กรณีเงื่อนงำ: พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร? (ฉบับตัดสั้น)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

๒. เรื่องว่าในกุสินาราฤดูหนาว ต้นสาละใบร่วงหมดแล้ว

ตัวอย่างที่ ๒ ขอยกตัวอย่างเรื่องปลีกย่อยที่ทำให้เห็นว่า ท่านเมตตาฯ นั้นเหมือนกับท่านพูดไปเรื่อยๆ และพูดเอาเองว่าอันนั้นเป็นอย่างนี้ อันนี้เป็นอย่างนั้น โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงอะไรเลย ซึ่งนอกจากทำให้ข้อเขียนของท่านขาดฐานที่จะทำให้น่าเชื่อถือหรือแม้แต่จะเป็นวิชาการแล้ว ก็เป็นอันตรายแก่ผู้ที่อ่านโดยไม่ได้พินิจพิจารณาหรือโดยสักว่าตื่นวิชาการอีกด้วย

ท่านเมตตาฯ กล่าวถึงระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานว่า

ความทั้งหมดของปาฏิหาริย์ที่ต้นสาละคู่นี้อาจเป็นเรื่องราวที่ต่อเติมในภายหลัง แต่อาจยืนยันได้ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานใหม่ๆ นั้น ซาวพุทธยังจดจำได้ดีว่าเป็นฤดูหนาว หรือฤดูใบไม้ร่วงตอนปลาย ซึ่งต้นสาละในป่าสลัดใบร่วงหล่นไปหมดแล้ว

คำกล่าวของท่านเมตตาฯ นี้ นอกจากสรุปว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ปรินิพพานในวันเพ็ญวิสาขะแล้ว ก็เป็นเหตุให้ท่านลงความเห็นอื่นต่อไปด้วย เช่นว่า พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานในสวนป่าสาลวันไม่ได้ แต่ต้องไปปรินิพพานในห้องเล็กในอาคารในเมือง ตลอดจนกล่าวว่า คำบรรยายเหตุการณ์ในมหาปรินิพพานสูตร ตอนเสด็จมาสู่ที่ปรินิพพาน ณ สาลวโนทยานนั้น เป็นของแต่งเติมขึ้นภายหลัง

เริ่มต้น คำของท่านเมตตาฯ ที่ว่า “อาจยืนยันได้ว่า...ชาวพุทธยังจดจำได้ดีว่า ..ต้นสาละในป่าสลัดใบร่วงหล่นไปหมดแล้ว” ก็เป็นคำพูดลอยๆ ซึ่งไม่มีหลักฐานอะไรเลย = ขาดหลักฐาน

ต่อจากนั้น ในแง่ข้อเท็จจริง ก็พิจารณากันอีกชั้นหนึ่งว่า สิ่งที่ท่านพูดตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ กล่าวคือ

ที่กุสินารา ในฤดูหนาว และฤดูใบไม้ร่วงตอนปลาย ต้นสาละสลัดใบร่วงไปหมดแล้ว จริงหรือ?

ที่ท่านเมตตาฯ พูดนั้น ท่านคงนึกว่า เมืองกุสินาราอยู่ถิ่นเหนือ สูงเลยระดับเมืองไทย จะต้องมีฤดูใบไม้ร่วง ที่ต้นสาละสลัดใบหมด แล้วท่านก็ตัดสินเลย ไม่ต้องหาข้อมูลความรู้หรือข้อเท็จจริง

บางท่านในวงวิชาการอาจพูดว่า ท่านเมตตาฯ ไม่ได้อยู่ที่กุสินาราท่านจึงมีสิทธิตีความอย่างนั้น แต่สำหรับชาวบ้าน การจะมาตีความ (คาดเดาในใจ) ในกรณีอย่างนี้ คงไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ เพราะเป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบได้ (=มีข้อเท็จจริงให้ตรวจสอบได้ ไม่มีเหตุให้ต้องตีความ)

ถ้าไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของสภาพฤดูกาลที่กุสินาราโดยตรงท่านเมตตาฯ ก็อาจใช้วิธีรองลงมาโดยตรวจสอบทางภูมิศาสตร์ ในเมื่อทานเคยไปพำนักในอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นเมืองหนาว มีฤดูใบไม้ร่วง และอเมริกาเป็นประเทศใหญ่ มีภูมิอากาศเกินกว่าหนึ่งแบบ ท่านจะเทียบกับอเมริกาก็ได้

อินเดียนั้นอยู่ในเอเชียใต้ (South Asia) ต่ำลงมาทางเส้นศูนย์สูตรเมืองกุสินาราอยู่ในระดับเส้นรุ้ง (latitude) 26 ํN ใกล้เคียงกับ ไมอามี (Miami) ในรัฐฟลอริดา (Florida) แถบใต้เกือบสุดปลายแหลม ซึ่งอยู่ในเขตที่นับว่าร้อนที่สุดของอเมริกา (ถ้าจะให้ตรงกันจริง ต้องเทียบกุสินารากับ West Palm Beach) แม้ว่าเมืองไมอามีจะอยู่ชายทะเล และกุสินาราอยู่บนแผ่นดินสูงขึ้นไปทางหิมาลัย เหนือระดับน้ำทะเลมาก แต่ก็พอจะเทียบภูมิอากาศกันได้

ไม่ต้องพูดถึงไมอามีหรอก แม้แต่เมืองซานฟรานซิสโก (San Francisco) ที่อยู่ในระดับเหนือไมอามีขึ้นไปกว่า ๑,๓๐๐ กม. ถึงฤดูหนาว ใบไม้ก็ร่วงบ้าง ไม่ร่วงบ้าง

ท่านที่เคยไปอยู่ทางไมอามีมาหลายๆ ปี ยืนยันว่า ที่นั่นไม่มีฤดูกาลที่ใบไม้ร่วงสลัดใบหมดต้น อย่างในรัฐทางเหนือ เช่นนิวยอร์ค

ถามท่านที่เคยไปนมัสการสังเวชนียสถานในอินเดียช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม บางท่านไปแล้วหลายครั้ง ได้รับคำยืนยันว่า ที่กุสินารา ต้นไม้ โดยเฉพาะสาละ ไม่มีเวลาไหนที่จะสลัดใบหมดต้น อย่างในฤดูใบไม้ร่วงของเหมืองหนาว ดังเช่นฤดู fall ในอเมริกา แม้แต่ในเดือนธันวาคมและมกราคม ช่วงหนาวที่สุด ต้นสาละก็มีใบอยู่เต็มต้น

โดยเฉพาะข้อมูลของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ (Forest Department Officer) ของอินเดีย ที่ดูแลเรื่องต้นสาละโดยตรง บอกว่า ต้นสาละไม่มีการสลัดผลัดใบร่วงหล่นหมดต้น

เมื่อถึงขั้นนี้ ก็คงไม่ต้องติดใจอะไรอีกกับคำกล่าวของท่านเมตตาฯ เกี่ยวกับเรื่องต้นสาละในอินเดียสลัดผลัดใบในฤดูหนาว ฤดูใบไม้ร่วง เพราะคำของท่าน ทั้งผิดพลาดล้มเหลวในขั้นข้อมูล ข้อเท็จจริง และแสดงถึงงานเขียนที่หละหลวม ยังไม่ตรวจสอบก็ “ยืนยัน” ขึ้นมาลอยๆ ดังนั้น ข้อสรุป-สันนิษฐาน-วินิจฉัยของท่านในกรณีนี้ทั้งหมด จึงไม่อาจเป็นที่รับฟังได้

แท้จริงนั้น ในทางตรงข้าม ท่านเมตตาฯ ควรยกเอาข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อนจะปรินิพพาน ที่พระพุทธเจ้าประชวรแล้วยังเสด็จเดินทาง ทรงแวะพักประทับตามโคนไม้ ทรงลงสรงสนาน เสวยน้ำในกกุธานที และตรัสสอนธรรมมาตามลำดับจนวาระสุดท้าย ซึ่งกล่าวไว้ทั้งในมหาปรินิพพานสูตรและพระสูตรอื่นหลายแห่งในพระไตรปิฎก อย่างชัดเจนสอดคล้องกันทั้งหมดนั้น ขึ้นมาเป็นฐานที่จะวินิจฉัยว่า พระพุทธเจ้ามิได้ปรินิพพานในฤดูหนาว หรือฤดูใบไม้ร่วงตอนปลาย แต่จะต้องปรินิพพานในฤดูร้อนช่วงตอนวิสาขบูชา

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง