กรณีเงื่อนงำ: พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร? (ฉบับตัดสั้น)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

มหาปรินิพพานสูตรมีลักษณะพิเศษแท้อยู่ที่ไหน

ข้อต่อไปที่จะพิจารณา เนื่องจากคำกล่าวของท่านเมตตาฯ คือ

๒. มหาปรินิพพานสูตร มีปาฏิหาริย์ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่าตอนใดๆ ในพระไตรปิฎกทั้งหมดรวมกัน จริงหรือ?

ความที่ได้อธิบายมา เท่ากับได้ตอบชี้แจงคำกล่าวนี้ไปแล้ว เพราะเรื่องราวในมหาปรินิพพานสูตรส่วนมากก็แยกย้ายไปอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มต่างๆ ปาฏิหาริย์ที่กล่าวถึงในเรื่องราวนั้นๆ ก็ไปอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มนั้นๆ ด้วย เช่น

- การหายตัวข้ามแม่น้ำคงคาพร้อมด้วยหมู่สงฆ์ ไปมีในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ด้วย พร้อมกับพุทธอุทานครั้งนั้น (สาระที่ท่านมุ่งหมาย ไม่ใช่ให้ติดอยู่กับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ แต่อยู่ที่ธรรมในพุทธอุทานที่ว่า ขณะที่คนทั้งหลายสาละวนอยู่กับการผูกหาเรือแพเพื่อจะข้ามน้ำข้ามทะเล เมธีชนได้ข้ามไปแล้ว ซึ่งหมายถึงข้ามฝั่งสังสารสาคร เมื่อตรัสพุทธอุทานคือธรรมจบ เรื่องจึงจบ ไม่ใช่จบที่ฤทธิ์ปาฏิหาริย์)

- การเห็นเหล่าเทพยดาที่ลงมาตั้งถิ่นฐานในเมืองปาฏลีบุตร ก็ไปอยู่ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากพุทธอุทานข้อเดียวกันนั้นแหละ

- เรื่องสามารถมีอายุยืนได้ตลอดกัปป์ ก็ได้อธิบายแล้วว่า หมายถึงอายุกัปป์ ไม่ใช่มหากัปป์ที่จะอยู่ถึงสิ้นโลก และเป็นเรื่องที่มีในพระไตรปิฎกมากแห่ง ทั้งเล่ม ๑๙ เล่ม ๒๓ เล่ม ๒๕ และเล่ม ๑๐ นี้

เมื่อเรื่องทั้งหลายในมหาปรินิพพานสูตร มีอยู่ในที่อื่นๆ ในพระไตรปิฎก ปาฏิหาริย์ทั้งหลายในมหาปรินิพพานสูตรก็มีในที่อื่นๆ ของพระไตรปิฎกด้วย เพราะฉะนั้น มหาปรินิพพานสูตรจึงไม่อาจจะมีปาฏิหาริย์ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่าตอนใดๆ ในพระไตรปิฎก ทั้งหมดรวมกัน

หลักการก็คือ ปาฏิหาริย์เรื่องใด ในมหาปรินิพพานสูตร จะไปมีในพระไตรปิฎกเล่มอื่นหรือไม่ ก็แล้วแต่ว่าในพระไตรปิฎกเล่มอื่นนั้นๆ เก็บเรื่องราวตอนนั้นๆ ด้วยหรือไม่

อย่างเรื่องปาฏิหาริย์ตอนหลังปรินิพพาน ก็ย่อมไม่มีในพระไตรปิฎกเล่มอื่น เพราะ (อย่างที่บอกแล้วว่า โดยทั่วไปพระไตรปิฎก มุ่งเก็บพุทธพจน์ คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่เล่าเหตุการณ์ที่ไม่มีพุทธพจน์) ท่านจึงไม่ได้เก็บเรื่องราวตอนนั้นด้วย

แต่ในทำนองเดียวกัน ปาฏิหาริย์หลายเรื่องที่เนื่องอยู่กับเรื่องราวตอนอื่น ที่ไม่เกี่ยวกับการปรินิพพาน ก็มีในพระไตรปิฎกเล่มอื่น แต่ไม่มีในมหาปรินิพพานสูตร เช่น ปาฏิหาริย์ตอนประสูติ และตอนทรมานชฎิล (คือฝึกให้ชฎิลเปลี่ยนใจ)

จึงไม่ใช่เรื่องที่จะมาพูดว่า มหาปรินิพพานสูตรมีปาฏิหาริย์ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่าตอนใดๆ ในพระไตรปิฎกรวมกันทั้งหมด เดี๋ยวก็จะมีผู้อื่นมาเถียงว่า ปาฏิหาริย์ในพระสูตรอื่น เช่น มหาปทานสูตร น่าอัศจรรย์กว่าในมหาปรินิพพานสูตร

ที่จริง น่าจะมองเป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่จะมีเรื่องเกี่ยวกับปาฏิหาริย์เด่นพิเศษในบางเรื่องบางเหตุการณ์ แต่รวมแล้วในที่สุด เป้าหมายก็อยู่ที่ธรรมเป็นสูงสุด ทุกอย่างไปจบที่ธรรม

อีกข้อหนึ่งที่จะพิจารณาเนื่องจากคำกล่าวของท่านเมตตาฯ คือ

๓. มหาปรินิพพานสูตร มีลีลาการพรรณนาแตกต่างไปจากพระสูตรอื่นๆ ทั่วไป จริงหรือ?

คำกล่าวนี้มีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่เป็นความแตกต่างธรรมดา ที่ไม่น่าตื่นเต้นหรือแปลกใจ ที่จริงพระสูตรแต่ละสูตรก็มีลีลาของตน ตามเนื้อหาสาระ และขึ้นต่อวิธีแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าในคราวนั้นๆ แต่ดังได้กล่าวแล้วว่า

  • พระสูตรทั่วๆ ไป เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการจัดหมู่แยกประเภท ที่ถือธรรมหรือเนื้อหาสาระเป็นหลัก ดังนั้น เรื่องราวที่อยู่ในเหตุการณ์เดียวกันหรือใกล้ๆ กัน จึงถูกจัดแยกไปรวมไว้ในพระไตรปิฎกต่างแห่งต่างที่กระจัดกระจายไกลกัน
  • ส่วนมหาปรินิพพานสูตรนี้ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ายึดเอาการปรินิพพานเป็นหลัก คือยึดเอาเหตุการณ์เป็นหลัก จึงทำให้เรื่องราวที่เกี่ยวกับการปรินิพพานมาเรียงรวมอยู่ด้วยกัน และที่ถือได้ว่าแปลกจากพระสูตรทั่วๆ ไป ก็คือในแง่นี้

พูดง่ายๆ ว่า พระสูตรทั่วๆ ไปมีหลักธรรมหรือเนื้อหาสาระเป็นแกนร้อยให้มารวมกัน แต่มหาปรินิพพานสูตรมีเหตุการณ์เป็นแกนร้อยเรื่องราวให้มารวมและเรียงกัน (ที่เรียกว่าพระสูตรก็เพราะเป็นเหมือนแกนหรือด้ายร้อยนี่แหละ)

แม้จะใช้แกนร้อยคนละอย่าง แต่เนื้อความเรื่องราวส่วนมากก็อันเดียวกัน คือเหมือนกัน เพียงแต่จับมาใส่คนละที่โดยเรียงลำดับคนละอย่าง เพราะฉะนั้น พอลงไปถึงตัวเนื้อความก็กลายเป็นลีลาเดียวกัน จึงว่าไม่ได้น่าแปลกใจหรือตื่นเต้นอะไร

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง