กรณีเงื่อนงำ: พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร? (ฉบับตัดสั้น)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

กรณีเงื่อนงำ: พระพุทธเจ้า
ปรินิพพานด้วยโรคอะไร?1

(ฉบับตัดสั้น)

ขออาราธนาพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก ได้เมตตาให้ธรรมโอวาทแก่ชาวธรรมะร่วมสมัย

ในเบื้องต้นนี้ ขอนมัสการเรียนถามเรื่องพระมโน เมตฺตานนฺโท ได้เขียนวิพากษ์วิจารณ์พระพุทธเจ้าลงใน นสพ.บางกอกโพสต์ และในวารสาร ศิลปวัฒนธรรม ว่า พระเดชพระคุณมองเห็นการกระทำนี้เป็นอย่างไร

ขอเจริญพร ชาวธรรมะร่วมสมัยทุกท่าน

ขออนุโมทนาที่ชาวธรรมะร่วมสมัยจัดรายการเดินทางมาเยี่ยมเยียน-ทำบุญที่วัดนี้ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นครั้งแรก

พ.อ.ทองขาว ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ที่เป็นปัญหากระทบต่อพระพุทธศาสนา และประโยชน์สุขของส่วนรวม โดยเฉพาะประโยชน์ทางธรรมทางปัญญาของประชาชน คือ เรื่องที่มีพระภิกษุ ได้แก่ท่านเมตตานันโท เขียนวิจารณ์การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ที่เล่าไว้ในมหาปรินิพพานสูตร

บทความที่ลงพิมพ์ครั้งแรก ตามที่ทราบ พระเมตฺตานนฺโท เขียนลงใน นสพ. Bangkok Post ฉบับวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๐๐๐ เป็นภาษาอังกฤษ ชื่อเรื่องว่า “How the Buddha Died”

ต่อมา บทความของผู้เขียนรูปเดียวกันนั้น เป็นภาษาไทย ลงพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๓ ชื่อเรื่องว่า “พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร?2

คำสรุป-สันนิษฐาน-วินิจฉัย ของท่านเมตตาฯ ในบทความนี้มากแห่ง เป็นของแปลกแก่ชาวพุทธ แต่ข้อสำคัญอยู่ที่ว่ามีความถูกต้อง รวมทั้ง "เป็นวิชาการ" หรือไม่ เช่น ท่านเมตตาฯ กล่าวว่า

ความทั้งหมดของปาฏิหาริย์ที่ต้นสาละคู่นี้อาจเป็นเรื่องราวที่ต่อเติมในภายหลัง แต่อาจยืนยันได้ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานใหม่ๆ นั้น ชาวพุทธยังจดจำได้ดีว่าเป็นฤดูหนาว หรือฤดูใบไม้ร่วงตอนปลาย ซึ่งต้นสาละในป่าสลัดใบร่วงหล่นไปหมดแล้ว

ความหลายตอนในมหาปรินิพพานสูตรนี้สนับสนุนตรงกัน ว่าสถานที่ที่ปรินิพพานจริงนั้นน่าจะเป็นห้องพักเล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองกุสินารามากกว่าที่จะเป็นป่าไม้สาละนอกเมืองนั้น

ความเป็นจริงที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ ทรงประคองพระองค์ไม่ไหว พระภิกษุผู้ติดตามต้องนำพระองค์ไปรักษาอาการประชวรซึ่งเกิดขึ้นแบบกะทันหัน โดยช่วยกันทำแคร่หามพระองค์ไปหาแพทย์ ให้รักษาในเมืองที่ใกล้ที่สุด

ความจริง เรื่องนี้อาตมาก็ได้ยินมาตั้งแต่มีบทความลงใหม่ๆ เพราะมีผู้หวังดีเอาหนังสือพิมพ์มาถวายบ้าง ถ่ายเอกสารมาให้บ้าง พิมพ์จากอินเทอร์เน็ตมาก็มี ทั้งที่ลงใน ศิลปวัฒนธรรม และที่มีการกล่าวอ้างใน นสพ.มติชน อาตมาบอกตรงๆ ว่าไม่ค่อยได้เอาใจใส่ อ่านคร่าวๆ แต่ต่อมาก็ได้ยินว่าเป็นเรื่องที่เอาไปพูดกันมากทางวิทยุ และวงการต่างๆ จึงกลายเป็นเรื่องที่ว่า ถ้าไม่ทำให้กระจ่างแจ่มแจ้งก็จะเกิดผลเสีย ประชาชนโดยเฉพาะชาวพุทธก็จะเกิดความคลางแคลงสับสน จึงนับว่าเป็นปัญหาขึ้นมา

ว่าที่จริง เรื่องการวิพากษ์วิจารณ์นี่ พระพุทธศาสนาของเราเปิดกว้างอยู่แล้ว เรียกว่าชาวพุทธน่ะใจกว้าง บางที่ใจกว้างจนกระทั่งไม่เอาเรื่องเลย ที่จริงใจกว้างนี่คนละอย่างกับไม่เอาเรื่อง ถ้าไม่เอาเรื่องราว คือปล่อยปละละเลย ก็กลายเป็นประมาท พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้แล้วว่า เมื่อมีการเห็นผิดเข้าใจผิด กล่าววาทะที่ทำให้เข้าใจผิดพลาด ก็ต้องชี้แจงให้รู้เข้าใจตามเป็นจริง เมื่อมีเรื่องที่ว่านี้ ซึ่งกำลังแพร่ขยายไปในสังคม ก็ต้องทำความเข้าใจกัน

การพิจารณาเรื่องข้อเขียนนี้ เพื่อความสะดวกอาจจะพูดใน ๒ แง่ คือ ในแง่ที่ผู้เขียนเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเถรวาท และในแง่ที่ผู้เขียนแสดงตนเป็นนักวิชาการ

เบื้องต้น ในแง่ที่เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเถรวาท จะเว้นไว้ก่อน จะขอพูดเฉพาะในแง่ที่ท่านแสดงตนเป็นนักวิชาการ

1ธรรมกถา ตามคำอาราธนาของชาวธรรมะร่วมสมัย ที่วัดญาณเวศกวัน ๒๐ ก.ค. ๒๕๔๓
2ด้านหลังปกใน ใช้คำแนะนำเรื่องว่า “เงื่อนงำปรินิพพาน พระพุทธเจ้าดับขันธ์ด้วยโรคอะไร?”
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง