กรณีเงื่อนงำ: พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร? (ฉบับตัดสั้น)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ปรินิพพานด้วยโรคอะไร หลักฐานลงกันยันกลับ ให้ต้องสันนิษฐานใหม่

ญาติโยมและผู้ศึกษาคงอยากถามแทรกว่า เมื่อเป็นเรื่องราวเดียวกัน ทำไมไม่รวมและเรียงไว้ด้วยกันเสียเลย คำถามนี้ที่จริงได้ตอบล่วงหน้ามาก่อนแล้ว ขอทวนหน่อย เมื่อกี้ได้บอกแล้วว่า

• การจัดหมวดหมู่พระสูตรทั้งหลายนั้น ท่านวางเกณฑ์ไว้โดยถือหลักธรรมคำสอนหรือเนื้อหาสาระเป็นหลัก เมื่อพุทธพจน์หรือเรื่องราวตอนใด เข้ากับลักษณะของหมวดหมู่ไหน ก็จัดไปรวมไว้ในหมวดหมู่นั้น

ขอยกตัวอย่าง เรื่องวัสสการพราหมณ์เข้าเฝ้ากราบทูลว่ามคธจะไปตีวัชชี ทำไมจึงไปมีในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ด้วย ก็ตอบได้ง่ายๆ ว่า เพราะในเรื่องนั้น พระพุทธเจ้าตรัสแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการ ซึ่งเป็นธรรมหมวด ๗ ตรงกับเกณฑ์ของพระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ซึ่งเป็นที่รวบรวมธรรมหมวด ๗-๘-๙

ที่อธิบายและยกตัวอย่างมานี้ เท่ากับตอบคำถามอีกข้อหนึ่งไปด้วยว่า ทำไมพุทธพจน์และเรื่องราวเดียวกัน เนื้อความเหมือนกัน จึงไปอยู่ในพระไตรปิฎกหลายเล่ม หลายแห่ง เดี๋ยวพบที่โน่น เดี๋ยวพบที่นี่ ซ้ำๆ กัน ซึ่งตอบง่ายๆ ว่า เพราะพุทธพจน์เรื่องนั้นเข้าเกณฑ์ที่จะจัดเข้าได้ในหลายหมวด

ยกตัวอย่าง เช่น ข้อที่ ๖ ข้างบนนี้ คือเรื่องการปลงพระชนมายุสังขาร มีในพระไตรปิฎก ทั้งเล่ม ๑๙ เล่ม ๒๓ และเล่ม ๒๕

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะ

๑. ในเรื่องปลงพระชนมายุสังขารนั้น ตรัสแสดงอิทธิบาท ๔ ไว้ ก็จึงเข้าในเล่ม ๑๙ ซึ่งว่าด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ที่มีอิทธิบาท ๔ อยู่ด้วย

๒. ในเรื่องปลงพระชนมายุสังขารนั้น มีเรื่องเหตุปัจจัย ๘ ประการ ของการที่แผ่นดินไหว รวมอยู่ด้วย เข้าเกณฑ์ของธรรมหมวด ๘ คือ อัฏฐกนิบาต ซึ่งอยู่ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๓

๓. ในเรื่องปลงพระชนมายุสังขารนั้น มีพระอุทานของพระพุทธเจ้า รวมอยู่ด้วย ก็เลยต้องจัดเข้าในหมวดอุทาน1 อันเป็นที่ประมวลพุทธอุทาน ๘๐ เรื่อง ซึ่งอยู่ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕

ส่วนในที่นี้ก็ชัดอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า จึงอยู่ในมหาปรินิพพานสูตร ทำไมอยู่ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๐ ก็เพราะเป็นพระสูตรที่ยาว ดังนั้นรวมแล้ว เรื่องการปลงพระชนมายุสังขาร ก็มาในพระไตรปิฎก ซ้ำกันถึง ๔ แห่ง ๔ เล่ม

ตามที่ได้อธิบายมานี้ ทุกท่านก็คงมองเห็นได้ด้วยตนเองว่า คำวินิจฉัยหรือมติของท่านเมตตาฯ ที่ยกขึ้นตั้งไว้เป็นประเด็นให้พิจารณา ๔ ข้อนั้น ถูกต้องเป็นจริงหรือไม่ เริ่มแต่ข้อว่า

๑. ท่านเมตตาฯ บอกว่า

รายละเอียดที่โลกได้รับทราบเกี่ยวกับการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้น มาจากเอกสารในพระไตรปิฎกเพียงตอนเดียวเท่านั้น คือ มหาปรินิพพานสูตร...

จะเห็นว่าแท้ที่จริง เหตุการณ์สำคัญทั้งหมดเกี่ยวกับพุทธปรินิพพาน ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มอื่น ตอนอื่น แห่งอื่นด้วย เพียงแต่ว่ากระจายอยู่หลายแห่ง ทั้งนี้เพราะท่านนำไปจัดเข้าหมวดหมู่ตามเกณฑ์ที่ชี้แจงแล้วข้างต้น

เราก็สันนิษฐานบ้างว่า พระเถระผู้รวบรวมพระธรรมวินัย คงพิจารณาเห็นว่า เรื่องราวเกี่ยวกับพุทธปรินิพพานเป็นเรื่องสำคัญมาก แม้ว่าเนื้อความทั้งหมดจะได้ถูกตัดแบ่งไปจัดเข้าหมวดหมู่ที่โน่นที่นี่ ตามเกณฑ์ทั่วไปตามปกติแล้ว แต่ก็ให้สำเร็จประโยชน์จริงจังเฉพาะในแง่สาระทางธรรม เหตุการณ์ปรินิพพานขององค์พระบรมศาสดาเป็นเรื่องสำคัญที่พุทธบริษัทควรจะมีแหล่งศึกษาให้สะดวก ท่านจึงเก็บรักษาเหตุการณ์ส่วนนี้ไว้ให้เป็นเรื่องราวต่อเนื่องอีกส่วนหนึ่งด้วย ดังที่ปรากฏเป็นมหาปรินิพพานสูตรนี้

โดยเฉพาะสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า คือ สาลวัน ของเจ้ามัลละนั้น นอกจากมหาปรินิพพานสูตรแล้ว เรายังรู้ได้จากพระไตรปิฎก เล่ม ๑๕ ที่กล่าวข้างต้นนี้ และมิใช่เท่านั้น ยังกล่าวถึงในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๑ และเล่ม ๓๒ อีกด้วย ฉะนั้น หลักฐานจึงแน่นแฟ้น แม้แต่ถ้าไม่มีมหาปรินิพพานสูตร ชาวพุทธก็ยังทราบได้ อีกทั้งหลักฐานที่ต่างแห่งกัน ก็ไม่ขัดแย้งกันเลย แต่ยืนยันกันด้วย

การที่ท่านเมตตาฯ ลงความเห็นว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ปรินิพพานในป่าไม้สาละ แต่ปรินิพพานในเมืองกุสินารา และกล่าวย้ำถึง ๕ ครั้ง เช่นว่า “ปรินิพพานไปในห้องพักเล็ก ในอาคารแห่งหนึ่งในเมืองกุสินารา” ดังนี้นั้น ความจริงท่านน่าจะยกเอาหลักฐาน ว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานในสวนหลวงสาลวันนี้เป็นหลัก แล้ววินิจฉัยกลับในทางตรงข้ามว่า พระพุทธเจ้าไม่อาจจะปรินิพพานด้วยโรคที่ท่านสันนิษฐาน แต่เพราะปรินิพพานในสาลวัน จึงเป็นไปได้ที่จะปรินิพพานด้วยโรคอื่นชื่อนั้นๆ ดังที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็เห็นว่าตามข้อมูลที่ท่านเมตตาฯพิจารณา มีโรคที่จะเป็นได้หลายอย่าง คุณหมอสมพนธ์ บุณยคุปต์ ได้เขียนไว้ว่า

…ยังมีสาเหตุของโรคที่ทำให้เกิดอาการเช่นนี้อีกหลายโรค และพบได้บ่อยกว่า แต่ที่สำคัญคือแพทย์คงจะไม่กล้าวินิจฉัยโรคอย่างมั่นใจด้วยข้อมูลเท่าที่มี แพทย์จะต้องการข้อมูลเพิ่มเติมอีกมาก…2

1อุทาน คือ คติธรรมที่ตรัสเป็นคาถา โดยทรงปรารภเรื่องราวหรือเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเปล่งพระวาจาออกมาด้วยพระทัยเบิกบาน โดยไม่ต้องมีผู้ใดทูลถาม
2“อันสืบเนื่องมาจากบทความเรื่อง ‘พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร’ ธรรมรักษา และการรักษาพระปฏิบัติ” โดย น.พ.สมพนธ์ บุณยคุปต์ ในวิชัยยุทธจุลสาร ของโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ฉบับที่ ๑๗ ประจำเดือนกันยายน-ธันวาคม ๒๕๔๓ หน้า ๖๔
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง