ธรรมกับการพัฒนาชีวิต

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ปัญญายุคพัฒนา แก้ปัญหาจิตใจไม่ได้
ทำไมคนมีการศึกษา จึงหลงใหลงมงาย

๓. จิตภาวนา หรือการพัฒนาด้านจิตใจ ปัจจุบันนี้ปัญหาที่เด่นของยุคสมัยก็คือ ในสังคมของมนุษย์เรานี้มีปัญหาทางด้านจิตใจมาก ปรากฏว่าวัตถุยิ่งเจริญมาก เทคโนโลยีเจริญมาก แต่คนกลับยิ่งมีปัญหาจิตใจมาก ที่เราบอกว่าการพัฒนามีปัญหานั้น นอกจากปัญหาทางสังคม เช่น มีอาชญากรรมมาก มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนจากศีลธรรมในโลกในสังคมมากแล้ว ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งก็คือคนเรามีปัญหาทางจิตใจมาก มีความทุกข์มาก มีความเครียดมาก มีความกระวนกระวายมาก เป็นโรคประสาทมาก จนกระทั่งเป็นโรคจิตมาก ดังปรากฏว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้วคนเป็นโรคจิตมากขึ้นๆ มากกว่าคนในประเทศที่ด้อยพัฒนา แล้วยังส่งผลต่อขึ้นไปอีก ทำให้มีการฆ่าตัวตายมาก ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น ปรากฏว่าคนฆ่าตัวตายกันมากขึ้น และฆ่าตัวตายระบาดลงมาจนกระทั่งถึงเด็กวัยรุ่น ซึ่งไม่น่าจะฆ่าตัวตาย ในสังคมสมัยก่อนนี้เราไม่เคยเห็นว่าเด็กคิดฆ่าตัวตาย แต่สมัยนี้เด็กวัยรุ่นในประเทศที่เจริญก้าวหน้าคิดฆ่าตัวตายกันมากขึ้น เป็นปัญหาที่มากับความเจริญของสังคม

เป็นอันว่า ในสังคมที่พัฒนามากแล้วปรากฏว่า คนมีปัญหาทางจิตใจมากขึ้น และเมื่อเป็นอย่างนี้แล้วคนก็ไขว่คว้าหาทางออก ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่ามีความเชื่อในทางศาสนา หรือการแสวงหาคุณค่าทางจิตใจกันมากขึ้น ลัทธิศาสนาต่างๆ กลับฟื้นตัวเฟื่องฟูขึ้นมาบ้าง เกิดขึ้นใหม่บ้าง จนกระทั่งกล่าวได้ว่า ในยุคที่เจริญด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือในยุคอุตสาหกรรมช่วงปลายนี้ พร้อมกับความเจริญทางวิทยาศาสตร์นั้นเอง ก็ปรากฏว่า ลัทธิศาสนาต่างๆ ก็เพื่องฟูมากขึ้นด้วย มองดูในแง่หนึ่งคล้ายกับว่าของ ๒ สิ่งนี้ไม่น่าจะไปด้วยกันได้ วิทยาศาสตร์เป็นความเจริญทางด้านความรู้ความเข้าใจในเหตุผล และมนุษย์ก็ภูมิใจในตนเองว่าเป็นผู้เจริญด้วยวิทยาศาสตร์ แต่ในยุคเดียวกันนี้เอง โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้เมื่อวิทยาศาสตร์เจริญมาก จนกระทั่งถึงขีดที่เรียกว่าเกือบสุดแล้ว ปรากฏว่าเกิดการหวนกลับ มนุษย์หันไปหาคำตอบทางจิตใจ เกิดมีความเชื่อถือทางศาสนาแบบต่างๆ ผุดโผล่ขึ้นมามากเหลือเกิน แม้แต่ความเชื่อในแบบที่ว่างมงายไร้สาระ จำพวกลัทธิไสยศาสตร์ก็กลับเฟื่องฟูมากในสมัยนี้ เรื่องนี้จะอธิบายอย่างไรก็เป็นข้อที่น่าพิจารณา

มนุษย์บอกว่าเรามีปัญญามากขึ้น เจริญมากขึ้น มีเหตุผลมากขึ้น แต่ทำไมลัทธิความเชื่อถือเหล่านี้มากขึ้น ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา ปรากฏว่าสภาพเช่นนี้ชัดเจนมากเหลือเกิน คนในอเมริกาปัจจุบันกำลังแสวงหาคำตอบหรือสิ่งสนองความต้องการทางด้านจิตใจ กำลังหันมาสนใจลัทธิศาสนากันมาก ศาสนาใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะศาสนาจากตะวันออกเข้าไปมากมาย

ในเมืองฝรั่งเองก็ได้มีผู้ตั้งคำถามขึ้นมา ชื่อนายแอลวิน ทอฟเฟลอร์ เขาสำรวจตรวจตราสังคมของเขาแล้วก็ตั้งข้อสงสัยขึ้นมาว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเจริญอย่างสูงด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำไมคนฉลาดๆ ที่มีสติปัญญา จึงปล่อยตัวไปหลงใหลในลัทธิศาสนาต่างๆ มากมาย ที่ผุดโผล่ขึ้นมาในยุคปัจจุบันนี้เป็นคำถามของเขา ทำไมไม่ใช่เฉพาะคนที่ไม่มีการศึกษาเท่านั้น ที่หลงใหลไปอย่างนั้น ถ้าเป็นคนที่ไม่มีการศึกษา ไม่มีปัญญาก็ไปอย่าง นี่คนที่เราเรียกว่ามีปัญญา มีการศึกษาดี ก็ปรากฏว่าไปเชื่อถือในสิ่งเหลวไหลกันมากในยุคปัจจุบัน เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เด่นในอเมริกาก่อน แล้วในปัจจุบันนี้ประเทศไทยก็มีสิ่งส่อแสดงว่าจะเป็นไปในทำนองเดียวกัน เพราะว่าเราพัฒนาตามเขา จึงทำท่าทำทางออกมาว่าเราก็มีความโน้มเอียงที่จะประสบปัญหาอย่างเดียวกับเขานี้ด้วย เมื่อตั้งคำถามขึ้นมาแล้ว ก็ต้องพยายามตอบกันให้ได้

คำตอบที่ ๑ บอกว่า ปรากฏการณ์และปัญหาที่ว่ามานี้ เกิดจากภาวะแปลกแยกระหว่างจิตใจกับปัญญา ทำไมปัญญากับจิตใจจึงแปลกแยกกัน ปัจจุบันนี้เราให้ความหมายของคนมีสติปัญญา หรือแม้แต่ปัญญาชน หรือคนมีการศึกษาอย่างไร ถ้าพิจารณาตรวจสอบดูจะเห็นว่า เรามองดูคนมีปัญญาหรือมีการศึกษา ในแง่ความหมายว่า เขาได้ศึกษาเล่าเรียน หรือฝึกฝนมาให้มีความรู้เชี่ยวชาญในวิชาการบางอย่าง โดยบางทีก็เป็นเรื่องเฉพาะทิศเฉพาะทาง มีความจัดเจนเฉพาะเรื่องเฉพาะด้าน สามารถกระทำการในเรื่องนั้นๆ โดยที่ปัญญานั้นไม่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาทางจิตใจเลย เมื่อมีปัญหาทางจิตใจขึ้นมา ความรู้ความเฉลียวฉลาดในวิชาการต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งเป็นเฉพาะด้าน สำหรับประกอบการหรือทำอาชีพเป็นต้น ก็ไม่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาจิตใจ ปัญญาก็กลายเป็นสิ่งหนึ่งที่โดดเดี่ยวไปจากจิตใจ ประจวบพอดีกับที่สังคมปัจจุบันนี้ ซึ่งมีความไม่พร้อมหรือไม่เติบโตทางจิตใจ และได้สะสมเหตุปัจจัยของปัญหาทางจิตใจมาเรื่อยๆ จนถึงยุคนี้ เหตุปัจจัยเหล่านั้นก็ประทุขึ้นมาปรากฏเป็นผลคือภาวะที่มีปัญหาทางจิตใจมาก ลักษณะสำคัญของการมีปัญหาทางจิตใจในยุคนี้ ก็คือ การมีความพร่องทางจิตใจ มีความต้องการทางจิตใจ มีความขาดแคลนทางจิตใจ ที่ปัญญาของเขาเองไม่สามารถตอบสนอง ซึ่งความรู้ทางวิชาการและความจัดเจนเฉพาะเรื่องเฉพาะด้านไม่สามารถจะแก้ไข เมื่อมีลัทธิหรือขบวนการอะไรขึ้นมา ซึ่งเสนอตัวที่จะสนองความต้องการ ที่จะทำให้เกิดความรู้สึกว่า จะทำให้หมดความขาดแคลนทางจิตใจนั้นไป หรือมาขจัดความขาดแคลนทางจิตใจของเขาได้ เขาก็จะมีความรู้สึกพอใจ แล้วก็จะมีความยึดติดโดยง่าย และเพราะเหตุที่ว่าปัญญาของเขานั้น ไม่ใช่ปัญญาที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาชีวิตจิตใจได้ เขาก็เลยไม่สามารถที่จะพิจารณาอย่างถูกต้องถ่องแท้ ต่อสิ่งที่จะรับเอามาสนองความต้องการทางจิตใจของตน คือ ในด้านปัญญา วิชาการที่เขาเล่าเรียนมา ก็ไม่สามารถใช้วิเคราะห์พิจารณาสิ่งเหล่านี้ได้ ในด้านจิตใจ เมื่อขาดแคลนอยู่แล้ว พอได้รับการสนองเข้าบ้าง ก็เข้าเกาะติดพึ่งพาจนถึงหลงใหลไปเลย เอาแค่ว่าช่วยเติมแก้ความพร่อง ความขาดแคลนทางจิตใจลงไปได้บ้างก็แล้วกัน ภาวะของคนที่เรียกว่ามีการศึกษาเหล่านี้ จึงไม่ค่อยต่างอะไรกับคนที่ไม่ค่อยมีการศึกษา ที่ไปงมงายกับลัทธิไสยศาสตร์ต่างๆ ทั้งหลาย นี้ก็เป็นคำตอบอันหนึ่ง เป็นอาการที่เกิดจากภาวะแปลกแยกทางด้านจิตใจกับปัญญา

ถ้าเป็นปัญญาในความหมายที่แท้ ตามหลักการของพระพุทธศาสนา ปัญญากับจิตใจจะต้องเชื่อมโยงเอื้อผลต่อกันตลอดเวลา เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ก็คือการที่คนจะมีจิตใจที่เป็นอิสระและมีความสุขได้มากขึ้น เมื่อจิตใจเจริญงอกงามขึ้น ก็คือ การที่คนมีปัญญามากขึ้น เข้าใจชีวิตมากขึ้น และจึงรู้จักที่จะปฏิบัติต่อชีวิตคือดำเนินชีวิตได้ถูกต้องยิ่งขึ้น พร้อมทั้งปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายที่แวดล้อมในโลกได้ถูกต้องยิ่งขึ้น เพราะว่าการมีจิตใจที่ดีงาม มีชีวิตที่ดีงาม ก็คือ การที่จะต้องมีปัญญารู้จักว่าจะปฏิบัติต่อชีวิต และต่อสิ่งทั้งหลายอย่างไรนั่นเอง เมื่อเรารู้จักปฏิบัติต่อชีวิตได้ถูกต้อง ชีวิตของเรารู้จักที่จะมีความสุข ก็ไม่มีปัญหา ก็แก้ทุกข์ได้ แต่ปัญญาที่เราพูดถึงกันในปัจจุบันนี้ก็อย่างที่ว่ามาแล้ว คือเป็นเพียงความรู้ ความเชี่ยวชาญจัดเจนในวิชาการบางอย่าง มีทักษะในการทำอะไรบางอย่าง ซึ่งไม่ทำให้รู้จักว่าจะปฏิบัติต่อชีวิตของตนอย่างไร เราเคยสอนไหมว่าให้มีปัญญา คือ รู้จักปฏิบัติต่อชีวิตของตน เมื่อไม่รู้จักปฏิบัติต่อชีวิตจิตใจของตน ถึงจะเรียนมาเท่าไร ก็แก้ปัญหาของจิตใจไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็จึงต้องไปไขว่คว้าและพึ่งพาสิ่งที่ให้ความหวัง ที่จะสนองความขาดแคลนทางจิตใจจากภายนอก อย่างที่กล่าวมาแล้ว โดยที่มีอะไรก็ตามซึ่งอาจจะมาในรูปของความตื่นเต้น มาในรูปของการสนองแก้ไขความว้าเหว่ ความอ้างว้างอะไรต่างๆ แม้แต่ชั่วคราว ก็ทำให้คนเหล่านี้เกาะติดได้ง่าย ความเชื่อถือและการปฏิบัติของเขา จึงมีลักษณะของการพึ่งพาหรือหลงใหลหรือถึงกับคลั่งไคล้ เป็นภาวะของการพึ่งตนเองไม่ได้ในทางจิตใจและในทางปัญญา นี้เป็นคำตอบที่หนึ่ง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.