กรณีเงื่อนงำ: พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร? (ฉบับตัดสั้น)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ใฝ่รู้จริง รักความจริง ชื่อตรงต่อความจริง
นักวิชาการไทยจะสร้างปัญญาให้แก่สังคมได้

จะด้วยเข้าใจผิดเอง หรือพยายามจะให้คนทั่วไปเข้าใจผิด ก็ตาม ได้มีการพูดและเขียนในทำนองที่จะทำให้คนไขว้เขวว่ากรณีของท่านเมตตาฯ นี้ เป็นการตีความทางวิชาการ และว่าผู้ที่ออกมาคัดค้านหรือชี้แจงเป็นคนใจแคบ ทั้งที่แท้จริงนั้น กรณีของท่านเมตตาฯ นี้ เห็นอยู่ชัดๆ ว่าเป็นเพียงความผิดพลาดบกพร่องในเรื่องข้อมูลข้อเท็จจริงง่ายๆ พื้นๆ เท่านั้น

เปรียบเหมือนว่า มีชาวต่างประเทศนายหนึ่งมาทัศนาจรเมืองไทย ไปเที่ยวชมแม่ฮ่องสอนได้จังหวัดเดียว ก็กลับไปเขียนเล่าว่า ประเทศไทยมีแต่ภูเขาเต็มไปหมด

ชาวต่างประเทศอีกนายหนึ่ง มาเมืองไทย เที่ยวในจังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วก็มาทัศนาจรในกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงจนถึงอยุธยา กลับไปแล้ว ก็เขียนบอกว่า เมืองไทยมีภูเขาอยู่ที่เดียว คือในจังหวัดแม่ฮ่องสอน นอกนั้นมีแต่ที่ราบ

ใครไปชี้แจงให้เขาฟังว่า ที่เขาพูดนั้นยังไม่ถูกต้อง ประเทศไทยไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าเขาตอบกลับมาว่า เป็นการตีความทางวิชาการ เขามีสิทธิทำเช่นนั้น คำพูดของเขานี้คงต้องถือว่าแปลกประหลาด ไม่มีใครจะยอมรับได้

กรณีบทความของท่านเมตตาฯ นี้ ในส่วนที่ท่านยกขึ้นตั้งเป็นประเด็นใหญ่ให้เป็นชื่อเรื่องว่า “พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร?” นั้น แพทย์ใหญ่ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางเดินอาหารเอง ก็พูดแล้วว่า การวินิจฉัยโรคที่ท่านเมตตาฯ ทำไปนั้น ไม่ถูกต้องตามหลักวิชา ทำไปโดยมีข้อมูลไม่เพียงพอ เป็นการเดาที่ยึดถือไม่ได้

ในส่วนของประเด็นที่ซ้อนหรือแฝงอยู่ (ซึ่งที่จริงท่านเมตตาฯ คงตั้งใจให้เป็นประเด็นหลักเลยทีเดียว) โดยเฉพาะข้อที่ว่า

  1. ผู้เรียบเรียงพระไตรปิฎกฟั่นเฟือนไปบ้าง แต่งเติมเข้ามาบ้าง
  2. พุทธปรินิพพานมีในฤดูหนาว-จวนหนาว ไม่ใช่เดือนวิสาขะ
  3. พุทธปรินิพพานเกิดขึ้นในเมือง ไม่ใช่ในสวนป่าสาลวัน

ทั้งหมดนี้ ท่านเมตตาฯ ยิ่งพลาดหนัก เหมือนพูดขึ้นมาลอยๆ

บทความของท่านเมตตาฯ เป็นอย่างไร ญาติโยมอาจมองเห็นง่ายขึ้นโดยเปรียบเทียบว่า บางส่วนก็คล้ายกับคนต่างประเทศที่สรุปสภาพภูมิศาสตร์ประเทศไทยจากการไปเที่ยวชมแม่ฮ่องสอน บางส่วนก็เหมือนหลวงลุงที่ฟังคำว่า “มีถ่านใส่เทปไหม?” แต่เข้าใจเป็น “มีถาดใส่เทปไหม?” บางส่วนก็เหมือนคนที่เจอคำฝรั่งว่า “fall” ในข้อความที่หมายถึงกรุงศรีอยุธยาแตก แต่เข้าใจผิดเป็นว่า กรุงศรีอยุธยามีฤดูใบไม้ร่วง เป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง มีเกณฑ์วินิจฉัยความถูกผิดได้ ต้องตัดสินด้วยข้อมูลที่มีอยู่แล้ว

นอกจากนั้น เมื่อท่านเข้าใจหรือจับข้อมูลผิด หรือได้ข้อมูลพลาดๆ พร่องๆ ไปแล้ว เรื่องที่ไม่มีเหตุให้ต้องตีความหรือสันนิษฐาน ท่านก็เลยต้องไปพยายามตีความหรือสันนิษฐานโดยไม่จำเป็น และถึงแม้จะตีความหรือสันนิษฐาน การตีความหรือสันนิษฐานนั้นก็กลายเป็นเรื่องเหลวไหลไร้ความหมาย อย่างที่ได้กล่าวแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่จะมาเฟื่องไปกับการตีความแต่อย่างใด

ความไขว้เขวสับสนเพียงด้วยการฟังตามๆ พูดตามๆ กันไป หรือเพียงตื่นป้ายว่าเป็นเรื่องวิชาการอย่างนี้ กำลังเกิดบ่อยขึ้นในสังคมไทย กรณีซึ่งที่จริงเป็นเพียงปัญหาในเรื่องความผิดพลาดสับสน(ตลอดจนบิดเบือน) ในเรื่องข้อมูลหลักฐานและข้อเท็จจริงธรรมดา ก็มีการพยายามเลี่ยงหลบบิดเบนความเข้าใจของคนทั่วไปให้มองเป็นเรื่องการตีความ แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่ไขว้เขวไปตามเสียงล่อหลอก แต่นักวิชาการส่วนหนึ่งที่ไม่ทันได้พิจารณาเรื่องให้ชัด ก็ได้พาซื่อพลอยพูดไปตามกลวิธีที่ชักจูง ให้ติดอยู่แค่ว่าเป็นเรื่องของการตีความทางวิชาการ

ถ้าจะให้วิชาการเจริญงอกงาม เป็นทางสร้างปัญญาแก่สังคมไทย คนในวงวิชาการจะต้องมีความใฝ่รู้ แสวงความจริง ศึกษาเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน เพื่อจะได้เป็นความหวังว่าวิชาการแท้จริงที่สร้างสรรค์ปัญญาจะเกิดขึ้นในสังคมไทย

สรุปว่า บทความของท่านเมตตาฯ นี้ เป็นกรณีตัวอย่างที่ความผิดพลาดเพียงแค่ในขั้นหลักฐานข้อมูลง่ายๆ พื้นๆ ได้ถูกยกชูให้ดูเหมือนเป็นเรื่องมีเนื้อหาสาระ โดยอาศัยความตื่นป้ายวิชาการ ซึ่งเป็นการอำพราง ที่ทำให้เรื่องซึ่งไม่เป็นปัญหา กลายเป็นปัญหาต่อพระพุทธศาสนา และก่อความสับสนโดยใช่เหตุ เป็นกรณีใหม่คล้ายกับเรื่องก่อนนี้ที่ค้างคาอยู่ คือกรณีธรรมกาย ซึ่งปัญหาเพียงในขั้นหลักฐานข้อมูล ได้ถูกอำพรางให้ดูเหมือนยากและซับซ้อน เนื่องจาก

• จับข้อมูลผิดพลาดสับสน รวมทั้งเข้าใจผิดในความหมายของถ้อยคำ เพราะไม่ศึกษาให้แม่นยำชัดเจน

• นำเสนอข้อมูลคลาดเคลื่อน หรือ(จงใจ)ให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

• แยกไม่ได้ระหว่างข้อมูลกับการตีความ หรือทำให้สับสนกัน หรือนำเอาข้อมูลที่ผิดพลาดสับสนมาเป็นฐานของการตีความ

• เกิดความเข้าใจผิด หรือการพยายามทำให้เกิดความเข้าใจไขว้เขวสับสนว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของการตีความ

แท้จริงนั้น ทั้งกรณีท่านเมตตาฯ นี้ และกรณีธรรมกาย มีประเด็นซึ่งเห็นได้ไม่ยาก ถ้าตั้งใจพินิจ ก็จะไม่ไขว้เขวไปไกล

อย่างไรก็ตาม กรณีท่านเมตตาฯ ก็ยังเบา เพราะไม่ได้เกิดเป็นการกระทำรุนแรงขึ้นมา ต่างจากในเหตุการณ์กรณีธรรมกาย ที่ถึงกับเกิดมีขบวนการขึ้นมาดำเนินการใช้กลวิธีต่างๆ ที่จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจไขว้เขวสับสน ตลอดจนมีการทำร้ายผู้อื่น เช่น

• หลีกหลบการตรวจสอบ โดยปั่นข่าว หรือปั้นแต่งเรื่องให้คนเข้าใจไขว้เขวสับสนว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของการตีความ

• ปั้นแต่งเรื่องป้ายสีใส่ความ เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้ที่ออกมาชี้แจงสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน หรือเพื่อเบนประเด็น

สิ่งที่พุทธศาสนิกชนต้องการ คือ ความซื่อตรงต่อข้อมูล และการนำเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ความเข้าใจถูกต้องตรงตามความเป็นจริง และการพูดจาถกเถียงกันตามเหตุผลโดยสุจริต

ปัญหาที่ถ่วงความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ และขัดขวางพัฒนาการทางปัญญาของสังคมไทยนั้น ไม่ใช่เพราะคนไทยมีใจคับแคบ หรือผูกขาดความคิด ซึ่งที่จริงนั้นตรงข้ามเลยทีเดียว คนไทยเป็นคนใจกว้าง เราจึงไม่มีประวัติการรบราฆ่าฟันกันด้วยเรื่อง ความคิดความเชื่ออย่างชาติตะวันตก

โดยวิสัยปุถุชน ไม่ว่าคนฝรั่ง หรือคนไทย หรือคนชาติไหน ก็มีทิฐิ มีการยึดถือความเห็นของตัวตนด้วยกันทั้งนั้น แต่เมื่อมองในขั้นการสั่งสมทางวัฒนธรรมที่กลายเป็นความโน้มหนักหรือวิถีของสังคม ไทยกับฝรั่งมีลักษณะเด่นและปัญหาในเรื่องนี้ต่างกันไกล:

• ฝรั่งหรือพวกตะวันตก มีภูมิหลังด้านลัทธิศาสนาที่มีการยึดถือรุนแรง เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์แห่งการบีบบังคับข่มเหงทำสงครามรบราฆ่าฟันกันด้วยเรื่องความคิดความเชื่อ ปัญหาของเขา คือการที่ต้องดิ้นรนต่อสู้มากมายกว่าจะได้เสรีภาพทางศาสนา แต่ในแง่ดีก็เกิดเป็นมรดกแห่งลักษณะนิสัยใฝ่รู้แสวงปัญญา

• ส่วนคนไทยนั้นตรงข้าม เรามีภูมิหลังด้านลัทธิศาสนาที่เสรีสบายๆ จนกลายเป็นภาพที่แปลกแก่ฝรั่ง อย่างที่นายพลฝรั่งเศสยุคกรุงศรีอยุธยา ชื่อ เชวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง เล่าแก่บาทหลวงใหญ่ในประเทศของเขา (ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๕๐ ภาคที่ ๘๐) ว่า “เมื่อผู้สั่งสอนศาสนาของเราแสดงคริสต์ธรรม คนไทยซึ่งเป็นคนว่านอนสอนง่าย นั่งฟังธรรมปริยายนั้นเหมือนฟังคนเล่านิทานให้เด็กฟัง ความพอใจของเขานั้น ไม่ว่าจะสอนศาสนาใดก็ชอบฟังทั้งนั้น” ปัญหาของเราคือ ปล่อยเสรีไปเสรีมาจนจะกลายเป็นเลยเถิด ชักเรื่อยเปื่อย ถึงกับจะละเลย ไม่ใส่ใจในเรื่องทางด้านความคิดและการแสวงปัญญา

สาเหตุที่แท้ของปัญหานี้ น่าจะสืบค้นดูในวงวิชาการไทยเรานี้ให้มาก บางทีเราจะขาดความใฝ่รู้และความเพียรที่จะสืบค้นความจริงให้ถ่องแท้ถึงที่สุด (เช่นที่ตีความอะไรง่ายๆ โดยไม่ศึกษาเรื่องให้ชัดเจน และไม่หาข้อมูลให้เพียงพอ พูดสั้นๆ ว่า ชอบแสดงความเห็น แต่ไม่ชอบหาความรู้) ถ้าแก้จุดอ่อนนี้ได้ นักวิชาการไทยจะเป็นที่หวังว่าจะมาเป็นผู้นำทางปัญญา ช่วยพาสังคมไทยให้มีวัฒนธรรมแห่งปัญญา และเดินหน้าไปในวิถีแห่งการสร้างสรรค์

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง