ธรรมกับการพัฒนาชีวิต

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เทคโนโลยียิ่งก้าวหน้า ยิ่งต้องพัฒนาคน

นอกจากนั้น ปัญหาต่อไปก็คือความเพลิดเพลิน ความสะดวกสบาย ความหลงมัวเมาในความสุขจากเทคโนโลยีมักจะทำให้ประมาทหลงลืมตน ความประมาทนำมาซึ่งความมักง่าย ความขาดสติรอบคอบ คนในยุคเทคโนโลยีนี้ ถ้าไม่ระวังตัว ไม่มีการพัฒนาตนอยู่เสมอ ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นคนมักง่ายได้มาก เพราะว่าอะไรๆ ก็เทคโนโลยีทำให้หมด คนเรานั้นถ้าจะให้มีสติรอบคอบ มีความไม่ประมาท มีความละเอียดลออ ไม่มักง่าย ก็ต้องมีการฝึก การฝึกคนนั้น ต้องทำกันอยู่เสมอ เช่น ฝึกคนในการทำงาน ฝึกคนในความเป็นอยู่ ยิ่งการทำในสิ่งที่ทำได้ยาก ก็ยิ่งต้องมีการฝึกฝนให้มาก ต้องฝึกทำให้คนไม่มักง่าย ให้มีสติรอบคอบ ถ้าหากเทคโนโลยีมาทำแทนคนได้หมด และถ้าคนเราไปฝากความหวังไว้กับเทคโนโลยี คอยอาศัยเทคโนโลยี เราก็ไม่ได้ฝึกตนในเรื่องของความขยันอดทน ความมีสติรอบคอบอะไรเหล่านี้ และก็จะเกิดปัญหาขึ้นมา แล้วปัญหานี้ก็จะย้อนกลับไปเป็นโทษในทาง เทคโนโลยีเอง คือ คนที่มีความมักง่าย ประมาท ไม่ละเอียดรอบคอบ เมื่อไปทำงานกับเทคโนโลยีก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางเทคโนโลยี

ปัจจุบันนี้ ในประเทศที่พัฒนาทางด้านเทคโนโลยีแล้วอย่างสูง กำลังหวนกลับมาประสบปัญหานี้ คือการที่การพัฒนาคนบกพร่องไป คนไม่ได้พัฒนาอินทรีย์ ไม่ได้ฝึกฝนในคุณธรรม ก็เกิดเป็นปัญหาทางจริยธรรม คือการที่คนขาดสติรอบคอบ มีความประมาท มักง่าย เมื่อคนเหล่านี้ไปใช้เทคโนโลยี เกิดความพลาดพลั้งก็เป็นโทษขึ้นมาปรากฏว่าอุบัติเหตุจากเทคโนโลยีสมัยปัจจุบันมีมากขึ้นๆ และเมื่อเทคโนโลยีมีความละเอียดลออซับซ้อนยิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น อุบัติเหตุทางเทคโนโลยีก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นด้วยแล้ว ความมักง่ายนั้น ก็ทำให้เกิดโทษที่รุนแรงยิ่งขึ้นตามกัน เพราะฉะนั้น การพัฒนาคนจะทอดทิ้งไม่ได้ในยุคเทคโนโลยี กลายกลับเป็นตรงข้ามว่า ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาเจริญมากเท่าไร การพัฒนาคนก็ยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้นเท่านั้น ขอย้ำอีกทีว่า ขณะนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังประสบปัญหามากขึ้นจากอุบัติเหตุทางเทคโนโลยี แม้กระทั่งระบบการป้องกันภัยทางอากาศของอเมริกัน ที่ใช้คอมพิวเตอร์ ก็เคยมีอุบัติเหตุที่ว่าเครื่องบอกผิด ทำให้คิดว่ารัสเซียปล่อยจรวด ปล่อยขีปนาวุธมาแล้ว อเมริกันก็รีบเอาเครื่องบินขึ้นไป แต่เมื่อตรวจสอบเทคโนโลยี ปรากฏว่าเทคโนโลยีทำงานผิดพลาด สาเหตุก็อาจจะเกี่ยวโยงกับความผิดพลาดไม่ละเอียดรอบคอบของคนบ้าง แต่บางเรื่องนั้นเกิดจากสาเหตุนี้โดยตรง เช่น อุบัติเหตุที่เชอร์โนบิล อุบัติเหตุของโรงงานปฏิกรณ์นิวเคลียร์แม้แต่ที่เกาะทรีไมล์ของอเมริกาเอง ตลอดจนการระเบิดของกระสวยอวกาศ ที่เป็นข่าวใหญ่ไม่นานนี้ ก็เกิดจากความประมาทของมนุษย์ เพราะฉะนั้น อันนี้เป็นปัญหาหนึ่งที่จะเกิดขึ้น โดยเป็นความเสื่อมที่เกิดจากมนุษย์ปฏิบัติตนไม่ถูกต้องต่อเทคโนโลยี

ต่อไป ในแง่ของความสุขความทุกข์ก็จะมีปัญหาเหมือนกัน เทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้มนุษย์รู้สึกว่าได้รับความสุขมากขึ้น มีความสะดวกสบายมากขึ้น ทำอะไรได้อย่างใจมากขึ้น และนอกจากว่าปริมาณของความสุขดูเหมือนจะมากขึ้นแล้ว ขีดระดับของความสุขก็ดูเหมือนจะสูงขึ้นด้วย เรามีเทคโนโลยีที่ละเอียดอ่อนซับซ้อน มาปลุกเร้าประสาทสัมผัส ทำให้มีการสนองความต้องการของประสาทสัมผัสอย่างแรง ทำให้มีความตื่นเต้นอย่างถึงขนาด ซึ่งเราเรียกว่าเป็นความสุขมากขึ้น ระบบเสียงดนตรีที่ออกจากเครื่องเสียงต่างๆ ที่ซับซ้อน มีทั้งแบบปลุกเร้า ทั้งแบบนุ่มนวลละเมียดละไม สนองความต้องการได้เต็มที่ถึงขีดสุด ทำให้คนรู้สึกว่ามีความสุขมาก อันนี้เป็นด้านที่เรามองในแง่ดี แต่ในเวลาเดียวกันถ้ามองกว้างออกไปให้เห็นสภาพความจริงตลอดสาย ก็จะพบว่าขณะนี้กำลังเกิดปัญหา คือ คนเรากำลังมีความสุขยากขึ้น เพราะเมื่อมีเทคโนโลยีสนองความต้องการมากขึ้น และอย่างรุนแรงมากขึ้น คนก็กลายเป็นเคยชินกับการปลุกเร้าและการสนองในปริมาณและขีดระดับนั้น ทำให้มีความต้องการในขั้นที่ว่าจะต้องได้อย่างนั้นและขนาดนั้นเท่านั้นจึงจะมีความสุข ถ้าไม่ได้อย่างนั้นและขนาดนั้นแล้ว ก็ไม่อาจมีความสุขได้ และกลายเป็นมีความรู้สึกขาดแคลนบกพร่องเป็นทุกข์ แต่ก่อนเคยได้เท่านี้ก็สุข แต่เดี๋ยวนี้สุขไม่ได้กลายเป็นทุกข์ เหมือนกับการมีเครื่องเสียง แต่ก่อนนี้เรามีเครื่องเสียงระดับหนึ่ง เช่น วิทยุ เสียงก็ไม่ชัดเจนเท่าใด เรียกว่าชัดเจนพอสมควร เสียงดนตรีก็พอสมควรหรือพอฟังได้ พอเปิดฟังวิทยุนั้น เราก็มีความสุข ต่อมามีเครื่องเสียงที่ละเมียดละไมยิ่งขึ้นเข้ามา ทำให้คนรู้สึกว่ามีความสุขมากขึ้น แต่พอสมมุติว่าเขาไม่ได้เครื่องเสียงชนิดนั้น ระดับนั้น กลับมาฟังเครื่องเสียงธรรมดาที่เคยฟังแล้วมีความสุขสมัยก่อน คราวนี้กลับกลายเป็นรำคาญ ไม่มีความสุข กลายเป็นความทุกข์ ดิ้นรนกระวนกระวายอยู่ไม่ได้ ไม่สามารถมีความสุขด้วยเทคโนโลยีเก่าที่ระดับต่ำกว่า และด้วยสภาพชีวิตที่สามัญธรรมดาเขาก็มีความสุขไม่ได้

เพราะฉะนั้น คนในสังคมเทคโนโลยี ถ้าไม่ฝึกตัวเองไว้ให้ดี จะกลายเป็นคนที่มีความสุขได้ยาก และมีความทุกข์ได้ง่ายด้วย เพราะเคยชินกับความสะดวกสบายและการสนองเร้าอย่างนั้นแล้ว พอขาดเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกปั๊บ ก็กระวนกระวายเดือดร้อนไปหมด สมัยก่อนไม่มีเทคโนโลยีเหล่านี้ก็ไม่เห็นเป็นไร อยู่ได้ มีความสุข เดี๋ยวนี้อยู่ไม่ได้ ไม่มีความสุขแล้ว เป็นอันว่า เทคโนโลยีได้เลื่อนขีดระดับของการที่จะเป็นสุขให้สูงขึ้นไป บุคคลก็จะต้องพยายามก้าวขึ้นไป หรือไขว่คว้าให้ถึงขีดระดับนั้นจึงจะมีความสุขได้ ถ้าไม่ถึงระดับนั้นก็ไม่มีความสุข ยิ่งกว่านั้น แม้แต่ขีดของความสุขที่เลื่อนขึ้นไปแล้ว อยู่ไปก็ชินชา กลายเป็นว่าถึงขนาดนั้นก็ไม่พอที่จะให้มีความสุข ต้องเลื่อนขีดระดับของการที่จะเป็นสุขขึ้นไปอีกเรื่อยๆ นี้คือปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่เกิดในสังคมเทคโนโลยี ซึ่งเราจะต้องแก้ด้วยการพัฒนาคนอยู่ตลอดเวลา ให้คนมีความสำนึกในความหมายที่แท้จริง และขอบเขตของเทคโนโลยี และใช้อย่างรู้เท่าทัน รู้จักประมาณ และรู้จักคุณและโทษของมัน แล้วฝึกตนอยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้มีผลที่กลายเป็นว่า ถ้าเราฝึกตนแล้วในแง่ความสุข ถ้ามีเทคโนโลยีช่วย ก็ดีไป แต่ถึงจะไม่มีเทคโนโลยี ฉันก็มีความสุขได้ ฉันเคยมีความสุขอย่างไร ฉันก็ยังมีความสุขได้อย่างนั้น ถ้ามีเทคโนโลยีฉันก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้น แต่เทคโนโลยีอันไหนถ้าเข้ามาแล้ว จะทำให้เกิดโทษเป็นทุกข์แก่สังคมแก่ชีวิตระยะยาว ฉันก็ไม่เอานะ ต้องมีหลักมีเหตุผลของตนเองแล้วสามารถปฏิเสธอย่างนี้ด้วย จึงจะเป็นการปฏิบัติต่อเทคโนโลยีอย่างถูกต้อง นี้เป็นตัวอย่างของความสัมพันธ์กับเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการพัฒนาทางด้านกาย

เป็นอันว่า ยิ่งเทคโนโลยีเจริญเราก็ต้องยิ่งระวัง เราจะยิ่งต้องฝึกตน ฝึกอินทรีย์ของเราไว้ให้เต็มที่ ทั้งฝึกอินทรีย์ทางด้านการใช้งาน และฝึกอินทรีย์ในด้านการรับสิ่งที่ดีงามเข้ามา ไม่รับสิ่งที่เป็นโทษเข้ามา หรือแม้รับรู้เข้ามาแล้ว ก็สามารถหันเหเบนกระแสความคิด ความรู้สึกไปในทางที่ดีงามเป็นคุณประโยชน์ไร้โทษ เท่ากับพูดว่า การพัฒนาคนนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะละเว้นหรือหยุดยั้งได้ ในยุคไหนเรายิ่งมีความเจริญขึ้นเท่าใด การพัฒนาคนก็จะยิ่งมีความจำเป็นและสำคัญมากขึ้นเท่านั้น ที่พูดมาเป็นเพียงตัวอย่าง

กินพอดี ใช้พอดี คือศีลแห่งยุคสมัย

๒. ศีลภาวนา การพัฒนาด้านศีล ด้านระเบียบชีวิต และระบบสังคม คือการดำเนินชีวิตของเราที่ไปสัมพันธ์กับโลกหรือสังคม ในฐานะที่อยู่ท่ามกลางโลกหรือสังคมนั้น ปัจจุบันนี้โลกมาถึงยุคสมัยหนึ่งที่มีความโน้มเอียง ในลักษณะที่เป็นสุดโต่ง ดูเหมือนว่าจะเป็นลักษณะของชีวิตมนุษย์โดยทั่วไปที่โน้มไปสู่ความสุดโต่ง สมัยหนึ่งสุดโต่งทางวัตถุ ต่อมาอีกสมัยหนึ่งก็จะสุดโต่งทางจิต แม้ในยุคเดียวกัน มนุษย์ก็มักมีลักษณะการดำรงชีวิตที่เป็นปฏิกิริยาต่อกันในทำนองนี้ คือจะมีมนุษย์พวกหนึ่งสุดโต่งทางวัตถุ และพร้อมกันนั้นก็จะมีมนุษย์อีกพวกหนึ่งซึ่งมีปฏิกิริยาไปสุดโต่งทางจิต สภาพเช่นนี้เป็นเรื่องที่ต้องระวังเหมือนกัน ในพระพุทธศาสนาเรื่องนี้ก็เป็นข้อที่เราควรจะต้องยกขึ้นมาคิดพิจารณาด้วย เพราะถ้าไม่พิจารณาและไม่ระวังให้ดีแล้ว เราอาจจะพาเอาพระพุทธศาสนาไปอยู่ในฝ่ายสุดโต่งเหล่านี้ด้วย

มนุษย์นั้นพวกหนึ่งสมัยหนึ่งก็ปล่อยตัวเต็มที่ อีกพวกหนึ่งสมัยหนึ่งก็เข้มงวดกับตัวเองสุดขีด หรือสมัยหนึ่งระเริงหลงมัวเมาในสิ่งต่างๆ เต็มที่ อีกสมัยหนึ่งก็หันมาบีบคั้นตนเอง ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดในยุคพุทธกาล ดังที่พระพุทธเจ้าเองก็ได้ทรงปฏิบัติมาก่อนที่จะตรัสรู้ พระองค์ผ่านมาทั้งสองข้างหมดแล้ว ตอนแรกทรงอยู่ในสุดโต่งทางด้านความมัวเมาในวัตถุที่เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค ต่อมาออกบวชและก็ได้ทำตามนิยมตามแบบของนักบวชสมัยนั้น กล่าวคือนักบวชสมัยนั้น มีความสุดโต่งในการบำเพ็ญตบะทรมานตนเองด้วยประการต่างๆ พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงไปทดลองดูแล้ว ในที่สุดพระองค์ก็เห็นตระหนักว่า เป็นวิถีทางปฏิบัติต่อชีวิตที่ผิดพลาด แล้วจึงได้ทรงพิจารณาเลือกหาและดำเนินทางใหม่ คือทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทาซึ่งเป็นทางที่มีดุลยภาพ มีสมดุล ซึ่งได้ถือเป็นตัวกำหนดลักษณะสำคัญขั้นพื้นฐานของพระพุทธศาสนาตลอดมา ดังนั้น การดำเนินชีวิตและการปฏิบัติต่างๆ ในพระพุทธศาสนาจึงมีลักษณะแห่งความพอดีอยู่เสมอ

ในพระพุทธศาสนามีคำศัพท์สำคัญหลายคำ ที่แสดงลักษณะของความพอดี มัชฌิมา ก็แปลว่าพอดี สมตา ก็แปล ว่าพอดี มัตตัญญุตา ก็แปลว่ารู้จักพอดี ลักษณะสำคัญของพระพุทธศาสนาก็คือความพอดี ที่ว่าไม่สุดโต่ง การไปสุดโต่งนั้นเป็นปฏิกิริยาที่ตรงข้ามกัน คือ ด้านหนึ่งก็พองตัวปูดโป่งออกไป เมื่อพองตัวเกินไปก็ระเบิด อีกด้านหนึ่งก็บีบกด อัดตัวแน่นเข้ามา เมื่อบีบกดเข้ามาถึงที่สุดก็จะเกิดปฏิกิริยาจนระเบิดเหมือนกัน หรือไม่เมื่อบีบกดมากด้านนี้ก็ทะเล็ดออกไปด้านโน้น บีบกดด้านโน้นก็ทะเล็ดออกมาด้านนี้ มันไม่พอดี ถ้าจะให้ได้ผลสมบูรณ์ก็ต้องมีความพอดี เพราะฉะนั้น หลักพระพุทธศาสนาจึงเป็นหลักของความพอดี ถึงกับมีภาษิตบทหนึ่งว่า ความรู้จักพอดีให้ผลดีทุกเมื่อ เขียนเป็นภาษาบาลีว่า “มตฺตญฺญุตา สทา สาธุ” รู้จักพอดีแล้วให้ผลดีทุกเมื่อ

ความพอดีเป็นหลักการสำคัญ เช่นในการบริโภค พระพุทธศาสนาก็เน้นย้ำหลักการสำคัญว่าจะต้องบริโภคแต่พอดี จึงมีหลักธรรมสำคัญข้อหนึ่งเรียกว่า ‘โภชเนมัตตัญญุตา’ แปลว่า ความรู้จักประมาณในการบริโภค คือ กินพอดี และ ‘สมชีวิตา’ เป็นอยู่พอดี คือกินใช้พอดี ให้ผลดีแก่ชีวิต กินพอดี ใช้พอดี เป็นหลักธรรมที่แสดงลักษณะสำคัญของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะกินพอดีนั้นเน้นบ่อยมาก จริงอยู่ ในบางแห่งก็มีการสอนในลักษณะที่ว่า ให้กินน้อยใช้น้อยบ้างเหมือนกัน แต่การกินน้อยใช้น้อยนั้นเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง คือ เป็นข้อปฏิบัติพิเศษ ไม่ใช่หลักกลางหรือหลักทั่วไป บางครั้งท่านยกย่องหรือยอมให้ในแง่ที่เป็นอุบายฝึกตน ท่านจึงเรียกว่าเป็นวัตร ถึงตอนนี้จะต้องให้สังเกตความแตกต่างระหว่าง ศีล กับ วัตร การกินพอดีใช้พอดี เป็นศีล การกินน้อยใช้น้อย เป็นวัตร เช่น โภชเนมัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณหรือรู้จักพอดีในการบริโภค เป็นปัจจัยสันนิสิตศีล เอกาสนิกังคะ การถือกินมื้อเดียว เป็นธุดงควัตร การกินน้อยโดยตรงได้แก่ อัปปาหารตา ท่านยกย่องเหมือนกัน แต่ขยายความว่าหมายถึงไม่เห็นแก่ปากท้องหรือไม่เห็นแก่กิน มุ่งให้ภิกษุตัดกังวลในเรื่องอาหาร และให้เป็นผู้ที่ชาวบ้านเลี้ยงง่าย แต่ต้องไม่ผิดหลักความรู้จักพอดี คือถือในลักษณะที่สนับสนุน มัตตัญญุตา และไม่เป็นเกณฑ์ในการตัดสินคุณพิเศษ โดยเฉพาะสำหรับคฤหัสถ์ ไม่ปรากฏเลยว่าพระพุทธเจ้าสอน ให้ปฏิบัติหลักอัปปาหารตาหรือกินน้อยนี้ ทรงสอนแต่สมชีวิตา คือการกินอยู่พอดี

วัตรคืออะไร? วัตร คือข้อปฏิบัติพิเศษ ที่ถือในกรณีพิเศษเป็นเฉพาะเรื่องๆ หรือสมัครใจถือเป็นพิเศษ เพื่อฝึกฝน ขัดเกลาตนเองเป็นพิเศษ วัตรนี้ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนควรปฏิบัติเสมอกัน หรือว่าทุกที่ทุกเวลา เป็นข้อปฏิบัติที่เหมาะในบางโอกาสบางเวลาเพื่อประโยชน์เฉพาะอย่าง หรือเป็นข้อปฏิบัติที่เหมาะสำหรับบางคน เพื่อใช้ในการฝึกฝนขัดเกลาตัวเขาเองในสภาพชีวิตของเขาที่แตกต่างจากคนอื่น เช่น บางคนมีความมัวเมา มีความฟุ้งเฟ้อมามาก สำนึกได้ อยากจะฝึกตนให้มาก ก็อาจจะไปขอถือปฏิบัติสิ่งที่พระเรียกว่า ธุดงค์ ธุดงค์ คือข้อปฏิบัติในการขัดเกลาหรือขูดเกลา เช่นถืออยู่ป่า ใช้ผ้าที่เขาทิ้ง กินมื้อเดียว เป็นต้น การฝึกตนแบบนั้นมีหลักว่า ถ้าฝึกไปแล้วกุศลธรรมเพิ่มพูน ก็ควรถือ ถ้าฝึกไปแล้วอกุศลธรรมเพิ่มขึ้น ก็ไม่ควรถือ อันนี้เป็นหลักทั่วไป

สำหรับคนทั่วไป หลักที่จะช่วยได้ ซึ่งแปลเป็นภาษาง่ายๆ ชัดเจนกว่านั้น ขอให้ดูจากตัวอย่าง เช่นว่า กินพอดีคือกินอย่างไร ใช้พอดีคือใช้อย่างไร จะเอากินพอดีเป็นตัวอย่างก่อน เมื่อกี้บอกแล้วว่า เป็นการยากที่จะกำหนดว่าตรงไหนหรือแค่ไหนพอดี หลักในพระพุทธศาสนานั้นบอกไว้ชัดเจน การกินพอดี ก็คือจะต้องให้ได้คุณค่าที่แท้จริงของสิ่งนั้น โดยทำให้เกิดผลที่เรียกในภาษาปัจจุบันว่า เกิดคุณภาพชีวิต ในการกินอาหารนี้ กินแค่ไหนจึงจะทำให้เกิดคุณภาพชีวิตเท่าที่ชีวิตต้องการ เราก็เรียกว่าแค่นั้นพอดี การกินอย่างนี้ตรงกันข้ามกับกินอีกแบบหนึ่ง ที่เรียกว่ากินเพื่อเอร็ดอร่อย การกินแบบเอร็ดอร่อยนี่ไม่มีจุดพอดี แล้วก็เกิดโทษแก่ชีวิต แต่ถ้ากินเพื่อคุณภาพชีวิตแล้วก็มีจุดพอดี การที่จะเกิดคุณภาพชีวิต ก็คือ การได้คุณค่าแท้ของสิ่งต่างๆ

พระพุทธศาสนาจึงสอนให้เกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ โดยพิจารณาคุณค่าแท้ของสิ่งนั้นๆ ซึ่งจัดเป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้น ดังเช่นพระที่บวชเข้ามาใหม่ เบื้องแรกที่สุดก็จะได้รับการสั่งสอนแนะนำว่า เมื่อจะบริโภคใช้สอยปัจจัย ๔ ให้พิจารณา ปฏิสังขาโย (= ปฏิสงฺขา โยนิโส) คือพิจารณาโดยแยบคายว่า ที่เรารับประทานอาหารนี้มิใช่เพื่อสนุกสนานมัวเมา เพื่ออวดโก้ แสดงฐานะ เป็นต้น แต่รับประทานเพื่อให้ร่างกายดำรงชีวิตอยู่ได้ มีสุขภาพดี เป็นอยู่ผาสุก อันนี้เรียกว่ากินโดยเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของมัน คือเข้าใจคุณค่าแท้แล้วทำให้เกิดคุณภาพชีวิต เพราะฉะนั้น ที่เรียกว่ากินพอดีก็คือ พอดีที่จะทำให้เกิดคุณภาพชีวิต เรียกว่าเป็นการกินด้วยปัญญา คนที่จะรู้จักคุณภาพชีวิตต้องมีปัญญา จึงต้องฝึกกันขึ้นมา คือเป็นเรื่องที่ต้องให้การศึกษา ต้องพัฒนาทั้งนั้น พัฒนาคนให้มีปัญญา ให้รู้จักพิจารณาว่าคุณค่าแท้ของสิ่งต่างๆ คืออะไร คุณภาพชีวิตของเราคืออะไร อะไรคือผลดีที่ชีวิตของเราต้องการ ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงความอยากของเราเท่านั้น แล้วกิน ใช้ บริโภค และปฏิบัติให้ได้คุณภาพชีวิตนั้น นี้เรียกว่าเป็นการปฏิบัติที่พอดี ถูกต้อง เรียกได้ว่า กินเป็น ใช้เป็น บริโภคเป็น ถ้ามิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นการบริโภค เป็นการกินการใช้อย่างที่ท่านเรียกว่า สนองตัณหา คือกิน ใช้เพียงเพื่อเอร็ดอร่อย สนุกสนาน มัวเมา โก้เก๋ อวดกัน เป็นต้น ถ้ากินด้วยความรู้เข้าใจเพื่อคุณค่าแท้ เพื่อคุณภาพชีวิต ท่านเรียกว่ากินด้วยปัญญา หรือ สนองฉันทะ แยกกันระหว่างตัณหากับฉันทะ

ในการศึกษาหรือฝึกฝนพัฒนาคนนั้น เราต้องการฝึกให้เขามีฉันทะเพิ่มขึ้น ให้รู้จักที่จะทำอะไรๆ ได้ด้วยความรู้เข้า ใจสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ โดยไม่ต้องปล่อยตัวไปตามตัณหา หรือว่าใช้ตัณหาให้น้อยลง และใช้ฉันทะเพิ่มขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งมีปัญญาที่จะทำด้วยฉันทะและด้วยปัญญาแท้ๆ โดยสมบูรณ์ นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการฝึกฝนพัฒนาคนในระดับศีล เป็นตัวอย่างที่สัมพันธ์กับชีวิตในสังคมปัจจุบัน ซึ่งเราควรจะทำให้ถูกต้อง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.