ข้อที่ ๔ ปัญญาภาวนา การพัฒนาปัญญา การพัฒนาปัญญานี้มีหลายระดับ ถ้ามองง่ายๆ ทั่วไปก็คงจะนึกถึงเรื่องของการเรียนรู้วิชาการต่างๆ ก่อน หรืออย่างน้อยก็นึกถึงการที่เราไปพบเห็นประสบสิ่งใดก็ตาม แล้วให้มีความเข้าใจในสิ่งนั้น ไม่ใช่รับรู้อย่างที่ว่าโง่ๆ เซ่อๆ แต่รับรู้โดยมีความรู้ความเข้าใจ อย่างนี้ก็เรียกว่ามีปัญญา อะไรก็ตามที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง จะต้องจัด ต้องทำ ก็ต้องรู้ต้องเข้าใจในสิ่งนั้น ตลอดถึงการเรียนรู้วิชาการต่างๆ ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจในวิชาการเหล่านั้น รวมทั้งความรู้เหตุรู้ผลอะไรต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นเรื่องของการพัฒนาปัญญา ในระดับหนึ่ง
การที่เราจะเกิดปัญญาในระดับต่างๆ ได้นั้น สิ่งที่เราจะต้องเกี่ยวข้องเบื้องแรกก็คือ ประสบการณ์ที่เข้ามา ไม่ว่าวิชาการต่างๆ หรืออะไรก็ตาม ก่อนที่จะเกิดเป็นปัญญาได้ เราต้องรับรู้เข้ามาเป็นประสบการณ์ แต่การรับรู้ประสบการณ์นี้ จะให้เกิดปัญญาที่แท้จริงได้ จะต้องมีวิธีการฝึก เราจะรับรู้ประสบการณ์อย่างไร จึงจะเกิดปัญญา ท่านว่าจะต้องรับรู้ประสบการณ์นั้นตรงตามสภาพของมัน การรับรู้ตรงตามสภาพของมัน หรือทางพระเรียกว่า รับรู้ตามความเป็นจริงนี้เป็นสิ่งสำคัญ ลักษณะที่ตรงข้ามกับการรับรู้ประสบการณ์อย่างตรงตามสภาพ ก็คือ การรับรู้โดยประกอบด้วยความชอบและชัง คือ คนเราพอเจอประสบการณ์ต่างๆ จะต้องมีปฏิกิริยา ถ้าเป็นปุถุชนคือคนที่ยังไม่ได้เรียนรู้ ยังไม่มีการศึกษา พอรับรู้เข้ามา สิ่งใดถูกใจก็ชอบใจ สิ่งใดไม่ถูกใจก็ไม่ชอบใจ เรียกว่าชอบกับชัง หรือยินดีกับยินร้าย พอยินดียินร้ายแล้วก็มองสิ่งเหล่านั้นบิดเบือนไป ถ้าสิ่งใดยินดีตัวเองชอบ ก็มองไปในทางที่ดี ให้สอดคล้องกับความชอบใจ ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกใจ พอไม่ชอบใจแล้ว ก็มองไปอีกอย่างหนึ่ง ในทางที่สอดคล้องกับความไม่ชอบใจหรือความชังนั้น เรียกว่าเกิดความยินดียินร้าย แล้วก็คิดปรุงแต่ง ต่อจากนั้นไปภาพของสิ่งนั้นก็คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ในทางปฏิบัติสิ่งสำคัญในตอนแรก ก็คือ ทำอย่างไรจะให้มีการรับรู้ที่ตรงตามสภาพที่มันเป็น โดยไม่เกิดการชอบชัง ยินดียินร้ายขึ้นมาบิดเบือนภาพของสิ่งที่ถูกรับรู้นั้น ถ้าปฏิบัติถูกต้องในตอนนี้ก็จะได้ความรู้ที่ถูกต้อง จากฐานของข้อมูลที่รับเข้ามาอย่างถูกต้องนี้ การคิดการพิจารณาก็จะดำเนินไปอย่างถูกต้องได้
ต่อจากขั้นที่รับรู้เข้ามาแล้ว ก็คือ ขั้นของการคิดการวินิจฉัยหรือวางแผนต่างๆ ซึ่งก็จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องเช่นเดียวกัน เมื่อได้ข้อมูลที่รับเข้ามาตรงตามสภาพโดยบริสุทธิ์แล้ว ก็ต้องมีการใช้ปัญญาคิดพิจารณา วินิจฉัย การคิดพิจารณาวินิจฉัยของคนนั้น ถ้าไม่ได้ฝึกอบรมปัญญาไว้ ปัญญาจะไม่เป็นอิสระ ปัญญาจะไม่บริสุทธิ์ ปัญญาที่ไม่เป็นอิสระ ไม่บริสุทธิ์นั้นเป็นอย่างไร ก็คือจะเป็นปัญญาที่ตกอยู่ในอำนาจครอบงำของอคติ คือ มีฉันทาคติ ลำเอียงเพราะชอบใจ โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง เพราะไม่ชอบใจ โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลง หรือภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว หรือไม่อย่างนั้นก็ถูกชักจูงด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ถ้าตัวเองอยากได้ก็คิดวางแผน คิดวินิจฉัย ตามความโลภความอยากได้ของตัว หรือตามความเห็นแก่ตัวคือจะให้ตัวได้ หรือจะเอาให้ได้ ถ้ามีโทสะ เกิดความไม่ชอบใจ มีความเกลียดชังคิดทำลาย ก็คิดวางแผนไปอีกแบบหนึ่ง การคิดแบบนี้เรียกว่าเป็นปัญญาที่ไม่เป็นอิสระ เพราะตกอยู่ใต้อำนาจครอบงำและถูกชักจูงโดยโลภะ โทสะ โมหะ จึงต้องมีการฝึกฝนว่า ทำอย่างไรจะให้ความคิด การพิจารณาวินิจฉัยสิ่งต่างๆ ตลอดจนการวางแผนทุกอย่าง ดำเนินไปด้วยปัญญาที่เป็นอิสระ ท่านใช้คำว่าปัญญาเป็นอิสระ ปัญญาก็รู้จักเป็นอิสระเหมือนกัน เพราะว่าปัญญาที่ไม่เป็นอิสระก็ถูกครอบงำโดยโลภะ โทสะ โมหะ หรืออคติต่างๆ อย่างที่กล่าวมา เป็นอันว่าจะต้องสามารถคิดวินิจฉัยสิ่งต่างๆ และวางแผนการทั้งหลายด้วยปัญญาที่เป็นอิสระซึ่งเป็นปัญญาที่บริสุทธิ์
ปัญญาในขั้นต่อจากนั้น ก็คือ ความสามารถที่จะนำความรู้มาใช้จัดแจง จัดทำ ดำเนินการต่างๆ ให้สำเร็จผลตามที่ต้องการ อันนี้ก็เป็นปัญญาอีกเหมือนกัน ปัญญาในการที่จะจัดทำดำเนินการให้สำเร็จผล โดยเฉพาะในการแก้ปัญหาต่างๆ ให้สำเร็จนี้สำคัญมาก บางคนมีความรู้แล้ว มีข้อมูลที่รับเข้ามาโดยถูกต้องแล้ว แต่ไม่มีความสามารถในการแก้ปัญหา ไม่มีความสามารถในการใช้ ก็ไม่ได้ผลสำเร็จตามที่ประสงค์ ฉะนั้น จะต้องมีปัญญาในระดับของการเอามาใช้ คือ ใช้แก้ปัญหา ใช้จัดทำดำเนินการให้สำเร็จผลด้วย และยังมีปัญญาสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เชื่อมโยงในเรื่องนี้ คือ ความสามารถในการที่จะสืบค้นเหตุปัจจัย และแยกแยะ วิเคราะห์สิ่งต่างๆ ซึ่งจะเป็นตัวเอื้ออำนวยในการที่จะแก้ปัญหา และทำกิจการให้สำเร็จผลได้
ต่อจากนั้น ปัญญาในขั้นสุดท้ายก็คือความรู้เท่าทันโลกและชีวิตตามเป็นจริง ซึ่งจะส่งผลย้อนกลับมาช่วยจิตใจ ทำให้จิตใจเป็นอิสระ คนเรานี้เมื่อยังไม่มีปัญญา ไม่รู้จักโลกและชีวิตตามเป็นจริง ก็หลงวิ่งไปตามอำนาจชักจูงของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏแก่ตนซึ่งเข้ามากระทบจากโลกภายนอก ด้วยความยินดียินร้ายต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้ แล้วก็เกิดทุกข์กับปัญหาต่างๆ มีความยึดติดในสิ่งต่างๆ อย่างน้อยก็คอยสร้างตัวตนขึ้นมารับกระทบกระแทกจากอารมณ์ และความคิดปรุงแต่งต่างๆ ก่อปัญหาแก่ตนเอง ไม่สามารถจัดการดำเนินการกับสิ่งเหล่านั้นด้วยปัญญาที่แท้จริง เพราะจะเอาแต่ความปรารถนาของตัวเองเป็นหลัก หรือเป็นตัวกำหนด คือจะให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามความอยาก ความปรารถนาของตน เอาความอยากของตนเป็นตัวกำหนด ให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามความต้องการ แต่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ไม่ได้เป็นไปตามความอยากความปรารถนาของเรา เมื่อเราจะให้มันเป็นไปทางหนึ่งตามความอยากของเรา แต่มันกลับเป็นไปเสียอีกทางหนึ่งตามเหตุปัจจัยของมัน ใจที่อยากของเราก็ถูกขัด ถูกฝืน เกิดความขัดแย้ง ตัวเราก็เกิดความบีบคั้น เกิดปัญหา เป็นทุกข์ แต่พอมีปัญญา รู้เข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง ก็จะไปถึงขั้นสุดท้าย คือ เป็นปัญญาที่ทำให้จิตใจเป็นอิสระออกมาจากสิ่งต่างๆ ในภายนอกได้ คือไม่ยึดติดถือมั่นในโลก หมายความว่า สิ่งอะไรเข้ามา เราก็รับรู้ตามเป็นจริง ปฏิบัติต่อมันตามเหตุผล ด้วยความรู้เท่าทันต่อเหตุปัจจัย แต่ไม่มีความยึดติดถือมั่นที่จะมาบีบคั้นตัวเอง เรียกว่าไม่ทำให้เกิดความทุกข์ โยงมาแต่ขั้นต้นทีเดียว คือถ้าคนมีปัญญาถึงขั้นทำให้จิตใจเป็นอิสระ การรับรู้ต่างๆ ก็บริสุทธิ์ไปด้วย การรับรู้สิ่งที่เข้ามาก็จะตรงตามสภาพที่เป็นจริง
ทั้งหมดนี้เป็นปัญญาในระดับต่างๆ ซึ่งจะเห็นว่า ในทางพระพุทธศาสนาต้องมีการพัฒนาปัญญานี้หลายขั้นหลายตอน จนกว่าจะบรรลุจุดหมายสุดท้ายคือมีปัญญาที่รู้เท่าทันโลกและชีวิต ซึ่งส่งผลให้จิตใจเป็นอิสระ จุดนี้ก็สำคัญเหมือนกัน คือเราจะเห็นความเชื่อมโยงระหว่างหลักการพัฒนานี้ว่า เมื่อปัญญาเจริญอย่างถูกต้องก็จะส่งผลแก่จิตใจ ทำให้จิตใจดีงาม มีความสุข เป็นอิสระและเข้าถึงจุดหมายสูงสุดของชีวิตด้วย รวมความว่า การพัฒนามีหลักใหญ่ ๔ ประการ คือ
เมื่อใดมีภาวนาครบ ๔ ประการนี้โดยสมบูรณ์ ท่านเรียกว่าเป็นพระอรหันต์ คือบุคคลที่ได้พัฒนาสี่ด้านนี้ครบถ้วนบริบูรณ์ อันนี้เป็นคำจำกัดความอย่างหนึ่งของพระอรหันต์ คำว่า กายภาวนา ศีลภาวนา จิตภาวนา และปัญญาภาวนานี้ เป็นคำนาม เมื่อเปลี่ยนรูปเป็นคุณศัพท์จะเปลี่ยนเป็นคำแสดงคุณสมบัติของพระอรหันต์ กล่าวคือ
เรียกว่า เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ซึ่งเข้าถึงจุดหมายของการพัฒนาชีวิตอย่างแท้จริง ตกลงว่าการพัฒนาชีวิตก็มาถึงจุดหมาย เท่ากับจบไปทีหนึ่ง