ธรรมกับการพัฒนาชีวิต

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

พัฒนากายเน้นที่พัฒนาอินทรีย์

ข้อที่ ๑ กายภาวนา การพัฒนากาย หรือ ทำกายให้เจริญงอกงามนั้นทำอย่างไร ในความหมายที่ง่ายที่สุด คนทั่วไปก็จะนึกถึงการทำให้ร่างกายเจริญเติบโตแข็งแรง หรือการมีสุขภาพกายที่ดี อันนี้เป็นความคิดเบื้องแรก พอได้ยินศัพท์นี้คนทั่วไปก็มักจะนึกถึงความหมายในแง่นี้ก่อน แต่นั่นเป็นความหมายในแง่หนึ่งด้านเดียว ซึ่งไม่ใช่จุดที่เน้นในพระพุทธศาสนาด้วยซ้ำ บางท่านก็อาจจะนึกต่อไปว่า นอกจากการทำกายให้เจริญเติบโตแข็งแรงมีสุขภาพดีแล้ว การพัฒนากายนี้ก็จะหมายถึงการพัฒนาทักษะ การฝึกฝนการใช้ร่างกาย การใช้มือ ใช้อวัยวะ ให้มีความคล่องแคล่วชำนาญในการที่จะประกอบการต่างๆ ซึ่งมุ่งหมายไปในทางอาชีพ แต่นี่ก็ยังไม่ถึงความหมายของพระพุทธศาสนาที่แท้จริง การพัฒนากายในพุทธศาสนานี้ ท่านหมายถึงข้อต่อไปซึ่งคลุมความหมายแม้แต่การพัฒนาทักษะด้วย

ขั้นที่สาม ซึ่งเป็นการพัฒนากาย ในความหมายที่แท้จริง ก็คือการพัฒนาอินทรีย์ อินทรีย์ของเรานี้ก็มี ตา หู จมูก ลิ้นและกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้สำหรับสัมพันธ์กับโลกภายนอก เป็นช่องทางที่เราสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางวัตถุ และทางธรรมชาติทั้งหมด การฝึกฝนพัฒนาอินทรีย์นั้นมีความหมายคลุมไปถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรา กับสภาพแวดล้อมทั้งหมด ทั้งทางธรรมชาติ และวัตถุต่างๆ เนื่องจากการใช้อินทรีย์ทั้งหลายนั่นเอง คนเราจึงสัมพันธ์กับธรรมชาติแวดล้อมหรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ เราจะใช้อินทรีย์ต่างๆ ไปสัมพันธ์กับโลกภายนอกให้ได้ผลดี ก็ต้องมีการพัฒนาอินทรีย์ หรือพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น การฝึกฝนพัฒนาอินทรีย์หรืออินทรียภาวนานั้นมี ๒ แง่ ด้วยกัน คือ

๑. ฝึกฝนในแง่การใช้งาน คือ ทำให้อินทรีย์เหล่านี้มีความเฉียบคม มีความละเอียดอ่อน มีความไว มีความคล่อง มีความจัดเจน เหล่านี้เป็นการฝึกในแง่การใช้งาน คล้ายกับที่พูดว่า ฝึกทักษะ

๒. ฝึกในแง่การทำให้รู้จักเลือกรับเอาสิ่งที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์เข้ามาให้แก่ชีวิต ป้องกันไม่ให้รับเอาสิ่งที่ไม่ดีหรือเป็นโทษเข้ามา

แง่ที่สองนี้ เป็นเรื่องของความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่สำคัญมาก เราเอาอินทรีย์ของเราไปสัมพันธ์กับโลก เราใช้ตาของเราสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลาย โดยใช้ตาดูสิ่งต่างๆ เรามองเห็นสิ่งต่างๆ ซึ่งเรียกว่าเป็นประสบการณ์ หรือทางพระเรียกว่าอารมณ์ที่รับเข้ามา ในการรับเข้ามาซึ่งอารมณ์ หรือประสบการณ์ต่างๆ นั้น เราสามารถรับทั้งในแง่ที่เป็นคุณและในแง่ที่เป็นโทษแก่ชีวิต ถ้ารับไม่เป็นเพราะไม่เคยพัฒนาอินทรีย์เลย เราก็อาจจะรับเข้ามาในลักษณะที่เป็นโทษแก่ชีวิต อย่างที่ทางพระเรียกว่าทำให้อกุศลธรรมเจริญงอกงาม ถ้ารับเป็นคือรับเข้ามาในลักษณะที่ถูกต้องเป็นคุณประโยชน์แก่ชีวิต ก็เรียกว่าทำให้กุศลธรรมเจริญงอกงาม คือรับแล้วได้คุณภาพชีวิต หมายความว่า ถ้าดูอะไรก็ต้องรู้จักดู ขอยกตัวอย่างง่ายๆ เหมือนอย่างเด็กดูโทรทัศน์ ถ้ารู้จักใช้อินทรีย์ดู ดูเป็นก็ได้คุณประโยชน์ ได้ความรู้ ได้สิ่งที่เป็นสาระ ถ้าดูไม่เป็น ไม่รู้จักเลือกดู ก็จะได้สิ่งที่เป็นโทษ ให้เกิดผลเสียแก่ชีวิต แม้แต่การรับประทานอาหาร ที่เรียกว่าใช้ลิ้น ถ้าใช้ลิ้นเป็น รับประทานอาหารเป็น ก็ทำให้เกิดคุณภาพชีวิต ทำให้ได้คุณค่าของอาหาร ถ้ารับประทานอาหารไม่เป็น มุ่งแต่อร่อย ก็ทำให้เสียคุณภาพชีวิต อาจจะเกิดท้องเสีย อาจจะเกิดความเสื่อมเสียสุขภาพไปได้ต่างๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องของการใช้อินทรีย์ในทางที่ว่า จะรับเอาคุณหรือโทษเข้ามาจากสิ่งที่เราไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทั้งหมดนั้น

ที่ว่ามานี้เป็นเรื่องของการพัฒนาอินทรีย์ หรือการพัฒนากาย ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งโดยสรุปก็คือ การที่เราพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรา หรืออินทรีย์ของเรากับวัตถุ สิ่งเสพสิ่งบริโภคต่างๆ เริ่มตั้งแต่ปัจจัย ๔ เป็นต้นไป ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาให้มีความสัมพันธ์อย่างถูกต้อง ถ้าสัมพันธ์อย่างถูกต้องก็เรียกว่าเป็นการพัฒนากาย แต่ถ้าสัมพันธ์ไม่ถูกต้อง รับสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นโทษ เช่น กินอาหารก็ไม่เป็น ดูโทรทัศน์ก็ไม่เป็น ฟังวิทยุก็ไม่เป็น แม้แต่ฟังเสียงคนพูดก็รับอารมณ์เข้ามาในแง่ที่ทำให้เกิดโทษ เกิดโทสะ ไม่รู้จักรับเข้ามาในทางที่จะทำให้เกิดปัญญา อย่างนี้เรียกว่าไม่ได้พัฒนากาย

ในทางพระพุทธศาสนาให้ความหมายของการพัฒนากายในแง่ที่ว่ามานี้ คือ พัฒนาความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ให้เป็นไปในทางที่เกิดประโยชน์แก่ชีวิต โดยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับวัตถุ สิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่ปัจจัย ๔ จนถึงความสัมพันธ์กับธรรมชาติแวดล้อมโดยทั่วไป ธรรมชาติแวดล้อมโดยทั่วไป ก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน เราจะสัมพันธ์อย่างไร จึงจะอยู่กับธรรมชาติด้วยดี ให้มีความเกื้อกูลกันระหว่างชีวิตของเรากับธรรมชาตินั้น ทำอย่างไรให้ชีวิตของเราได้รับความดีงาม ได้รับความงอกงามเข้ามาจากธรรมชาติแวดล้อม ถ้าเรารู้จักรับความงามของธรรมชาติ รู้จักรับความสดชื่นของธรรมชาติ เป็นสุขที่จะอยู่กับธรรมชาติ และในทางกลับกัน เราก็รักและรู้จักรักษาธรรมชาติไว้ ทำให้ธรรมชาติอยู่ในสภาพที่ดี มีความสวยสดงดงาม มีความร่มรื่น เป็นต้น อย่างนี้ก็เป็นความสัมพันธ์ที่ดีกับธรรมชาติแวดล้อม

ท้ายที่สุดก็คือ สิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวเด่นมากในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องทางด้านกายภาพ เป็นเรื่องของวัตถุเช่นเดียวกัน ได้แก่ความสัมพันธ์กับเทคโนโลยี อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง ตอนนี้ขอพูดไว้แต่เพียงหลักก่อน ถ้ามีเวลาจะพูดถึงความสัมพันธ์กับเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนาในด้านกายอย่างหนึ่ง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.