยตัดสินใจให้ โดยเขาพร้อมที่จะปฏิบัติตาม นี้คือคำสรุปในแง่ของความต้องการที่จะมีหลักยึดเหนี่ยว ต้องการความมีกฎมีเกณฑ์ เพราะเสรีเสียจนไม่รู้ว่าจะทำอะไร เลยต้องการให้มีคนมาบอกว่าเธอต้องทำอันนี้ แล้วก็พร้อมที่จะทำตาม นี้เป็นสภาพอย่างหนึ่งซึ่งสังคมของเราก็กำลังพัฒนาไปในแบบเดียวกันนี้ เราได้เตรียมรับสถานการณ์นี้กันบ้างหรือเปล่า นี้เป็นตัวอย่างในด้านการพัฒนาจิตใจ ขอจบเท่านี้และผ่านไปก่อน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.