ธรรมกับการพัฒนาชีวิต

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

กายวาจา จุดเชื่อมต่อการพัฒนาทางสังคมกับทางจิตใจ

ข้อที่ ๒ ศีลภาวนา หรือการพัฒนาศีล ศีลนั้นใกล้กับวินัย ศีลต่างจากวินัยอย่างไร ในแง่หนึ่ง ศีลเป็นสภาพหรือคุณสมบัติของตัวบุคคล วินัยเป็นกิจกรรมที่เป็นไปในสังคม ศีลเป็นเรื่องของการที่บุคคลนั้นมีระเบียบในการดำเนินชีวิตและในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยดี ความมีระเบียบหรือประพฤติตนอยู่ในระเบียบอย่างนี้เรียกว่า ศีล ส่วนวินัยนั้นเป็นการจัดระเบียบ ทั้งการจัดระเบียบชีวิตของตนและการจัดระเบียบในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ตลอดจนการจัดระบบสังคมทั้งหมด ศีลกับวินัย จึงเป็นของคู่กัน คือ วินัยทำให้เกิดศีล ถ้าเรารักษาวินัยเราก็เป็นผู้มีศีล ทางพระตามปกติจะเรียกคนว่าเป็นผู้มีศีล เราไม่ใช้คำว่ามีวินัย แต่ในภาษาไทยเรานิยมใช้คำว่า มีวินัย

ที่จริง สองคำนี้เป็นคู่กัน วินัยนั้นเนื่องอยู่กับสังคม โดยทั่วไป วินัยจะเป็นบัญญัติ คือ กำหนดวางขึ้นมาเพื่อเป็นแบบแผนสำหรับการประพฤติที่ดีงามของบุคคล และเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคมซึ่งเป็นเรื่องสมมุติ เช่นการที่จะขับรถชิดซ้าย ชิดขวา เป็นต้น คือจัดอย่างไรก็ตามให้สังคมมีระเบียบได้ เราก็เรียกว่าเป็นวินัย ตกลงว่า วินัยนั้นเป็นการจัดสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมา ให้คนมีระเบียบในการดำเนินชีวิตและอยู่ร่วมกันให้ดี ศีลก็คือการที่คนนั้นเขามีระเบียบชีวิตอย่างนั้นหรือประพฤติตนอยู่ในระเบียบอย่างนั้น ซึ่งเขาได้รักษาไว้อย่างดีแล้ว เราเรียกคนที่รักษาวินัยว่าเป็นคนมีศีล

เป็นอันว่า ในเรื่องศีลภาวนานี้ เราต้องการพัฒนาคนให้มีระเบียบในการดำเนินชีวิต และในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ทีนี้เรื่องของศีล ที่เป็นเรื่องของความมีระเบียบในการดำเนินชีวิตและการอยู่ร่วมกันในระบบสังคมนั้น ถ้าเราแยกคร่าวๆ ก็จะเห็นได้หลายระดับเหมือนกัน

ระดับต้นที่เป็นพื้นฐาน ก็คือ ความมีระเบียบระบบในการเป็นอยู่ ในการดำเนินชีวิต โดยที่ไม่ให้มีการเบียดเบียนกัน จะเห็นว่า หลักศีลขั้นแรกทีเดียวก็มุ่งที่การไม่เบียดเบียน ศีลที่เราเรียกกันง่าย คือศีล ๕ ซึ่งเป็นศีลพื้นฐาน จะเห็นว่า เป็นเรื่องของการไม่เบียดเบียนกันทั้งนั้น กล่าวคือ ไม่เบียดเบียนต่อกันในทางชีวิตร่างกาย ในทางทรัพย์สิน ในทางคู่ครอง ในการใช้วาจา ตลอดจนไม่เบียดเบียนสติสัมปชัญญะของตนเอง เริ่มต้นศีลจึงเป็นเรื่องของการมีระเบียบในระดับของการไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน เมื่อไม่เบียดเบียนกันแล้ว ความหมายก็ขยายออกไปถึงความสุจริต

ต่อจากนั้นขึ้นไป เมื่อเราดำรงชีวิตอยู่ในสังคม อยู่ร่วมกับคนอื่น โดยมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การประพฤติตนอย่างนั้นก็อยู่ในขั้นของศีลด้วย แต่เป็นศีลที่ขึ้นมาสู่ระดับที่เป็นบวก เลยจากขั้นเบียดเบียนไปแล้ว ต่อจากนั้นก็มีอีกระดับหนึ่ง คือ การฝึกฝนควบคุมตนในทางกายวาจา เพื่อเป็นพื้นฐานของการฝึกจิตใจ หรือเป็นพื้นฐานในการพัฒนาจิตใจ จะเห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าศีลบางอย่าง เช่น ศีลของพระ ศีลของอุบาสกที่ไปรักษาศีลอุโบสถ เป็นศีลที่ต้องมีการฝึกกาย วาจา เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาจิตใจ เช่น ต้องรู้จักควบคุมบังคับใจตัวเองให้ดีขึ้น การที่จะบังคับใจตัวเองได้ดีขึ้น ก็ฝึกด้วยการบังคับควบคุมตัวเองด้านร่างกายก่อน การที่จะควบคุมบังคับตัวเองในทางร่างกายได้นั้น ก็จะต้องทำการบังคับควบคุมจิตใจของตัวเองไปด้วยในตัว ศีลในขั้นนี้ จึงเป็นการประพฤติปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ หรือข้อกำหนดที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อจะฝึกฝนตนเองในการที่จะเจริญขึ้นในคุณธรรมต่างๆ ในทางจิตใจยิ่งๆ ขึ้นไป โดยสัมพันธ์กับการพัฒนาข้อต่อไปที่เรียกว่าเป็นการพัฒนาจิตใจ อันนี้เป็นหลักในข้อที่เรียกว่าการ พัฒนาศีล

ข้อที่ ๓ จิตภาวนา หรือการพัฒนาจิตใจ การพัฒนาจิตใจนี้เป็นเรื่องที่กว้างขวางมาก เพื่อความสะดวกขอรวบรัดแบ่งเป็น ๓ ด้าน คือ

ด้านที่ ๑ การพัฒนาคุณภาพจิต จิตของเรานี้ ควรเป็นจิตใจที่มีคุณภาพ เริ่มแต่มีคุณธรรมต่างๆ ที่ทำให้จิตใจ ประณีตดีงาม เช่น มีเมตตากรุณา มีศรัทธา มีความกตัญญูกตเวที เป็นต้น

ด้านที่ ๒ การพัฒนาสมรรถภาพจิตหรือสมรรถภาพของจิตใจ หมายถึงความสามารถของจิตใจ ซึ่งมีความเข้มแข็งที่จะเอาไปใช้งานได้ดี จิตของเราเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องนำไปใช้งาน เราจะทำงานได้เก่ง เราก็ต้องมีจิตที่มีสมรรถภาพเป็นพื้นฐานก่อน เราจะใช้ปัญญาคิดค้นอะไรต่างๆ ให้ได้ผล ตลอดจนจะก้าวหน้าไปด้วยดีในการพัฒนาชีวิต จิตของเราก็ต้องมีสมรรถภาพเช่นเดียวกัน สมรรถภาพของจิตนี้เน้นที่ตัวสมาธิ คือจิตจะต้องมีสมาธิจึงจะทำงานได้ผลดี นอกเหนือจากสมาธิแล้ว จะต้องมีสติ จะต้องมีวิริยะ คือความเพียรพยายาม ความกล้าสู้ ความเอาใจใส่ รับผิดชอบ ความเข้มแข็งของจิตใจ ความอดทน เป็นต้น อันนี้เป็นเรื่องของสมรรถภาพจิต

ด้านที่ ๓ การพัฒนาสุขภาพจิต นอกจากมีคุณธรรม มีคุณภาพจิต และนอกจากมีสมรรถภาพจิตเข้มแข็งแล้ว ก็ต้องมีสุขภาพจิตด้วย คือ จิตใจนั้นมีความสุข เป็นจิตใจที่มีความเบิกบาน มีปีติ มีความอิ่มใจ มีปราโมทย์ มีความร่าเริงบันเทิงใจ เป็นต้น ลักษณะต่างๆ ของจิตใจที่มีความสุขนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ย้ำมากในพระพุทธศาสนา เวลาพูดถึงการพัฒนาจิต เรามักจะนึกถึงแต่ในด้านสมรรถภาพจิต ดูเหมือนจะเน้นแง่นั้นมากหน่อย บางทีก็ขาดสุขภาพจิตไปเลย การขาดสุขภาพจิตเป็นปัญหาสำคัญของสังคมในยุคปัจจุบัน จึงจะต้องเน้นเรื่องสุขภาพจิตกันไว้ให้มากด้วย

นี้ก็เป็นการกล่าวโดยย่อ ในเรื่องจิตภาวนา หรือการพัฒนาจิตใจ ไม่ว่าจะไปบำเพ็ญสมาธิ ไปทำกรรมฐานหรือ อะไรต่างๆ ก็อยู่ในการพัฒนาจิตหรือจิตภาวนา ๓ ด้านเหล่านี้

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.