ทีนี้การที่จะพัฒนาชีวิตให้ได้ผลดี เราจะต้องนึกถึงสภาพที่เป็นจริงของชีวิตและสังคมในเวลานั้น เป็นธรรมดาว่า การจะทำอะไรให้ได้ผลดีก็ต้องคำนึงถึงสภาพที่เป็นจริงในขณะนั้น อาจจะพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เราต้องพิจารณาการพัฒนาชีวิต ในบริบทแห่งชีวิตและสังคมที่เป็นจริงในกาละและเทศะนั้น คือต้องโยงหลักการพัฒนาชีวิตนี้มาใช้กับสภาพสังคมและการดำเนินชีวิตที่เป็นปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ก็จึงต้องมามองดูหลักการพัฒนาทั้ง ๔ ด้านนี้ว่า ในแต่ละเรื่องนั้น มีข้อที่เราจะพิจารณาโดยสัมพันธ์กับสภาพชีวิตและสังคมปัจจุบันอย่างไร จะขอพูดตามลำดับทีละเรื่องๆ พอเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า เมื่อมีปัญหาอย่างนี้แล้ว มองในแง่ของหลักการภาวนาทั้งสี่นี้จะทำอย่างไร
๑. กายภาวนา พัฒนาทางกาย ได้กล่าวแล้วว่า การพัฒนากายเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ของตัวเรา หรือชีวิตของเราทางด้านกายภาพกับสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย สิ่งที่เราเข้าไปสัมพันธ์นั้นมีมากมาย แต่สิ่งหนึ่งซึ่งพูดไว้เมื่อกี้ที่สำคัญคือเทคโนโลยี ซึ่งในปัจจุบันนี้มีความหมายต่อชีวิตและสังคมของมนุษย์เป็นอย่างมาก บางทีก็ถึงกับเรียกยุคสมัยปัจจุบันนี้ว่าเป็นยุคแห่งเทคโนโลยี จะถือเอาเทคโนโลยีนี้เป็นเครื่องหมายแห่งความเจริญของยุคสมัยก็ว่าได้ มนุษย์เราปัจจุบันนี้ ที่พูดกันว่าโลกเจริญนั้น เจริญด้วยอะไร มองไปมองมาก็จะเห็นว่า เทคโนโลยีเป็นตัวแกนสำคัญที่ทำให้เกิดความเจริญเช่นนั้น แต่ว่ากันไปแล้ว เมื่อพิจารณาอีกแง่หนึ่ง การมองอย่างนี้เป็นการมองที่เน้นวัตถุ คือ เป็นการมองการพัฒนาหรือความเจริญเติบโตที่เน้นในด้านวัตถุอย่างเดียว เลยเอาเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องหมายของการพัฒนา ถ้ามองอย่างนี้ก็จะขาดความสมบูรณ์ คือมองปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ทั่วถึง ไม่ครบถ้วนรอบด้าน
อย่างไรก็ตาม ในที่นี้เราจะพูดถึงเรื่องความเจริญหรือการพัฒนาที่สัมพันธ์กับเทคโนโลยี เทคโนโลยีนี้ ถ้าเรามองในแง่ของความเป็นเครื่องหมายแห่งความเจริญ เราก็บอกว่ามันนำมาซึ่งความเจริญแก่มนุษย์ แต่ถ้ามองให้ดีก็ต้องบอกว่าไม่แน่ บางทีเทคโนโลยีก็นำความเสื่อมมาให้มนุษย์ ปัจจุบันเริ่มมีคนคิดถึงปัญหานี้กันมากขึ้นว่า เทคโนโลยีนำความเสื่อมมาให้แก่มนุษย์ไม่น้อยกว่านำความเจริญมาให้ แต่ถ้าพูดกันอีกสำนวนหนึ่ง เราอาจจะไม่บอกว่าเทคโนโลยีนำมาซึ่งความเสื่อมแก่มนุษย์ แต่เป็นการที่มนุษย์ปฏิบัติต่อเทคโนโลยีอย่างไม่ถูกต้องเอง จึงทำให้มนุษย์เป็นผู้เสื่อม
มนุษย์ปฏิบัติต่อเทคโนโลยีไม่ถูกต้อง มีความสัมพันธ์ไม่ถูกต้องกับเทคโนโลยีอย่างไร อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาหลายด้าน มนุษย์ต้องการได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อทำให้ตนเจริญมากขึ้น แต่ในการกระทำตามความต้องการนั้น มนุษย์อาจจะทำความเสื่อมให้กับตนเองก็ได้ ทีนี้สาระสำคัญของกายภาวนา คือการพัฒนาอินทรีย์ ถ้าหากว่ามนุษย์ไม่ลืมหลักการนี้ และยังพัฒนาอินทรีย์อยู่ตามหลักการและแนวทางที่ได้บรรยายมาแล้ว มนุษย์ก็จะยังมีความเจริญด้านกายอย่างถูกต้อง และก็จะช่วยเสริมให้การพัฒนาในด้านอื่นๆ ได้ผลดีตามไปด้วย แต่ปัญหาเกิดขึ้นว่า เมื่อเทคโนโลยีเกิดขึ้นและเจริญมากขึ้น มาช่วยสนองความต้องการของมนุษย์ ช่วยให้มนุษย์มีความพร้อมที่จะพัฒนาศักยภาพของตนได้สะดวกขึ้น แต่ปรากฏว่ามันกลับทำให้มนุษย์ไม่ฝึกฝนอินทรีย์ และกลายเป็นละเลยการฝึกฝนอินทรีย์ไปเสีย โทษจึงเกิดจากตัวมนุษย์เอง
ความจริงนั้น เทคโนโลยีเป็นเครื่องขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ อินทรีย์ของมนุษย์นั้นมีวิสัยจำกัด เรามีตา แต่ตาของเราก็ดูอะไรได้จำกัด เห็นก็ไม่ไกล ดูสิ่งเล็กจัดก็ไม่ได้ ละเอียดนักก็ดูไม่เห็น แต่พอเรามีกล้องจุลทรรศน์ ก็สามารถเห็นได้แม้แต่จุลชีพ แม้แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ละเอียดอย่างยิ่ง เรามีกล้องส่องทางไกล มีกล้องโทรทรรศน์ (คำพูดนี้อาจจะทำให้สับสน ตอนที่มีทีวีเกิดขึ้นใหม่ จำได้ว่าให้เรียกว่าโทรภาพ แต่ต่อมา เมื่อมีการนำเอาคำว่า โทรทัศน์ มาใช้กับทีวีก็เลยชักสับสน) แต่ในที่นี้จะขอเรียกว่ากล้องโทรทรรศน์ก็แล้วกัน คือกล้องที่สามารถส่องเห็นดาวที่ไกลๆ ซึ่งตาธรรมดามองไม่เห็นเลย เทคโนโลยีได้เข้ามาในฐานะเป็นเครื่องขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ ทำให้มนุษย์สามารถใช้อินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้มนุษย์มีความสะดวกสบาย หรืออย่างเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต เป็นตัวแทนของมือ ก็ขยายวิสัยแห่งการทำงานของมือ แทนที่ว่ามือจะทำงานได้เท่านี้ พอมีเทคโนโลยีเข้ามา มือก็ทำงานได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น ทำงานได้แม่นยำขึ้น ทำให้มนุษย์มีความสะดวกสบายด้วยประการต่างๆ
ทีนี้ มนุษย์นั้น เมื่อมีความสะดวกสบาย ก็มักจะมีปัญหาอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาทางจริยธรรม คือ พอมีความสะดวกสบายเราก็มักจะเพลิดเพลิน แล้วก็ปล่อยปละละเลย ไม่ฝึกฝนอินทรีย์ของตัวเอง ก็เลยตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่ามีความประมาท ความประมาทเกิดขึ้นก็ทำให้มนุษย์ไม่ฝึกฝนอินทรีย์ของตนเอง ละเลยทอดทิ้งการภาวนา เมื่ออินทรีย์ไม่ได้รับการพัฒนา มนุษย์ก็มีปัญหากับตนเอง ดังที่เราจะเห็นว่า
เริ่มแรก ถ้าเราปฏิบัติต่อเทคโนโลยีไม่ถูกต้อง มันก็จะทำให้เกิดปัญหา คือ เมื่อมนุษย์ขาดการฝึกฝนอินทรีย์ เพราะ ละเลยด้วยความประมาทเห็นไปว่า ตนมีเทคโนโลยีมาทำงานให้แล้ว อินทรีย์ของมนุษย์นี้เมื่อไม่ได้รับการฝึกฝนพัฒนาก็จะไม่ค่อยมีความไว ไม่ค่อยมีความเฉียบคม ไม่ค่อยมีความละเอียดลออ
แต่ก่อนนี้ เราจะทำอะไรก็ต้องใช้อินทรีย์ของเราเอง เมื่อใช้ไม่ค่อยได้ผล ก็ต้องอดทนและพยายามใช้ให้ได้ผลมากที่สุด ทำให้เราต้องฝึกฝนอินทรีย์ของตนอยู่เสมอ อย่างแพทย์ตรวจคนไข้ หมั่นฝึกฝนพากเพียรใช้อินทรีย์จนแก่กล้าชำนิชำนาญจนถึงขนาดที่ว่า บางท่านนั้น พอมองคนไข้เดินเข้ามา เห็นหน้าตาท่าทางก็แทบจะบอกได้ว่าเป็นโรคอะไร ช่างเครื่องยนต์หรือวิศวกรบางท่านมีความชำนาญมากในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องยนต์ จนกระทั่งว่าแม้แต่ได้ยินเสียงนิดเดียวก็บอกได้เลยว่าเครื่องเสียตรงไหน อะไรเสีย สัมผัสของคนเรานี้มีความละเอียดอ่อนมาก บางคนใช้สัมผัสนิดเดียวรู้อะไรต่ออะไรได้ มีความชำนาญมาก อินทรีย์ของมนุษย์นั้นมีวิสัยในการฝึกเป็นอย่างยิ่ง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่รู้กันอยู่
แต่เมื่อมีเทคโนโลยีมาช่วยทำงานให้แล้ว มนุษย์จะต้องเข้มแข็ง ควบคุมใจตนเองได้ และไม่ประมาท เทคโนโลยีบางอย่างช่วยในการฝึกอินทรีย์ บางอย่างก็แล้วแต่จะใช้ คือถ้ารู้จักใช้ก็ยิ่งช่วยในการฝึกอินทรีย์ให้ดียิ่งขึ้น แต่ถ้าไม่รู้จักใช้ก็กลายเป็นปล่อยให้เทคโนโลยีทำงานแทนให้อย่างเดียว จึงจะต้องพยายามใช้เทคโนโลยี ในทางที่เอื้อต่อการฝึกอินทรีย์ของตน แต่ถ้าหลงเพลินประมาท ก็จะเกิดปัญหา มนุษย์เห็นว่าเรามีเทคโนโลยีแล้ว มันทำงานให้เราแล้ว เราก็ไม่ต้องทำ เมื่อไม่ต้องทำ มนุษย์ก็ไม่ได้ฝึกตนในการใช้อินทรีย์เหล่านั้น อินทรีย์ของเขาก็สูญเสียความเฉียบคม สูญเสียความไว สูญเสียความละเอียดอ่อน แล้วต่อไปจะเป็นโทษ กล่าวคือ มนุษย์จะไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองโดยไม่มีเทคโนโลยี ชีวิตจะขึ้นกับเทคโนโลยีมากขึ้น เป็นทาสต่อเทคโนโลยีมากขึ้น ทำอะไรไม่ได้ถ้าไม่มีเทคโนโลยี
ว่ากันไปในสมัยนี้ ก็ชักจะเริ่มเป็นปัญหาในวงการแพทย์ มีการบ่นกันแล้วว่าแพทย์สมัยปัจจุบันนี้อาศัยเทคโนโลยีมากขึ้น พึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น และชักจะตรวจวินิจฉัยด้วยตนเองไม่ค่อยได้ กลายเป็นว่ามีอะไรๆ ขึ้นมาก็ต้องเทคโนโลยี ในแง่หนึ่งจริงละ เทคโนโลยีให้คุณประโยชน์มาก มีความแม่นยำ เราสามารถใช้คอมพิวเตอร์เอกซเรย์สมองเพิ่มประสิทธิภาพมากมายในการตรวจรักษา ยิ่งปัจจุบันมี M.R.I. ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก ก็ยิ่งมีคุณภาพประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้นไปอีก แต่แล้วมันก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ว่า แพทย์พอมีคนไข้เข้ามา ก็เขียนใบสั่งส่งเข้าคอมพิวเตอร์ ส่งเข้า M.R.I. ส่งเข้าเครื่องตรวจโน่น ส่งเข้าเครื่องตรวจนี่ ไปๆ มาๆ แพทย์สมัยใหม่ถ้าเผลอประมาท ไม่สำรวมระวัง ไม่ตระหนักในปัญหานี้ ก็จะขาดการฝึกฝนอินทรีย์ แล้วจะตรวจอะไร จะวินิจฉัยโรคอะไรก็ทำไม่ค่อยได้ด้วยตนเอง สู้แพทย์สมัยก่อนไม่ได้ นับว่าเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับยุคต่อไป
ยิ่งกว่านั้น ปัญหาไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเท่านี้ เมื่อมนุษย์ไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเอง ต้องคอยพึ่งเทคโนโลยี แต่เทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งที่ได้มาเปล่าๆ โดยเฉพาะประเทศที่ยังไม่พัฒนาหรือกำลังพัฒนานี้ จะยิ่งมีปัญหามากกว่าประเทศพัฒนา แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วเองก็มีปัญหาการตรวจการรักษาจะมีราคาแพงยิ่งขึ้น เพราะต้องอาศัยเทคโนโลยี เรื่องนี้ก็เลยโยงไปหาปัญหาทางเศรษฐกิจ ในเมืองไทยคนทั่วไปก็ไม่ใช่ว่าร่ำรวย ทรัพย์สินก็ไม่ค่อยมี ชาวบ้านก็ไม่มีเงินไม่มีทองจับจ่ายมากนัก คนจนก็มาก พอคนไข้มาถึงหมอ หมอก็ส่งเรื่อย ส่งเข้าเครื่องโน่นเครื่องนี่ ล้วนแต่เป็นเงินทุกอย่าง ตกลงคนไข้เอาเงินที่ไหน ตัวไม่มีเงินจ่าย ฐานะก็ลำบาก แย่ลงไปทุกที ที่หนักหน่อยก็เป็นหนี้เป็นสินไปกันใหญ่ นี้ก็เป็นเรื่องของการละเลยการฝึกฝนอินทรีย์
ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องของความเฉียบไว และความละเอียดอ่อนของอินทรีย์มนุษย์ ซึ่งจะต้องมีการฝึกฝนปฏิบัติ ซึ่งถ้าปล่อยปละละเลยมัวเพลินเสีย ก็จะไม่ได้ความมีประสิทธิภาพ แล้วก็จะต้องเป็นทาสขึ้นกับเทคโนโลยี และอาจมีผลเสียทางเศรษฐกิจตามมา โดยเฉพาะประเทศที่ด้อยพัฒนาจะเป็นปัญหาอย่างมาก ทีนี้ในระดับของประเทศทั้งหมด ถ้าประเทศนั้นไม่รู้จักผลิตเทคโนโลยีด้วยตนเอง ก็จะทำให้ประเทศทั้งประเทศกลายเป็นทาสของประเทศอื่น ที่เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีไปเสีย ทำอย่างไรเราจึงจะรู้ตัวตระหนักถึงปัญหานี้ แล้วก็ระวังไว้ คือ มีการพัฒนาทางกายในด้านความสัมพันธ์กับเทคโนโลยีให้ถูกต้อง ไม่ละเลยการฝึกฝนอินทรีย์ แล้วพยายามที่จะใช้อินทรีย์ของเราให้เป็นประโยชน์ ให้มีความเฉียบคมและคล่องไวอยู่เสมอ แม้เทคโนโลยีพัฒนาไปก็ยิ่งได้ผลดี มีเทคโนโลยีก็ยิ่งสะดวกสมบูรณ์ แต่ถึงมีเหตุให้เทคโนโลยีขาดหายก็ยังทำงานอยู่กันไปได้ดี เชื่อไหมว่า เทคโนโลยีหลายอย่างที่ทำกันขึ้นนี้ ยังสู้อินทรีย์ของมนุษย์ไม่ได้ก็มี แต่รวมความว่า ถ้าเราละเลยแล้ว จะเกิดผลเสียขึ้น ขอผ่านไป