กรณีเงื่อนงำ: พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร? (ฉบับตัดสั้น)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

รู้แล้วยิ่งมั่นใจและยิ่งเลื่อมใสว่า ท่านรักษาพระธรรมวินัย ไว้กับพระไตรปิฎกได้อย่างอัศจรรย์

ตามที่ได้อธิบายมาจะเห็นชัดว่า คำสอนของพระพุทธเจ้า เช่น พระสูตรต่างๆ นั้น เรื่องเดียวกัน ตอนเดียวกัน อาจปรากฏอยู่ในที่หลายแห่ง ในพระไตรปิฎกต่างเล่มกัน และอาจอยู่ไกลกันมากด้วย ซึ่งกลับเป็นการดีที่ช่วยให้มีความมั่นใจมากขึ้นในการดำรงรักษา

แต่ข้อสำคัญที่สุด ก็คือ พระสูตรเดียวกัน หรือคำสอนเรื่องเดียวกัน ที่รักษาไว้ต่างแห่งต่างเล่มกันนั้น ทั้งที่ในอดีตผ่านมาเป็นพันๆ ปี ท่านรักษาไว้ด้วยการทรงจำปากเปล่าโดยมุขปาฐะ และมีผู้รับผิดชอบต่างคณะกัน เมื่อตกมาถึงพวกเราก็ปรากฏว่า พระสูตรหรือคำสอนเรื่องเดียวกัน ที่อยู่ต่างเล่มต่างแห่งกัน แม้แต่ ๓-๔ แห่ง เมื่อนำมาเทียบเคียงกัน ก็มีเนื้อความและถ้อยคำตรงกันเรียบร้อยบริบูรณ์ แม้บางทีมีส่วนที่ต่างกันบ้าง เช่น อุกกเจลา กับอุกกเวลา ในมหาปรินิพพานสูตรของพระไตรปิฎกต่างฉบับ ก็น่าจะเกิดจากความผิดพลาดในยุคที่คัดลอกด้วยตัวหนังสือ

เมื่อมองเห็นเช่นนี้ จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ แสดงถึงการที่ชาวพุทธในอดีตได้ตระหนักยิ่งในความสำคัญของพุทธพจน์ในพระไตรปิฎก และได้เพียรพยายามรักษาสืบทอดกันมา ด้วยความรอบคอบระมัดระวังอย่างดีที่สุด เป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธา และทำให้เกิดความมั่นใจอย่างยิ่งในพระธรรมวินัย ที่จะนำมาศึกษา นำทางการปฏิบัติ และสั่งสอนแนะนำกันต่อๆ ไป

สรุปว่า เมื่อบทความของท่านเมตตาฯ เกิดจากความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลขั้นพื้นฐานและโดยรวมที่ผิดพลาดอย่างนี้แล้ว การตีความและสันนิษฐานต่างๆ บนฐานของข้อมูลนั้น ก็ไม่อาจถูกต้องได้

แม้แต่ประเด็นเฉพาะทั้งหลายในบทความของท่านเมตตาฯ ก็เป็นปัญหาที่ข้อมูลผิดพลาดไปทั่ว เหมือนนึกขึ้นมาก็เขียนเลย ไม่ได้ตรวจสอบ จะขอยกตัวอย่างสัก ๒-๓ เรื่อง (ดูรายละเอียดเพิ่ม พร้อมทั้งบทความของพระเมตตาฯ ในฉบับเต็ม ๒๐๒ หน้า)

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง